คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
กระทำการอันต้องห้าม

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 518/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเรียกค่าเสียหายจากการเลือกตั้งใหม่ กรณี สส.กระทำการอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ และผลกระทบจากประกาศ คสช.
แม้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2550 ไม่ได้กำหนดให้รองเลขาธิการเป็นผู้รักษาการแทนเลขาธิการโจทก์ในอันที่จะเป็นผู้แทนที่มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์และมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดไว้โดยเฉพาะแล้วว่า ผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์คือเลขาธิการซึ่งเป็นผู้แทนโจทก์เท่านั้น แต่ในบทเฉพาะกาลมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกันกำหนดไว้ว่า บรรดาระเบียบ ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือมติของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ออกตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับให้มีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่าจะมีระเบียบ ประกาศ คำสั่ง หรือมติตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ดังนั้น เมื่อยังไม่มีระเบียบของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ออกตามพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงต้องนำระเบียบของคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการบริหารของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2544 ซึ่งออกตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2541 มาใช้บังคับ
แม้ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 3 และที่ 26 กำหนดให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 สิ้นสุดลง แต่ก็ให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2541 มีผลใช้บังคับต่อไป ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการบริหารของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2544 ซึ่งออกตามพระราชบัญญัติดังกล่าวจึงยังคงมีผลใช้บังคับได้
พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2550 มาตรา 36 มิใช่บทเฉพาะในอันที่จะไม่สามารถนำระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการบริหารของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2544 มาใช้บังคับ การที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติแต่งตั้งให้ ส. รองเลขาธิการที่มีอาวุโสสูงสุดตามลำดับเป็นผู้รักษาการแทนเลขาธิการโจทก์ตามระเบียบดังกล่าวข้อ 10 วรรคหนึ่ง และข้อ 11 วรรคหนึ่ง ชอบแล้ว และ ส. ย่อมมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับผู้ซึ่งตนแทนโดยเป็นผู้แทนที่มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ได้ โจทก์มีอำนาจฟ้อง
โจทก์บรรยายฟ้องโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหา ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา และคำขอบังคับแล้วว่า จำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายด้วยการที่จำเลยกระทำการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายโดยโจทก์ต้องมาออกค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งใหม่ตามหน้าที่ รายละเอียดความเสียหายในค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งใหม่ที่โจทก์ต้องออกค่าใช้จ่ายไปปรากฏตามเอกสารท้ายคำฟ้อง ส่วนค่าใช้จ่ายที่โจทก์ต้องออกค่าใช้จ่ายไป โจทก์จ่ายเมื่อวันที่เท่าใดและบางรายการโจทก์จ่ายให้ผู้ใดเป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา คำฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
วันที่ 26 สิงหาคม 2552 อันเป็นวันที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมีหนังสือส่งคำวินิจฉัยชี้ขาดว่าจำเลยกระทำการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญไปให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย ยังไม่ถือว่าโจทก์ได้รับความเสียหาย เพราะขณะนั้นศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ได้วินิจฉัยและยังไม่มีการเลือกตั้งใหม่ที่โจทก์ต้องมาออกค่าใช้จ่าย เหตุละเมิดยังไม่เกิดขึ้นในอันที่จะถือว่าโจทก์รู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนว่าคือจำเลยในวันดังกล่าว อายุความจึงยังไม่เริ่มนับในวันที่ 26 สิงหาคม 2552 แต่เหตุละเมิดเกิดขึ้นเมื่อโจทก์ได้รับความเสียหาย โดยโจทก์ออกค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งใหม่ตามหน้าที่ในวันที่ 12 ธันวาคม 2553 เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติให้โจทก์มาฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยในวันที่ 30 ธันวาคม 2553 ถือว่าโจทก์รู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนว่าคือจำเลยนับแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2553 โจทก์ฟ้องจำเลยเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2554 จึงอยู่ภายในกำหนดเวลา 1 ปี สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ
แม้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 มาตรา 113 มาตรา 158 กำหนดให้ค่าใช้จ่ายสำหรับการเลือกตั้งใหม่มีเฉพาะกรณีที่สมาชิกภาพการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงโดยเหตุที่คณะกรรมการการเลือกตั้งหรือศาลฎีกามีคำสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 103 วรรคหนึ่ง และมาตรา 111 วรรคหนึ่ง ทั้งนี้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 106 (9) และเฉพาะในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาลงโทษผู้ใดที่กระทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมเท่านั้นก็ตาม แต่ก็ไม่ได้ลบล้างหลักทั่วไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 ดังนั้น หากเป็นกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้สมาชิกภาพการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 106 (6) เนื่องจากกระทำการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญดังกล่าว มาตรา 265 (2) ดังที่โจทก์ฟ้อง ก็ถือว่าเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายเช่นกัน และจะอ้างว่าไม่ทราบว่ารัฐธรรมนูญดังกล่าว ห้ามมิให้จำเลยเข้าเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทที่รับสัมปทานจากรัฐนั้นไม่ได้ เนื่องจากบุคคลทุกคนจะแก้ตัวว่าไม่รู้กฎหมายเพื่อให้พ้นจากความรับผิดนั้นไม่ได้ ทั้งการที่ต่อมามีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติกำหนดให้รัฐธรรมนูญดังกล่าวสิ้นสุดลง ก็ไม่ปรากฏว่ามีกฎหมายกำหนดให้กระทำเช่นนั้นได้ จึงไม่มีผลลบล้างให้การกระทำที่ต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญดังกล่าวซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้สมาชิกภาพการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงไปแล้วก่อนที่จะมีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติกลายเป็นการกระทำที่ไม่ต้องห้ามตามกฎหมายอันมีผลให้คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญไร้ผล ถือว่าจำเลยยังกระทำการอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญดังกล่าว และคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยไปแล้วยังมีผลอยู่ การที่โจทก์ได้รับความเสียหายต้องออกค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งใหม่ตามหน้าที่และมาฟ้องจำเลยก่อนที่จะมีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติเช่นกัน จึงถือว่าจำเลยยังคงกระทำละเมิดต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายเช่นเดิม
ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติยังคงให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2550 มีผลใช้บังคับต่อไป โจทก์จึงยังคงเป็นนิติบุคคล มีอำนาจฟ้องและเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้