คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
การดำเนินคดี

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 87 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 131/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การงดสืบพยานโจทก์เนื่องจากไม่นำพยานมาศาลตามนัด และประเด็นค่าส่งประเด็นที่ไม่ชำระ
หมายนัดมีข้อความว่า "นัดฟังประเด็นกลับและสืบพยาน" แม้มีการพิมพ์เพิ่มเติมคำว่า "และสืบพยาน" และไม่มีการลงลายมือชื่อกำกับไว้ แต่ข้อความในหมายนัดดังกล่าวมีข้อความถูกต้องตามที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไว้ในหนังสือส่งประเด็นคืนของศาลจังหวัดปทุมธานี ทั้งผู้พิพากษาศาลชั้นต้นได้ลงลายมือชื่อไว้ในหมายนัดตามระเบียบ การออกหมายนัดดังกล่าวจึงชอบแล้ว
แม้หมายนัดจะมีข้อความว่านัดสืบพยานโดยมิได้ระบุให้ชัดเจนว่านัดสืบพยานโจทก์ แต่คดียังอยู่ในขั้นตอนการสืบพยานโจทก์ และโจทก์มีพยานบุคคลอีกหลายปากที่เป็นพยานนำ ซึ่งโจทก์จะต้องนำมาสืบต่อศาลชั้นต้น ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นนัดสืบพยานไว้จึงหมายถึงนัดสืบพยานโจทก์ โจทก์จะต้องนำพยานมาสืบตามนัด หากมีเหตุขัดข้องไม่อาจนำพยานมาสืบได้ โจทก์ก็ควรยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี แต่ทนายโจทก์เพียงแต่มอบฉันทะให้เสมียนทนายโจทก์มาฟังประเด็นกลับกำหนดวันนัดสืบพยาน และรับทราบคำสั่งศาลเท่านั้น โดยมิได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีด้วย แสดงว่าโจทก์มิได้เอาใจใส่คดีของตนว่าศาลชั้นต้นนัดมาเพื่อพิจารณาในเรื่องใดไม่นำพยานมาสืบตามหน้าที่นำสืบและตามที่ศาลชั้นต้นนัด ที่ศาลชั้นต้นงดสืบพยานโจทก์ชอบแล้ว
เจ้าพนักงานศาลจัดส่งประเด็นไปศาลอื่นตามคำสั่งของศาลชั้นต้น แม้โจทก์ซึ่งเป็นผู้ขอส่งประเด็นยังมิได้ชำระค่าส่งประเด็นก็ตาม การส่งประเด็นนั้นก็ชอบแล้ว เพราะศาลมีอำนาจเรียกให้โจทก์ชำระค่าส่งประเด็นในภายหลังได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5448/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การดำเนินการตามขอเป็นคนอนาถา: การงดสืบพยานและผลกระทบต่อการดำเนินคดี
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์และยื่นคำร้องขออุทธรณ์อย่างคนอนาถา ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนคำร้อง จำเลยทั้งสามทราบวันนัดไต่สวนคำร้องโดยชอบแล้วไม่มาศาล และไม่ขอเลื่อนคดี ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ให้งดสืบพยานจำเลย เมื่อจำเลยไม่นำพยานมาสืบจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยเป็นคนอนาถา ให้จำเลยทั้งสามนำค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์มาวางศาลภายใน 15 วันนั้น เท่ากับศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยในเนื้อหาแห่งคำร้องของจำเลยทั้งสามแล้วว่า จำเลยทั้งสามไม่ใช่คนอนาถา จะใช้สิทธิดำเนินคดีอย่างคนอนาถาไม่ได้ เมื่อจำเลยทั้งสามอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยทั้งสาม คำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ย่อมเป็นที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 156 วรรคท้าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7117/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจำหน่ายคดีเนื่องจากคู่ความถึงแก่กรรมและไม่มีผู้ขอเข้าเป็นคู่ความแทนภายในกำหนด
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ โจทก์ถึงแก่กรรม ป. ได้รับอนุญาตให้เข้าเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ ต่อมาระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ป. ถึงแก่กรรม ศาลชั้นต้นแจ้งให้หมายโจทก์ทราบเพื่อหาบุคคลเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่ผู้มรณะแล้ว ไม่ปรากฏว่าทายาทหรือผู้จัดการมรดกหรือบุคคลอื่นใดที่ปกครองทรัพย์มรดกของโจทก์ยื่นคำขอเข้ามาเป็นคู่ความแทน และจำเลยก็มิได้มีคำขอให้ศาลมีหมายเรียกบุคคลดังกล่าวเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ภายในเวลา 1 ปี นับแต่วันที่ ป. ถึงแก่กรรม กรณีจำต้องจำหน่ายคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4835/2545 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขคำฟ้อง, การรับคำฟ้องใหม่, และผลกระทบต่อการดำเนินคดี: กรณีทนายความไม่มีใบอนุญาต
แม้ ป. จะเรียงคำฟ้องและลงลายมือชื่อเป็นโจทก์ในคำฟ้องในขณะที่ขาดจากการเป็นทนายความตาม พ.ร.บ.ทนายความ พ.ศ. 2528 แล้วก็ตาม แต่โจทก์ทั้งสองก็แต่ง ว. เป็นทนายความคนใหม่เข้ามาดำเนินคดีแทนโจทก์ทั้งสองหลังจากฟ้องเพียง 1 เดือนเศษ และ ว. ได้ดำเนินคดีแทนโจทก์ตลอดมาโดยที่ ป. ไม่ได้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับคดีโจทก์ทั้งสิ้น ป. จึงทำหน้าที่เป็นทนายความให้โจทก์ทั้งสองเพียงร่างคำฟ้องและลงชื่อในคำฟ้องเท่านั้น จำเลยทั้งเก้าก็มีโอกาสต่อสู้คดีตามคำฟ้องได้เต็มที่ เมื่อศาลชั้นต้นสั่งให้แก้ไขคำฟ้องโดยให้โจทก์ทั้งสองทำคำฟ้องขึ้นใหม่และให้โจทก์ทั้งสองลงชื่อในคำฟ้องโดยมีเงื่อนไขให้คำฟ้องใหม่มีข้อความเช่นเดียวกับคำฟ้องเดิม โจทก์ทั้งสองก็ไม่ได้โต้แย้งว่าข้อความในคำฟ้องเดิมไม่ถูกต้องหรือไม่ตรงตามความประสงค์ของโจทก์ทั้งสอง ซึ่ง พ.ร.บ. ทนายความ พ.ศ. 2528 มุ่งให้ความ คุ้มครอง คำสั่งของศาลชั้นต้นจึงไม่ก่อให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้เปรียบหรือเสียเปรียบทางเชิงคดีอันจะทำให้ความยุติธรรมเสื่อมเสียไป เนื่องจากจำเลยทั้งเก้าซึ่งมีหน้าที่นำสืบก่อนได้สืบพยานเสร็จสิ้นแล้ว ส่วนโจทก์ทั้งสองก็สืบพยานจนเหลือพยานอีกเพียง 2 ปากเท่านั้น คดีก็จะเสร็จสิ้นการพิจารณา ตรงกันข้ามหากศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาของโจทก์ตั้งแต่ยื่นคำฟ้องอันจะส่งผลให้โจทก์ต้องทำคำฟ้องใหม่ จำเลยทั้งเก้าทำคำให้การใหม่ และสืบพยานกันใหม่ซึ่งไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดที่บังคับให้จำเลยทั้งเก้าต้องทำคำให้การและสืบพยานเหมือนเดิม จำเลยทั้งเก้าย่อมมีโอกาสแก้ไขปรับปรุงรูปคดีที่อาจเสียเปรียบให้กลับได้เปรียบได้ อันทำให้จำเลยทั้งเก้าได้เปรียบทางเชิงคดีซึ่งหาชอบด้วยความยุติธรรมไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 เห็นชอบด้วยคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่สั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาตามคำร้องของจำเลยที่ 7 และที่ 8 และให้แก้ไขคำฟ้องใหม่ จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยความยุติธรรมตามเจตนารมณ์ของ ป.วิ.พ. มาตรา 27 แล้ว
คำสั่งรับคำฟ้องใหม่ของศาลชั้นต้นเป็นคำสั่งเกี่ยวกับคดีที่เสนอคำฟ้องนั้น และไม่ใช่คำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 227 และมาตรา 228 จึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา จำเลยทั้งเก้าไม่ได้โต้แย้งคัดค้านไว้ จำเลยทั้งเก้าจึงอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวไม่ได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 กรณีนี้จึงเท่ากับว่าฎีกาของจำเลยทั้งเก้าในข้อนี้เป็นข้อที่มิได้ ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 4 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3508/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับผิดในหนี้ของผู้อื่น: ทายาทที่เข้ามาดำเนินคดีแทนผู้ถึงแก่กรรม ไม่ผูกพันต้องรับผิดในหนี้เดิม
การที่โจทก์ไม่ได้ฟ้องนางสาว ร. ในฐานะทายาทของจำเลยที่ 2 นางสาว ร. เพียงแต่เข้ามาดำเนินกระบวนพิจารณาแทนจำเลยที่ 2 ซึ่งถึงแก่กรรมในระหว่างพิจารณาเท่านั้น ศาลจะพิพากษาให้นางสาว ร. ในฐานะทายาทของจำเลยที่ 2 ชำระหนี้เงินกู้ของจำเลยที่ 2 แทนจำเลยที่ 2 ไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7443/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยื่นคำให้การนอกสถานที่: เหตุสุดวิสัย-คำสั่งศาลที่ขัดแย้ง-ผลกระทบต่อการดำเนินคดี
โจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลภาษีอากรกลาง จำเลยจะต้องยื่นเอกสารและคำคู่ความต่าง ๆ โดยตรงต่อศาลภาษีอากรกลาง การที่จำเลยจะยื่นคำให้การต่อศาลจังหวัดนราธิวาสซึ่งตนมีภูมิลำเนาอยู่ จึงต้องเป็นกรณีมีเหตุสุดวิสัยตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรฯมาตรา 17 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 10 การที่จำเลยยื่นคำให้การภายในกำหนดพร้อมคำแถลงโดยมิได้ทำเป็นคำร้องต่อศาลจังหวัดนราธิวาสโดยอ้างเพียงว่าจะครบกำหนดยื่นคำให้การ ไม่สามารถยื่นคำให้การได้ทันที่ศาลภาษีอากรกลาง ขอให้ศาลจังหวัดนราธิวาสรับคำให้การและเอกสารที่เกี่ยวข้องเพื่อนำส่งโดยทางโทรสารให้ด้วย และไม่ได้ระบุว่ากรณีมีเหตุสุดวิสัยอย่างใดจึงเดินทางไปยื่นคำให้การเองไม่ได้ กรณีไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 10 จำเลยจึงไม่อาจยื่นคำให้การที่ศาลจังหวัดนราธิวาสได้
แต่การที่จำเลยได้เคยขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การผ่านศาลจังหวัดนราธิวาสมาก่อนแล้วครั้งหนึ่งและศาลภาษีอากรกลางได้พิจารณาสั่งคำแถลงดังกล่าวให้ทั้งที่กรณีไม่ปรากฏว่ามีเหตุสุดวิสัยอย่างใดนั้นจึงไม่ชอบ การที่ศาลภาษีอากรกลางยอมรับและมีคำสั่งให้ดังกล่าวจึงเป็นเหตุให้จำเลยเข้าใจว่าสามารถยื่นคำให้การต่อศาลจังหวัดนราธิวาสได้เช่นกัน การที่จำเลยยื่นคำให้การโดยมิชอบจึงสืบเนื่องมาจากการที่ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรม แต่เนื่องจากได้ล่วงเลยระยะเวลายื่นคำให้การของจำเลยแล้ว กรณีเป็นเหตุสุดวิสัยที่สมควรขยายระยะเวลาให้จำเลยดำเนินการยื่นคำให้การต่อศาลภาษีอากรกลางต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3304/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การดำเนินคดีภาษีอากร การกำหนดประเด็นข้อพิพาท การนำสืบพยาน และค่าขึ้นศาล
อ. ได้ยื่นคำขอถอนตัวเองออกจากการเป็นทนายโจทก์โดยอ้างว่าโจทก์จะแต่งตั้งทนายความใหม่และได้แจ้งให้โจทก์ทราบแล้วเท่านั้นเมื่อไม่ปรากฏว่าตัวโจทก์ได้ลงลายมือชื่อรับทราบการถอนตัวออกจากการเป็นทนายความของ อ. จึงต้องถือว่า อ. ยังมิได้แสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลว่าทนายผู้มาถอนตัวได้แจ้งให้ตัวความทราบแล้ว ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรพ.ศ. 2528 มาตรา 17 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 65 วรรคหนึ่ง การที่ศาลภาษีอากรยังไม่มีคำสั่งอนุญาตให้ อ. ถอนตัวออกจากการเป็นทนายโจทก์แต่รอไว้สั่งในวันนัดชี้สถานจึงชอบแล้ว
ข้อกำหนดคดีภาษีอากร พ.ศ. 2539 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความใน มาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรพ.ศ. 2528 หมวด 3 ได้บัญญัติกระบวนพิจารณาในชั้นชี้สองสถานไว้โดยชัดเจนในข้อ 16 ซึ่งเป็นบทบัญญัติในกรณีที่คู่ความมาศาล เพื่อศาลจะได้สอบถาม ให้ได้ความชัดเจนในประเด็นข้อพิพาทและข้อเท็จจริงบางอย่างที่คู่ความ อาจแถลงร่วมกันได้อย่างไรก็ดี ถ้าในวันนัดชี้สองสถานคู่ความไม่มาศาล ก็ให้ศาลทำการชี้สองสถานไปได้ตามข้อกำหนดคดีภาษีอากร ข้อ 17 และถือว่าคู่ความผู้ไม่มาศาลได้ทราบกระบวนพิจารณาในวันนั้นแล้ว การที่คู่ความไม่มาศาลในวันนัดชี้สองสถาน จึงไม่เป็นเหตุขัดข้องแก่การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาล ศาลย่อมทำการชี้สองสถานไปได้ตาม ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเท่าที่ปรากฏอยู่แล้วในสำนวนความ การที่ ก. ทนายโจทก์ยื่นคำร้องขอเลื่อนวันนัดชี้สองสถานโดยอ้างว่าป่วย แม้จะได้ความ ว่า ก ป่วยจริงจนไม่อาจมาศาลได้ก็ตาม ก็ไม่เป็นเหตุขัดข้องที่ศาล จะต้องเลื่อนการดำเนินกระบวนพิจารณาในชั้นชี้สองสถานออกไป
ศาลภาษีอากรนัดชี้สองสถานในวันที่ 19 มกราคม 2542 โจทก์ยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นบัญชีระบุพยานวันที่ 11 มกราคม 2542 เป็นการยื่นเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาตามข้อกำหนดคดีภาษีอากร พ.ศ. 2539ข้อ 10 วรรคหนึ่ง ซึ่งกำหนดให้ยื่นบัญชีระบุพยานก่อนวันชี้สองสถานไม่น้อยกว่า 30 วัน ศาลภาษีอากรไม่อนุญาตให้โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานจึงชอบแล้ว
ศาลภาษีอากรกำหนดประเด็นข้อพิพาทโดยมีคำสั่งให้โจทก์นำสืบก่อนทุกประเด็น เมื่อโจทก์มิได้ยื่นบัญชีระบุพยานต่อศาล โจทก์จึงไม่อาจนำพยานเข้านำสืบได้ เพราะเป็นการนำสืบพยานที่ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528มาตรา 17 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับปีภาษี 2529 กับปีภาษี 2530 โดยเจ้าพนักงานประเมินได้ทำการประเมินภาษีโจทก์ 4 ครั้ง เป็นการประเมินสำหรับปีภาษี 2529(ครึ่งปี)1 ครั้ง ประเมินสำหรับปีภาษี 2529 อีก 1 ครั้ง ประเมินสำหรับปีภาษี 2530(ครึ่งปี)1 ครั้ง และประเมินสำหรับปีภาษี 2530 อีก 1 ครั้งตามคำฟ้องจึงเป็นกรณีที่โจทก์รายเดียวถูกประเมินภาษีหลายคราวแล้ว โจทก์รวมฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินมาเป็นคดีเดียว แต่การประเมินสำหรับปีภาษี 2529 กับปีภาษี 2530 ซึ่งมีทั้งการประเมินครึ่งปีกับเต็มปีถือได้ว่าเป็นการประเมินภาษีในปีภาษีเดียวกันจึงเป็นข้อหาเดียวเกี่ยวข้องกันแม้จะได้ความว่าเจ้าพนักงานของจำเลยจะทำการประเมินภาษีโจทก์รวม4 ใบประเมิน แต่ก็เป็นการประเมินเพื่อเรียกเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปีภาษี 2529 และปีภาษี 2530 เท่านั้น จึงเป็นคดีที่มีข้อหาในการคำนวณทุนทรัพย์เพียง 2 ข้อหา คือ ทุนทรัพย์ของการประเมินสำหรับปีภาษี 2529ข้อหาหนึ่ง กับทุนทรัพย์ของการประเมินสำหรับปีภาษี 2530 อีกข้อหาหนึ่งโจทก์จะต้องเสียค่าขึ้นศาลใน 2 ทุนทรัพย์ ดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1187/2543 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการดำเนินคดีของทายาทหลังโจทก์ร่วมถึงแก่ความตาย และการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 โจทก์ร่วม ซึ่งเป็นบิดาของผู้ตาย จึงเข้าจัดการแทนผู้ตายได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5(2) แต่เมื่อโจทก์ร่วมถึงแก่ความตายในระหว่างพิจารณา ทายาทของโจทก์ร่วมย่อมไม่มีสิทธิที่จะดำเนินคดีต่างโจทก์ร่วมผู้ถึงแก่ความตายต่อไปตามความหมายของบทบัญญัติมาตรา 29 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ ส. ทายาทของโจทก์ร่วมเข้าดำเนินคดีต่างโจทก์ร่วม อันเป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 29 การที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของ ส. ที่อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยให้หนักขึ้น แม้ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยว่าอุทธรณ์ดังกล่าวฟังไม่ขึ้น ก็เป็นการไม่ชอบเช่นเดียวกัน ปัญหาข้อนี้แม้คู่ความมิได้ฎีกาขึ้นมา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขให้ถูกต้องโดยมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งของศาลชั้นต้นและคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ได้ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสองประกอบมาตรา 225
จำเลยใช้อาวุธปืนของกลางยิงผู้ตาย ขณะผู้ตายวิ่งหนี การกระทำของจำเลยไม่เป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8023-8032/2542 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิโจทก์ร่วมและผลของการบอกเลิกสัญญาต่อคดีเช็ค: การพิจารณาคุณสมบัติโจทก์และผลกระทบต่อการดำเนินคดี
สำนวนคดีที่ห้าถึงที่สิบ โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการโจทก์ที่ 1 ด้วย โจทก์ที่ 2 และที่ 3 จึงมิใช่คู่ความในคดี ไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าว ส่วนสำนวนคดีที่สามและที่สี่ แม้โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ได้ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการโจทก์ที่ 1 ด้วยก็ตาม แต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้โจทก์ที่ 3 เข้าร่วมเป็นโจทก์เนื่องจากคำฟ้องทั้งสองสำนวนดังกล่าวโจทก์ที่ 3 ไม่ใช่ผู้เสียหายด้วย โจทก์ที่ 3 จึงมิใช่คู่ความในคดี ไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าวเช่นกันการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รวมพิจารณาคดีเข้าด้วยกัน หามีผลให้โจทก์ที่ 2 และที่ 3 เป็นโจทก์ร่วมกับโจทก์ที่ 1 ทุกสำนวนที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รวมพิจารณาคดีเข้าด้วยกันไม่
การที่โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาและยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีแพ่งด้วยเรื่องผิดสัญญาซื้อขายที่ดินรวมใบอนุญาตและเครื่องจักรโรงงานอุตสาหกรรมนั้น เป็นการใช้สิทธิเรียกร้องในทางแพ่ง ซึ่งจำเลยทั้งสองยังมีข้อต่อสู้อยู่ ไม่แน่นอนว่าศาลจะพิพากษาคดีเป็นประการใด การบอกเลิกสัญญาชอบหรือไม่ และคดียังไม่ถึงที่สุด ถือไม่ได้ว่ามูลหนี้ตามที่จำเลยที่ 1 ออกเช็คเพื่อให้ใช้เงินสิ้นผลผูกพันไปก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด แตกต่างจากกรณีที่คู่ความทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลพิพากษาตามยอม คดีถึงที่สุดแล้ว คดีจึงยังไม่เลิกกันตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 7

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6630/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจผู้รับมอบอำนาจดำเนินคดีแรงงาน & การวินิจฉัยข้อเท็จจริงที่ไม่ชัดเจน
ใบมอบอำนาจที่จำเลยยื่นต่อศาลแรงงานได้ระบุไว้ชัดแจ้งว่า ป. ผู้มีอำนาจลงนามแทนจำเลยมอบอำนาจให้ ย. เป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยเกี่ยวกับการพิจารณาและการสืบพยานโจทก์ที่ศาลแรงงาน เมื่อคำให้การเป็นกระบวนพิจารณาอย่างหนึ่งและเป็นส่วนหนึ่งของการพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1(8) ย. จึงมีอำนาจให้การด้วยวาจาต่อศาลแรงงานได้
การห้ามมิให้ว่าความอย่างทนายความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 60 หมายถึงห้ามมิให้ผู้รับมอบอำนาจซักถามพยานในศาลอย่างทนายความเท่านั้น แต่มิได้ห้ามมิให้รับมอบอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างอื่นต่อศาล
การยื่นคำให้การหรือการให้การด้วยวาจาต่อศาลแรงงาน เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างหนึ่งที่มิใช่เป็นการว่าความอย่างทนายความ ย. ผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยจึงมีอำนาจให้การด้วยวาจาต่อศาลแทนจำเลยได้ และเมื่อเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่อยู่ในขอบอำนาจที่ได้รับมอบอำนาจจากจำเลย ศาลแรงงานจึงรับคำให้การด้วยวาจาของ ย. ไว้พิจารณาได้
จำเลยให้การด้วยวาจา ศาลแรงงานได้บันทึกไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาว่า จำเลยได้ค้างจ่ายค่าจ้างโจทก์ และจำเลยได้เลิกจ้างโจทก์โดยยังไม่ได้จ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ตามที่โจทก์ฟ้องจริง แต่ตามคำให้การที่ศาลบันทึกไว้ดังกล่าว จำเลยมิได้ยอมรับว่าเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิด กรณีจะถือว่าจำเลยไม่ได้ให้การโดยแจ้งชัดว่าปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ที่ว่าโจทก์ไม่ได้กระทำความผิด และจะนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง มาใช้อย่างเคร่งครัดในกรณีเช่นนี้ไม่ได้ เพราะศาลแรงงานเป็นผู้บันทึกคำให้การจำเลยไว้เอง
เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติไม่ได้ว่า จำเลยยอมรับว่าเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดตามคำฟ้อง การที่ศาลแรงงานสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลยแล้ววินิจฉัยว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิด จึงเป็นการวินิจฉัยโดยไม่มีข้อเท็จจริงดังกล่าวในสำนวน เป็นการไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง
คดีแรงงานเป็นคดีมีลักษณะพิเศษอันควรระงับลงได้ด้วยความเข้าใจอันดีต่อกันดังที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 38 วรรคหนึ่ง เมื่อไม่ปรากฏว่าศาลแรงงานได้ไกล่เกลี่ยให้โจทก์จำเลยได้ตกลงกันหรือประนีประนอมยอมความกัน ศาลฎีกาจึงให้ศาลแรงงานดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ตั้งแต่การไกล่เกลี่ยโจทก์จำเลยตามมาตรา 38 เป็นต้นไป แล้วมีคำสั่งหรือคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
of 9