พบผลลัพธ์ทั้งหมด 4 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5545/2540
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความยินยอมในการปักเสาไฟฟ้าและการขอบเขตของการยินยอมที่ครอบคลุมการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการติดตั้ง
ความยินยอมของโจทก์ตามคำขอปักเสาพาดสายในที่ดินจัดสรรข้อ 9 วรรคแรก มีข้อความว่า ข้าพเจ้าขอสัญญาว่าจะปฏิบัติตามข้อบังคับการใช้ไฟฟ้าและบริการของการไฟฟ้านครหลวง(จำเลยที่ 1) รวมทั้งที่จะมีการแก้ไขเพิ่มเติมต่อไปทุกประการและข้าพเจ้าเข้าใจดีแล้วว่า เสาสายไฟฟ้าและอุปกรณ์ต่าง ๆภายนอกเครื่องวัดฯ เป็นสมบัติของการไฟฟ้านครหลวง และยินยอมให้การไฟฟ้านครหลวงเปลี่ยนแปลงต่อเติม เพื่อจ่ายไฟฟ้าให้เพียงพอกับผู้ใช้ภายในและภายนอกที่ดินจัดสรรด้วย คำว่า"เปลี่ยนแปลงต่อเติม" ในข้อความดังกล่าวหมายความว่าเปลี่ยนหรือเพิ่มเติมใหม่ หรือแปลงหรือต่อเติมจากของเดิมเพื่อให้สามารถจ่ายไฟฟ้าแก่ผู้ใช้ไม่ว่าในหรือนอกที่ดินจัดสรรของโจทก์ให้ได้เพียงพอตามที่จำเลยที่ 1 จะเห็นสมควรตามความจำเป็น หาได้หมายความว่าจะทำได้เฉพาะเสาและสายไฟฟ้าพร้อมอุปกรณ์ต่าง ๆ ภายนอกเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าที่มีอยู่เดิมให้มีขนาดที่จะจ่ายไฟฟ้าแก่ผู้ใช้ให้เพียงพอเท่านั้นไม่ส่วนข้อความในวรรคสองว่า นอกจากนี้หากมีการเปลี่ยนแปลงแบบหรือแผนผังการปักเสาพาดสายไปจากแบบแผนผังที่ข้าพเจ้ายื่นไว้ต่อการไฟฟ้านครหลวง ไม่ว่าจะเป็นด้วยกรณีใดก็ตามทำให้การไฟฟ้านครหลวงมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ข้าพเจ้า (โจทก์)ขอให้สัญญาว่าจะรับผิดชอบชำระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตลอดจนค่าเสียหายให้แก่การไฟฟ้านครหลวงโดยไม่มีข้อโต้แย้งแต่ประการใดนั้น เป็นเรื่องที่โจทก์ตกลงยอมรับผิดที่จะชำระค่าใช้จ่ายและค่าเสียหายให้แก่จำเลยที่ 1 หากแบบหรือแผนผังที่โจทก์ยื่นขอไว้ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมไม่ได้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงต่อเติมเพื่อจ่ายไฟฟ้าแก่ผู้ใช้ให้เพียงพอตามวรรคหนึ่งแต่อย่างใด ฉะนั้นแม้จำเลยที่ 1จะปักเสาพาดสายไฟฟ้าและติดตั้งเครื่องวัดกระแสไฟฟ้าผ่านที่ดินของโจทก์ก็ถือได้ว่าได้รับความยินยอมจากโจทก์แล้วดังนี้จำเลยที่ 1 จึงไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2ที่ขอให้จำเลยที่ 1 กระทำให้ เมื่อการกระทำของจำเลยที่ 1ไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์แล้ว การกระทำของจำเลยที่ 2ก็ย่อมไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์ด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3475/2537
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
หนังสือรับสภาพหนี้ต้องสอดคล้องกับมูลหนี้เดิม หากมูลหนี้เดิมเป็นประกันภัยการขนส่ง แต่รับสภาพหนี้ตามประกันภัยการติดตั้ง จำเลยไม่ต้องรับผิด
โจทก์เอาประกันภัยการขนส่งเครื่องปั๊มน้ำ และอุปกรณ์อื่น ๆ ของโจทก์ซึ่งบรรทุกมากับเรือเดินทะเล จากประเทศญี่ปุ่นเพื่อส่งให้แก่โจทก์ ไว้กับจำเลยซึ่งเป็นผู้รับประกันภัย และเอาประกันภัยการติดตั้งวัสดุและอุปกรณ์ ดังกล่าวไว้กับจำเลยด้วย ต่อมาปรากฏว่าส่วนประกอบของเครื่องปั๊มน้ำเสียหายหลายรายการโจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยการขนส่งทางทะเล เป็นเงิน 218,600.06 บาท จำเลยมีหนังสือตอบโจทก์ว่า สาเหตุของความเสียหายเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจรซึ่งไม่ได้รับความคุ้มครองภายใต้เงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยการขนส่งทางทะเลความเสียหายคงจะเกิดจากการติดตั้งและจำเลยเสนอที่จะชำระค่าสินไหมทดแทนจำนวน 147,375.06 บาท โจทก์มีหนังสือตอบจำเลยว่าได้ตรวจสอบความเสียหายอีกครั้งหนึ่งแล้ว ตกลงที่จะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนภายใต้เงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยการเสี่ยงภัยทุกชนิดในการติดตั้ง และขอคำนวณค่าเสียหายใหม่เป็นเงิน 174,203.40 บาท จำเลยมีหนังสือตอบโจทก์ยืนยันว่าจะชำระค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์เป็นเงิน 147,375.06 บาท ดังนี้หนังสือของจำเลยฉบับหลังกล่าวอ้างถึงหนังสือของจำเลยตามฉบับแรกซึ่งจำเลยเคยขอเสนอชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 147,375.06 บาทและจำเลยยืนยันในหนังสือฉบับหลังอีกครั้งว่าจะชำระค่าเสียหายดังกล่าวให้แก่โจทก์เป็นเงิน 147,375.06 บาท ภายในระยะเวลาที่สั้นที่สุดแม้จำนวนเงินที่จำเลยเสนอจะต่ำกว่าที่โจทก์เรียกร้อง แต่จำเลยก็ไม่ได้โต้แย้งค่าสินไหมทดแทนในจำนวนเงิน 147,375.06 บาทกลับยืนยันว่าจะใช้เงินจำนวนนี้ให้แก่โจทก์ หนังสือของจำเลยตามเอกสารดังกล่าว จึงเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ ตามความหมายในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172 เดิม ความเสียหายของเครื่องปั๊มน้ำเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร ซึ่งอยู่ภายใต้การคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยการเสี่ยงภัยทุกชนิดในการติดตั้ง ไม่ได้อยู่ภายใต้การคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยการขนส่งทางทะเล เมื่อโจทก์ฟ้องบังคับจำเลยให้รับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยการขนส่งทางทะเล แม้โจทก์จะฟ้องบังคับจำเลยตามหนังสือรับสภาพหนี้ด้วย แต่โจทก์ก็กล่าวอ้างว่าเป็นการรับสภาพหนี้ตามกรมธรรม์ประกันภัยการขนส่งทางทะเล เมื่อได้ความว่าจำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้ตามกรมธรรม์ประกันภัยการเสี่ยงภัยทุกชนิดในการติดตั้งมิได้รับสภาพหนี้ตามกรมธรรม์ประกันภัยการขนส่งทางทะเล เช่นนี้ จึงเป็นเรื่องนอกฟ้อง จำเลยไม่ต้องรับผิดตามฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3679/2532 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความประมาทเลินเล่อในการติดตั้งสายไฟฟ้าทำให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิต และสิทธิเรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะของบุตร
สายไฟฟ้าซึ่งเป็นสายดินจะต้องต่อลงดินทุกระยะ 200 เมตรและปลายสายจะต้องต่อลงดินด้วย เพื่อให้สายดินมีค่าเป็นศูนย์กระแสไฟฟ้าจะไหลผ่านเข้าไม่ได้ ขณะเกิดเหตุสายไฟฟ้าที่พาดเสาไฟฟ้าทั้ง 22 ต้น เป็นระยะทางถึง 840 เมตร มีสายดินต่อลงดินเพียงแห่งเดียวคือที่เสาไฟฟ้าต้นที่ 22 จึงไม่ทำให้สายดินมีค่าเป็นศูนย์ กระแสไฟฟ้าย่อมไหลผ่านเข้าไปได้ การที่สายไฟฟ้าซึ่งเป็นสายดินพาดระหว่างเสาไฟฟ้าต้นที่ 17 กับต้นที่ 18 ที่ปักอยู่ในสวนของผู้ตายได้ขาดตกลงมาในท้องร่องซึ่งมีน้ำขัง ผู้ตายไปเปิดน้ำเข้าสวนถูกกระแสไฟฟ้าดูดถึงแก่ความตายจึงเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ทำการพาดสายไฟฟ้าไม่ได้มาตรฐาน โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายมีบุตรด้วยกัน 3 คน ขณะผู้ตายยังมีชีวิตอยู่เป็นผู้อุปการะโจทก์และบุตรการที่จำเลยทำละเมิดเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายทำให้บุตรโจทก์ขาดไร้อุปการะ จึงขอเรียกค่าขาดไร้อุปการะของบุตรโจทก์ เช่นนี้ มีความหมายพอเป็นที่เข้าใจได้ว่าบุตรโจทก์ขอเรียกค่าสินไหมทดแทนตามสิทธิของตนแต่บุตรโจทก์ทั้งสามเป็นผู้เยาว์ยังฟ้องคดีเองไม่ได้ โจทก์ซึ่งเป็นมารดาและผู้แทนโดยชอบธรรมจึงฟ้องแทน ถือได้ว่าโจทก์ฟ้องทั้งในนามตนเองและในนามบุตรทั้งสามโดยปริยาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4595/2551
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การติดตั้งเสาไฟฟ้าบนที่ดินภาระจำยอมไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงภารยทรัพย์ หากไม่กีดขวางทางเข้าออก
บันทึกข้อตกลงทางภาระจำยอมเรื่องทางเดินและทางรถยนต์ระหว่างโจทก์กับจำเลยไม่มีข้อตกลงให้ปักเสาไฟฟ้าลงบนที่ดินที่เป็นทางภาระจำยอม แต่ปัจจุบันบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงและเจริญมากขึ้น การใช้ไฟฟ้าตามสถานที่ต่าง ๆ ที่เป็นที่อาศัยหรือใช้ประกอบกิจการย่อมเป็นสิ่งจำเป็นต่อประชาชนทั่วไป การที่จำเลยให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคติดตั้งเสาไฟฟ้าและพาดสายไฟฟ้าบนที่ดินภาระจำยอมเพื่อนำไปใช้ในที่ดินของจำเลยโดยปักเสาไฟฟ้าอยู่ตามแนวยาวของทางภาระจำยอมด้านข้างไม่เป็นการกีดขวางทางเข้าออกจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยเจ้าของสามยทรัพย์ทำการเปลี่ยนแปลงในภารยทรัพย์ซึ่งทำให้เกิดภาระเพิ่มขึ้นแก่ภารยทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1388 จำเลยย่อมมีสิทธิกระทำได้