คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
กฎหมายคุ้มครองแรงงาน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 34 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 812/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สถานะลูกจ้าง: การทำงานอิสระในฐานะผู้ถือหุ้น ไม่เข้าข่ายลูกจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
โจทก์เข้าไปบริหารงานของบริษัทจำเลยในฐานะผู้ถือหุ้น การทำงานอิสระ ไม่ต้องมาทำงานทุกวันไม่อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของผู้ใดในบริษัทจำเลยและไม่ต้องอยู่ภายใต้ระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลย โจทก์จึงไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 แม้โจทก์จะได้รับค่าตอบแทนจากจำเลยเป็นเงินเดือน ก็มิใช่ค่าจ้างตามสัญญาจ้างแรงงาน เมื่อโจทก์มิใช่ลูกจ้างจำเลยจึงไม่ต้องหักเงินสมทบส่งสำนักงานประกันสังคม การที่จำเลยหักเงินที่โจทก์ได้รับจากจำเลยส่งเป็นเงินสมทบแก่สำนักงานประกันสังคมก็ไม่มีผลทำให้โจทก์กลับมีฐานะกลายเป็นลูกจ้างของจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6848/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ นายจ้างต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดหากไม่ได้ให้ลูกจ้างหยุดพักตามกฎหมาย
บทบัญญัติในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 28 มาตรา 62 และมาตรา 64 หมายความว่า นายจ้างต้องจัดให้ลูกจ้างมีวันหยุดประจำสัปดาห์ไม่น้อยกว่าสัปดาห์ละหนึ่งวัน หากนายจ้างไม่จัดให้ลูกจ้างมีวันหยุดประจำสัปดาห์ นายจ้างต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดหรือค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างเสมือนว่านายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุด โดยจ่ายค่าทำงานในวันหยุดเพิ่มขึ้นอีก 1 เท่าของค่าจ้างในวันทำงานสำหรับลูกจ้างที่มีสิทธิได้ค่าจ้างในวันหยุดและจ่ายในอัตรา 2 เท่าของค่าจ้างในวันทำงานสำหรับลูกจ้างที่ไม่มีสิทธิได้ค่าจ้างในวันหยุด
โจทก์ให้ลูกจ้างของโจทก์ทำงานทุกวันโดยไม่ได้จัดให้มีวันหยุดประจำสัปดาห์ โจทก์จึงต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างเสมือนว่าโจทก์สั่งให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุด โดยลูกจ้างรายวันซึ่งไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุดประจำสัปดาห์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 56 (1) จะต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างดังกล่าวในอัตรา 2 เท่าของค่าจ้างในวันทำงานตามมาตรา 62 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2364/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างระหว่างทดลองงาน นายจ้างต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมาย แม้มีข้อตกลงในสัญญา
สัญญาจ้างระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 กำหนดว่า ในระหว่างระยะเวลาทดลองงาน หากจำเลยที่ 1 เห็นว่าผลการปฏิบัติงานของโจทก์ไม่เป็นที่น่าพอใจ จำเลยที่ 1 มีสิทธิยกเลิกการจ้างงานโดยไม่จำต้องแจ้งให้โจทก์ทราบล่วงหน้า และโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินค่าชดเชยจากจำเลยที่ 1 ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 พิจารณาแล้วเห็นว่าผลการปฏิบัติงานของโจทก์ไม่เป็นที่พอใจและบอกเลิกสัญญาจ้าง จึงเป็นการเลิกจ้างตามข้อตกลงที่ระบุไว้อันเป็นการใช้สิทธิโดยชอบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 386วรรคหนึ่ง มิใช่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เป็นการเลิกจ้างโดยมีเหตุอันสมควร มิใช่การเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
สัญญาจ้างที่กำหนดระยะเวลาทดลองงานไม่เกิน 120 วัน หมายถึง นายจ้างตกลงจ้างลูกจ้างให้ทำงานโดยมีเวลาทดลองงานไม่เกิน 120 วัน หากผ่านการทดลองงานนายจ้างจะจ้างต่อไป ถ้าไม่ผ่านการทดลองงานนายจ้างมีสิทธิเลิกจ้างได้ ซึ่งไม่แน่นอนว่าสัญญาจ้างจะสิ้นสุดลงเมื่อใด จึงเป็นสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 17 วรรคสอง
การบอกเลิกสัญญาจ้างแต่เดิมบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 582 แต่ปัจจุบันพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ นำบทบัญญัติดังกล่าวบัญญัติไว้ในมาตรา 17 ซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนนายจ้างและลูกจ้างจึงไม่มีสิทธิจะตกลงเกี่ยวกับการเลิกจ้างให้เป็นอย่างอื่นได้ การจ้างและเลิกจ้างคดีนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ แล้ว จึงต้องบังคับตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 17 ซึ่งให้เลิกสัญญาจ้างโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าไว้ 3 กรณี คือสัญญาจ้างสิ้นสุดลงเมื่อครบกำหนดระยะเวลาและนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างเนื่องจากลูกจ้างกระทำผิดกรณีใดกรณีหนึ่งตามมาตรา 119และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 โดยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 17 มิได้มีข้อยกเว้นว่าการเลิกจ้างในระหว่างทดลองงานนั้นไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เข้าทั้ง 3 กรณีดังกล่าวตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 17 วรรคหนึ่งและวรรคท้ายจำเลยจึงต้องบอกเลิกสัญญาจ้างเป็นหนังสือให้โจทก์ทราบในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวหนึ่งคราวใดเพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไป เมื่อจำเลยบอกเลิกสัญญาจ้างโจทก์โดยมิได้บอกกล่าวล่วงหน้าจึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯมาตรา 17 วรรคสองและวรรคสี่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8029/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงการคืนเงินประกันการทำงานขัดต่อกฎหมายคุ้มครองแรงงานเมื่อลูกจ้างลาออกและไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย
พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 10 วรรคสอง หมายความว่า เมื่อนายจ้างเลิกจ้างหรือลูกจ้างลาออกหรือสัญญาประกันสิ้นอายุ และลูกจ้างไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้าง นายจ้างจะต้องคืนเงินประกันทั้งหมด แก่ลูกจ้าง ข้อตกลงในสัญญาจ้างในข้อที่โจทก์(ลูกจ้าง) ไม่ขอรับเงินประกันทั้งหมดคืนขัดต่อมาตรา 10 วรรคสอง อันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ย่อมตกเป็นโมฆะ เมื่อการผิดสัญญาของโจทก์(ลูกจ้าง) ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายใด ๆ แก่จำเลย(นายจ้าง) จำเลย(นายจ้าง)จะต้องคืนเงินประกันการทำงานทั้งหมดแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7924/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สถาบันการศึกษาที่ไม่แสวงหากำไรได้รับการยกเว้นไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
จำเลยเป็นนิติบุคคลและเป็นสถาบันทางการศึกษาที่ก่อตั้งโดยอาศัยความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์การสนธิสัญญาการป้องกันร่วมกันแห่งเอเชียอาคเนย์ มีวัตถุประสงค์เพื่อการดำเนินกิจการสถาบันเทคโนโลยีทั้งภายในและนอกประเทศไทยบนมูลฐานของการไม่แบ่งสรรกำไร ซึ่งรวมทั้งการดำเนินการกิจการวิทยาลัยโรงเรียนและองค์กรวิจัยที่มีความสัมพันธ์กับสถาบันโดยการสอนศึกษาและวิจัยในวิชาวิศวกรรม วิทยาศาสตร์ และวิชาอื่น ๆแม้การที่จำเลยรับทำการวิจัยให้แก่ผู้ว่าจ้างซึ่งเป็นหน่วยงานหรือองค์การอื่น ผู้ว่าจ้างจะต้องจ่ายเงินให้จำเลยตามจำนวนที่จำเลยคำนวณเป็นเงินงบประมาณในการทำวิจัยก็ตาม แต่งบประมาณดังกล่าวแบ่งเป็นค่าใช้จ่ายของสถาบันจำเลย เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ฯลฯที่เหลือเป็นค่าจ้างอาจารย์ผู้ทำการวิจัย นักศึกษา รวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่น ๆในการวิจัย เช่น ค่าใช้จ่ายในการเดินทางและอุปกรณ์ในการวิจัยหากยังมีเงินเหลืออยู่อีกผู้ว่าจ้างก็สามารถรับคืนไปได้หรือจะบริจาคเข้ากองทุนวิจัยของจำเลยซึ่งเป็นกองทุนที่จะนำเงินไปใช้เฉพาะที่เกี่ยวกับงานวิจัยของจำเลยเท่านั้น แสดงว่านอกจากจำเลยจะมีวัตถุประสงค์กำหนดไว้อย่างชัดแจ้งว่ามิได้มุ่งแสวงหากำไรแล้วการดำเนินกิจการของจำเลยก็เป็นไปตามวัตถุประสงค์ดังกล่าวจำเลยจึงเป็นสถาบันซึ่งจ้างลูกจ้างทำงานโดยมิได้แสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจ ไม่ต้องอยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ ในเรื่องค่าชดเชยตามกฎกระทรวง(พ.ศ. 2541) ฉบับลงวันที่ 19 สิงหาคม 2541 ข้อ (3)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6840/2544 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ศาลพิจารณาเหตุผลที่กว้างกว่าความผิดร้ายแรงตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานได้
การเลิกจ้างของนายจ้างเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 หรือไม่ ต้องพิจารณาถึงเหตุแห่งการเลิกจ้างว่ามีเหตุจริงหรือไม่ และเหตุนั้นเป็นเหตุสมควร ที่นายจ้างจะเลิกจ้างหรือไม่ เหตุดังกล่าวอาจเกิดจากการกระทำของลูกจ้างหรือเหตุอื่นที่มิใช่การกระทำหรือความผิด ของลูกจ้างก็ได้ ส่วนการเลิกจ้างที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยจะต้องปรากฏว่าลูกจ้างได้กระทำความผิดตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119
ข้อเท็จจริงที่จะนำมาประกอบการวินิจฉัยว่า การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ มีขอบเขตกว้างกว่าที่ได้บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119
แม้การกระทำของโจทก์จะไม่เป็นความผิดร้ายแรงถึงขนาดที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ก็ตาม แต่โจทก์ไม่สามารถทำงานร่วมกับผู้ใต้บังคับบัญชาได้ และโจทก์ทำงานบกพร่องหลายครั้ง ผู้บังคับบัญชา เตือนแล้วยังไม่ดีขึ้นทำให้จำเลยเสียหาย การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างโดยมีเหตุอันสมควรไม่เป็นการ เลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
จำเลยเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย ค่าจ้างค้างชำระและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ แต่โจทก์และจำเลยยังมีข้อโต้เถียงกันว่า จำเลยจะต้องชำระให้โจทก์หรือไม่ เพียงใด ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยจงใจไม่จ่ายเงินดังกล่าวแก่โจทก์โดยปราศจากเหตุอันสมควร จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มให้แก่โจทก์ร้อยละ 15 ของเงิน ที่ค้างจ่ายทุกระยะ 7 วัน ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 9 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7047/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างด้วยวาจาและการแจ้งเหตุไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
การบอกกล่าวล่วงหน้าเพื่อเลิกจ้างตามที่พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคสอง กำหนด อาจทำเป็นหนังสือหรืออาจบอกกล่าวล่วงหน้าด้วยวาจาก็ได้ แต่ถ้ามีเหตุเลิกจ้างตามมาตรา 119 และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 นายจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างด้วยวาจาได้ทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือแต่ต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ว่าถ้านายจ้างประสงค์จะยกเหตุตามมาตรา 119 ขึ้นอ้างเป็นข้อปฏิเสธไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย นายจ้างจะต้องแจ้งเหตุนั้นให้ลูกจ้างทราบขณะบอกเลิกจ้างด้วยวาจา ส่วนบทบัญญัติในมาตรา 17 วรรคสาม มีความหมายว่า กรณีนายจ้างบอกเลิกสัญญาจ้างโดยทำเป็นหนังสือ หากประสงค์จะยกเหตุตามมาตรา 119 ขึ้นอ้างเพื่อไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย นายจ้างต้องระบุเหตุดังกล่าวไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างด้วย มิฉะนั้นนายจ้างก็ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง แต่มิได้บังคับเด็ดขาดว่าห้ามนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างด้วยวาจา เมื่อข้อเท็จจริงยังไม่ปรากฏว่าขณะจำเลยบอกเลิกจ้างโจทก์ด้วยวาจา จำเลยได้แจ้งให้โจทก์ทราบถึงการกระทำผิดของโจทก์อันเป็นเหตุไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามมาตรา 119 และเรื่องนี้จำเลยให้การต่อสู้คดีไว้แล้ว จึงควรให้มีการนำสืบพยานในประเด็นนี้ก่อน ศาลแรงงานกลางงดสืบพยานแล้วพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์จึงไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4799/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม แม้มีการบอกกล่าวล่วงหน้า หากไม่มีเหตุผลอันสมควร และการใช้กฎหมายคุ้มครองแรงงานที่เปลี่ยนแปลง
กรณีจะเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ต้องพิจารณาถึงเหตุแห่งการเลิกจ้างเป็นสำคัญว่ามีเหตุอันจำเป็นหรือสมควรเพียงพอที่จะเลิกจ้างหรือไม่เมื่อโจทก์ถูกจำเลยเลิกจ้างโดยโจทก์ไม่มีความผิดทั้งเหตุแห่งการเลิกจ้างก็เป็นเพียงการกล่าวอ้างว่าเป็นนโยบายของจำเลยที่จะลดค่าใช้จ่ายเท่านั้นการเลิกจ้างโดยโจทก์ไม่มีความผิดโดยอ้างเหตุดังกล่าวแม้จำเลยจะได้บอกกล่าวล่วงหน้าแล้ว ก็เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน(ฉบับที่ 14) ลงวันที่ 16 สิงหาคม 2536 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 26 สิงหาคม 2536 ขณะที่กฎหมายดังกล่าวมีผลใช้บังคับโจทก์ยังเป็นลูกจ้างจำเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันที่การเลิกจ้างมีผลในวันที่ 31 มีนาคม 2540 และเกิดกรณีพิพาทขึ้นจนเป็นมูลเหตุให้โจทก์มีสิทธิได้ค่าชดเชยนั้นประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน(ฉบับที่ 11) ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2532 ที่ใช้บังคับอยู่ขณะทำสัญญาจ้างได้ถูกยกเลิกและใช้ ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 14) บังคับแทนแล้ว จึงต้องนำประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 14) ที่ใช้บังคับ อยู่ขณะเลิกจ้างมาบังคับใช้แก่คดีนี้เพื่อวินิจฉัยว่าโจทก์ มีสิทธิได้ค่าชดเชยหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 89/2538

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าชดเชยจากการเลิกจ้างต้องไม่ต่ำกว่ากฎหมายคุ้มครองแรงงาน แม้คำนวณตามระเบียบบริษัท
ระเบียบข้อบังคับของจำเลยได้กำหนดหลักเกณฑ์เป็นฐานการจ่ายเงินชดเชยไว้ในตอนต้นว่าบริษัทจะจ่ายเงินชดเชยให้ตามอัตราซึ่งประกาศในกฎหมายคุ้มครองแรงงานของกระทรวงมหาดไทย เงินที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์ตามระเบียบข้อบังคับสำหรับพนักงานบริษัท ข้อ 70 (2) ซ. คงอยู่ในหลักเกณฑ์ดังกล่าว แม้ตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยนั้นจะคำนวณจากเงินเดือนครั้งสุดท้ายเดือนละ 31,320 บาท คูณ 100% คูณ 36 ปี 18 วัน ซึ่งเป็นจำนวนปีที่โจทก์ปฏิบัติงานให้แก่จำเลย แต่ก็มิได้น้อยกว่าค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 (3) แก้ไขโดยประกาศของกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 11) ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2532 ข้อ 7 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์กำหนดไว้ กล่าวคือค่าจ้างอัตราสุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวัน ทั้งโจทก์ก็ได้รับผลประโยชน์มากกว่าด้วย เงินที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์ตามระเบียบข้อบังคับสำหรับพนักงานบริษัทเอกสารหมาย ล.1 ข้อ 70(2) ซ. จึงเป็นค่าชดเชย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7429/2537 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สถานะสำนักงานปุ๋ยฯ ไม่ใช่หน่วยงานราชการ จึงต้องจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
แม้ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2518ได้ถูกยกเลิกไปโดย พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528ก็ตาม แต่การจัดระเบียบราชการกรุงเทพมหานครที่บัญญัติไว้ในมาตรา 60 ก็เป็นทำนองเดียวกับมาตรา 11 ที่ถูกยกเลิก ซึ่งหาได้มีสำนักงานปุ๋ย กรุงเทพมหานครรวมอยู่ด้วยไม่ เมื่อสำนักงานปุ๋ยฯ ได้จัดตั้งขึ้นครั้งแรกโดยกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้อนุมัติให้เทศบาลนครกรุงเทพเป็นผู้จัดตั้งและดำเนินการ โดยมิได้จัดตั้งขึ้นตามพ.ร.ฎ.ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ นอกจากนี้ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการควบคุมและดำเนินงานของสำนักงานปุ๋ยเทศบาลนครกรุงเทพ พ.ศ.2507 ก็ให้มีคณะกรรมการบริหาร มีหน้าที่บริหารกิจการของสำนักงานปุ๋ยฯ โดยเฉพาะ แยกไปจากการบริหารราชการของเทศบาลนครกรุงเทพ อีกทั้งในบทเฉพาะกาลข้อ 26ในระยะเริ่มแรกซึ่งตั้งสำนักงานปุ๋ยฯ เทศบาลนครกรุงเทพก็ตั้งค่าใช้จ่ายและทุนดำเนินงานให้ต่างหากโดยจัดสรรเงินทุนหมุนเวียนให้ และในข้อ 27 ยังได้ระบุไว้ด้วยว่า การดำเนินกิจการของสำนักงานปุ๋ยฯ เมื่อปรากฏผลกำไรจากกำไรสุทธิให้แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งส่งให้เป็นรายได้ของเทศบาลนครกรุงเทพ อีกส่วนหนึ่งให้เป็นเงินสำรองเพื่อปรับปรุงขยายกิจการหรือลงทุนเพิ่มขึ้น แสดงว่าการจัดตั้งสำนักงานปุ๋ยฯ ขึ้นก็โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจ ดังนี้สำนักงานปุ๋ยเทศบาลนครกรุงเทพหรือสำนักงานปุ๋ยกรุงเทพมหานครจึงไม่ใช่ส่วนราชการของกรุงเทพมหานครและไม่เป็นราชการส่วนท้องถิ่น จึงไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นมิให้ใช้ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่16 เมษายน 2515 ข้อ 1 (3) จำเลยที่ 1 ในฐานะนิติบุคคลผู้เป็นเจ้าของสำนักงานปุ๋ยกรุงเทพมหานคร รวมทั้งจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นประธานกรรมการบริหารและเป็นผู้อำนวยการจำเลยที่ 1 ตามลำดับ ในฐานะเป็นนายจ้างของโจทก์ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่16 เมษายน 2515 ข้อ 2 จึงมีหน้าที่จ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์เมื่อเลิกจ้าง
of 4