คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
การกำหนดราคา

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7934/2540

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าธรรมเนียมยึดทรัพย์ - การกำหนดราคา - ระยะเวลาอุทธรณ์ - ศาลฎีกายืนตามศาลล่าง
ตามตาราง 5 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งการคำนวณราคาทรัพย์สินที่ยึดเพื่อเสียค่าธรรมเนียมเมื่อยึดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขายให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นผู้กำหนด ถ้าไม่ตกลงกัน ให้คู่ความที่เกี่ยวข้องเสนอเรื่องต่อศาลตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 296 วรรคสอง กล่าวคือโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลไม่ว่าเวลาใด ๆ ก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลงแต่ต้องไม่ช้ากว่าแปดวันนับแต่ทราบการฝ่าฝืนนั้น ขอให้ศาลมีคำสั่งกำหนดราคาเสียใหม่ได้ เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนดราคาทรัพย์สินที่ยึดเพื่อเสียค่าธรรมเนียมเมื่อยึดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขายแล้ว โจทก์ก็ไม่ได้คัดค้านและต่อมาโจทก์ขอถอนการยึดและเสียค่าธรรมเนียมยึดแล้วไม่มีการขายตามราคาประเมินของเจ้าพนักงานบังคับคดีดังกล่าวและเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ถอนการยึดและถอนการบังคับคดีเรื่องนี้กับได้รายงานให้ศาลชั้นต้นทราบแล้ว ต่อมาโจทก์เพิ่งมายื่นคำร้องขอคืนค่าธรรมเนียมส่วนที่เกินจากทุนทรัพย์ในคดีที่โจทก์ ควรเสียเป็นคดีนี้ เมื่อเวลาล่วงเลยมานานถึง 5 ปีแล้ว กรณีของโจทก์จึงไม่ต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสองจึงชอบที่ศาลชั้นต้นจะสั่งยกคำร้องของโจทก์เสีย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7275/2539 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเวนคืนที่ดิน: สิทธิค่าทดแทน, การกำหนดราคา, และดอกเบี้ยตามกฎหมาย
การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องเพราะโจทก์ไม่พอใจจำนวนเงินค่าทดแทนที่คณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่กำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนด โดยโจทก์อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแล้ว แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์และโจทก์นำคดีมาฟ้องต่อศาลภายใน 1 ปี นับแต่วันที่พ้นกำหนด 60 วัน นับแต่วันที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้รับคำอุทธรณ์ ทั้งคดีไม่ปรากฏว่าโจทก์ทราบว่ามีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขจำนวนเงินค่าทดแทน ดังนี้โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยโดยไม่จำต้องอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอีกครั้งหนึ่งก่อน
สัญญาซื้อขายที่ดิน 1 งาน 50 ตารางวา และสัญญาซื้อขายที่ดิน 12 ตารางวา โจทก์และจำเลยทำต่างวันกันและเป็นคนละฉบับต่างกันอีกทั้งคำอุทธรณ์ของโจทก์ฉบับลงวันที่ 21 พฤษภาคม 2534 อุทธรณ์ขอให้เพิ่มค่าทดแทนที่ดิน 1 งาน 50 ตารางวา ส่วนคำอุทธรณ์ของโจทก์ฉบับลงวันที่ 19กันยายน 2534 ก็อุทธรณ์ขอให้เพิ่มค่าทดแทนเฉพาะที่ดิน 12 ตารางวา เป็นอีกฉบับหนึ่งต่างหากและเป็นคำอุทธรณ์ที่พ้นระยะเวลา 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากเจ้าหน้าที่ให้มารับเงินค่าทดแทนที่ดิน 1 งาน 50 ตารางวา ดังนี้จึงถือไม่ได้ว่า คำอุทธรณ์ค่าทดแทนที่ดินจำนวน 12 ตารางวา เป็นส่วนหนึ่งของคำอุทธรณ์ค่าทดแทนที่ดินจำนวน 1 งาน 50 ตารางวา เมื่อโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ภายในกำหนด โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องต่อศาลขอให้จำเลยชำระเงินค่าทดแทนในส่วนนี้เพิ่มขึ้น
เมื่อปรากฏว่ามีการกำหนดค่าทดแทนไว้เป็นพิเศษใน พ.ร.บ.เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฉบับใดโดยเฉพาะ ดังนี้ การกำหนดเงินค่าทดแทนที่จะให้แก่โจทก์จึงต้องบังคับตามมาตรา 21 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 ซึ่งตามมาตรา 21 (1) ให้กำหนดเงินค่าทดแทนโดยคำนึงถึงราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับ พ.ร.ฎ.ออกตามมาตรา 6 ประกอบด้วยประการหนึ่ง แต่ทั้งโจทก์และจำเลยนำสืบฟังไม่ได้ว่าราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของที่ดินของโจทก์ที่จะต้องถูกเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับ พ.ร.ฎ.คือวันที่ 1 มกราคม 2531เป็นราคาเท่าไร ส่วนที่โจทก์นำสืบราคาซื้อขายที่ดินรวม 68 โฉนด ก็ปรากฏว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินแปลงใหญ่อยู่ติดถนน 3 ด้าน คือถนนเจริญกรุง ถนนสีลม และถนนศรีเวียง แต่ที่ดินของโจทก์ติดซอยธนวัฒน์ มิได้ติดถนนใหญ่ ทั้งระยะเวลาที่ซื้อขายก็เป็นเวลาภายหลังและห่างจากวันใช้บังคับ พ.ร.ฎ.ถึง 2 ปี ราคาประเมินก็เพียงตารางวาละ 70,000 บาท จึงไม่น่าเชื่อว่าราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของที่ดินโจทก์ในวันที่ 1 มกราคม 2531 จะเป็นตารางวาละ 252,800 บาทที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยให้โจทก์ได้รับค่าทดแทนที่ดินเพิ่มเป็นตารางวาละ 150,000 บาทนั้น จึงเป็นการกำหนดเงินค่าทดแทนโดยได้คำนึงถึงหลักเกณฑ์ตามมาตรา 21 (1)ถึง (5) เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่โจทก์ผู้ถูกเวนคืนและสังคมแล้ว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โจทก์และจำเลยมิได้อุทธรณ์ในประเด็นนี้ ทั้งศาลอุทธรณ์ก็มิได้วินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยและศาลอุทธรณ์พิพากษาในตอนท้ายว่า นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แสดงว่าศาลอุทธรณ์ยังคงให้จำเลยชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นอยู่ แต่อย่างไรก็ตามที่ศาลล่างทั้งสองให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีคงที่นั้น ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหา-ริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 26 วรรคสาม ซึ่งบัญญัติให้โจทก์มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากเงินค่าทดแทนที่เพิ่มขึ้นในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน ส่วนจะได้รับอัตราเท่าใดต้องเป็นไปตามประกาศของธนาคารออมสินที่ประกาศอัตราดอกเบี้ยขึ้นลง แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีเนื่องจากโจทก์มิได้อุทธรณ์ฎีกาให้กำหนดอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นจากที่ศาลล่างทั้งสองกำหนด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 297/2537

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเวนคืนที่ดิน: การกำหนดค่าทดแทนที่ดินต้องเป็นราคาตลาดในวันที่พระราชกฤษฎีกามีผลใช้บังคับ
คำฟ้องของโจทก์ทั้งสองกล่าวอ้างแต่เพียงว่า ที่ดินของโจทก์ทั้งสองบางส่วนอยู่ในเขตทางหลวงเทศบาลที่จะต้องถูกเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษกตอนแขวงวัดท่าพระ-แขวงสามเสนนอก พ.ศ. 2524เท่านั้น ไม่ได้กล่าวอ้างว่าที่ดินของโจทก์ทั้งสองถูกเวนคืนตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์หรืออาศัยพระราชบัญญัติดังกล่าวและเมื่อกรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว มอบอำนาจให้ผู้ว่าการทางพิเศษแห่งประเทศไทยเป็นผู้มีอำนาจเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างและขยายทางหลวงตลอดจนดำเนินการเจรจาทำความตกลงเรื่องเงินค่าทดแทนแล้ว หากโจทก์เห็นว่าจำนวนเงินค่าทดแทนที่โจทก์ทั้งสองได้รับมีจำนวนน้อยไม่เหมาะสมและไม่เป็นธรรม โจทก์ทั้งสองย่อมมีอำนาจฟ้องเรียกค่าทดแทนเพิ่มจากจำเลยที่ 1 ได้ พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษกตอนแขวงวัดท่าพระ-แขวงสามเสนนอก พ.ศ. 2524 ออกมาบังคับใช้แทนประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 23 เนื่องจากประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 23 จะหมดอายุใช้บังคับ การกำหนดค่าทดแทนจึงต้องกำหนดเท่ากับราคาขายที่ดินตามราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดในวันที่พระราชกฤษฎีกาข้างต้นใช้บังคับ โดยเป็นไปตามความในข้อ 76 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น การที่จำเลยที่ 1 กำหนดค่าทดแทนให้โจทก์ทั้งสองโดยถือตามบัญชีกำหนดจำนวนราคาที่ดินตามราคาตลาดเพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมพ.ศ. 2524 ซึ่งเป็นราคาคงที่อยู่ตลอดเวลาที่ยังคงใช้บัญชีดังกล่าวจึงมิใช่ราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาด ที่ดินของโจทก์ที่ 1อีกสองแปลงซึ่งติดอยู่กับที่ดินพิพาทซึ่งก็ถูกกำหนดให้อยู่ในเขตทางหลวง โดยสองแปลงหลังนี้ได้รับค่าทดแทนเป็นเงินตารางวาละ6,000 บาท โจทก์ทั้งสองจึงควรได้รับค่าทดแทนที่ดินพิพาทในอัตราเท่ากันจึงจะเป็นค่าทดแทนที่สมควร