คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
กสร.

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5587-5599/2546 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำสั่ง รมต.แรงงาน มอบข้อพิพาทให้ กสร. ไม่กระทบอำนาจศาลในการพิจารณาคำร้องเลิกจ้าง
คำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมที่สั่งตามมาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ให้ลูกจ้างของผู้ร้องที่นัดหยุดงานกลับเข้าทำงาน ให้ผู้ร้องซึ่งสั่งปิดงานให้เปิดงานและรับลูกจ้างของผู้ร้องทั้งหมดกลับเข้าทำงาน และมอบให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์พิจารณาชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ระหว่างผู้ร้องกับลูกจ้างของผู้ร้องที่ยื่นข้อเรียกร้อง เป็นคำสั่งที่แก้ไขข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ซึ่งมีการนัดหยุดงานหรือมีการปิดงานที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่เศรษฐกิจของประเทศ หรืออาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชน หรืออาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ หรืออาจขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน อันเป็นการยกเลิกการนัดหยุดงานและการปิดงานที่ดำเนินการอยู่ แล้วมอบข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เป็นผู้ชี้ขาด คำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อการกระทำใดในระหว่างการนัดหยุดงานหรือการปิดงานของนายจ้างหรือลูกจ้างที่กระทำผิดต่อกฎหมายหรือละเมิดสิทธิของอีกฝ่ายหรือต่อบุคคลภายนอก คำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม จึงไม่มีผลทำให้อำนาจในการดำเนินคดีนี้ของผู้ร้องที่ร้องขออนุญาตเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งสิบสาม ตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 52 สิ้นสุดลง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 144/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างไม่เป็นธรรม แม้ไม่ได้ยื่นคำร้องต่อ กสร. ศาลมีอำนาจกำหนดค่าเสียหายแทนการรับกลับเข้าทำงาน
การที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างบางกรณีอาจเป็นทั้งการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518มาตรา 121 หรือมาตรา 123 และเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 49 ด้วยก็ได้
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยอ้างว่า โจทก์ทุจริตนำหนังสือพิมพ์สำหรับจัดส่งให้แก่สมาชิกของจำเลยไปจำหน่ายให้แก่ลูกค้าของโจทก์ และโจทก์ไปซื้อหนังสือพิมพ์จากตัวแทนแล้วนำไปจำหน่าย เป็นการกระทำที่ไม่สมควร ซึ่งไม่เป็นความจริง และก่อนที่จะเลิกจ้างจำเลยก็ไม่ได้สอบสวนโจทก์ตามระเบียบข้อบังคับของจำเลย เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานตามเดิม เป็นการฟ้องเรื่องเลิกจ้างไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 ส่วนที่โจทก์อ้างว่าโจทก์เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานและเป็นผู้เข้าร่วมในการต่อสู้ขัดขวางขจัดความไม่เป็นธรรมอันเนื่องมาจาก การกระทำของฝ่ายบริหารจำเลยนั้นก็เพื่อสนับสนุนคำฟ้องให้ชัดเจนยิ่งขึ้น มิได้มุ่งประสงค์ที่จะกล่าวหาว่าการเลิกจ้างของจำเลยเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 121 หรือมาตรา 123 แม้โจทก์จะมิได้ยื่นคำร้องกล่าวหาจำเลยต่อ คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ก่อนตามมาตรา 124 โจทก์ก็มีอำนาจฟ้อง
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงาน และให้ได้รับสิทธิและผลประโยชน์ตามเดิม โดยมิได้ขอให้ชดใช้ค่าเสียหายเมื่อศาลแรงงานกลางเห็นว่าโจทก์กับจำเลยไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้ศาลแรงงานกลางจึงมีอำนาจใช้ดุลพินิจกำหนดค่าเสียหายให้จำเลยชดใช้แก่โจทก์แทนการรับโจทก์กลับเข้าทำงานได้ตามพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 ไม่ถือว่าเกินไปกว่าคำฟ้องของโจทก์ประกอบกับในการกำหนดค่าเสียหาย ดังกล่าว ศาลแรงงานกลางก็ได้ยกเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยในเรื่องอายุ ของโจทก์ ระยะเวลาการทำงานของโจทก์ ความเดือดร้อนของโจทก์เมื่อถูกเลิกจ้าง มูลเหตุแห่งการเลิกจ้าง และเงินค่าชดเชยที่โจทก์ จะได้รับประกอบการพิจารณาโดยละเอียดครบถ้วน จึงชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 51