คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
กันเงิน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 378/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิบุริมสิทธิจำนองกับการบังคับคดี: การกันเงินจากการขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้จำนอง แม้หนี้ยังไม่ถึงกำหนด
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 บัญญัติให้มาตราดังกล่าวอยู่ภายใต้แห่งบทบัญญัติมาตรา 288 และ 289 มีความหมายว่า หากบุริมสิทธิหรือสิทธิอื่น ๆ นั้น เป็นสิทธิประเภทที่อาจร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ตามมาตรา 288 หรือบังคับให้ชำระหนี้ตามมาตรา 289 ผู้ร้องก็มีสิทธิที่จะดำเนินการตามบทบัญญัติดังกล่าวได้ แต่แม้มิได้ใช้สิทธิหรือบังคับตามสิทธิของตนตามบทบัญญัติดังกล่าว การบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ก็ย่อมไม่ถูกกระทบกระทั่งถึงบุริมสิทธิหรือสิทธิอื่น ๆ ดังกล่าวอยู่นั่นเอง ดังนี้ เมื่อพิเคราะห์ตามคำร้องของผู้ร้องแล้ว ผู้ร้องอ้างมาในคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนองห้องชุดพิพาทที่โจทก์นำยึด หนี้ตามสัญญาจำนองยังไม่ถึงกำหนดชำระ ผู้ร้องจึงไม่อาจใช้สิทธิฟ้องร้องบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์จำนองได้ ขอให้ศาลมีคำสั่งให้กันเงินจากการขายทอดตลาดโดยปลอดจำนองไว้ให้แก่ผู้ร้องด้วย จะเห็นได้ว่าเนื้อหาตามคำร้องขอดังกล่าวเป็นกรณีที่ผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้ผู้รับจำนองใช้สิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 หาใช่เป็นการร้องขอรับชำระหนี้โดยอาศัยอำนาจแห่งการจำนองที่อาจบังคับได้ก่อนเจ้าหนี้รายอื่นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 ไม่ แม้ขณะที่ผู้ร้องยื่นคำร้อง หนี้จำนองที่จำเลยจะต้องรับผิดชำระแก่ผู้ร้องยังไม่ถึงกำหนดชำระอันจะขอรับชำระหนี้จำนองตามมาตรา 289 วรรคหนึ่ง ไม่ได้ก็ตาม แต่การบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของจำเลยย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงบุริมสิทธิอื่น ๆ ของผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้รับจำนองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 เมื่อผู้ร้องเป็นผู้รับจำนองห้องชุดพิพาทที่โจทก์นำยึดได้ใช้สิทธิตามมาตรา 287 และขอให้ขายทอดตลาดโดยปลอดจำนอง ผู้ร้องจึงมีสิทธิขอกันเงินจากการขายทอดตลาดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 ได้
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอกันส่วนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ เสียค่าขึ้นศาล 200 บาท ตามตาราง 1 ท้าย ตาม ป.วิ.พ. ข้อ (2) (ก)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 653/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีและการกันเงินค่าส่วนกลางจากการขายทอดตลาดที่ดินจัดสรร ผู้ร้องแจ้งหนี้ล่าช้า ทำให้ไม่ได้รับการกันเงิน
ป.วิ.พ. มาตรา 335 วรรคสี่ และวรรคห้า เป็นบทบัญญัติเพื่อให้หนี้ค่าบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภคพร้อมค่าปรับตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดินได้รับการกันเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดไว้เพื่อชำระหนี้ที่ค้างชำระดังกล่าวจนถึงวันขายทอดตลาดแก่นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรก่อนเจ้าหนี้จำนองและให้พนักงานเจ้าหน้าที่จดทะเบียนโอนสิทธิในที่ดินแก่ผู้ซื้อโดยกำหนดหลักเกณฑ์ในการขายทอดตลาดที่ดินจัดสรรตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดินว่า ก่อนทำการขายทอดตลาด ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีบอกกล่าวให้นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรแจ้งรายการหนี้ค่าบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภคพร้อมค่าปรับตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดินต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำบอกกล่าว เมื่อความปรากฏว่า ก่อนขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 212453 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือบอกกล่าวให้ผู้ร้องแจ้งรายการหนี้ค่าบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภคพร้อมค่าปรับภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือแล้ว แต่ผู้ร้องแจ้งรายการหนี้ดังกล่าวล่วงพ้นกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำบอกกล่าว ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่กันเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดไว้เพื่อชำระหนี้ค่าบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภคพร้อมค่าปรับที่ค้างชำระให้แก่ผู้ร้อง จึงเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการไปตามที่มาตรา 335 บัญญัติไว้ ส่วนที่ผู้ร้องฎีกาอ้างว่าลูกจ้างที่ดูแลรับผิดชอบที่ทำการของผู้ร้องในขณะนั้นไม่ได้แจ้งให้คณะกรรมการของผู้ร้องทราบว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือถึงผู้ร้อง โดยลูกจ้างคนดังกล่าวมีพฤติกรรมส่อไปในทางทุจริตนั้น กรณีไม่ต้องด้วย พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 15 ที่ศาลฎีกาจะขยายระยะเวลา 30 วัน ให้แก่ผู้ร้อง ผู้ร้องจึงไม่อาจใช้สิทธิขอให้กันเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 212453 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง เพื่อนำมาชำระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่ค้างชำระแก่ผู้ร้องก่อนโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้จำนองได้ ทั้งความปรากฏตามคำขอออกหมายบังคับคดีว่า จำเลยมีภาระหนี้คงค้างชำระอยู่แก่โจทก์เป็นเงิน 7,371,398.92 บาท แบ่งเป็นเงินต้น 3,223,150.73 บาท ที่เหลือเป็นดอกเบี้ยกับค่าเบี้ยประกันภัย แต่ที่ดินโฉนดเลขที่ 212453 ขายทอดตลาดได้ในราคาเพียง 3,700,000 บาท น้อยกว่าภาระหนี้ที่จำเลยค้างชำระอยู่แก่โจทก์ ซึ่งเห็นได้อยู่ในตัวว่าเมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีจ่ายเงินรายได้สุทธิที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์แล้ว ไม่มีเงินเหลือที่จะจ่ายให้แก่ผู้ร้อง