พบผลลัพธ์ทั้งหมด 4 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1135/2534
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิการรักษาพยาบาลกรณีฉุกเฉิน: การรักษาในโรงพยาบาลเอกชนภายใต้ข้อบังคับองค์การเหมืองแร่
ข้อบังคับองค์การเหมืองแร่ในทะเลจำเลยว่าด้วยเงิน ช่วยเหลือในการรักษาพยาบาลและเงินช่วยเหลือในการคลอดบุตรระบุว่า ในกรณีฉุกเฉินที่ผู้ป่วยไม่สามารถไปสถานพยาบาลขององค์การเหมืองแร่ในทะเลหรือสถานพยาบาลของส่วนราชการได้ทันท่วงที ผู้ป่วยจะเข้ารับการรักษาตัวในสถานพยาบาลของเอกชนก็ได้ ได้ความว่า บ. มารดาโจทก์มีอายุ 83 ปีแล้วมีโรคประจำตัวคือเบาหวานและความดันโลหิตสูง เกิดมีอาการไข้ไม่ค่อยจะรู้สึกตัวและอาเจียนติดต่อกัน 4 ครั้งโดยเฉียบพลันในเวลาดึก ถ้าปล่อยให้มีอาการไข้สูงและอาเจียนมากกว่านี้โดยไม่ได้รับการรักษาโดยทันที อาจเกิดอันตรายถึงชีวิต เช่นนี้อาการเจ็บป่วยของ บ. เป็นกรณีฉุกเฉินที่ผู้ป่วยไม่สามารถไปสถานพยาบาลขององค์การเหมืองแร่ในทะเลหรือสถานพยาบาลส่วนราชการได้ทันท่วงที จึงเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลเอกชนตามข้อบังคับดังกล่าวได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6683/2558
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิรับเงินทดแทนประกันสังคม: เหตุสมควรที่ไม่สามารถใช้บริการรพ.ตามสิทธิกรณีฉุกเฉินและไม่มีศักยภาพในการรักษา
เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงแล้วว่าอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดของโจทก์เป็นกรณีฉุกเฉินซึ่งคณะกรรมการอุทธรณ์วินิจฉัยไว้ ประกอบกับโรงพยาบาล ก. สุขาภิบาล 3 ซึ่งเป็นโรงพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิ ไม่มีศูนย์หัวใจ จึงไม่มีศักยภาพที่จะรักษาโจทก์ได้โดยทันท่วงที เบื้องต้นแพทย์โรงพยาบาล ร. ฉีดสีจึงทราบว่าเส้นเลือดอุดตันและต้องรักษาโดยการทำบอลลูนขยายหลอดเลือด โรงพยาบาล ร. กับโรงพยาบาล ก. สุขาภิบาล 3 ติดต่อประสานกันทราบว่าโรงพยาบาล ก. สุขาภิบาล 3 ไม่สามารถทำการรักษาโดยการทำบอลลูนขยายหลอดเลือดให้ได้ และได้ติดต่อไปยังโรงพยาบาล ก. ประชาชื่น ซึ่งเป็นโรงพยาบาลในเครือ แต่ก็ได้รับแจ้งว่ารักษาให้ไม่ได้ ผลการปรึกษากันระหว่างโรงพยาบาล ร. กับโรงพยาบาล ก. สุขาภิบาล 3 ได้ข้อสรุปว่าให้โจทก์พักรักษาตัวก่อน 1 คืน ถือว่ากรณีมีเหตุสมควรที่โจทก์ไม่สามารถไปเข้ารับบริการทางการแพทย์ที่โรงพยาบาล ก. สุขาภิบาล 3 ได้ โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์จากจำเลย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13826/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิการรักษาพยาบาลกรณีฉุกเฉิน: การรักษาที่โรงพยาบาลนอกสิทธิเมื่อจำเป็นต่อการช่วยชีวิต
การที่แพทย์ลงความเห็นว่าโจทก์มีอาการป่วยเจ็บหนักเข้าข่ายเจ็บป่วยฉุกเฉิน สมควรเข้ารับการผ่าตัดทันที แต่แพทย์ยังไม่ได้ผ่าตัดในขณะนั้นทันทีเพราะต้องทำการตรวจสอบตามขั้นตอนของการเตรียมการเพื่อความปลอดภัยของการผ่าตัด และทำการผ่าตัดในวันรุ่งขึ้นเมื่อแพทย์ลงความเห็นว่าผ่าตัดได้แล้ว ระยะเวลาการเตรียมการผ่าตัดเพื่อความปลอดภัยในการผ่าตัดย่อมอยู่ในระยะเวลาที่ต่อเนื่องกับความฉุกเฉินที่จะต้องผ่าตัดทันทีและย่อมมีต่อเนื่องตลอดมา การที่จะให้โจทก์ซึ่งป่วยเจ็บหนักเช่นนี้มีความคิดที่จะเปลี่ยนเป็นเข้ารับบริการทางการแพทย์ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าซึ่งเป็นโรงพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้ การที่โจทก์เข้ารับบริการทางการแพทย์ที่โรงพยาบาลนนทเวชจึงมีเหตุผลสมควรที่ไม่สามารถไปรับบริการทางการแพทย์ที่โรงพยาบาลตามสิทธิได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4316/2560
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การตรวจค้นและจับกุมคดียาเสพติด: อำนาจเจ้าพนักงานตำรวจในกรณีฉุกเฉินและการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย
เจ้าพนักงานตำรวจจับกุม อ. ค. และ ธ. ในข้อหาเสพเมทแอมเฟตามีน อ. ค. และ ธ. ให้การว่า รับเมทแอมเฟตามีนมาจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเช่าห้องพักอยู่ในรีสอร์ต ห้องเลขที่ 12 เจ้าพนักงานตำรวจประสานกับผู้ดูแลรีสอร์ต จนเป็นที่แน่ใจว่าข้อมูลที่ได้จาก อ. ค. และ ธ. ถูกต้องแล้ว จึงเข้าตรวจค้นห้องพักของจำเลยที่ 1 ทันที เพราะน่าเชื่อว่าจะพบเมทแอมเฟตามีนซึ่งเป็นสิ่งของที่มีไว้เป็นความผิด ทั้งที่เกิดเหตุเป็นรีสอร์ตซึ่งจำเลยทั้งสองพักชั่วคราว หากเนิ่นช้าไปกว่าจะได้หมายค้น จำเลยทั้งสองอาจนำเมทแอมเฟตามีนออกไปจากรีสอร์ตเมื่อใดก็ได้ จึงเป็นกรณีฉุกเฉินอย่างยิ่ง เจ้าพนักงานตำรวจจึงมีอำนาจเข้าไปค้นในห้องพักโดยไม่จำต้องมีหมายค้นตาม ป.วิ.อ. มาตรา 92 (4) และมาตรา 96 (2) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 และเมื่อเจ้าพนักงานตำรวจตรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีน 3 เม็ด ที่จำเลยที่ 2 และค้นพบเมทแอมเฟตามีน 554 เม็ด ภายในห้องซึ่งจำเลยที่ 1 รับว่าเป็นของตนอันเป็นความผิดซึ่งหน้า เจ้าพนักงานตำรวจจึงมีอำนาจจับจำเลยทั้งสองได้โดยไม่ต้องมีหมายจับตาม ป.วิ.อ. มาตรา 78 (1), 80 ประกอบ พ.ร.บ. วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3