คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ศาลชั้นต้น

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 926 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3606/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเองขัดระเบียบ ก่อนศาลอุทธรณ์พิจารณาคดี
การที่จำเลยที่ 1 ไม่ได้แถลงข้อเท็จจริงที่ร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาผิดระเบียบหรือโต้แย้งคัดค้านการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ได้ความว่าจำเลยที่ 1 ถูกจำคุกอยู่ที่เรือนจำกลางนครศรีธรรมราช และจำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำร้องดังกล่าวก่อนวันนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 เพียง 1 วัน อันแสดงว่าจำเลยมิได้ยอมรับว่ากระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นชอบแต่อย่างใด และมิได้มีบทบัญญัติของกฎหมายใดที่จะต้องให้จำเลยแถลงหรือโต้แย้งคัดค้านอีก ซึ่งในวันที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 จำเลยไม่มีทนายความ ทั้งการที่ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาผิดระเบียบเป็นความผิดพลาดของศาลชั้นต้น จึงไม่สมควรให้จำเลยต้องรับผลร้ายดังกล่าว การที่จำเลยไม่ได้แถลงหรือโต้แย้งคัดค้านในวันนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 จึงหาเป็นการให้สัตยาบันยอมรับการผิดระเบียบ เห็นได้จากจำเลยยังฎีกาโต้แย้งในปัญหาดังกล่าว ดังนั้น เมื่อคดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 8 แต่ศาลชั้นต้นกลับมีคำสั่งเองให้เพิกถอนคำสั่งที่ไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์และรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 กับต่อมารับคำแก้อุทธรณ์ของโจทก์ร่วม ตลอดจนศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิจารณาพิพากษาคดีจำเลยที่ 1 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 245 วรรคสอง โดยไม่ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ต้องพิจารณาพิพากษาใหม่ และผลแห่งการวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 8 อาจนำไปสู่การจำกัดสิทธิฎีกาของคู่ความ จึงต้องย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาใหม่ ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 243 (1), 252 ประกอบ ป.วิ.อ.มาตรา 15

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1952/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่รับวินิจฉัยเนื่องจากเป็นการโต้แย้งเฉพาะศาลชั้นต้น ไม่ได้คัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
จำเลยฎีกาโดยคัดลอกข้อความมาจากอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสิ้น คงมีการแก้ไขเฉพาะคำว่าศาลอุทธรณ์ภาค 7 เป็นศาลฎีกา และมีส่วนเพิ่มเติม พิมพ์ตกหรือพิมพ์ผิดไปจากอุทธรณ์บ้างเล็กน้อยในรายละเอียด ฎีกาของจำเลยจึงเป็นการโต้แย้งเฉพาะคำพิพากษาศาลชั้นต้น มิได้โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ว่า พิพากษาไม่ชอบอย่างไรหรือไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 เพราะเหตุใด ทั้งเหตุผลในการวินิจฉัยของศาลชั้นต้นกับศาลอุทธรณ์ภาค 7 มีบางส่วนก็แตกต่างกัน ฎีกาของจำเลยจึงเป็นฎีกาที่มิได้คัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 อันเป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 193 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 216 วรรคหนึ่ง และมาตรา 225 แม้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 อนุญาตให้ฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 และศาลชั้นต้นรับฎีกาของจำเลยมา ก็เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 715/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่อาจรับวินิจฉัยข้อเท็จจริงเนื่องจากศาลชั้นต้นรับฎีกาที่ไม่ชอบตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคหนึ่ง, 279 วรรคสาม และวรรคสี่ ประกอบมาตรา 285 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตาม ป.อ. มาตรา 91 ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 78 แล้ว ฐานกระทำชำเราเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตนและเป็นผู้สืบสันดาน โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม คงจำคุกกระทงละ 4 ปี 8 เดือน รวม 3 กระทง เป็นจำคุก 12 ปี 24 เดือน ฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งเป็นผู้สืบสันดาน โดยใช้กำลังประทุษร้าย จำคุก 2 ปี ฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งเป็นผู้สืบสันดาน โดยใช้วัตถุหรืออวัยวะอื่นใดซึ่งมิใช่อวัยวะเพศล่วงล้ำอวัยวะเพศของเด็กนั้น โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม โดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย จำคุกกระทงละ 4 ปี 8 เดือน รวม 38 กระทง เป็นจำคุก 152 ปี 304 เดือน รวมจำคุกทุกกระทง 166 ปี 328 เดือน แม้รวมโทษทุกกระทงแล้วลงโทษจำคุกจำเลย 50 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 91 (3) ก็ตาม แต่เมื่อโทษจำคุกแต่ละกระทงไม่เกิน 5 ปี จึงห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องทุกข้อหา เพราะจำเลยสำคัญผิดหรือหลงผิดในสิ่งที่ตนมิได้กระทำ จำเลยกระทำอนาจารผู้เสียหายเพียง 5 ครั้ง แต่มิได้กระทำชำเราผู้เสียหาย และพยานหลักฐานโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดอื่นนอกจากความผิดฐานอนาจารดังกล่าว การวินิจฉัยฎีกาของจำเลยในปัญหาดังกล่าวจำต้องอาศัยข้อเท็จจริงจากพฤติการณ์แห่งคดีและจากพยานหลักฐานที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจรับฟังมาเป็นข้อชี้ขาดตัดสินคดี จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4447/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาต้องห้าม เนื่องจากเป็นการโต้เถียงดุลพินิจศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ และการขอผ่อนผันชำระค่าปรับเป็นอำนาจศาลชั้นต้น
คดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยฐานช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำหรือรับไว้โดยประการใด ซึ่งของอันตนรู้ว่านำเข้ามาในราชอาณาจักรที่ยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากร ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 246 วรรคหนึ่ง โดยปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรแล้ว จำนวน 2,743,672 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงปรับ 1,371,836 บาท ริบของกลาง ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน จึงเป็นคดีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืนตามศาลล่างให้จำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับ ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาขอให้ลดโทษปรับนั้น เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการกำหนดโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 9 เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ส่วนที่จำเลยฎีกาขอผ่อนชำระค่าปรับนั้น เห็นว่า การบังคับชำระค่าปรับเป็นกระบวนการในการบังคับคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลชั้นต้น ซึ่งจำเลยยังมิได้มีคำขอให้ศาลชั้นต้นเพื่อพิจารณาสั่ง จึงยังไม่มีเหตุที่จะฎีกาในเรื่องนี้ ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของจำเลยมานั้นเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3710/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่รับวินิจฉัยข้อเท็จจริงใหม่ที่ไม่ได้ยกขึ้นในศาลชั้นต้น และยืนตามคำพิพากษาเดิมในคดีพยายามฆ่า
การวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำความผิดหรือไม่ต้องวินิจฉัยจากข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบในศาลชั้นต้น เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพและมิได้ยกข้อเท็จจริงตามฎีกาขึ้นต่อสู้ในศาลชั้นต้นว่า ผู้เสียหายทะเลาะวิวาทกับจำเลยมาก่อนแล้วผู้เสียหายมารอจำเลยที่บ้านของบิดาจำเลยโดยพร้อมที่จะทะเลาะวิวาทกับจำเลย จำเลยจึงเกิดโทสะเข้าชกต่อยผู้เสียหายแล้วจำเลยพลั้งมือหยิบอาวุธมีดขนาดเล็กเหวี่ยงไปทางผู้เสียหาย จำเลยก็ไม่ได้นำสืบพยานหลักฐานใดให้ปรากฏข้อเท็จจริงดังกล่าว อีกทั้งทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่าจำเลยถูกผู้เสียหายข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมอันจะเป็นการกระทำความผิดโดยบันดาลโทสะ เป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 การที่ผู้พิพากษาซึ่งพิพากษาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงดังกล่าวและศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยมาเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1689/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปรับแก้บทความผิดและโทษจำคุกโดยศาลอุทธรณ์ การรับฎีกาที่ไม่ชอบของศาลชั้นต้น
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 278 วรรคหนึ่ง, 365 (1) ประกอบมาตรา 362 และมาตรา 364 การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานบุกรุกโดยใช้กำลังประทุษร้ายตาม ป.อ. มาตรา 365 (1) ประกอบมาตรา 362 และมาตรา 364 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 จำคุก 1 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานกระทำอนาจารแก่บุคคลอายุกว่าสิบห้าปี ตาม ป.อ. มาตรา 278 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 จำคุก 2 ปี เป็นกรณีที่ทั้งสองศาลต่างวางบทความผิดแก่จำเลยทั้งมาตรา 278 วรรคหนึ่ง และมาตรา 365 (1) ประกอบมาตรา 362 และมาตรา 364 ซึ่งเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทอยู่แล้ว การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ปรับบทกฎหมายตามมาตรา 278 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดที่ใช้ลงโทษจำเลยให้ถูกต้องดังกล่าว ถือไม่ได้ว่าเป็นการแก้ไขบท แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 จะแก้ไขโทษเพิ่มขึ้นตามบทหนักที่ใช้ลงโทษแก่จำเลย ก็เป็นเพียงการแก้ไขเล็กน้อยและลงโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ดังนี้ ฎีกาของจำเลยที่ขอให้ลงโทษจำเลยสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกนั้น เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 4 ซึ่งเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จำเลยย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่า ข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดและอนุญาตให้ฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 การที่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคำร้องขออนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงว่า สั่งในฎีกา แล้วมีคำสั่งในคำฟ้องฎีกาของจำเลยว่า เป็นกรณีแก้ไขมากและเพิ่มเติมโทษจำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219 ให้รับฎีกาของจำเลย จึงเป็นการสั่งคดีโดยผิดหลงและเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ ถือว่าไม่ได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณาคดี ศาลฎีกามีอำนาจที่จะหยิบยกขึ้นวินิจฉัยโดยให้เพิกถอนคำสั่งและการดำเนินการดังกล่าวของศาลชั้นต้นที่ไม่ชอบเสียได้และสั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้ถูกต้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2) ประกอบด้วยมาตรา 225
of 93