พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4749/2533 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การรับฝากเงินโดยไม่ได้รับอนุญาตและผลกระทบต่อความรับผิดของผู้ประกอบการ
จำเลยที่ 1 จะกู้ยืมเงินหรือรับเงินออมจากประชาชนจะต้องปฏิบัติอยู่ในกรอบกำหนดกฎเกณฑ์ตาม พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจเงินทุนฯพ.ศ. 2522 และข้อกำหนดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย แต่ตามพฤติการณ์แห่งคดีปรากฏว่าโจทก์นำเงินไปฝาก ณ สำนักงานของจำเลยที่ 1 โดยพนักงานของจำเลยที่ 1 เป็นผู้ดำเนินการ แสดงว่าจำเลยที่ 1ได้รู้เห็นยินยอมให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ใช้สำนักงานของตนเป็นสถานที่รับฝากเงิน หากจำเลยที่ 1 รับฝากเงินไม่ได้เพราะขัดต่อ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจเงินทุนฯ กับ พ.ร.บ. การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505มาตรา 8 และอยู่นอกขอบวัตถุประสงค์ข้อบังคับของจำเลยที่ 1 แต่พนักงานของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 หรือจำเลยที่ 3 กลับรับฝากเงินของโจทก์ไว้โดยไม่แจ้งให้โจทก์ทราบ ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตหลงเข้าใจได้ว่าการรับฝากเงินเป็นกิจการของจำเลยที่ 1ที่กระทำได้ตามกฎหมายและอยู่ภายในขอบวัตถุประสงค์ข้อบังคับของจำเลยที่ 1 จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ติดต่อรับฝากเงินและรู้เห็นเองโดยจำเลยที่ 1 เชิด จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 เป็นตัวแทนผู้มีอำนาจกระทำการในการรับฝากเงินและออกเช็คให้แก่โจทก์จำเลยที่ 1 จึงต้องผูกพันรับเอาผลการกระทำของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 821 การกำหนดค่าฤชาธรรมเนียมเป็นดุลพินิจ ของศาลตาม ป.วิ.พ.มาตรา 161 ดังนั้นการที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 แล้วยกเสียจึงไม่ใช่กรณีที่ศาลสั่งไม่รับฟ้องแย้งซึ่งจะต้องคืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดตามนัยแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 151แต่จะต้องบังคับตามบทบัญญัติมาตรา 161 กล่าวคือศาลใช้ดุลพินิจไม่คืนค่าธรรมเนียมฟ้องแย้งให้จำเลยที่ 1 ได้.