คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
กรรมหลายกรรม

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4887/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความไม่ชัดเจนในการบรรยายฟ้องทำให้ศาลไม่สามารถลงโทษจำเลยตามกรรมหลายกรรมต่างกันได้
ในคดีที่ฟ้องโจทก์มีหลายข้อหา ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์และศาลทรัพย์สินทางปัญญาและ การค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้เสียหายเข้าร่วมเป็นโจทก์ได้ ต้องถือว่าเป็นการอนุญาตให้ผู้เสียหาย เข้าร่วมเป็นโจทก์ได้เฉพาะข้อหาความผิดตามฟ้องซึ่งโจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหายเท่านั้น และการที่โจทก์ร่วมอุทธรณ์คำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ซึ่งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมมา ต้องถือว่าเป็นการรับอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมเฉพาะข้อหาความผิดตามฟ้องที่โจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหายเช่นเดียวกัน
โจทก์มิได้บรรยายฟ้องเกี่ยวกับความผิดของจำเลยทั้งสี่ในข้อ (ก) และข้อ (ข) แต่ละข้อหาแยกเป็นข้อย่อยมาให้ชัดเจน เพื่อชี้ให้เห็นว่าโจทก์ประสงค์จะให้ศาลลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามฟ้องแต่ละข้อหาแยกเป็นความผิดหลายกรรม ต่างกัน แม้ในตอนต้นโจทก์จะบรรยายฟ้องรวมกันมาว่า การกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกันและมีคำขอท้ายฟ้องขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 91 ด้วยก็ตาม แต่ในขณะเดียวกันโจทก์ก็บรรยายอ้างว่าการกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทและมีคำขอท้ายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามมาตรา 90 มาด้วย ฟ้องโจทก์จึงไม่ชัดเจนพอที่จะชี้ให้เห็นว่า โจทก์ประสงค์จะให้ศาลลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามฟ้อง ข้อ (ก) ในแต่ละข้อหาแยกเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยตามฟ้องข้อ (ก) เป็นความผิดหลายกรรมหาได้ไม่ ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 26
แม้ความผิดตาม พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 59 มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 บาท ถึง 100,000 บาท แต่ถ้าศาลเห็นสมควรจะลงแต่โทษจำคุกสถานเดียวโดยไม่ลงโทษปรับด้วยก็ได้ ตาม ป.อ. มาตรา 20 ประกอบมาตรา 17

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3625/2531 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมเดียว vs. กรรมหลายกรรม: การกระทำความรุนแรงต่อเนื่องเป็นกรรมเดียว
โจทก์บรรยายฟ้องว่า ก. ว่า จำเลยใช้ขวดสุราเป็นอาวุธตีทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 1 โดยแรง 1 ครั้ง เป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ 1 ได้รับอันตรายแก่กายและจิตใจ ฟ้องข้อ ข. ว่า ตามวันเวลาดังกล่าวในฟ้องข้อ ก. ภายหลังจากจำเลยได้กระทำความผิดดังกล่าวแล้ว จำเลยใช้กุญแจตัดเหล็กเป็นอาวุธที่ประทุษร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 1 เป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ 1 ได้รับอันตรายแก่กายและจิตใจ เห็นได้ว่า ภายหลังจากที่จำเลยใช้ขวดสุราเป็นอาวุธตีทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 แล้ว ในเวลาต่อเนื่องกันจำเลยก็ได้ใช้กุญแจตัดเหล็กเป็นอาวุธทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 อีก ดังนี้ เป็นเรื่องที่จำเลยต้องการทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 ให้ได้รับอันตรายแก่กายตามเจตนาเดิมและเจตนาเดียวของจำเลยนั้นเอง อันเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องกันแม้จำเลยกระทำหลายครั้ง การกระทำของจำเลยก็ยังถือว่าเป็นการกระทำครั้งเดียวกัน จึงเป็นกรรมเดียวมิใช่หลายกรรม การที่โจทก์บรรยายฟ้องแยกเป็น ข้อ ก. และข้อ ข. เพื่อแสดงให้เห็นว่าเป็นการกระทำผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน ทั้งจำเลยให้การรับสารภาพก็ตาม ก็ไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ศาลจะลงโทษจำเลยหลายกระทงไม่ได้