พบผลลัพธ์ทั้งหมด 971 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5634/2562
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่มีอำนาจเป็นคู่ความ การให้ใช้ค่าทนายความแก่เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงไม่ชอบ
เจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นเจ้าพนักงานที่ต้องปฏิบัติในการที่จะบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลเท่านั้น ไม่มีอำนาจเข้ามาเป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือเป็นคู่ความในคดี ศาลจึงกำหนดให้คู่ความใช้ค่าทนายความให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 842/2561
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การรับรองกระบวนพิจารณาอนุญาโตตุลาการ การงดสืบพยาน และอำนาจของคณะอนุญาโตตุลาการในการดำเนินกระบวนพิจารณา
ผู้ร้องทั้งสามเข้าร่วมประชุมและทราบถึงการดำเนินกระบวนพิจารณาต่าง ๆ ของคณะอนุญาโตตุลาการมาโดยตลอด การประชุมในวันที่ 27 มีนาคม 2558 ผู้ร้องทั้งสามแถลงรับข้อเท็จจริงและแถลงไม่คัดค้านที่คณะอนุญาโตตุลาการมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า ข้อพิพาทในคดีนี้มีข้อเท็จจริงต่าง ๆ เพียงพอที่จะวินิจฉัยได้ให้งดสืบพยาน นอกจากนี้ คู่พิพาทมิได้ตกลงกันกำหนดอำนาจคณะอนุญาโตตุลาการไว้เป็นอย่างอื่น คณะอนุญาโตตุลาการจึงมีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ได้ตามที่เห็นสมควรตามที่ พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 25 และ 30 ให้อำนาจไว้ การวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทของคณะอนุญาโตตุลาการเป็นไปตามพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงที่คู่พิพาทแถลงรับ ไม่ปรากฏว่าการยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแต่อย่างใด ส่วนการที่คณะอนุญาโตตุลาการมีคำสั่งชี้ขาดเกี่ยวกับข้อพิพาทเสร็จเด็ดขาดโดยให้ยุติกระบวนพิจารณาตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 38 วรรคสอง (3) ก็เป็นอำนาจของคณะอนุญาโตตุลาการที่เห็นว่าสามารถดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปจนมีคำชี้ขาดเกี่ยวกับข้อพิพาทได้ ดังนั้น การดำเนินกระบวนพิจารณาต่าง ๆ ของคณะอนุญาโตตุลาการจนกระทั่งมีคำชี้ขาดเกี่ยวกับข้อพิพาทจึงเป็นไปตามขอบเขตของกฎหมาย คำร้องของผู้ร้องทั้งสามไม่ต้องด้วย พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคสาม (1) (ค) และ (2) (ก) (ข) ที่ศาลจะเพิกถอนคำชี้ขาดได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5943/2561
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การพิสูจน์ความเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย & อำนาจการขอเป็นผู้จัดการมรดก
แม้สูติบัตรจะระบุว่าเจ้ามรดกเป็นมารดาและผู้ร้องเป็นบิดาของผู้ร้องขอ แต่เอกสารดังกล่าวก็หาใช่พยานหลักฐานที่ยืนยันได้อย่างเด็ดขาดว่า ผู้ร้องขอเป็นบุตรของเจ้ามรดกกับผู้ร้องแต่อย่างใด เพราะการที่เอกสารดังกล่าวปรากฏชื่อเจ้ามรดกกับผู้ร้องเป็นมารดาและบิดาของผู้ร้องขอ ก็เนื่องจากพนักงานเจ้าหน้าที่ได้รับการบอกเล่าและบันทึกลงในเอกสารดังกล่าวตามการบอกกล่าวของผู้แจ้งเท่านั้น หาใช่เป็นการตรวจพิสูจน์ของพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่หากมีการคัดค้านเอกสารดังกล่าว ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 6 ต้องมีภาระการพิสูจน์ความไม่บริสุทธิ์หรือความไม่ถูกต้องแห่งเอกสารดังกล่าว
ผู้ที่มีอำนาจยื่นคำคัดค้านและขอให้ศาลตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกได้นั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 บัญญัติว่า "ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการจะร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกก็ได้" ดังนี้ เมื่อผู้คัดค้านที่ 7 มิได้เป็นทายาทของเจ้ามรดก และแม้ผู้คัดค้านที่ 7 จะเป็นทายาทของผู้ร้องและผู้ร้องมีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดกก็ตาม ก็ยังถือไม่ได้ว่าผู้คัดค้านที่ 7 เป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องต่อศาลขอให้ตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกได้
ผู้ที่มีอำนาจยื่นคำคัดค้านและขอให้ศาลตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกได้นั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 บัญญัติว่า "ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการจะร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกก็ได้" ดังนี้ เมื่อผู้คัดค้านที่ 7 มิได้เป็นทายาทของเจ้ามรดก และแม้ผู้คัดค้านที่ 7 จะเป็นทายาทของผู้ร้องและผู้ร้องมีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดกก็ตาม ก็ยังถือไม่ได้ว่าผู้คัดค้านที่ 7 เป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องต่อศาลขอให้ตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5519/2561
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การประเมินภาษีโดยอาศัยแบบแสดงรายการภาษีที่มิได้ยื่นโดยจำเลย ผู้ยื่นไม่ใช่จำเลย เจ้าพนักงานประเมินไม่มีอำนาจ
คดีนี้เจ้าพนักงานประเมินได้ทำการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มและประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลจำเลยที่ 1 แม้ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีเงินได้นิติบุคคลจะเป็นภาษีอากรประเมิน ซึ่งเมื่อจำเลยที่ 1 ได้รับแจ้งการประเมินและยื่นอุทธรณ์การประเมินดังกล่าวแล้ว ต่อมาจำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลตามมาตรา 30 (2) แห่ง ป.รัษฎากร ย่อมมีผลทำให้หนี้ภาษีอากรที่ถูกประเมินดังกล่าวเป็นหนี้ภาษีค้าง อันจะถูกโจทก์ยึดหรืออายัดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ได้ตามมาตรา 12 แห่ง ป.รัษฎากร และจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิยกขึ้นต่อสู้ในชั้นศาลก็ตาม แต่เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าภาษีตามการประเมิน ซึ่งจำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธว่าลายมือชื่อในแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) และแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด.50) ฉบับพิพาทมิใช่ลายมือชื่อของกรรมการของจำเลยที่ 1 แต่เป็นลายมือชื่อปลอม ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่โจทก์ที่จะต้องนำพยานเข้าสืบเพื่อให้รับฟังได้ตามที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ยื่นแบบแสดงรายการฉบับพิพาทอันเป็นเหตุแห่งการประเมินรายนี้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 มิได้เป็นผู้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) และแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด.50) ฉบับพิพาท การแจ้งการประเมินของโจทก์ที่ให้จำเลยที่ 1 เสียภาษีพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม ตามหนังสือแจ้งภาษีมูลค่าเพิ่มและหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคล รวมทั้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงไม่ชอบ เพราะโจทก์ไม่มีฐานรายรับหรือรายได้ที่จะใช้อำนาจประเมินภาษีจากจำเลยที่ 1 ตามข้ออ้างในคำฟ้องของโจทก์ จำเลยทั้งสองย่อมไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5378/2561
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การจัดการหมู่บ้าน: คณะกรรมการมีอำนาจพิจารณาเลือกผู้รับเหมาได้เอง หากโปร่งใสและไม่เสียหาย
โจทก์ทั้งสิบเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์บ้านพร้อมที่ดินในหมู่บ้านจัดสรร พ. ส่วนจำเลยทั้งเจ็ดได้รับเลือกให้เป็นคณะกรรมการนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร พ. หมู่บ้านจัดสรร พ. มีบ้านอยู่ในพื้นที่จำนวนมากถึง 312 หลัง นับว่าเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ที่นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรซึ่งมีเพียงจำเลยทั้งเจ็ดเป็นคณะกรรมการ ไม่อาจดูแลกิจการหลากหลายของหมู่บ้านให้ทั่วถึงได้ ประกอบกับจำเลยแต่ละคนต่างประกอบอาชีพ มีหน้าที่การงานของตนเอง การจัดหานักบริหารมืออาชีพมาทำหน้าที่ช่วยเหลือดูแลกิจการของหมู่บ้านจัดสรร จึงมีความจำเป็น คดีปรากฏว่านิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร พ. ได้ว่าจ้างบริษัท ค. ทำหน้าที่บริหารจัดการกิจการรวมถึงการดูแลบำรุงรักษาซ่อมแซมสาธารณูปโภคและบริหารสาธารณะต่าง ๆ ของหมู่บ้านจัดสรรให้เป็นไปตามมาตรฐานและสามารถรองรับการใช้ประโยชน์ของสมาชิก แม้สัญญาว่าจ้างดังกล่าวสิ้นสุดลง แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีคู่สัญญาฝ่ายใดบอกเลิกสัญญา จึงต้องถือว่านิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร พ. ได้ว่าจ้างบริษัท ค. บริหารจัดการกิจการของหมู่บ้านจัดสรรต่อไป ก่อนการว่าจ้างผู้รับเหมาให้ซ่อมแซมถนนและฝาท่อระบายน้ำของหมู่บ้าน ปรากฏว่าผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการของบริษัท ค. ได้รับมอบหมายจากนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร พ. ให้ติดต่อจัดหาผู้รับเหมาสามรายที่เคยร่วมงานกันและมีผลงานดีไว้ใจได้เสนอราคาค่าซ่อมให้จำเลยทั้งเจ็ดพิจารณา จำเลยทั้งเจ็ดลงมติเลือกบริษัท จ. ซึ่งเสนอราคาต่ำสุดเป็นผู้รับจ้างดำเนินงาน แต่เมื่อทางนำสืบโจทก์ทั้งสิบไม่ปรากฏว่าผู้รับเหมาทั้งสามรายที่บริษัท ค. หามาเป็นบริษัทในเครือเดียวกัน เป็นพรรคพวกกัน เอื้อเฟื้อประโยชน์กัน ฮั้วประมูลกัน ร่วมกันเสนอราคาค่าก่อสร้างในลักษณะสมยอมราคา หรือมีส่วนได้เสียโดยตรงหรืออ้อมของจำเลยทั้งเจ็ด จึงน่าเชื่อว่าจำเลยทั้งเจ็ดลงมติคัดเลือกบริษัท จ. ด้วยความโปร่งใสและตรงไปตรงมาตามข้อมูลและใบเสนอราคาที่ฝ่ายบริหารจัดการของบริษัท ค. นำเสนอ ส่วนที่โจทก์ทั้งสิบอ้างว่าจำเลยทั้งเจ็ดตกลงว่าจ้างบริษัท จ. โดยไม่มีการประเมินราคากลางก่อนทำสัญญาดังที่หน่วยงานภาครัฐถือปฏิบัตินั้น เห็นว่า การกำหนดราคากลางงานก่อสร้างเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีที่วางหลักเกณฑ์ให้ใช้เฉพาะหน่วยงานภาครัฐ ไม่อาจนำมาใช้กับภาคเอกชนได้ และตามข้อบังคับนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร พ. ก็มิได้ระบุให้ต้องมีการประเมินราคากลางก่อน การที่จำเลยทั้งเจ็ดลงมติคัดเลือกบริษัท จ. โดยไม่มีการประเมินราคากลางจึงไม่เป็นการกระทำที่ส่อพิรุธขาดความรอบคอบ หรือฝ่าฝืนต่อข้อบังคับของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร พ. ทั้งการดำเนินกิจการของจำเลยทั้งเจ็ดอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของที่ประชุมใหญ่สมาชิกของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร หากจำเลยทั้งเจ็ดดำเนินกิจการของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร พ. ด้วยความประมาทเลินเล่อ ไม่ชอบมาพากล หรือไม่คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของสมาชิก สมาชิกก็มีสิทธิที่จะเข้าชื่อร้องขอให้เรียกประชุมใหญ่วิสามัญเพื่อซักฟอกคณะกรรมการ หรือไม่ลงคะแนนเสียงเลือกกรรมการชุดเดิมให้กลับมาทำหน้าที่อีกได้ แต่หลังจากการซ่อมแซมแล้วเสร็จ มีการนัดประชุมใหญ่สามัญเพื่อเลือกคณะกรรมการนิติบุคคลชุดใหม่ ปรากฏว่าสมาชิกส่วนใหญ่ได้ลงคะแนนเลือกจำเลยที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 ให้กลับมาเป็นคณะกรรมการ อันแสดงว่าสมาชิกส่วนใหญ่ให้การยอมรับและไว้วางใจในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเสียสละโดยไม่หวังผลตอบแทนของจำเลยทั้งเจ็ด ข้อนำสืบของโจทก์ทั้งสิบไม่มีพยานบ่งชี้ให้ฟังได้ว่าจำเลยทั้งเจ็ดลงมติคัดเลือกบริษัท จ. ให้ดำเนินงานซ่อมแซมถนนและฝาท่อระบายน้ำในวงเงินสูงกว่าความเป็นจริงด้วยความประมาทเลินเล่อ การกระทำของจำเลยทั้งเจ็ดจึงไม่เป็นการกระทำละเมิดที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร พ. ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันรับผิดชำระเงินนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร พ. นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4831/2561
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจการเรียกประชุมผู้ถือหุ้น: กรรมการคนเดียวมีอำนาจได้ตามกฎหมาย
การประชุมสามัญผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นการประชุมใหญ่นั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1171 บัญญัติไว้เพียงว่าให้มีการประชุมดังกล่าวครั้งแรกภายใน 6 เดือน นับแต่วันจดทะเบียนบริษัทและครั้งต่อ ๆ ไป อย่างน้อย 1 ครั้ง ทุก 12 เดือน โดยมิได้มีบทบังคับให้ต้องเรียกประชุมคณะกรรมการบริษัทเพื่อพิจารณาและลงมติกันเสียก่อนว่าจะให้เรียกประชุมผู้ถือหุ้นหรือไม่ ดังนั้นการที่ อ. กรรมการบริษัทจำเลยออกหนังสือเชิญประชุมสามัญผู้ถือหุ้นของจำเลยครั้งที่ 1/2558 จึงไม่เป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย ไม่มีเหตุต้องเพิกถอน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1040/2561
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจเรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ต้องผ่านมติคณะกรรมการก่อน
คำว่า "กรรมการ" ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1172 วรรคหนึ่ง หมายถึงคณะกรรมการ มิได้หมายถึงกรรมการคนหนึ่งคนใดหรือหลายคน การจะเรียกประชุมใหญ่วิสามัญหรือไม่ กรรมการคนหนึ่งคนใดชอบที่จะนัดเรียกประชุมกรรมการเพื่อพิจารณากันเสียก่อนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1162 มติของคณะกรรมการจะต้องถือเอาเสียงข้างมากเป็นใหญ่ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1161 เมื่อปรากฏว่าผู้คัดค้านทั้งสองเรียกประชุมใหญ่โดยมิได้กระทำตามขั้นตอนดังกล่าว ดังนั้น การนัดเรียกประชุมใหญ่ตลอดจนการประชุมและการลงมติจึงเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ดังกล่าว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8878/2560
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ค่าสินไหมทดแทนในคดีอาญา: ศาลฎีกามีอำนาจกำหนดได้แม้ผู้เสียหายไม่ได้อุทธรณ์ฎีกา
ผู้เสียหายที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้ชดใช้ค่าเสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ระบุว่า ผู้เสียหายที่ 2 ประสงค์จะเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยในการกระทำความผิดต่อร่างกาย จิตใจ เสื่อมเสียเสรีภาพและชื่อเสียง เมื่อพิจารณาคำร้องดังกล่าวฟังได้เบื้องต้นว่า ผู้เสียหายที่ 2 ประสงค์จะได้ค่าสินไหมทดแทนที่ตนเองได้รับความเสียหายในความผิดฐานพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากผู้เสียหายที่ 2 ในฐานะบิดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลโจทก์ร่วม มีความหมายเท่ากับความปกครองของผู้เสียหายที่ 2 ที่มีต่อโจทก์ร่วมถูกกระทบกระเทือนทำนองเดียวกับเสรีภาพของผู้เสียหายที่ 2 ได้รับความเสียหาย แต่ได้เขียนคำร้องในฐานะประชาชนที่ไม่เข้าใจกฎหมายถ่องแท้ จึงเขียนทำนองเรียกค่าสินไหมทดแทนแทนโจทก์ร่วม ทั้งศาลชั้นต้นก็ไม่ได้มีคำสั่งให้แก้ไขคำร้องให้ชัดเจนตามมาตรา 44/1 วรรคสอง จะถือเป็นความผิดของผู้เสียหายที่ 2 ไม่ได้ ทั้งปัญหาตามมาตรา 44/1 เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตามมาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ศาลฎีกาจึงมีอำนาจกำหนด ค่าสินไหมทดแทนให้ผู้เสียหายที่ 2 ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 827/2560
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจดำเนินคดีแทนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ฎีกาต้องห้ามตามกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
องค์การตรวจสอบอำนาจรัฐแห่งราชอาณาจักรไทยไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล ไม่มีกฎหมายรองรับ ไม่อาจดำเนินคดีแทนจำเลยได้ คดีนี้จำเลยมอบอำนาจให้องค์การตรวจสอบอำนาจรัฐแห่งราชอาณาจักรไทยเป็นผู้ดำเนินคดีแทน การที่ ส. ประธานองค์การตรวจสอบอำนาจรัฐแห่งราชอาณาจักรไทย ลงลายมือชื่อ ในฐานะผู้อุทธรณ์และผู้เขียนเป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 1 (11) ประกอบมาตรา 67 (5) และ 246 กรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ ที่ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ไว้และศาลอุทธรณ์ภาค 9 มีคำพิพากษาเป็นการไม่ชอบ ฎีกาของจำเลยจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4494/2560
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจจำหน่ายทรัพย์สินของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ตาม พ.ร.ก.บริหารสินทรัพย์ และผลของการปฏิบัติตามขั้นตอนตามกฎหมายพิเศษ
พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มีบทบัญญัติให้จำเลยมีอำนาจปรับโครงสร้างหนี้ ปรับโครงสร้างกิจการ จำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้หรือจำหน่ายหนี้สูญ อันเป็นการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพตามวิธีการที่กำหนดไว้ในพระราชกำหนด แม้จำเลยจะเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนตามมาตรา 30 เพื่อเข้ามาดำเนินคดีต่อไป ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดบังคับให้จำเลยต้องดำเนินการบังคับคดีเอากับทรัพย์สินของลูกหนี้โดยวิธีการขายทอดตลาดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งอย่างเดียว แต่จำเลยมีอำนาจดำเนินการบังคับเอากับทรัพย์สินของลูกหนี้ได้ตามมาตรา 75 ถึงมาตรา 82 อันเป็นกฎหมายพิเศษที่ให้ยกเว้นการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งจำเลยได้ดำเนินการตามขั้นตอนตามมาตรา 74 และมาตรา 76 ถูกต้องครบถ้วนแล้ว กรณีจึงต้องด้วยมาตรา 82 ซึ่งบัญญัติห้ามเพิกถอนการจำหน่ายทรัพย์สินตามวิธีการที่กำหนดไว้ในมาตรา 76 การโอนที่ดินพิพาทของจำเลยและจำเลยร่วมจึงชอบแล้ว