คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ซื้อขาย

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,032 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3175/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ขายสินค้าชำรุด และสิทธิของคู่สัญญาในการซื้อขายเมื่อสินค้าส่งมอบล่าช้า
สติกเกอร์พีวีซีใสกาวพิเศษที่ซื้อจากโจทก์เมื่อจำเลยนำไปผลิตชิ้นงานแล้วปรากฎว่าลอกแผ่นสติกเกอร์ไม่ออกเพราะเหตุกาวเหนียวเกินไป แม้โจทก์ใช้มือแกะสามารถลอกสติกเกอร์ออกได้ แต่ในการใช้งานของบริษัท ด. ต้องใช้เครื่องจักรเป็นตัวลอกสติกเกอร์ให้ติดกับกล่องนม เมื่อเครื่องจักรไม่สามารถลอกสติกเกอร์ได้ตามวัตถุประสงค์ โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยผลิตสติกเกอร์ไม่ดีหรือบริษัท ด. ติดตั้งเครื่องจักรไม่ได้มาตรฐาน จึงฟังได้ว่า สินค้าสติกเกอร์พีวีซีใสกาวพิเศษของโจทก์ชำรุดบกพร่องในลักษณะกาวเหนียวเกินไป เป็นเหตุให้เมื่อจำเลยนำไปใช้แล้วไม่เหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งใช้เป็นปกติ โจทก์ในฐานะผู้ขายสินค้าต้องรับผิดในความเสียหายดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 472 วรรคแรก
ใบสั่งซื้อสินค้าที่จำเลยเป็นผู้สั่งซื้อทางโทรสารไปยังโจทก์ ปรากฏว่าจำเลยสั่งซื้อสติกเกอร์ 15 ม้วน โดยให้ส่งภายในวันที่ 15 ธันวาคม 2544 และยังมีคำสั่งว่า "อีก 67 ม้วนใหญ่ให้ส่งเดือนมกราคม 2545 แต่ยังไม่ต้องผลิตจะแจ้งอีกครั้งหนึ่ง" เห็นได้ว่าจำเลยสั่งซื้อสติกเกอร์จากโจทก์ 82 ม้วน โดยให้ส่งก่อน 15 ม้วน ส่วนที่เหลืออีก 67 ม้วน ให้โจทก์จัดเตรียมเพื่อที่จะส่งมอบให้ตามที่แจ้งต่อไป จำเลยสั่งซื้อสินค้าประเภทสติกเกอร์จากโจทก์มานานหลายปีโดยไม่มีปัญหา ดังนั้น ตามวัตถุที่ประสงค์แห่งสัญญาซื้อขายโดยสภาพหรือโดยเจตนาของคู่สัญญา ย่อมไม่อาจระบุได้ว่าจะเป็นผลสำเร็จได้ก็แต่ด้วยการชำระหนี้ ณ เวลาที่กำหนดตาม ป.พ.พ. มาตรา 388 เนื่องจากใบสั่งซื้อและพฤติการณ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยมิได้กำหนดให้ชัดแจ้งและยืนยันให้เด็ดขาดว่า หากโจทก์ไม่ส่งสินค้าให้จำเลยภายในกำหนดให้ถือว่าใบสั่งซื้อดังกล่าวเป็นอันยกเลิกทันที ฉะนั้นการที่จำเลยจะใช้สิทธิเลิกสัญญาโดยบอกปัดไม่ยอมรับสินค้าจึงต้องเป็นไปตาม ป.พ.พ มาตรา 387 ซึ่งบัญญัติว่า ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งไม่ชำระหนี้ อีกฝ่ายหนึ่งจะกำหนดระยะเวลาพอสมควรแล้วบอกกล่าวให้ฝ่ายนั้นชำระหนี้ภายในระยะเวลานั้นก็ได้ ถ้าและฝ่ายนั้นไม่ชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนดให้ไซร้ อีกฝ่ายหนึ่งจะเลิกสัญญาเสียก็ได้ เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ปฏิบัติเช่นนั้น จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะยกเลิกสัญญาโดยบอกปัดไม่ยอมรับสินค้าและชำระราคาได้ กรณีหาใช่เป็นเรื่องสัญญาซื้อขายโดยมีเงื่อนเวลาบังคับไว้แต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2753/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิครอบครองที่ดิน: การเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ครอบครองใน ภ.บ.ท.5 และการซื้อขายที่ดินที่ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท แต่โจทก์ให้ ร. บุตรชายแจ้งสำรวจเพื่อเสียภาษีบำรุงท้องที่ในนามของตนเอง ต่อมา ร. ถึงแก่ความตายหลังจากนั้นจำเลยซึ่งเป็นภริยาของ ร. ไปแจ้งสำรวจเพื่อเสียภาษีบำรุงท้องที่ใหม่ต่อผู้ใหญ่บ้านว่าตนเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทอันเป็นความเท็จ ต่อมาโจทก์และบุตรชายนำคนงานไปตัดอ้อยในที่ดินพิพาท จำเลยกับบริวารเข้าขัดขวาง จึงขอให้ศาลพิพากษาว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่พิพาท ส่วนจำเลยให้การว่าเมื่อต้นปี 2534 จำเลยซื้อที่ดินพิพาทจากโจทก์ในราคา 220,000 บาท หลังจากนั้นจำเลยเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทด้วยการปลูกต้นอ้อยส่งโรงงานน้ำตาลตลอดมาจนถึงปัจจุบัน โจทก์ไม่เคยเข้ามายุ่งเกี่ยวในที่ดินพิพาท เห็นได้ว่าจำเลยให้การยอมรับว่าเดิมโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท จำเลยมิได้ให้การต่อสู้ว่าโจทก์ยกที่ดินพิพาทให้แก่ ร. แต่จำเลยให้การว่าโจทก์ขายที่ดินพิพาทแก่จำเลย ประเด็นข้อพิพาทคดีนี้มีว่าโจทก์หรือจำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่า โจทก์มอบที่ดินพิพาทให้แก่ ร. ครอบครองในฐานะเจ้าของที่ดินพิพาทจึงเป็นทรัพย์มรดกของ ร. นั้น เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นข้อพิพาทจึงไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2570/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องแย้งซื้อขายและครอบครองที่ดิน ไม่เป็นฟ้องซ้ำ หากประเด็นต่างจากคดีก่อน
คดีแพ่งเดิมของศาลชั้นต้น ศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วและคู่ความในคดีดังกล่าวกับคู่ความในคดีนี้เป็นคู่ความเดียวกัน แต่ประเด็นในเรื่องก่อนมีว่า จำเลยที่ 1 ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่ ซึ่งศาลในคดีก่อนได้พิพากษายกคำร้องขอโดยวินิจฉัยว่าผู้ร้องซึ่งหมายถึงจำเลยที่ 1 ในคดีนี้อ้างว่าซื้อที่ดินพิพาทจากผู้คัดค้านที่ 1 และมีการส่งมอบการครอบครองให้แก่ผู้ร้องแล้วขณะนั้นที่ดินพิพาทมีเอกสารสิทธิเป็น ส.ค.1 เท่ากับผู้ร้องอ้างการซื้อขายสมบูรณ์โดยการส่งมอบการครอบครองแล้ว การที่ผู้ร้องอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของตนมาตั้งแต่มีการซื้อขายกันโดยมิได้อ้างว่าเป็นของผู้อื่น ย่อมไม่เข้าองค์ประกอบในเรื่องครอบครองปรปักษ์ ครั้นเมื่อผู้คัดค้านที่ 2 ในคดีก่อนกลับมาเป็นโจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ร้องในคดีก่อนกับบริวารในคดีนี้ จำเลยทั้งสองก็ต่อสู้คดีและฟ้องแย้งโดยอาศัยเหตุเรื่องที่จำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินจากมารดาโจทก์และได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินติดต่อกันเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน จำเลยที่ 1 จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทอันเป็นเหตุผลเดียวกันกับคำร้องในคดีก่อน ย่อมเท่ากับจำเลยที่ 1 ต่อสู้ว่า จำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินพิพาทและการซื้อขายสมบูรณ์โดยการส่งมอบการครอบครอง จำเลยที่ 1 จึงเป็นเจ้าของที่ดินโดยการครอบครองแล้วดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในคดีก่อนจำเลยที่ 1 จึงฟ้องแย้งขอให้โจทก์จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์มาด้วย ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยตามฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองจึงมีว่า จำเลยที่ 1 ซื้อและครอบครองที่ดินพิพาทจนได้สิทธิครอบครองก่อนออกโฉนดที่ดินแล้วหรือไม่หรืออีกนัยหนึ่งประเด็นข้อพิพาทมีว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือของจำเลยที่ 1 ซึ่งต่างกับประเด็นวินิจฉัยในเรื่องก่อน ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 จึงมิใช่เป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 กรณีจึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งเดิมของศาลชั้นต้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9992/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับของโจรหลายกรรมต่างกัน แม้รับซื้อจากผู้เสียหายรายเดียวกัน หากเป็นการซื้อขายในวันเวลาต่างกัน ถือเป็นความผิดหลายกระทง
ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ส. นำน้ำมันดีเซลที่ลักไปขายให้แก่จำเลยรวม 5 ครั้ง แม้จะเป็นการรับซื้อทรัพย์อย่างเดียวกันของผู้เสียหายคนเดียวกัน แต่ก็เป็นการรับซื้อคนละวันเวลาต่างวาระกัน แสดงว่าจำเลยมีเจตนาแยกการกระทำผิดแต่ละคราวออกจากกัน แล้วแต่ ส. จะนำน้ำมันดีเซลไปขายเมื่อใดก็จะรับซื้อไว้ จึงเป็นการกระทำผิดฐานรับของโจรหลายกรรมต่างกันรวม 5 กระทง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6615/2553 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบอกเลิกสัญญาซื้อขายที่ดินเนื่องจากจำเลยผิดสัญญา จำเลยต้องคืนเงินพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยได้โอนขายห้องชุดแก่บุคคลภายนอกไปแล้วก่อนโจทก์บอกเลิกสัญญา การชำระหนี้ของจำเลยในการที่จะต้องโอนกรรมสิทธิห้องชุดแก่โจทก์จึงกลายเป็นพ้นวิสัยเพราะเหตุอันเกิดจากการกระทำของจำเลยโดยไม่จำต้องพิจารณาว่าจำเลยอาจซื้อห้องชุดคืนมาโอนให้โจทก์ได้หรือไม่ โจทก์จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 389 โดยไม่จำต้องบอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้ตามมาตรา 387 ก่อน
สัญญาจะซื้อจะขายกำหนดว่าในกรณีจำเลยผิดสัญญาโจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาโดยจำเลยจะคืนเงินที่โจทก์ชำระแล้วทั้งหมด โดยไม่ได้ระบุเรื่องดอกเบี้ยไว้ แต่สัญญาดังกล่าวก็ไม่มีข้อห้ามไม่ให้โจทก์เรียกดอกเบี้ยจากจำเลยตามที่กฎหมายกำหนดไว้ในกรณีที่จำเลยผิดสัญญา โจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยได้ตามกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 560/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เลิกสัญญาซื้อขายโดยปริยาย: จำเลยเสนอติดตั้งเครื่องจักรเพิ่มราคา โจทก์ไม่ตกลง ศาลสั่งคืนเงินมัดจำ
หลังจากจำเลยได้รับเงินค่ามัดจำไปจากโจทก์แล้ว จำเลยมีหน้าที่ส่งเครื่องจักรไปให้โจทก์ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับเงินมัดจำ แต่จำเลยมิได้ส่งมอบเครื่องจักรให้โจทก์ โจทก์ก็มิได้ทวงถามแต่อย่างใด จนกระทั่งวันที่ 28 พฤษภาคม 2541 หลังครบกำหนดประมาณ 1 ปี 4 เดือน โจทก์จึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญาและให้จำเลยคืนเงินมัดจำภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแม้ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับหนังสือดังกล่าวเมื่อใด แต่จำเลยก็เคยมีมีหนังสือลงวันที่ 7 มกราคม 2541 แจ้งโจทก์ว่าไม่สามารถคืนเงินมัดจำให้ได้ แต่จะยังขายเครื่องจักรให้โจทก์โดยเพิ่มราคาขึ้นจากเดิม แสดงว่าก่อนหน้าที่โจทก์จะมีหนังสือบอกเลิกสัญญาดังกล่าว โจทก์เคยบอกเลิกสัญญาและให้จำเลยคืนเงินมัดจำมาแล้ว แต่จำเลยไม่คืนยืนยันว่าจะติดตั้งเครื่องจักรให้โจทก์และขอเพิ่มราคา ซึ่งไม่ปรากฏว่าโจทก์ตกลงยินยอมด้วย แต่ได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาและให้จำเลยคืนเงินมัดจำอีก จากนั้นโจทก์และจำเลยไม่ได้ติดต่อกันอีก จนกระทั่งโจทก์มีหนังสือลงวันที่ 24 เมษายน 2544 บอกเลิกสัญญาและให้จำเลยคืนเงินมัดจำพร้อมค่าเสียหาย พฤติการณ์ดังกล่าวถือว่าโจทก์และจำเลยตกลงเลิกสัญญาซื้อขายต่อกันโดยปริยายตั้งแต่จำเลยเสนอติดตั้งเครื่องจักรให้แก่โจทก์โดยขอเพิ่มราคาจากเดิม เมื่อสัญญาเลิกต่อกันคู่สัญญาจึงต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม จำเลยต้องคืนเงินมัดจำให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายนับแต่วันที่รับเงินไป เมื่อฟังว่าโจทก์และจำเลยสมัครใจเลิกสัญญาต่อกันแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยอีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 50-51/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การซื้อที่ดินในเขตป่าสงวน: การหลอกลวงและความรับผิดทางอาญา
การที่ผู้เสียหายทั้งสองซื้อที่ดินจากจำเลยที่ 8 โดยรู้อยู่แล้วว่าที่ดินที่ซื้ออยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และจำเลยที่ 8 ไม่อาจโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่ผู้เสียหายทั้งสองได้ การซื้อขายที่ดินระหว่างผู้เสียหายที่ 2 กับจำเลยที่ 8 จึงเป็นการซื้อขายสิทธิครอบครองในที่ดิน เมื่อจำเลยที่ 8 มอบที่ดินที่ผู้เสียหายทั้งสองซื้อให้แก่ผู้เสียหายทั้งสองและผู้เสียหายที่ 2 ให้จำเลยที่ 3 และที่ 6 เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 8 ไม่เป็นการหลอกลวงผู้เสียหายทั้งสองและไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงผู้เสียหายทั้งสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 441/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ พยานหลักฐานการซื้อขายยาเสพติดต้องชัดเจน การรับฟังคำสารภาพอย่างเดียวไม่เพียงพอ
พยานโจทก์ทั้งสองมิได้เห็นจำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่สายลับเพราะจุดที่พยานทั้งสองซุ่มอยู่นั้นห่างจากที่เกิดเหตุมาก ดังนั้น ที่พยานเบิกความว่าจำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่สายลับนั้นจึงเป็นเพียงพยานบอกเล่า โดยได้รับการบอกเล่าจากสายลับซึ่งสายลับก็มิได้มาเบิกความในศาล ลำพังแต่เพียงคำให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนของจำเลยนั้นจึงยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะฟังลงโทษในข้อหาจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3942/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การซื้อขายห้องชุดที่สำคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์สินและการแลกเปลี่ยนห้องชุดโดยมีผลผูกพัน
ในการตกลงซื้อห้องชุดทั้ง 8 ห้อง ของโจทก์จากจำเลยนั้น โจทก์มีความประสงค์จะได้ห้องที่อยู่ชั้นบนสุด การที่จำเลยขออนุญาตดัดแปลงอาคารชุดจากที่มีเพียง 27 ชั้น เป็น 30 ชั้น ในภายหลังจากที่โจทก์ทำสัญญาซื้อขายกับจำเลยแล้ว โดยมิได้แจ้งให้โจทก์ทราบและต่อมาโจทก์ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดดังกล่าวจากจำเลยโดยเข้าใจว่าห้องที่รับโอนมาอยู่ชั้นสูงสุดตามความประสงค์ของโจทก์ที่ทำสัญญาซื้อขายกับจำเลยมาแต่แรก นิติกรรมการโอนห้องชุดดังกล่าวระหว่างโจทก์และจำเลยจึงเป็นการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์สินซึ่งถือว่าเป็นสาระสำคัญหากโจทก์ทราบว่าห้องชุดที่รับโอนกรรมสิทธิ์มามิใช่ชั้นสูงสุดตามความประสงค์โจทก์คงจะไม่ยอมรับโอน ดังนั้น นิติกรรมการโอนห้องชุดระหว่างโจทก์และจำเลยจึงตกเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. มาตรา 157 โจทก์มีสิทธิบอกล้างนิติกรรมการโอนได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 176 แต่โจทก์มิได้ใช้สิทธิบอกล้าง ดังนั้น กรรมสิทธิ์ในห้องชุดทั้ง 8 ห้องดังกล่าวยังคงเป็นของโจทก์อยู่ การที่โจทก์ตกลงโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดชั้นที่ 26 และ 27 ทั้ง 8 ห้อง คืนให้แก่จำเลยและจำเลยตกลงเปลี่ยนแปลงโดยโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดชั้นที่ 29 และ 30 ให้แก่โจทก์ ถือได้ว่าคู่กรณีต่างตกลงโอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินให้กันและกันอันเป็นการแลกเปลี่ยนตาม ป.พ.พ. มาตรา 518 ซึ่งมาตรา 519 ให้นำบทบัญญัติทั้งหลายในลักษณะซื้อขายมาใช้ถึงการแลกเปลี่ยนด้วยดังนั้น การแลกเปลี่ยนห้องชุดระหว่างโจทก์และจำเลยนั้น ค่าฤชาธรรมเนียมการโอนโจทก์และจำเลยจึงพึงออกใช้เท่ากันทั้งสองฝ่ายตาม ป.พ.พ. มาตรา 457

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3300/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การซื้อขายที่ดินโดยสิทธิครอบครองและการส่งมอบการครอบครองทำให้สิทธิครอบครองตกแก่ผู้ซื้อ
เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า บิดาโจทก์ขายที่ดินพิพาทให้บิดาจำเลยไปแล้วและขณะมีการทำสัญญาซื้อขายนั้นที่ดินของบิดาโจทก์มีเพียงสิทธิครอบครอง แม้สัญญาซื้อขายดังกล่าวจะไม่ได้ทำต่อเจ้าพนักงานที่ดินก็ตาม แต่บิดาโจทก์ได้ส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่บิดาจำเลยแล้ว สิทธิครอบครองจึงตกแก่บิดาจำเลย บิดาจำเลยมีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทโดยสมบูรณ์ เมื่อบิดาจำเลยถึงแก่ความตาย จำเลยในฐานะทายาทโดยธรรมย่อมมีสิทธิรับมรดกที่ดินพิพาทมาเป็นสิทธิครอบครองของจำเลย จำเลยจึงเป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท
of 104