คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
กฎหมายเดิม

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 46 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 931/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำรับสารภาพชั้นจับกุมหลังแก้ไขกฎหมาย: ศาลฎีกาพิจารณาตามกฎหมายเดิมได้ หากคำรับสารภาพได้มาโดยชอบก่อนบังคับใช้กฎหมายใหม่
ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา มี พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 22) พ.ศ. 2547 ออกใช้บังคับ มาตรา 19 ของ พ.ร.บ. ดังกล่าวยกเลิกความในมาตรา 84 แห่ง ป.วิ.อ. และให้ใช้ความใหม่แทน โดยวรรคสุดท้ายของมาตรา 84 ที่แก้ไขใหม่ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2547 เป็นต้นไป บัญญัติว่า ถ้อยคำใด ๆ ที่ผู้ถูกจับให้ไว้ต่อเจ้าพนักงานผู้จับ หรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจในชั้นจับกุมหรือรับมอบตัวผู้ถูกจับ ถ้าถ้อยคำนั้นเป็นคำรับสารภาพของผู้ถูกจับว่าตนได้กระทำความผิดห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐาน แต่ถ้าถ้อยคำอื่นจะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้ถูกจับได้ต่อเมื่อได้มีการแจ้งสิทธิตามวรรคหนึ่ง หรือมาตรา 83 วรรคสอง แก่ผู้ถูกจับ แล้วแต่กรณี แสดงให้เห็นว่ากฎหมายที่แก้ไขใหม่มุ่งประสงค์ที่จะห้ามมิให้นำคำรับสารภาพในชั้นจับกุมของผู้ถูกจับมารับฟังเป็นพยานหลักฐานต่อเมื่อบทบัญญัติเรื่องการแจ้งสิทธิแก่ผู้ถูกจับตามมาตรา 84 วรรคหนึ่ง หรือมาตรา 83 วรรคสอง ที่แก้ไขใหม่มีผลใช้บังคับแล้ว หาได้มีความหมายว่าขณะที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาคดีนี้ ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากที่กฎหมายที่แก้ไขใหม่มีผลใช้บังคับแล้ว ต้องห้ามมิให้นำคำรับสารภาพในชั้นจับกุมตามบันทึกการตรวจค้นและจับกุมมารับฟังประกอบการพิจารณาลงโทษจำเลยทั้งสองด้วยไม่ เพราะเป็นพยานหลักฐานที่เจ้าพนักงานผู้จับได้จัดทำขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมายก่อนวันที่กฎหมายที่แก้ไขใหม่มีผลใช้บังคับ และโจทก์ได้ส่งอ้างเป็นพยานหลักฐานตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226 โดยชอบแล้ว ประกอบกับกฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่มีบทบัญญัติให้นำมาตรา 84 วรรคสุดท้ายที่แก้ไขใหม่มาใช้บังคับ ต้องใช้หลักทั่วไปว่ากฎหมายไม่มีผลย้อนหลัง ศาลฎีกาจึงนำคำรับสารภาพในชั้นจับกุมของจำเลยทั้งสองตามบันทึกการตรวจค้นและจับกุมมารับฟังเป็นพยานหลักฐานประกอบการลงโทษได้ตามกฎหมายเดิม
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 1/2548)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6734/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ นำเข้าและจำหน่ายยาเสพติด: ใช้กฎหมายเดิมเมื่อองค์ประกอบความผิดและโทษไม่ต่างกัน แม้มีการแก้ไขกฎหมาย
หลังจากที่ทำการล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยจนมีการตกลงซื้อขายกันแล้วจำเลยจึงเข้าไปเอาเมทแอมเฟตามีน 400 เม็ด จากประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวมาส่งให้ผู้ล่อซื้อในประเทศไทย และถูกจับขณะมีการส่งมอบเมทแอมเฟตามีนทั้งจำนวนดังกล่าวในคราวเดียวกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นการนำเข้าในราชอาณาจักรซึ่งเมทแอมเฟตามีนเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนอันเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษฐานนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งเมทแอมเฟตามีนเพื่อจำหน่าย ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา มีพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5)ฯมาตรา 8 และมาตรา 19 ยกเลิกความในมาตรา 15,65 และมาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฯ และให้ใช้ความใหม่แทน แต่ความผิดฐานนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งเมทแอมเฟตามีนเพื่อจำหน่ายนั้น ตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่มาตรา 15 วรรคสาม(2),65 วรรคสอง และกฎหมายเดิมมาตรา 15 วรรคหนึ่ง,65วรรคสอง ต่างมีองค์ประกอบความผิด และมีระวางโทษประหารชีวิตเพียงสถานเดียวจึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับ และแม้ความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่มาตรา 66 วรรคสอง จะแตกต่างจากกฎหมายเดิมในมาตรา 66 วรรคหนึ่ง โดยโทษจำคุกตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่เป็นคุณมากกว่าแต่เนื่องจากการกระทำของจำเลยในความผิดฐานจำหน่ายเป็นกรรมเดียวกับความผิดฐานนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งเมทแอมเฟตามีนเพื่อจำหน่าย ซึ่งกฎหมายเดิมมีระวางโทษเช่นเดียวกับกฎหมายที่แก้ไขใหม่ กรณียังคงต้องลงโทษจำเลยตามกฎหมายเดิมเพียงบทเดียว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 236/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำสั่งปิดคดีล้มละลายไม่ได้ทำให้คดีสิ้นสุด เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยังคงมีหน้าที่ตามกฎหมายเดิม
พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 134 วรรคหนึ่ง บัญญัติถึงผลของคำสั่งปิดคดีว่าเป็นเพียงให้ระงับการจัดการต่าง ๆ ตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ ไว้เป็นการชั่วคราว แต่ไม่ทำให้คดีล้มละลายสิ้นสุด เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยังคงมีหน้าที่ตามมาตรา 160 อนุมัติการใด ๆ ที่กฎหมายบัญญัติไว้และตรวจบัญชีรับจ่ายของบุคคลล้มละลายตามมาตรา 134 วรรคหนึ่ง(1)ถึง (3) รวมทั้งยังอาจขอให้ศาลเปิดคดีต่อไปเมื่อเห็นว่าบุคคลล้มละลายมีทรัพย์สินขึ้นใหม่ตามมาตรา 134 วรรคท้ายอีกด้วยจึงต้องถือว่าคดียังคงค้างพิจารณาอยู่ในระหว่างปฏิบัติการของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เมื่อคดีนี้ได้ยื่นฟ้องก่อนวันที่พระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2542 ใช้บังคับกรณีจึงต้องบังคับตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลายซึ่งใช้อยู่ก่อนพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวใช้บังคับตามที่พระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2542 มาตรา 34บัญญัติไว้ จำเลยจะร้องขอให้พ้นจากการเป็นบุคคลล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2542มาตรา 35 ไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8995/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนสินสมรสโดยไม่ชอบ โจทก์มีสิทธิฟ้องเพิกถอนได้ แม้มีการสมรสซ้อน แต่กฎหมายเดิมยังใช้บังคับ
บ. จดทะเบียนสมรสกับโจทก์เมื่อ 6 ธ.ค. 2501 ต่อมาได้จดทะเบียนสมรสซ้อนกับจำเลยอีกเมื่อ 16 มี.ค. 2505 ป.พ.พ. บรรพ 5 (เดิม) มาตรา 1488 (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในขณะนั้น บัญญัติว่า บุคคลใดจะอ้างว่าการสมรสเป็นโมฆะหรือโมฆียะไม่ได้ นอกจากศาลพิพากษาว่าเป็นเช่นนั้น เมื่อในขณะที่ บ. ซื้อที่พิพาทยังไม่มีฝ่ายใดฟ้องร้องให้การสมรสระหว่าง บ. กับจำเลยเป็นโมฆะ จึงต้องถือว่าการสมรสระหว่าง บ. กับจำเลยยังชอบอยู่ ดังนั้นที่ดินพิพาทจึงเป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรสเป็นสินสมรสของทั้ง บ. โจทก์ และจำเลย
แม้ บ. จะมีอำนาจจัดการสินสมรสต่อไปตามกฎหมาย แต่การที่ บ. ยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยโดยเสน่หา อันมิได้เป็นไปตามสมควรในทางศีลธรรมอันดีหรือในทางสังคมโดยมิได้รับความยินยอมจากโจทก์ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480 วรรคสอง อันเป็นบทบัญญัติกฎหมายในขณะที่มีการจดทะเบียนให้ขึ้นใช้บังคับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6410/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานค้าประเวณีและจัดหาเพื่อให้มีการค้าประเวณี แม้มีการแก้ไขกฎหมาย แต่กฎหมายเดิมยังใช้บังคับย้อนหลังได้
ขณะจำเลยกระทำความผิด พ.ร.บ.ปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2503 ยังใช้บังคับอยู่ และ ป.อ. มาตรา 282 ยังมิได้มีการแก้ไข แม้ต่อมาก่อนคดีถึงที่สุด พ.ร.บ.ปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2503 ถูกยกเลิกโดย พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 และมีการแก้ไข ป.อ. มาตรา 282 แต่การเป็นเจ้าของกิจการค้าประเวณีหรือผู้จัดการสถานการค้าประเวณีและการเป็นธุระจัดหาเพื่อให้สำเร็จความใคร่ของผู้อื่นก็ยังถือว่าเป็นความผิดอยู่ และกฎหมายที่บัญญัติใหม่ไม่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิด จึงต้องใช้ พ.ร.บ.ปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2503 และ ป.อ. มาตรา 282 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำผิดบังคับแก่คดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8780/2542 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับใช้กฎหมายล้มละลายเดิม แม้มีการปิดคดีชั่วคราว เนื่องจากยังมีอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
พ.ร.บ.ล้มละลาย (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2542 มาตรา 34 บัญญัติว่า บรรดาคดีล้มละลายที่ได้ยื่นฟ้องก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และยังคงค้างพิจารณาอยู่ในศาลหรืออยู่ในระหว่างปฏิบัติการของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ให้บังคับตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลายซึ่งใช้อยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ คดีนี้โจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2538 ก่อนวันที่ พ.ร.บ.ล้มละลาย(ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2542 ใช้บังคับ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2538 และพิพากษาให้จำเลยทั้งสองล้มละลายเมื่อวันที่19 มิถุนายน 2539 จำเลยทั้งสองมิได้อุทธรณ์ คดีถึงที่สุด คดีจึงมิได้ค้างพิจารณาอยู่ในศาลในขณะจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้พ้นจากการเป็นบุคคลล้มละลาย อนึ่งแม้ตามหนังสือของผู้ปฏิบัติราชการแทนเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เรื่อง รายงานศาลปิดคดี ได้ความว่า เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รวบรวมทรัพย์สินของจำเลยทั้งสองไม่ได้และไม่มีการงานอย่างใดจะต้องกระทำต่อไป กับเจ้าหนี้ไม่คัดค้านที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานศาลปิดคดี และศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ปิดคดีก็ตาม แต่ตามข้อเท็จจริงในสำนวนปรากฏว่า จำเลยที่ 2 ขัดขืนไม่ไปให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สิน จนเป็นเหตุให้ศาลชั้นต้นออกหมายจับจำเลยที่ 2 หากจับจำเลยที่ 2 ได้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ย่อมจะต้องสอบสวนเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 117เพื่อประโยชน์แก่การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะใช้เป็นหลักฐานในการรวบรวมทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ประกอบกับคำสั่งปิดคดีมีผลเพียงให้ระงับการจัดการต่าง ๆไว้เป็นการชั่วคราว และเจ้าพนักงานพิทักษ์ยังคงมีอำนาจหน้าที่บางประการตามที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 134 และ 160 กรณียังอยู่ในระหว่างปฏิบัติการของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ต้องบังคับตามกฎหมายซึ่งใช้อยู่ก่อนวันที่ พ.ร.บ.ล้มละลาย (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2542 ใช้บังคับ จำเลยที่ 2 จึงร้องขอให้พ้นจากการเป็นบุคคลล้มละลาย ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2542 มาตรา 35ไม่ได้ และไม่มีเหตุให้เพิกถอนหมายจับจำเลยที่ 2

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 943/2538

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การนับระยะเวลาคนสาบสูญตามกฎหมายแพ่งที่แก้ไขใหม่: ใช้กฎหมายเดิมเมื่อระยะเวลาเดิมยังไม่สิ้นสุด
ตาม พระราชบัญญัติ ให้ใช้บทบัญญัติบรรพ1 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ.2535มาตรา14บัญญัติว่า"บรรดาระยะเวลาที่บัญญัติไว้ในบรรพ1แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฯลฯซึ่งใช้บังคับอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับหากระยะเวลาดังกล่าวยังไม่สิ้นสุดลงในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับและระยะเวลาที่กำหนดขึ้นตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ท้ายพระราชบัญญัตินี้แตกต่างกับระยะเวลาที่กำหนดไว้เดิมให้นำระยะเวลาที่ยาวกว่ามาใช้บังคับ"ในระหว่างเกิดเหตุคดีนี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ1ที่ได้ตรวจชำระใหม่พ.ศ.2535ยังไม่ใช้บังคับการ นับระยะเวลาในการที่บุคคลได้ไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่และไปตกต้องในฐานที่จะเป็นภยันตรายแก่ชีวิตอันจะเป็นคนสาบสูญจึงต้องนับเวลาถึงสามปีนับแต่เมื่อภยันตรายได้ผ่านพ้นไปแล้วทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา64วรรคสองเดิมแม้โจทก์จะมาร้องขอให้ ม. เป็นคนสาบสูญเมื่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ1ที่ได้ตรวจชำระใหม่พ.ศ.2535ใช้บังคับแล้วและประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา61วรรคสองที่ได้ตรวจชำระใหม่ให้ลดระยะเวลาเหลือเพียงสองปีนับแต่วันที่เหตุอันตรายแก่ชีวิตได้ผ่านพ้นไปก็ตามแต่เมื่อพิจารณาตามมาตรา14แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ1แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่พ.ศ.2535แล้วจะเห็นได้ว่าระยะเวลาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา64วรรคสองเดิมใช้บังคับอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ1แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่พ.ศ.2535ใช้บังคับและระยะเวลาดังกล่าวยังไม่สิ้นสุดลงในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับทั้งระยะเวลาที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา64วรรคสองเดิมยาวกว่าระยะเวลาที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ตรวจชำระใหม่พ.ศ.2535มาตรา61วรรคสองจึงต้องถือระยะเวลาที่ยาวกว่ามาใช้บังคับตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ1แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่พ.ศ.2535มาตรา14ดังนั้นการร้องขอให้ศาลสั่งให้ ม. เป็นคนสาบสูญในคดีนี้จึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา64วรรคสองเดิมคือใช้ระยะเวลา3ปี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6552/2538 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเปลี่ยนแปลงสถานะทรัพย์สินสมรสตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่ ไม่ย้อนหลังบังคับกับทรัพย์สินที่ได้มาภายใต้กฎหมายเดิม
ทรัพย์สินตามบัญชีทรัพย์มรดกรวม 6 รายการ เป็นทรัพย์สินที่เจ้ามรดกได้มาขณะที่ใช้ ป.พ.พ. บรรพ 5 เดิม การพิจารณาว่าเป็นทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยาประเภทใดต้องพิจารณาตามบทกฎหมายที่ใช้ในขณะที่ได้มา เมื่อเจ้ามรดกได้รับมรดกและได้รับการยกให้ในระหว่างสมรสโดยไม่มีการระบุว่าให้เป็นสินเดิมหรือสินส่วนตัว ทรัพย์สินดังกล่าวจึงเป็นสินสมรสระหว่างเจ้ามรดกกับ ร. ตาม ป.พ.พ.บรรพ 5 เดิม มาตรา 1466 แม้ต่อมาจะมีบทบัญญัติบรรพ 5 แห่ง ป.พ.พ. ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ.2519 ใช้บังคับมีมาตรา 1471 บัญญัติให้ทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรสโดยการรับมรดกหรือโดยการให้โดยเสน่หาเป็นสินส่วนตัว และมาตรา 1474บัญญัติให้ทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรสโดยพินัยกรรมหรือโดยการให้เป็นหนังสือและพินัยกรรมหรือหนังสือยกให้ได้ระบุว่าเป็นสินสมรส จึงเป็นสินสมรส อันแตกต่างจากบทบัญญัติแห่งบรรพ 5 เดิมก็ตาม ก็ไม่ทำให้ทรัพย์สินซึ่งเป็นสินสมรสอยู่แต่เดิมเปลี่ยนเป็นสินส่วนตัวของเจ้ามรดก เพราะกฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่ได้บัญญัติให้เปลี่ยนแปลงไปดังกรณีสินเดิม จึงจะนำบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. บรรพ 5 ที่ได้ตรวจชำระใหม่พ.ศ.2519 มาตรา 1471 มาใช้บังคับแก่กรณีนี้หาได้ไม่ เมื่อทรัพย์สินนั้นเป็นสินสมรสเจ้ามรดกคงมีส่วนแต่เพียงครึ่งเดียวที่เป็นมรดกตกทอดแก่ทายาท
ที่ศาลชั้นต้นฟังว่าทรัพย์สินตามบัญชีทรัพย์มรดกรวม 4 รายการเป็นสินสมรสนั้นไม่ได้วินิจฉัยว่าเป็นสินสมรสเพราะเหตุว่าเป็นทรัพย์สินที่เจ้ามรดกได้มาระหว่างสมรสโดยได้รับมรดกซึ่งไม่มีการระบุให้เป็นสินเดิมหรือสินส่วนตัวจึงเป็นสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1466 ดังที่โจทก์ยกขึ้นกล่าวโต้แย้งในอุทธรณ์แต่อย่างใด อุทธรณ์ของโจทก์ที่เกี่ยวกับทรัพย์สิน 4 รายการนี้ จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง แม้โจทก์อุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัยให้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1118/2538 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปรับบทลงโทษตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกเมื่อไม่ได้ขอลงโทษตามกฎหมายเดิม
พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2535 มาตรา 30เป็นการแก้ไข พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 160 ซึ่งมีข้อความเกี่ยวกับ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (1) (2) (5) หรือ(8) และมาตรา 78 เมื่อโจทก์มิได้ขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกพ.ศ.2522 มาตรา 43 (1) (2) (5) หรือ (8) และมาตรา 78 มาด้วยจึงไม่ต้องปรับบทลงโทษตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2535มาตรา 30

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6085/2537 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาค้ำประกันที่ปิดอากรแสตมป์ถูกต้องตามกฎหมายเดิม ยังใช้เป็นหลักฐานได้ แม้กฎหมายใหม่กำหนดอัตราอากรแสตมป์ที่สูงขึ้น
แม้ขณะโจทก์นำหนังสือสัญญาค้ำประกันมาใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีบัญชีอัตราอากรแสตมป์ลักษณะแห่งตราสารข้อ 17(ก) ซึ่งแก้ไขโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2526 มาตรา 13 บัญญัติให้ผู้ค้ำประกันต้องปิดอากรแสตมป์ 10 บาทในสัญญาค้ำประกันสำหรับกรณีที่มิได้จำกัดจำนวนเงินไว้ แต่ตามพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2526มาตรา 16 ก็บัญญัติไว้ว่า บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากรที่ถูกยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดนี้ให้ยังคงใช้บังคับต่อไปเฉพาะในการปฏิบัติจัดเก็บภาษีอากรที่ค้างอยู่หรือที่พึงชำระก่อนวันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ดังนั้นสัญญาค้ำประกันที่ได้ปิดอากรแสตมป์ครบถ้วนถูกต้องตามประมวลรัษฎากรที่ใช้บังคับในขณะทำสัญญา จึงยังคงใช้รับฟังเป็นพยานหลักฐานได้
of 5