คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
กฎหมายสัญญา

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3223/2525 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าชดเชย คำนวณจากเบี้ยเลี้ยงชีพ-เงินเดือน, การบังคับตามกฎหมายสัญญาต่างประเทศ, สินจ้างบอกกล่าวเกินคำขอ
บุคคลที่อยู่ในราชอาณาจักรไทยย่อมจะต้องอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายไทย ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายมหาชนหรือกฎหมายเอกชนโดยเฉพาะในทางอาญา ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 4 บัญญัติว่าผู้ใดกระทำผิดในราชอาณาจักรต้องรับโทษตามกฎหมาย ส่วนในทางแพ่งข้อขัดแย้งระหว่างบุคคลต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในบางกรณีหากมีปัญหาว่าจะใช้กฎหมายของประเทศใดบังคับ ก็ต้องเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมายฯ
ปัญหาแรงงานส่วนใหญ่ต้องบังคับตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน และพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 โดยเฉพาะพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ ฯ หมวด 10 มีบทบัญญัติกำหนดโทษทางอาญาแก่ผู้ฝ่าฝืน หากมีการกระทำผิดทางอาญาตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ ฯ ภายในราชอาณาจักรก็ต้องฟ้องร้องต่อศาลไทยและบังคับตามกฎหมายไทยไม่มีเหตุผลใดที่จะแยกฟ้องและบังคับตามกฎหมายของประเทศไทยเฉพาะในทางอาญาแต่ปัญหาแรงงานแท้ ๆ ให้ฟ้องร้องและบังคับตามกฎหมายของประเทศอื่น ดังนั้น เมื่อมีข้อพิพาทแรงงานในประเทศไทย แม้จะมีการตกลงจ้างกันในประเทศอื่น ก็ต้องฟ้องร้องและบังคับคดีตามกฎหมายไทยโดยไม่ต้องคำนึงว่าคู่กรณีเจตนาให้ใช้กฎหมายของประเทศใดบังคับ
จำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์ที่ประเทศสิงคโปร์ ต่อมามีการผิดสัญญาในประเทศไทย โจทก์จึงฟ้องเรียกเงินเดือนค่าเบี้ยเลี้ยง เงินโบนัส ค่ารักษาพยาบาล ค่าเดินทางค่าใช้พาหนะของโจทก์ ค่าซ่อมรถ ค่าภาษีและค่าปรับภาษีจากจำเลย กรณีต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย ฯ มาตรา 13 คือต้องถือตามเจตนาของคู่กรณี แต่เมื่อไม่อาจทราบได้ว่าขณะทำสัญญาคู่กรณีประสงค์จะใช้กฎหมายของประเทศใดบังคับและปรากฏว่าคู่กรณีมีสัญชาติอเมริกันทั้งสองฝ่าย กฎหมายที่ใช้บังคับแก่กรณีตามฟ้องจึงต้องเป็นกฎหมายสัญชาติอันร่วมกันของคู่กรณีคือกฎหมายของสหรัฐอเมริกา แต่ไม่มีฝ่ายใดนำสืบว่ากฎหมายของสหรัฐอเมริกาในเรื่องนี้มีอยู่อย่างไร กรณีจึงต้องบังคับตามมาตรา 8 คือให้ใช้กฎหมายของประเทศไทย
อุทธรณ์ว่าที่ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงตามคำพยานโจทก์นั้นเป็นการรับฟังขัดกับพยานหลักฐานในสำนวนเพราะเป็นการฟังพยานบอกเล่า โจทก์สืบไม่ได้ตามที่ตนมีหน้าที่นำสืบจึงต้องถือข้อเท็จจริงตามคำให้การของจำเลย ดังนี้ เป็นอุทธรณ์ดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางจึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงาน ฯ มาตรา 55
เบี้ยเลี้ยงชีพที่นายจ้างจ่ายให้ลูกจ้างมีจำนวนแน่นอนและจ่ายให้เป็นประจำเป็นรายเดือนเช่นเดียวกับเงินเดือนจึงเป็นการจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานในเวลาปกติของวันทำงานถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้าง จึงต้องนำมารวมกับเงินเดือนเพื่อคำนวณค่าชดเชยด้วย
โจทก์มิได้ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแม้โจทก์นำสืบฟังได้ว่าจำเลยบอกเลิกจ้างและเลิกจ้างในวันเดียวกันก็ยังไม่พออนุมานได้ว่าโจทก์ฟ้องเรียกสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์จึงเกินคำขอ ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯ มาตรา 52

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10711/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาใช้ลิขสิทธิ์: การเสนอและสนองรับข้อเสนอเพื่อต่ออายุสัญญาโดยไม่ต้องทำสัญญาเป็นหนังสือ
จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน ข้อพิพาทตามฟ้องสืบเนื่องจากโจทก์ทำสัญญาอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ใช้ลิขสิทธิ์เพลงของโจทก์โดยกำหนดชำระค่าตอบแทน ต่อมาโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองว่าผิดสัญญาดังกล่าวเป็นคดีแพ่งที่ศาลแพ่งธนบุรีจนกระทั่งมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โจทก์ยืนยันข้อเท็จจริงมาในอุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 2 มิได้เป็นคู่สัญญา จำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คเพื่อชำระค่าตอบแทนให้แก่โจทก์ตามสัญญาเท่านั้น จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 จึงอยู่ในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1167 ประกอบด้วยมาตรา 820 ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 กระทำนอกขอบอำนาจแห่งฐานตัวแทน และไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้ประกอบการใช้ลิขสิทธิ์ของโจทก์ในฐานะส่วนตัว จำเลยที่ 2 จึงหาต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ด้วยไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจฟ้องแย้ง กับไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางขอให้บังคับตามฟ้องแย้งแก่จำเลยที่ 2 ด้วย
จำเลยที่ 1 ส่งหนังสือเรื่องแจ้งต่อสัญญาอนุญาตใช้ลิขสิทธิ์เพลงให้แก่โจทก์ทางโทรสารโดยมีข้อความแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 ว่า "...เนื่องจากขณะนี้เหลือเวลาอีกไม่ถึง 2 ปี ก็จะหมดอายุสัญญาให้ใช้ลิขสิทธิ์เพลงตามสัญญาประนีประนอมฯ ดังกล่าว โดยหนังสือฉบับนี้ข้าพเจ้าฯ ขอแจ้งให้ท่านทราบว่าข้าพเจ้าประสงค์จะใช้ลิขสิทธิ์เพลงทำเพลงเพื่อผลิตและจำหน่ายต่อไปอีก 11 ปี ตามสัญญาประนีประนอมฯ ในข้อ 7..." และสัญญาประนีประนอมยอมความระบุว่า "โจทก์ยินยอมให้ยืดระยะเวลาตามสัญญาให้จำเลยใช้ลิขสิทธิ์ออกไปอีก 1 ปี ถึงวันที่ 13 ตุลาคม 2543 และก่อนหมดระยะเวลา 6 เดือน หากจำเลยประสงค์จะใช้ลิขสิทธิ์ทำเพลงต่อไป จำเลยจะต้องไปติดต่อโจทก์เพื่อทำสัญญาใช้ลิขสิทธิ์ต่อไปอีก 11 ปี เป็นเงิน 22,000,000 บาท โดยในการจ่ายเงินให้ถือตามสัดส่วนของสัญญาฉบับเดิม หากจำเลยไม่ติดต่อถือว่าจำเลยไม่ประสงค์จะทำสัญญาใช้ลิขสิทธิ์กับโจทก์อีกต่อไป" มิได้มีข้อความที่เป็นการแสดงความประสงค์ของคู่สัญญาว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ติดต่อโจทก์เพื่อทำสัญญาแล้วให้เป็นดุลพินิจของโจทก์ที่จะต่ออายุสัญญาให้อีกหรือไม่ก็ได้ แต่เป็นคำเสนอของโจทก์จะต่ออายุสัญญาให้ใช้ลิขสิทธิ์แก่จำเลยที่ 1 อันบ่งระยะเวลาให้ทำคำสนองซึ่งโจทก์ไม่อาจถอนได้ภายในระยะเวลาที่บ่งไว้ เมื่อจำเลยที่ 1 ส่งโทรสารถึงโจทก์ก่อนหมดระยะเวลา 6 เดือน ว่าประสงค์จะใช้ลิขสิทธิ์เพลงต่อไปอีก 11 ปี จึงเป็นการสนองรับคำเสนอของโจทก์ภายในกำหนดแล้ว เมื่อมิได้มีเงื่อนไขว่าการต่ออายุสัญญานั้นจะต้องทำสัญญากันเป็นหนังสือด้วย สัญญาให้ใช้ลิขสิทธิ์เพลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเกิดขึ้นใหม่ตามเงื่อนไขและวิธีการที่ระบุในสัญญาให้ใช้ลิขสิทธิ์เพลงฉบับเดิม โดยไม่จำต้องทำสัญญาให้ใช้ลิขสิทธิ์เพลงกันใหม่เป็นหนังสืออีก