คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
อำนาจ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 971 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1820/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลงลายมือชื่อในฎีกาโดยไม่ได้รับอนุญาต: ฎีกาไม่ชอบ ศาลไม่รับวินิจฉัย
จำเลยลงลายมือชื่อเป็นผู้ฎีกา แต่มี ส. เป็นผู้ลงลายมือชื่อในช่องผู้เรียง/พิมพ์ โดยไม่ปรากฏว่า ส. เป็นทนายความของจำเลย และตามฎีกาก็ระบุชัดเจนว่า ส. ไม่เป็นทนายความโดยในช่องใบอนุญาตทำเครื่องหมายยัติภังค์ไว้ ( - ) ส. จึงเป็นบุคคลที่ไม่มีอำนาจลงลายมือชื่อเป็นผู้เรียงคำคู่ความที่ยื่นต่อศาลอันเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยไม่ชอบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 67 (5) กรณีหาใช่ข้อบกพร่องในเรื่องความสามารถหรือบกพร่องในการเขียนคำคู่ความ ซึ่งศาลมีอำนาจสั่งให้แก้ไขหรือมีคำสั่งในเรื่องที่ผิดระเบียบได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย พิพากษายกฎีกาของจำเลย คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาแก่จำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1814/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจผู้จัดการมรดกในการเข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้นและมติที่ประชุมชอบด้วยกฎหมาย
ป. เป็นผู้จัดการมรดกของ อ. ตามคำสั่งศาลจึงมีฐานะเป็นผู้แทนตามกฎหมายของทายาท ย่อมมีสิทธินำหุ้นอันเป็นทรัพย์มรดกของ อ. เข้าร่วมเป็นองค์ประชุมในการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยอันเป็นการกระทำไปตามอำนาจหน้าที่ทั่วไปของผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 และมาตรา 1723 โดยไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นทายาท เพราะอำนาจหน้าที่และความรับผิดของผู้จัดการมรดกต่อทายาทเกิดขึ้นโดยบทบัญญัติของกฎหมาย ไม่ได้มีลักษณะเป็นตัวแทนของทายาท เนื่องจากบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6 ลักษณะมรดก ให้นำบทบัญญัติ บรรพ 3 ลักษณะตัวแทนมาใช้โดยอนุโลมเท่านั้น และการกระทำเช่นนี้ไม่ใช่การทำนิติกรรมอันจะต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 1722 จึงไม่ตกเป็นโมฆะ
การที่โจทก์ที่ 1 ถูกถอดถอนอำนาจกระทำการแทนบริษัทจำเลย แล้วให้ ป. เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทจำเลยเกิดจากการลงมติด้วยคะแนนเสียงข้างมากของผู้ถือหุ้น แม้ ป. ในฐานะส่วนตัวจะออกเสียงลงคะแนนเห็นชอบตามมติดังกล่าว แต่ได้งดออกเสียงลงคะแนนในฐานะผู้จัดการมรดกของ อ. การกระทำของ ป. จึงไม่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต และใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดเสียหายแก่บุคคลอื่นตามมาตรา 5 และมาตรา 421 เมื่อการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นมีผู้ถือหุ้นเข้าประชุมรวมกันแทนหุ้นไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนหุ้นทั้งหมดครบองค์ประชุมตามข้อบังคับ การประชุมและมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4391/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำชำเราเด็กโดยบิดาเลี้ยง, ข่มขืนใจ, และการใช้อำนาจในครอบครัว
จำเลยเป็นบิดาเลี้ยงของผู้เสียหายบังคับกระทำชำเราผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีและมิใช่ภริยาของจำเลย โดยข่มขู่ผู้เสียหายว่าห้ามนำเรื่องไปบอกใคร มิฉะนั้นจะให้อมอวัยวะเพศของจำเลยตลอดชีวิต พฤติการณ์ดังกล่าวจำเลยกระทำการในลักษณะที่ตนมีอำนาจบังคับเหนือผู้เสียหายซึ่งอยู่ในความดูแลของจำเลย โดยผู้เสียหายต้องมีความยำเกรงเชื่อฟังกระทำตามคำสั่งของจำเลย ผู้เสียหายจึงเป็นผู้อยู่ภายใต้อำนาจด้วยประการอื่นใดของจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4308/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาค้ำประกันที่ไม่มีรายละเอียดตามกฎหมายตกเป็นโมฆะ แม้ผู้ค้ำประกันจะลงนามโดยไม่มีอำนาจ
หนังสือรับรองการชำระหนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 มีข้อความและเจตนาเข้าทำสัญญาอันมีลักษณะเป็นสัญญาค้ำประกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 680 วรรคหนึ่ง แต่สัญญาค้ำประกันดังกล่าวได้ทำขึ้นภายหลัง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557 มีผลใช้บังคับ จึงต้องนำ ป.พ.พ. มาตรา 681 และมาตรา 685/1 ที่แก้ไขมาใช้บังคับ เมื่อมูลหนี้ตามคำฟ้องเกิดขึ้นภายหลังการทำสัญญาค้ำประกัน จึงเป็นการประกันมูลหนี้ที่อาจสมบูรณ์ได้ในอนาคต เมื่อเป็นการค้ำประกันลูกหนี้หลายรายรวมกัน โดยไม่มีรายละเอียดระบุจำนวนสูงสุดที่ค้ำประกันในลูกหนี้ในแต่ละราย และระยะเวลาในการก่อหนี้ที่จะค้ำประกันไว้ สัญญาค้ำประกันดังกล่าวจึงเป็นบรรดาข้อตกลงเกี่ยวกับการค้ำประกันที่แตกต่างไปจากมาตรา 681 วรรคสอง จึงตกเป็นโมฆะตามมาตรา 685/1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2565/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การดูหมิ่นเจ้าพนักงาน: แม้ไม่ใช่พนักงานสอบสวนโดยตรง แต่การช่วยปฏิบัติหน้าที่ก็เข้าข่ายความผิดฐานดูหมิ่นได้
แม้โจทก์ร่วมเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ ตำแหน่งรองสารวัตรจราจร ไม่ใช่พนักงานสอบสวน ไม่มีอำนาจเปรียบเทียบคดีตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 ซึ่งเป็นอำนาจของพนักงานสอบสวนจะต้องกระทำการเป็นการเฉพาะตัวตาม ป.วิ.อ. มาตรา 38 แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าพนักงานสอบสวนจะต้องกระทำเองเป็นการเฉพาะตัวไปเสียทั้งหมด ดังจะเห็นได้จาก ป.วิ.อ. มาตรา 128 (1) และ (2) ได้บัญญัติให้อำนาจแก่พนักงานสอบสวนที่จะร้องขอหรือสั่งให้เจ้าพนักงานอื่นทำการแทนตนได้บ้าง เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์ร่วมช่วยร้อยตำรวจโทหญิง ส. พนักงานสอบสวนทำการเปรียบเทียบโดยนั่งเขียนใบเสร็จรับเงินชำระค่าปรับให้แก่ผู้ต้องหากระทำความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.จราจรทางบกตามที่ตั้งด่านกวดขันวินัยจราจร และผู้ต้องหายินยอมชำระค่าปรับตามที่ร้อยตำรวจโทหญิง ส. พนักงานสอบสวนได้เปรียบเทียบแล้ว อยู่บนโต๊ะใกล้ ๆ กับร้อยตำรวจโทหญิง ส. พนักงานสอบสวน ถือได้ว่าเป็นสิ่งเล็กน้อยในการสอบสวนซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของร้อยตำรวจโทหญิง ส. พนักงานสอบสวน และมิได้มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดเจาะจงให้พนักงานสอบสวนต้องเขียนใบเสร็จรับเงินชำระค่าปรับด้วยตนเอง การกระทำของโจทก์ร่วมดังกล่าวจึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานตามที่พนักงานสอบสวนได้มอบหมายให้กระทำ และข้อความที่จำเลยลงในเฟซบุ๊กของจำเลยซึ่งเป็นสื่อสังคมออนไลน์สาธารณะว่า โจทก์ร่วมปิดหน้าปิดตายังกะโจร เป็นข้อความที่กล่าวสบประมาทโจทก์ร่วมขณะปฏิบัติการตามหน้าที่ จึงเป็นความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่หรือเพราะได้กระทำการตามหน้าที่ตาม ป.อ. มาตรา 136

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 692/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิจัดการศพ: ทรัพย์สินสมณเพศตกเป็นของวัด ผู้รับผลประโยชน์มากที่สุดมีอำนาจจัดการศพ
การจัดการทำศพเป็นกิจการซึ่งไม่เกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้ตาย การจะทำให้บังเกิดผลบังคับได้ตามกฎหมายต้องแสดงเจตนาโดยทำเป็นพินัยกรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1646 แต่คำสั่งเสียด้วยวาจาของผู้มรณภาพที่ให้โจทก์เป็นผู้จัดการทำศพไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์การทำพินัยกรรมด้วยวาจาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1663 ย่อมไม่บังเกิดผลบังคับได้ตามกฎหมาย เมื่อผู้มรณภาพมิได้ทำพินัยกรรมตั้งผู้จัดการมรดก และทรัพย์สินของผู้มรณภาพได้มาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศ ย่อมตกเป็นสมบัติของวัดจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1623 ส่วนโจทก์และน้องคนอื่นของผู้มรณภาพ แม้เป็นทายาทโดยธรรมในลำดับที่ 3 ตามมาตรา 1629 (3) ก็ไม่มีสิทธิรับมรดกของผู้มรณภาพ ย่อมไม่อาจมอบหมายตั้งให้บุคคลใดเป็นผู้จัดการทำศพผู้มรณภาพ การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุคคลผู้ได้รับทรัพย์มรดกโดยสิทธิโดยธรรมตามผลของมาตรา 1623 อันเป็นจำนวนมากที่สุด จึงเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่จัดการทำศพผู้มรณภาพตาม ป.พ.พ. มาตรา 1649 วรรคสอง จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องส่งมอบศพผู้มรณภาพแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5465/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจแก้ไขข้อบังคับของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร - ไม่ขัดต่อ พ.ร.บ.จัดสรรที่ดิน
ข้อบังคับของจำเลยที่ 1 หมวดที่ 10 การแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อบังคับ ข้อ 41 ระบุว่า "การแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อบังคับให้กระทำโดยมติที่ประชุมใหญ่ของสมาชิกและมติเกี่ยวกับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อบังคับต้องได้รับคะแนนเสียง 3 ใน 4 ของจำนวนเสียงของสมาชิกที่เข้าร่วมประชุม" เมื่อปรากฏตามรายงานการประชุมว่า ที่ประชุมมีมติให้แก้ไขข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ด้วยคะแนนเสียง 155 เสียง ต่อ 10 เสียง อันเป็นคะแนนเสียงมากกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนสมาชิกที่เข้าร่วมประชุมตามที่ข้อบังคับข้อ 41 กำหนดไว้ มติดังกล่าวจึงไม่ขัดต่อข้อบังคับของจำเลยที่ 1 และ พ.ร.บ.จัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 43 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "สาธารณูปโภคที่ผู้จัดสรรที่ดินได้จัดให้มีขึ้นเพื่อการจัดสรรที่ดินตามแผนผังและโครงการที่ได้รับอนุญาต เช่น ถนน สวน สนามเด็กเล่น ให้ตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรร และให้เป็นหน้าที่ของผู้จัดสรรที่ดินที่จะบำรุงรักษาสาธารณูปโภคดังกล่าวให้คงสภาพดังเช่นที่ได้จัดทำขึ้นนั้นต่อไป และจะกระทำการใดอันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกมิได้" บทกฎหมายมาตรานี้บัญญัติขึ้นเพื่อห้ามมิให้ผู้จัดสรรที่ดินกระทำการใด ๆ อันจะเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งสาธารณูปโภคที่ผู้จัดสรรที่ดินจัดให้มีขึ้นตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรรลดไปหรือเสื่อมความสะดวกไป ไม่มีข้อความใดที่ระบุห้ามมิให้นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรกระทำการดังกล่าว แม้นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรจะเป็นผู้รับโอนสาธารณูปโภคมาจากผู้จัดสรรที่ดินตามมาตรา 44 (1) แต่ก็มีที่มาต่างกันโดยมาตรา 4 กำหนดคำนิยามของ "ผู้จัดสรรที่ดิน" หมายความว่า ผู้ได้รับใบอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดินและให้หมายความรวมถึงผู้รับโอนใบอนุญาตด้วย ส่วน "นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร" เป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตาม มาตรา 45 และ 46 แม้มีหน้าที่รับโอนทรัพย์สินอันเป็นสาธารณูปโภคตามมาตรา 44 (1) ด้วยก็ตาม แต่นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรไม่ได้เป็นผู้จัดสรรที่ดินโดยตรง และไม่ได้เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดิน ดังนั้น "นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร" จึงไม่ใช่ "ผู้จัดสรรที่ดิน" ตามนัยของกฎหมายข้างต้น บทบัญญัติมาตรา 43 วรรคหนึ่ง ย่อมไม่อาจนำมาบังคับใช้แก่จำเลยที่ 1 ได้ เมื่อพิจารณาประกอบกับมาตรา 48 ที่บัญญัติว่า "เพื่อประโยชน์ของผู้ซื้อที่ดินจัดสรร ให้นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้ (1) กำหนดระเบียบเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์สาธารณูปโภค... (5) จัดให้มีบริการสาธารณะเพื่อสวัสดิการของสมาชิกหรือจัดสรรเงินหรือทรัพย์สินเพื่อสาธารณะประโยชน์...." ก็มิได้มีบทบังคับว่านิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรต้องอยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 43 วรรคหนึ่ง แต่อย่างใดด้วย เหตุที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากผู้จัดสรรที่ดินเป็นเพียงผู้ได้รับใบอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดินเป็นบุคคลภายนอกเมื่อจัดสรรที่ดินตามที่ได้รับอนุญาตเสร็จสิ้นครบถ้วนแล้วก็ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับที่ดินจัดสรรอีก แต่สำหรับผู้ซื้อที่ดินจัดสรรหรือสมาชิกนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรนั้นเป็นเจ้าของกรรมสิทธิในที่ดินจัดสรรและสิ่งปลูกสร้างซึ่งต้องอยู่ร่วมกันกับสมาชิกอื่นด้วย สมาชิกแต่ละคนจึงมีสิทธิในทรัพย์สินส่วนกลางและมีดุลพินิจได้อย่างกว้างขวางที่จะกำหนดขอบเขตการใช้ประโยชน์ทรัพย์สินส่วนกลาง และเพื่อเป็นการป้องกันมิให้นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรดำเนินการตามอำเภอใจไม่เป็นไปตามเสียงส่วนใหญ่ของสมาชิก มาตรา 48 วรรคท้าย ก็กำหนดว่าการดำเนินการใดบ้างจะต้องได้รับความเห็นชอบจากมติที่ประชุมใหญ่สมาชิก อันเป็นหลักการพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันในสังคมระบอบประชาธิปไตย นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรโดยความเห็นชอบจากมติที่ประชุมใหญ่ของสมาชิกย่อมมีอำนาจวางข้อกำหนดเกี่ยวกับสาธารณูปโภคและบริการสาธารณะได้อย่างอิสระโดยไม่ถูกจำกัดด้วยมาตรา 43 วรรคหนึ่ง ดังนั้น การที่ที่ประชุมใหญ่ของสมาชิกจำเลยที่ 1 มีมติให้แก้ไขข้อบังคับข้อ 40 แม้การแก้ไขดังกล่าวจะมีผลทำให้การใช้ประโยชน์จากสาธารณประโยชน์ลดน้อยลงก็มีอำนาจกระทำได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2204/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจการยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกา: ทนายความต้องดำเนินการด้วยตนเอง
ไม่ปรากฏในสำนวนว่าจำเลยทั้งสองได้ตั้งแต่ง ณ. เป็นทนายความและ ณ. มิได้ทำหน้าที่เป็นทนายความจำเลยทั้งสองมาก่อนที่จะมีการยื่นฎีกา ณ. จึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาแทนจำเลยทั้งสองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 60, 61 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ทั้งการที่จำเลยทั้งสองตั้งแต่ง ส. เป็นทนายความและ ส. เคยมอบฉันทะให้ ณ. เป็นเสมียนทนายทำการแทนในกิจการยื่นคำร้องขอขยายเวลายื่นอุทธรณ์ครั้งที่ 3 รับทราบคำสั่งศาล รับทราบกำหนดวันนัด รับเอกสารจากศาล ตรวจสำนวน รวมถึงให้ถ้อยคำแถลงต่อศาลและแก้ไขข้อความที่พิมพ์ผิดพลาดได้ ก็ไม่ทำให้ ณ. เสมียนทนายจำเลยทั้งสองมีอำนาจทำคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกา เพราะทนายความอาจมอบอำนาจให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งทำการแทนได้ในกิจการที่ระบุไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 64 เท่านั้น โดยไม่รวมถึงกิจการสำคัญเกี่ยวกับคดีซึ่งโดยสภาพเป็นที่เห็นได้ว่าทนายความจะต้องกระทำด้วยตนเองเช่นการทำคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกา ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกา มีผลทำให้คำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ฎีกาและฎีกาของจำเลยทั้งสองเป็นฎีกาที่ยื่นเกินกำหนดระยะเวลาฎีกาไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2155/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตอำนาจตัวแทน: สัญญาประนีประนอมยอมความที่ไม่ได้รับมอบอำนาจ
โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยให้รับผิดในมูลหนี้ซื้อขายสินค้า จำเลยจึงทำหนังสือมอบอำนาจระบุ ป. เป็นผู้มีอำนาจจัดการคดีจนเสร็จสิ้น ป. กับโจทก์ร่วมกันแถลงว่าคดีมีแนวทางที่จะตกลงกันได้ประสงค์จะทำยอม ขอเลื่อนไปทำยอมในนัดหน้า ต่อมาจำเลยทำหนังสือมอบอำนาจระบุให้ ป. เป็นผู้มีอำนาจในการไกล่เกลี่ย เลื่อนนัด จัดการทุกอย่างจนเสร็จสิ้นกระบวนการศาล นั้น ป. จึงอยู่ในฐานะตัวแทนที่ได้รับมอบอำนาจเฉพาะการ มีหน้าที่ดำเนินกระบวนพิจารณาในสิ่งที่จำเป็นแทนจำเลยภายในขอบอำนาจที่ระบุในหนังสือมอบอำนาจทั้งสองฉบับข้างต้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 800 เมื่อหนังสือมอบอำนาจไม่ได้ระบุโดยชัดแจ้งว่าให้ ป. มีอำนาจทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ทั้งข้อความที่ระบุว่าให้มีอำนาจจัดการคดีจนเสร็จสิ้นก็ไม่อาจตีความว่ารวมถึงให้มีอำนาจในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความแทนจำเลยได้ ฉะนั้นการที่ ป. แถลงต่อศาลว่าประสงค์จะทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ และทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์จึงเป็นกรณีตัวแทนกระทำนอกเหนือขอบอำนาจ ย่อมไม่ผูกพันจำเลยซึ่งเป็นตัวการ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 823

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3440/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในการจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ และสิทธิของเจ้าหนี้ในการโต้แย้ง
การที่ผู้คัดค้านทำรายงานความเห็นและมีหมายแจ้งให้โจทก์คืนเงิน 2,500,000 บาท เข้ากองทรัพย์สินในคดีล้มละลายเป็นการกระทำในขั้นตอนของการจัดการกิจการและทรัพย์สินของจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นอำนาจของผู้คัดค้านแต่เพียงผู้เดียว ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22 และ 24 ซึ่งตามรายงานความเห็นและหมายแจ้งของผู้คัดค้านดังกล่าวเป็นเพียงการแจ้งข้อเท็จจริงประกอบข้อกฎหมายให้โจทก์ทราบ แม้ในตอนท้ายจะมีข้อความขอให้โจทก์คืนเงินจำนวนดังกล่าวภายใน 30 วัน นับแต่ได้รับหมายนี้ ก็มิได้มีลักษณะเป็นคำสั่งหรือคำวินิจฉัยชี้ขาดที่กฎหมายบัญญัติให้โจทก์ต้องปฏิบัติตาม รายงานความเห็นและหมายแจ้งของผู้คัดค้านดังกล่าวจึงหามีสภาพบังคับแก่โจทก์ไม่ แม้ต่อมาหากปรากฏว่าผู้คัดค้านดำเนินคดีแก่โจทก์ ก็ยังไม่เป็นการแน่นอนว่าโจทก์ต้องคืนเงินจำนวนดังกล่าวเข้ากองทรัพย์สินในคดีล้มละลาย เพราะศาลอาจมีคำวินิจฉัยหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่นได้ ลำพังรายงานความเห็นและหมายแจ้งของผู้คัดค้านที่แจ้งไปยังโจทก์ดังกล่าว จึงยังไม่เป็นการกระทำหรือคำวินิจฉัยของผู้คัดค้านที่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ตามมาตรา 146 โจทก์จึงไม่มีอำนาจร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งเพิกถอนรายงานความเห็นของผู้คัดค้านที่ให้เรียกเงิน 2,500,000 บาท คืนจากโจทก์เพื่อรวบรวมเข้ากองทรัพย์สินในคดีล้มละลาย
of 98