คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
อำนาจ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 971 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11417/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำสั่งศาลที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากองค์คณะไม่ครบถ้วนในการวินิจฉัยอำนาจการยื่นคำร้อง
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่อายัดจำนวน 15,875,688.13 บาท ผู้พิพากษาคนเดียวในศาลชั้นต้นตรวจคำร้องขอแล้วสั่งว่า ผู้ร้องไม่อาจร้องขอเพิกถอนให้ปล่อยทรัพย์ที่อายัด ไม่รับคำร้อง เป็นการวินิจฉัยอำนาจในการยื่นคำร้องขอของผู้ร้องว่าไม่มีอำนาจตามกฎหมาย อันเป็นการวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีตามความหมายแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 131 (2) แล้ว ซึ่งมีผลเป็นการพิพากษายกคำร้องขอของผู้ร้องทันที โดยมิได้มีคำสั่งรับคำร้องขอของผู้ร้องไว้ก่อน กรณีมิใช่เรื่องที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับหรือคืนคำคู่ความตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 18 เมื่อปรากฏว่าในการสั่งคำร้องขอของศาลชั้นต้นมีผู้พิพากษาคนเดียวตรวจคำร้องขอแล้วมีคำสั่งยกคำร้องขอ จึงเป็นการไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 24 (2) เพราะเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดี ซึ่งต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสองคนจึงเป็นองค์คณะที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 26

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9188/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจอนุญาตฎีกาในข้อเท็จจริง: อธิบดีผู้พิพากษาภาคไม่มีอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง มิได้บัญญัติให้อธิบดีผู้พิพากษาภาคมีอำนาจอนุญาตให้ฎีกาในข้อเท็จจริง และบุคคลผู้มีอำนาจอนุญาตให้ฎีกาได้ตามมาตราดังกล่าวก็บัญญัติไว้ชัดแจ้งแล้วว่า คือ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ จึงไม่อาจนำบทบัญญัติว่าด้วยผู้มีอำนาจอนุญาตให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง มาใช้บังคับโดยอนุโลมได้ ดังนั้น อธิบดีผู้พิพากษาภาค 1 จึงไม่มีอำนาจอนุญาตให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7128-7131/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจถอนฟ้องคดีอาญาของบริษัทล้มละลาย: เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่มีอำนาจจัดการแทน
แม้ศาลล้มละลายกลางจะพิพากษาให้บริษัท อ. ล้มละลายแล้วก็ตาม แต่บริษัท อ. ก็สามารถเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 4 เป็นคดีอาญาในฐานความผิดยักยอก รับของโจร และความผิดต่อ พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 โดยขอให้ลงโทษทางอาญาแต่เพียงอย่างเดียว มิได้มีคำขอบังคับในส่วนแพ่งให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายมาด้วย จึงไม่ต้องด้วย พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 (3) ที่โจทก์จะต้องดำเนินการโดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ อีกทั้ง ป.วิ.อ. มาตรา 4, 5 และ 6 ก็มิได้กำหนดให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจจัดการแทนลูกหนี้ซึ่งเป็นผู้เสียหายในคดีอาญาซึ่งถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดหรือล้มละลายด้วย กรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท อ. โจทก์จึงมีอำนาจยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 4 ได้
โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสี่สำนวนเอง คดีอยู่ในระหว่างไต่สวนมูลฟ้องโดยศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง แล้วให้ศาลชั้นต้นยกคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 และที่ 4 ทั้งสี่สำนวนขึ้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป แม้จำเลยที่ 4 จะฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ก็ต้องถือว่าคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องสิ้นผลไปแล้ว ถือได้ว่าโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องก่อนมีคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและเป็นอำนาจของศาลชั้นต้นที่จะพิจารณาสั่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 518/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลในการแต่งตั้งผู้ชำระบัญชี: ศาลมีอำนาจแต่งตั้งบุคคลอื่นไม่ใช่เฉพาะโจทก์ตามคำขอ
ป.พ.พ. มาตรา 1251 วรรคสอง มิได้บังคับศาลต้องแต่งตั้งโจทก์เป็นผู้ชำระบัญชีตามคำขอของโจทก์เท่านั้น ศาลจึงมีอำนาจแต่งตั้งบุคคลอื่นเป็นผู้ชำระบัญชีได้ และไม่เป็นการมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเกินคำขอ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4948/2552 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และศาลหลังยกเลิกฟื้นฟูกิจการ: การพิจารณาคำขอรับชำระหนี้ยังคงมีผลผูกพัน
ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/60 และมาตรา 90/75 แม้ศาลมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการทำให้ผู้บริหารของลูกหนี้กลับมีอำนาจจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้แล้ว แต่ลูกหนี้ก็ยังคงต้องผูกพันรับผิดชำระหนี้ตามคำสั่งคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการและตามที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการดังนั้น อำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในการสอบสวน และมีคำสั่งเกี่ยวกับคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้จึงยังมิได้สิ้นสุดลงไป ทั้งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งเป็นประการใดแล้วเจ้าหนี้ผู้มีส่วนได้เสียก็ยังมีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลได้ตามมาตรา 90/32 วรรคสาม เมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้แล้วศาลล้มละลายกลางก็ยังต้องพิจารณาคำร้องคัดค้านของเจ้าหนี้เกี่ยวกับสำนวนคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3254/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจถอนฟ้องของผู้นำเสียหายโดยตรงในคดีอาญาความผิดต่อส่วนตัว
จำเลยยักยอกรถที่เช่าซื้อขณะอยู่ในความครอบครองใช้ประโยชน์ของผู้เช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อจึงเป็นผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยโดยตรง ดังนั้น แม้ผู้เช่าซื้อจะแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในความผิดฐานยักยอกในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากผู้ให้เช่าซื้อก็ตาม ก็ถือได้ว่าได้ร้องทุกข์ในฐานะเป็นผู้เสียหายเองด้วยเช่นกัน ผู้เช่าซื้อย่อมมีอำนาจถอนคำร้องทุกข์ในฐานะที่เป็นผู้เสียหายด้วยคนหนึ่งได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1362/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแสดงเจตนาไม่สุจริตของกรรมการเกินอำนาจกระทบสิทธิลูกหนี้ โจทก์มีอำนาจฟ้องเพิกถอน
การที่จำเลยทำหนังสือเสนอแผนปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยจำเลยใช้หัวกระดาษระบุชื่อโจทก์และสถานที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของโจทก์ ทั้งใต้ลายมือชื่อของจำเลยระบุว่าจำเลยเป็นกรรมการโจทก์ พฤติการณ์ดังกล่าวทำให้บุคคลภายนอกทั่วไปเข้าใจไปได้ว่า จำเลยเสนอแผนปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในนามของโจทก์ซึ่งขัดกับข้อบังคับอำนาจของกรรมการโจทก์ เป็นการแสดงเจตนาไม่สุจริตทำให้เข้าใจว่าจำเลยเสนอแผนปรับปรุงโครงสร้างหนี้ดังกล่าวในนามของโจทก์ ทั้งที่จำเลยไม่มีอำนาจทำการดังกล่าวได้เพราะขัดกับข้อบังคับอำนาจกรรมการกระทำการแทนโจทก์ ถือได้ว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้โดยตรงและได้เสนอแผนปรับปรุงโครงสร้างหนี้ต่อบรรษัท บ.ไปก่อนจำเลยแล้ว และทำให้การพิจารณาของบรรษัท บ. ซึ่งกำลังดำเนินการเกิดความล่าช้าเพราะต้องพิจารณาทั้งแผนปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของโจทก์และของจำเลย เป็นเหตุให้ผู้ถือหุ้นผู้อื่นและบริษัทโจทก์ได้รับความเสียหายเพราะต้องเสียดอกเบี้ยเพิ่มมากขึ้นเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ให้เพิกถอนหนังสือที่จำเลยยื่นแผนปรับปรุงโครงสร้างหนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7432/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลชั้นต้นพิจารณาคำร้องอนาถา: ไม่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาท
การพิจารณาสั่งคำร้องขอให้พิจารณาคำร้องขออุทธรณ์อย่างคนอนาถาใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการอนุญาตหรือยกคำร้องก็ตาม หาใช่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดีไม่ ศาลชั้นต้นโดยผู้พิพากษาคนเดียวจึงมีอำนาจพิจารณาสั่งได้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6497/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกบริษัทและผลกระทบต่ออำนาจทนายความในการดำเนินคดีก่อนการชำระบัญชีเสร็จสิ้น
ขณะโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสามในคดีนี้ จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายและจำเลยที่ 1 ได้แต่งตั้ง บ. เป็นทนายความต่อสู้คดี และศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2541 คดีอยู่ในระหว่างอุทธรณ์ ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้เลิกบริษัทแล้ว และจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2537 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1249 บัญญัติว่า "ห้างหุ้นส่วนก็ดี บริษัทก็ดี แม้จะได้เลิกกันแล้ว ก็ให้พึงถือว่ายังคงตั้งอยู่ตราบเท่าเวลาจำเป็นเพื่อการชำระบัญชี" และมาตรา 1272 บัญญัติว่า "ในคดีฟ้องเรียกหนี้สินซึ่งห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทหรือผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้น หรือผู้ชำระบัญชีเป็นลูกหนี้อยู่ในฐานเช่นนั้น ท่านห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนดสองปีนับแต่วันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี" จากบทบัญญัติดังกล่าวเห็นได้ว่า แม้การชำระบัญชีสิ้นสุดไปแล้ว กฎหมายยังให้เจ้าหนี้ฟ้องเรียกหนี้สินที่บริษัทหรือผู้ถือหุ้นเป็นหนี้อยู่ได้ และคดีนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 กับพวกชำระหนี้ให้โจทก์ และเป็นการที่โจทก์ฟ้องก่อนที่จำเลยที่ 1 จะเลิกบริษัท ตามบทบัญญัติดังกล่าวคู่กรณียังคงว่ากล่าวคดีกันต่อไปได้ และทนายความของจำเลยที่ 1 ยังคงมีอำนาจดำเนินคดีต่อไปตามที่ได้รับแต่งตั้งไว้ได้ จึงไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นนับแต่วันที่ 22 มิถุนายน 2537

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5982/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจการจดทะเบียนบุตรชอบด้วยกฎหมายเมื่อเด็กยังไม่สามารถให้ความยินยอมได้
ป.พ.พ. มาตรา 1548 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า บิดาจะจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมของเด็กและมารดาเด็ก ส่วนวรรคสามและวรรคสี่บัญญัติว่า ในกรณีที่เด็กหรือมารดาเด็กคัดค้านว่าผู้ขอจดทะเบียนไม่ใช่บิดาหรือไม่ให้ความยินยอมหรือไม่อาจให้ความยินยอมได้ การจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรต้องมีคำพิพากษาของศาล จากบทบัญญัติดังกล่าวแสดงให้เห็นชัดเจนว่าประสงค์ให้เด็กเป็นผู้ให้ความยิมยอมเป็นการเฉพาะตัว การที่นายทะเบียนแจ้งแก่ผู้ร้องว่าไม่สามารถรับจดทะเบียนให้ได้โดยไม่แจ้งการขอจดทะเบียนของผู้ร้องไปยังผู้คัดค้านและเด็กก่อนตาม มาตรา 1548 วรรคสอง หรือตาม พ.ร.บ.จดทะเบียนครอบครัวฯ มาตรา 19 วรรคสอง เพราะปรากฏว่าขณะที่ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อนายทะเบียนขอจดทะเบียนนั้น เด็กหญิง ป. อายุเพียง 3 ปีเศษ ยังไร้เดียงสาไม่สามารถให้ความยินยอมได้ จึงเป็นการปฏิบัติถูกต้องตาม พ.ร.บ.จดทะเบียนครอบครัวฯ มาตรา 19 แล้ว ผู้ร้องจึงมีอำนาจยื่นคำร้องขอต่อศาลขอให้พิพากษาให้ผู้ร้องจดทะเบียนเด็กหญิง ป. เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายได้
of 98