พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3942/2529
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การกำหนดกรรมและกระทงความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารปลอม การใช้กฎหมายหมวดความผิดเกี่ยวกับเอกสาร
การที่จะวินิจฉัยว่าคดีใดต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาฐานความผิดเป็นกระทง ๆ ไปศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดรวม 6 กระทงซึ่งแต่ละกระทงลงโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คดีจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 โจทก์บรรยายฟ้องแยกการกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เมื่อการกระทำของจำเลยในขั้นตอนที่ทำปลอมขึ้นซึ่งรอยตราของสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ ไทยประจำกรุงเบรุต แล้วเอารอยตราปลอมนั้นไปประทับลงในหนังสือเดินทางปลอม ก็เพื่อให้หนังสือเดินทางปลอมที่จำเลยทำขึ้นมีลักษณะข้อความและรอยตราที่ประทับเหมือนของจริง เมื่อผู้ใดพบเห็นจะได้หลงเชื่อและเข้าใจว่าเป็นหนังสือเดินทางที่แท้จริงอันเป็นการปลอมหนังสือเดินทางทั้งฉบับให้สำเร็จบริบูรณ์ดังเจตนาของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวแต่ผิดต่อกฎหมายหลายบทคือประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 กับมาตรา 251 กระทงหนึ่งต่อมาเมื่อจำเลยนำหนังสือเดินทางนั้นไปใช้แสดง ต่อเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง เพื่อตรวจประทับตราเดินทาง ออกไปนอกราชอาณาจักรและเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรรวม 3 ครั้ง แม้จะเป็นการใช้ในลักษณะเดียวกัน แต่เป็นการใช้คนละเวลา คนละครั้งต่างกรรมกัน จึงเป็นความผิดหลายกรรม คือมีความผิดตามมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 265และมาตรา 251 ประกอบด้วย มาตรา 252 ซึ่งมาตรา 263ให้ลงโทษตามมาตรา 251 แต่กระทงเดียว เมื่อจำเลยเป็นผู้ทำรอยตราปลอมอันเป็นความผิดตามมาตรา 251และได้ใช้รอยตราปลอมนั้นอันเป็นความผิดตามมาตรา 252รวม 3 ครั้ง ในการใช้ครั้งแรก จำเลยทำรอยตราปลอมและใช้รอยตราปลอมด้วย จึงมีความผิดตามมาตรา 251ประกอบด้วยมาตรา 263 กระทงหนึ่ง แต่ในการใช้ครั้งที่สองและที่สาม จำเลยมิได้ปลอมรอยตราขึ้นอีกคงใช้รอยตราปลอม อันเก่านั้นเอง จึงมีความผิดฐานใช้รอยตราปลอมอย่างเดียว ตามมาตรา 252 อีก 2 กระทง รวมทั้งสิ้น 3 กระทง ที่ศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยรวม 6 กระทง จึงไม่ถูกต้อง ปัญหาว่าการกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทหรือไม่เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาก็หยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้