คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ขายทอดตลาด

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,012 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3231/2550 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีและการขายทอดตลาด: ผลของพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 21) พ.ศ.2547
ป.วิ.พ. มาตรา 309 ทวิ วรรคสี่ ที่บัญญัติว่า "คำสั่งศาลตามวรรคสองให้เป็นที่สุด" ซึ่งแก้ไขใหม่โดยมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 21) พ.ศ.2547 นั้น มาตรา 2 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติให้พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไปโดยไม่มีบทเฉพาะกาลกำหนดว่ามิให้ใช้บังคับแก่คดีที่ฟ้องก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ มาตรา 309 ทวิ วรรคสี่ ที่แก้ไขใหม่โดยพระราชบัญญัตินี้จึงผูกพันใช้บังคับแก่คู่ความทันที
อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ที่ว่า การขายทอดตลาดมีผู้เข้าสู้ราคาเพียงรายเดียวจึงเป็นการไม่ชอบ มิใช่ประเด็นที่ร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดโดยอาศัยเหตุตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 309 ทวิ วรรคสอง แต่เป็นประเด็นที่ร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดโดยอาศัยเหตุอื่นตามมาตรา 309 ทวิ และไม่มีกฎหมายบัญญัติให้คำสั่งศาลชั้นต้นตามวรรคสองของมาตรานี้เป็นที่สุด
การขายทอดตลาดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา กฎหมายมิได้บัญญัติให้ต้องมีผู้เข้าแข่งขันกันในการประมูลราคา แม้จะมีผู้ซื้อทรัพย์เข้าสู้ราคาเพียงรายเดียว เจ้าพนักงานบังคับคดีก็ดำเนินการขายทอดตลาดต่อไปได้โดยชอบ ไม่จำต้องรอให้มีผู้ประมูลราคารายอื่นเข้ามาแข่งขันก่อน
ป.วิ.พ. มาตรา 306 บัญญัติให้เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งวันขายทอดตลาดแก่บรรดาผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินที่จะขายทอดตลาดซึ่งทราบได้ตามทะเบียนหรือโดยประการอื่น การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 มิใช่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงมิใช่ผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินที่จะขายทอดตลาด เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่แจ้งวันขายทอดตลาดให้จำเลยที่ 1 ทราบก็ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3231/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีและการขายทอดตลาด: ศาลฎีกาชี้ขาดเรื่องการแจ้งเจ้าหนี้, ผู้เข้าสู้ราคา และผลของ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ.พ.
อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ที่ว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงขายทรัพย์สินในราคาต่ำเกินสมควร เป็นอุทธรณ์ในประเด็นที่ร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดโดยอาศัยเหตุตาม ป.วิ.อ. มาตรา 309 ทวิ วรรคสอง เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งแล้วย่อมเป็นที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 309 ทวิ วรรคสี่ ซึ่งแก้ไขใหม่ที่มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2548 เป็นต้นไป โดยไม่มีบทเฉพาะกาลกำหนดว่าบทบัญญัติที่แก้ไขใหม่โดย พ.ร.บ. นี้มิให้ใช้บังคับแก่คดีที่ฟ้องก่อนวันที่ พ.ร.บ. นี้มีผลใช้บังคับแต่อย่างใด จึงผูกพันใช้บังคับแก่คู่ความทันที
การขายทอดตลาดที่มีผู้เข้าสู้ราคาเพียงรายเดียว มิใช่ประเด็นที่ร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดโดยอาศัยเหตุตาม ป.วิ.พ. มาตรา 309 ทวิ วรรคสอง แต่เป็นประเด็นที่ร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดโดยอาศัยเหตุอื่นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง ซึ่งไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 309 ทวิ และไม่มีกฎหมายบัญญัติให้คำสั่งศาลชั้นต้นตามวรรคสองของมาตรานี้เป็นที่สุด กรณีมิได้มีกฎหมายบัญญัติให้ต้องมีผู้เข้าแข่งขันกันในการประมูลราคา ดังนั้น แม้การขายทอดตลาดทรัพย์สินคดีนี้จะมีผู้ซื้อทรัพย์เข้าสู้ราคาเพียงรายเดียว เจ้าพนักงานบังคับคดีก็ดำเนินการขายทอดตลาดต่อไปได้โดยชอบ
ป.วิ.พ. มาตรา 306 บัญญัติให้เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งวันขายทอดตลาดแก่บรรดาผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินที่จะขายทอดตลาดซึ่งทราบได้ตามทะเบียนหรือโดยประการอื่น คดีนี้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 มิใช่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงมิใช่ผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินที่จะขายทอดตลาด เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ต้องแจ้งวันขายทอดตลาดให้จำเลยที่ 1 ทราบก็ได้ จำเลยที่ 2 จึงไม่มีสิทธิร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดโดยอาศัยเหตุดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2903/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินราคาทรัพย์สินเพื่อขายทอดตลาด ไม่ผูกมัดผู้เสนอราคาหรือศาล
การประเมินราคาทรัพย์สินนั้นเป็นเพียงการประมาณราคาในเบื้องแรกตามความเห็นของเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อประโยชน์ในการขายทอดตลาดต่อไปเท่านั้น ซึ่งราคาที่ประเมินไว้เป็นไปได้ว่าอาจไม่ตรงกับราคาที่แท้จริง แต่ทั้งนี้ก็หาใช่หลักเกณฑ์ตายตัวที่ผูกมัดผู้ที่มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีหรือศาลว่าเมื่อขายทอดตลาดแล้วจะต้องให้เป็นไปตามราคาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินไว้ แต่ขึ้นอยู่กับผู้เข้าสู้ราคาว่าจะให้ราคาสูงสุดเพียงใด โดยเฉพาะหากจำเลยที่ 2 เห็นว่า ราคาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินไว้ต่ำไป ก็ชอบที่จะหาผู้เข้าสู้ราคาหรือคัดค้านการขายทอดตลาดเพื่อให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเลื่อนการขายทอดตลาดทรัพย์สินออกไป ดังนั้น กรณียังถือไม่ได้ว่ามีข้อโต้แย้งสิทธิระหว่างเจ้าพนักงานบังคับคดีกับจำเลยที่ 2 อันจะเป็นเหตุให้จำเลยที่ 2 มีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง เพื่อให้สั่งเจ้าพนักงานบังคับคดีตั้งราคาประมูลทรัพย์สินใหม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1873/2550 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีตามสัญญาประนีประนอมยอมความ: ยึดทรัพย์อื่นได้ต่อเมื่อขายทรัพย์จำนองแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้
เมื่อโจทก์และจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลพิพากษาตามยอมแล้ว ขั้นตอนต่อไปหากคู่ความฝ่ายใดไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความก็จะต้องมีการบังคับคดีให้เป็นไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งปรากฏต่อมาว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา และโจทก์ก็ได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดแล้วแต่ยังขายไม่ได้ เมื่อยังขายทอดตลาดทรัพย์จำนองไม่ได้ การบังคับคดีตามสัญญาประนีประนอมยอมความจึงยังไม่เสร็จสิ้นและจะต้องดำเนินการต่อไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอม โจทก์จะบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินอื่นของจำเลยได้ก็ต่อเมื่อมีการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ การขายทอดตลาดทรัพย์จำนองยังไม่ได้มิใช่กรณีขายแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์จึงยังไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินอื่นของจำเลย การที่โจทก์จะนำยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลย จึงเป็นการปฏิบัตินอกเหนือและผิดไปจากที่กำหนดไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งโจทก์ไม่อาจทำได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1873/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีตามสัญญาประนีประนอมยอมความ: สิทธิในการยึดทรัพย์อื่นเมื่อขายทรัพย์จำนองยังไม่เสร็จ
คู่ความตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลพิพากษาตามยอมใจความว่า จำเลยยอมชำระหนี้ให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย จำเลยจะผ่อนชำระเป็นรายเดือนทุกเดือนติดต่อกัน หากผิดนัดยอมให้โจทก์ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาด หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์อื่นของจำเลยชำระหนี้จนครบ ปรากฏต่อมาว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาและโจทก์ได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดแล้วแต่ยังขายไม่ได้ โจทก์จึงยังไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินอื่นของจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2047/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเรียกร้องค่าเก็บรักษาและขนส่งของตกค้างจากขายทอดตลาด, ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้, และค่าฤชาธรรมเนียม
พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 63 บัญญัติว่า "เงินที่ได้จากการขายตามมาตรา 61 นั้น ให้หักใช้ค่าภาษี ค่าเก็บรักษา ค่าย้ายขน หรือค่าภาระติดพันอย่างอื่นอันค้างชำระแก่กรมศุลกากรเสียก่อน เหลือเท่าใดให้ใช้ค่าภาระติดพันต่าง ๆ อันสมควรจะได้และค้างชำระแก่ตัวแทนของเรือที่นำของเข้ามา เมื่อได้หักเช่นนี้แล้ว ยังมีเงินเหลืออยู่อีกเท่าใด ให้ตกเป็นของแผ่นดิน เว้นแต่เจ้าของจะได้เรียกร้องเอาภายในหกเดือนนับแต่วันขายทอดตลาด" ตามบทบัญญัติดังกล่าวเจตนาให้จัดสรรเงินที่เหลือจากการขายทอดตลาดของตกค้างเพื่อชำระหนี้ที่เป็นประโยชน์อันเกี่ยวข้องกับของตกค้างไว้ 4 รายการ รายการที่หนึ่งค่าภาษี รายการที่สองค่าเก็บรักษา รายการที่สามค่าย้ายขน หรือรายการที่สี่ค่าภาระติดพันอย่างอื่นที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับของตกค้างเสียก่อน เหลือเท่าใดจึงให้คืนแก่เจ้าของที่ได้เรียกร้องเอาภายในหกเดือนนับแต่วันขายทอดตลาด เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาในคดีที่โจทก์ฟ้องบริษัทผู้นำเข้าของตกค้าง โดยคดีถึงที่สุดไปแล้วตามคดีหมายเลขแดงที่ 20027/2556 ของศาลอุทธรณ์ว่าโจทก์เป็นเจ้าหนี้ค่าภาระการใช้ท่าเรือเก็บรักษาสินค้า และค่าขนย้าย 13,814,377.20 บาท ซึ่งผู้ร้องและจำเลยมิได้คัดค้านเป็นอย่างอื่น จึงถือว่าโจทก์เป็นเจ้าหนี้ค่าเก็บรักษาและค่าย้ายขนตามจำนวนดังกล่าวที่มีสิทธิได้รับจัดสรรเงินที่เหลือจากการขายทอดตลาดของตกค้างก่อนเจ้าของตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 63 เมื่อเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดของตกค้างหลังจากได้หักใช้ค่าภาษีอันค้างชำระแก่จำเลยแล้ว คงเหลือ 8,834,899 บาท จึงต้องจัดสรรให้แก่โจทก์ทำให้ไม่มีเงินเหลือจากการขายทอดตลาดของตกค้างที่จะตกได้แก่ผู้ร้องที่อ้างว่าเป็นเจ้าของอีก
กรณีนี้ เมื่อโจทก์ได้มีหนังสือทวงถามให้จำเลยส่งมอบเงิน การที่จำเลยปฏิเสธไม่ชำระเงินให้แก่โจทก์เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในต้นเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ด้วย ไม่มีเหตุผลหรือบทบัญญัติตามกฎหมายข้อใดที่กำหนดให้จำกัดความรับผิดของจำเลยไว้เพียงต้นเงินที่อยู่ในความครอบครองของจำเลยตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษา แต่จะถือว่าจำเลยผิดนัดในวันขายทอดตลาดของตกค้างดังกล่าวไม่ได้เพราะโจทก์เพิ่งมีหนังสือทวงถามให้จำเลยส่งมอบเงิน ฉบับลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2556 ระบุให้จำเลยส่งมอบเงินให้แก่โจทก์ภายในกำหนด 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือนี้ ซึ่งจำเลยได้รับหนังสือเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2556 แล้วเพิกเฉย ถือว่าจำเลยผิดนัดไม่ชำระเงินให้แก่โจทก์นับแต่วันพ้นกำหนด 7 วันดังกล่าว ให้จำเลยรับผิดชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์นับถัดจากวันที่ 9 กรกฎาคม 2556

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1539/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขายทอดตลาดที่ไม่ชอบเนื่องจากข้อมูลทรัพย์ไม่ถูกต้อง ทำให้ผู้ซื้อสำคัญผิดในสาระสำคัญของทรัพย์
ที่ตั้งจริงของทรัพย์อยู่ห่างจากที่ตั้งของทรัพย์ตามประกาศขายทอดตลาดเป็นระยะทาง 5 กิโลเมตร และมีเนื้อที่เพียง 18 ไร่เศษ ทั้งเป็นที่ดินไม่มีทางเข้าออก การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศขายทอดตลาดที่ดินของจำเลยที่ 2 ระบุว่า เนื้อที่ 22 ไร่ 3 งาน 46 ตารางวา และมีแผนที่สังเขปแสดงสภาพที่ดินว่าด้านหนึ่งของที่ดินติดกับที่สาธารณะประโยชน์ของกรมทางหลวง ทั้งมีภาพถ่ายท้ายประกาศแสดงว่าเป็นที่ดินที่ใช้ทำการเกษตร โดยโจทก์เป็นผู้นำส่งภาพถ่ายและแผนที่ที่ตั้งทรัพย์ยืนยันว่าถูกต้องตรงกับทรัพย์ที่นำยึดทุกประการ เมื่อปรากฏว่าที่ดินมีเนื้อที่ต่างกันประมาณ 5 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 20 ของเนื้อที่จริง และมีที่ตั้งอยู่ห่างกัน 5 กิโลเมตร อันนับว่าที่ดินมีที่ตั้งและเนื้อที่ต่างจากที่ปรากฏในประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นอย่างมาก ดังนั้น แม้ประกาศของเจ้าพนักงานบังคับคดีจะระบุว่า ผู้ซื้อทรัพย์มีหน้าที่ต้องตรวจสอบรายละเอียดเกี่ยวกับทรัพย์ที่จะซื้อ และถือว่าผู้ซื้อทรัพย์ได้ทราบถึงสภาพทรัพย์โดยละเอียดครบถ้วนแล้วก็ตาม แต่เมื่อการปิดประกาศขายทอดตลาด ณ ที่ตั้งทรัพย์ดังกล่าว เป็นการปิดประกาศ ณ สถานที่ที่ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง แม้ผู้ซื้อทรัพย์ไปตรวจดูที่ดินตามที่ระบุไว้ในแผนที่สังเขป ซึ่งไม่ใช่ที่ตั้งทรัพย์จริง ผู้ซื้อทรัพย์อาจไม่ทราบถึงความคลาดเคลื่อนดังกล่าว ดังนั้น เจ้าพนักงานบังคับคดีชอบที่จะตรวจสอบที่ดินแปลงดังกล่าว และให้ข้อมูลที่ตรงกับความเป็นจริงก่อนจะประกาศขายทอดตลาด การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเพียงแนบแผนที่สังเขปดังกล่าว ย่อมทำให้ผู้ซื้อทรัพย์สำคัญผิดเกี่ยวกับสภาพของทรัพย์ที่จะขายทอดตลาด ซึ่งถือว่าเป็นข้อสาระสำคัญที่ทำให้ผู้ซื้อทรัพย์สำคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์ การขายทอดตลาดดังกล่าวจึงเป็นไปโดยไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1126/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขายทอดตลาดอาคารบนที่ดินเช่า: ผู้ซื้อมีหน้าที่รื้อถอนอาคารออกจากที่ดินเมื่อสัญญาเช่าสิ้นสุด
เมื่ออาคารพิพาทเป็นอาคารที่จำเลยปลูกสร้างลงบนที่ดินของเจ้าหนี้รายที่ 2 โดยอาศัยสิทธิตามสัญญาเช่าที่ดิน เมื่อสัญญาเช่าระงับลงโดยไม่มีข้อตกลงเป็นอย่างอื่นจำเลยผู้เช่าต้องรื้อถอนอาคารออกจากที่ดินที่เช่า ดังนั้น เมื่ออาคารพิพาทถูกเจ้าพนักงานบังคับคดียึดมาเพื่อบังคับชำระหนี้ การขายอาคารพิพาทจึงต้องขายโดยผู้ซื้อต้องรื้ออาคารพิพาทออกไปจากที่ดินของเจ้าหนี้รายที่ 2 เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่อาจกำหนดวิธีการขายทอดตลาดเป็นอย่างอื่น การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ประกาศขายทอดตลาด โดยมีหมายเหตุให้ผู้ซื้อต้องไปขออนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อการรื้อถอนอาคารออกจากที่ดินของเจ้าหนี้รายที่ 2 พร้อมขนย้ายเศษซากวัสดุจากการรื้อถอนอาคารออกจากที่ดินข้างต้นโดยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเอง จึงชอบด้วยกฎหมาย ประกอบกับการขายทอดตลาดมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บุคคลทั่วไปเข้าร่วมประมูลสู้ราคาได้ เจ้าหนี้รายที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินจึงมีสิทธิตามกฎหมายที่จะเข้าร่วมประมูล การที่ผู้ซื้ออาคารได้จะไปตกลงกับเจ้าของที่ดินภายหลังการประมูลก็เป็นสิทธิตามกฎหมายของผู้ซื้อที่จะไปดำเนินการและเป็นเรื่องในอนาคตที่นอกเหนือการจัดการของเจ้าพนักงานบังคับคดีและผู้คัดค้าน การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนดคำเตือนผู้ซื้อว่า ผู้ใดซื้อได้ให้รื้อถอนไปหรือติดต่อกับเจ้าของที่ดินเองนั้นชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5120-5122/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ทรัพย์สินฟอกเงิน: ผู้เสียหายมีสิทธิเรียกคืนจากผู้รับโอนสุจริตได้ โดยให้ขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้
เงินของผู้คัดค้านที่ 1 ที่ อ. ขออนุมัติถอนมาจากบัญชีเงินฝากของผู้คัดค้านที่ 1 เป็นแคชเชียร์เช็คระบุชื่อผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้รับเงิน เพื่อนำไปฝากยังธนาคารผู้คัดค้านที่ 2 สาขาสุวินทวงศ์ ไม่ได้มีการนำเข้าฝากที่สาขาดังกล่าว แต่กลับนำไปฝากที่ธนาคารผู้คัดค้านที่ 2 ในบัญชีชื่อของ พ. ที่สาขาดิอเวนิว โดยไม่ปรากฏเหตุที่จะอ้างโดยชอบ จากนั้นมีการโอนเงินไปยังบุคคลต่าง ๆ แม้เงินที่ฝากจะสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้รับฝากคือธนาคารผู้คัดค้านที่ 2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 672 แต่เมื่อเงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินจำนวนเดียวกับที่เป็นของผู้คัดค้านที่ 1 ที่ถูกถอนออกมาและนำไปฝากโดยผิดวัตถุประสงค์ บุคคลอื่นผู้มีชื่อเป็นเจ้าของบัญชีเงินฝากตามจำนวนที่เบิกถอนมาจากบัญชีของผู้คัดค้านที่ 1 โดยไม่ชอบดังกล่าวย่อมไม่อาจอ้างสิทธิใดได้ เมื่อผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้เสียหายในคดีอาญามีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งเงินของตนจาก อ. กับพวกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 แม้ต่อมาจะมีการถ่ายโอนเงินของผู้คัดค้านที่ 1 หรือนำไปดำเนินการอย่างอื่นไม่ว่าจะเป็นการนำไปซื้อทรัพย์สินต่าง ๆ หรือโอนไปให้แก่บุคคลอื่น ทรัพย์สินต่าง ๆ เหล่านั้นก็ไม่ตกเป็นของแผ่นดินและต้องถูกดำเนินการเพื่อให้ได้เงินมาคืนแก่ผู้คัดค้านที่ 1 ผู้มีสิทธิที่แท้จริงจนครบจำนวน
ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ทรัพย์สินรายการที่ 42 เป็น "ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด" ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 โดยผู้คัดค้านที่ 7 นำเงินที่ได้จากการที่ผู้คัดค้านที่ 7 และ อ. กับพวกได้มาจากการกระทำความผิดมูลฐาน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 (5) (18) โอนเข้าบัญชีผู้คัดค้านที่ 7 แล้วผู้คัดค้านที่ 7 นำเงินที่รับโอนมาดังกล่าวซื้อทรัพย์สินรายการที่ 42 แล้วขายฝากทรัพย์สินนั้นไว้แก่ผู้คัดค้านที่ 9 และไม่ไถ่คืนในกำหนด เมื่อผู้คัดค้านที่ 9 ซื้อฝากทรัพย์สินรายการที่ 42 นี้โดยสุจริตและมีค่าตอบแทน ในระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านที่ 9 ศาลย่อมสั่งคืนทรัพย์สินรายการนี้ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 9 ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 51/1 ทรัพย์สินรายการนี้จึงไม่ตกเป็นของแผ่นดินตามคำร้องของผู้ร้อง แต่ปรากฏว่าผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้เสียหายจากการกระทำของผู้คัดค้านที่ 7 กับพวก ผู้คัดค้านที่ 1 จึงมีสิทธิติดตามและเอาทรัพย์คืนจากผู้คัดค้านที่ 7 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 เมื่อผู้คัดค้านที่ 7 นำเงินของผู้คัดค้านที่ 1 ไปซื้อทรัพย์สินรายการที่ 42 ผู้คัดค้านที่ 7 จึงไม่มีสิทธิยึดถือทรัพย์สินรายการนี้ไว้ แต่ต้องคืนแก่ผู้คัดค้านที่ 1 เมื่อต่อมาผู้คัดค้านที่ 7 นำทรัพย์สินรายการนี้ไปขายฝากไว้แก่ผู้คัดค้านที่ 9 แม้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินรายการนี้จะตกเป็นของผู้คัดค้านที่ 9 แต่เมื่อผู้ขายฝากอาจไถ่ทรัพย์นั้นคืนได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 491 และการที่ผู้คัดค้านที่ 1 มีสิทธิติดตามและเอาทรัพย์คืนดังกล่าว ผู้คัดค้านที่ 1 ย่อมอยู่ในฐานะเจ้าหนี้ของผู้คัดค้านที่ 7 จึงอาจใช้สิทธิเรียกร้องของผู้คัดค้านที่ 7 ซึ่งเป็นลูกหนี้ในทรัพย์สินรายการนี้แทนผู้คัดค้านที่ 7 กรณีนี้เพื่อคุ้มครองผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เสียหายจึงควรให้ดำเนินการเสมือนมีการใช้สิทธิไถ่ถอนทรัพย์ที่ขายฝากจากผู้คัดค้านที่ 9 เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมระหว่างผู้คัดค้านที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 9 จึงไม่อาจให้ทรัพย์สินรายการนี้ตกเป็นของผู้คัดค้านที่ 9 ผู้รับซื้อฝากได้ แต่ควรให้ผู้คัดค้านที่ 9 ได้รับเงินค่าสินไถ่ตามที่กำหนดไว้ในหนังสือสัญญาขายฝากโดยนำทรัพย์สินนี้ออกขายทอดตลาดนำเงินชำระสินไถ่แก่ผู้คัดค้านที่ 9 และคืนส่วนที่เหลือ (หากมี) ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1
เมื่อการขายทอดตลาดทรัพย์สินรายการที่ 42 เป็นส่วนของวิธีการที่จะให้ทรัพย์สินนั้นถูกนำไปคืนแก่ผู้เสียหาย ขณะเดียวกันก็คุ้มครองผู้รับโอนทรัพย์สินโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน สินไถ่ดังกล่าวจึงไม่ใช่หนี้เงินที่แท้จริงซึ่งหากลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดก็ให้คิดดอกเบี้ยตามนัย ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรไม่กำหนดดอกเบี้ยในสินไถ่ให้ผู้คัดค้านที่ 9

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8034/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขายทอดตลาดที่ดินจัดสรรทั้งโครงการ: สิทธิหน้าที่ผู้ซื้อ และการไม่เป็นภาระผูกพันต่อที่สาธารณูปโภค
ตามฎีกาของจำเลยยืนยันว่า การขายทอดตลาดที่ดินและที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้ในคดีนี้และที่ยึดไว้ในคดีหมายเลขแดงที่ ย. 19/2550 เป็นการขายทั้งโครงการจัดสรรของจำเลย และปรากฏในอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ก่อนที่โจทก์จะนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินในโครงการจัดสรรของจำเลย ที่ดินในโครงการถูกโอนขายไปยังผู้ซื้อบางส่วนแล้ว โจทก์จึงยึดได้เฉพาะที่ดินในโครงการจัดสรรของจำเลยที่ยังไม่ได้โอนขายไปเท่านั้น และเป็นการยึด 2 คดี คือ คดีนี้ยึดที่ดิน 20 แปลง คดีหมายเลขแดงที่ ย. 19/2550 ยึดที่ดิน 60 แปลง ข้อเท็จจริงจากโจทก์และจำเลยดังกล่าวจึงตรงกันว่า ที่ดินในโครงการจัดสรรของจำเลยที่ยังไม่ได้โอนขายถูกยึดไว้ในคดีนี้กับคดีหมายเลขแดงที่ ย. 19/2550 ของศาลชั้นต้น การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศขายทอดตลาดที่ดินในโครงการจัดสรรของจำเลยที่ถูกยึดไว้ในคดีนี้และที่ถูกยึดไว้ในคดีหมายเลขแดงที่ ย. 19/2550 ของศาลชั้นต้นโดยจะขายรวมกันไป จึงเป็นการขายที่ดินที่ยังเหลืออยู่ทั้งหมดในโครงการจัดสรรของจำเลยในคราวเดียวกัน โดยไม่จำต้องเป็นการขายที่ดินครบถ้วนทุกแปลงเต็มจำนวนที่ดินแปลงย่อยที่ขออนุญาตจัดสรรที่ดินไว้เท่านั้น แต่กรณีเช่นนี้ก็ถือได้ว่าเป็นการขายทอดตลาดที่ดินจัดสรรทั้งโครงการเช่นกัน อันมีผลให้ผู้ซื้อจะต้องรับโอนใบอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดินและรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ที่ผู้จัดสรรที่ดินมีต่อผู้ซื้อที่ดินจัดสรรตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 41 วรรคสี่ แต่การรับโอนใบอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดินดังกล่าว เป็นกรณีที่ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรทั้งโครงการได้จากการขายทอดตลาดจะต้องดำเนินการภายหลังจากเป็นผู้ประมูลซื้อจากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องระหว่างผู้ซื้อกับคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลาง
นอกจากนี้ที่ดินโฉนดเลขที่ 8918 และ 8919 ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรและสวนสาธารณะของโครงการจัดสรรดังกล่าว ย่อมเป็นส่วนหนึ่งของการขายที่ดินจัดสรรทั้งโครงการด้วย ซึ่งเมื่อผู้ซื้อต้องรับโอนใบอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดินก็ต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ที่ผู้จัดสรรที่ดินมีต่อผู้ซื้อที่ดินจัดสรร กรณีเช่นนี้ จึงไม่ใช่การก่อให้เกิดภาระผูกพันแก่ที่ดินอันเป็นสาธารณูปโภคและที่ดินที่ใช้เพื่อบริการสาธารณะตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 33 ชอบที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะขายที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวรวมกันไปกับที่ดินแปลงอื่นทั้งหมดอันเป็นการขายทอดตลาดที่ดินจัดสรรทั้งโครงการต่อไป ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 (เดิม)
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 21/2561)
of 102