คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
การถอน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 5 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5967/2540

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การถอน/แต่งตั้งผู้จัดการมรดก: เหตุผลที่ศาลอาจไม่ถอนผู้จัดการมรดก แม้จะล่าช้าในการทำบัญชีทรัพย์สิน
แม้ทรัพย์มรดกบางอย่าง เช่น ที่ดินจะมีการเปลี่ยนชื่อจากชื่อของเจ้ามรดกที่มีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์หรือถือกรรมสิทธิ์ร่วมอยู่มาเป็นชื่อผู้ร้องก็เป็นการถือกรรมสิทธิ์แทนเจ้ามรดกในฐานะที่ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกไม่ได้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในฐานะเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของผู้ร้องแต่อย่างใด การมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในฐานะผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกก็เท่ากับมีชื่อถือกรรมสิทธิ์แทนทายาททุกคนของเจ้ามรดก พฤติการณ์ดังกล่าวถือไม่ได้ว่าผู้ร้องปกปิดหรือเบียดบังทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกส่วนทรัพย์สินอื่นที่ผู้ร้องไม่ได้ระบุไว้ในบัญชีทรัพย์มรดกผู้ร้องก็ได้ต่อสู้ว่าเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของผู้ร้องซึ่งผู้คัดค้านต้องไปว่ากล่าวกันในชั้นแบ่งปันมรดกผู้คัดค้านจะยกเอาเหตุดังกล่าวข้างต้นทั้งสองกรณีมาเป็นเหตุร้องขอให้ถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกไม่ได้ การที่ผู้ร้องมีเอกสารถึง ว. ให้จดทะเบียนโอนหุ้นของบริษัทที่เจ้ามรดกมีหุ้นอยู่ทั้งหมดและจัดการรวบรวมที่ดินที่มีชื่อของเจ้ามรดกเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์หรือถือกรรมสิทธิ์ร่วมมาเป็นชื่อของผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกการดำเนินการดังกล่าวถือว่าผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดก ของเจ้ามรดกได้ดำเนินการรวบรวมทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกเพื่อ แบ่งปันแก่ทายาทของเจ้ามรดกทุกคนภายในเวลาที่กฎหมาย กำหนดแล้วแม้จะยังรวบรวมไม่เสร็จก็ถือไม่ได้ว่าผู้ร้องละเลยไม่ยอมดำเนินการรวบรวมทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกมาแบ่งปันแก่ทายาท ผู้ร้องไม่ได้ทำบัญชีทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกภายในกำหนดเวลาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1728(2) และ 1729 วรรคหนึ่ง แต่ผู้ร้องก็นำสืบได้ถึงเหตุที่ไม่ได้ทำบัญชีทรัพย์มรดกนั้นว่าไม่ได้เกิดเพราะความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือการทุจริต หรือความไม่สามารถ อันเห็นประจักษ์ของผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1731 ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวก็ไม่ได้บังคับให้ต้องถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกหากแต่ให้อยู่ในดุลพินิจของศาลดังนั้น เพื่อประโยชน์แก่กองมรดกที่จะต้องมีผู้จัดการมรดกทำการรวบรวมทรัพย์มรดกต่อไปและผู้คัดค้านเป็นบุคคลผู้สูงอายุมากแล้ว จึงไม่ถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4496/2540 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสละมรดกและการถอนผู้จัดการมรดก: สิทธิของผู้สละมรดกและการพิจารณาความเหมาะสมของผู้จัดการมรดก
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งถอนผู้คัดค้านจากการเป็นผู้จัดการมรดก ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งถอนผู้คัดค้านจากการเป็นผู้จัดการมรดกและตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย แต่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องกับผู้คัดค้านได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีอื่นและศาลชั้นต้นได้พิพากษาตามยอมแล้ว โดยผู้ร้องในฐานะบุตรบุญธรรมขอสละมรดกของผู้ตายโดยสิ้นเชิงและไม่มีเงื่อนไขทั้งขอถอนตัวจากการเป็นผู้จัดการมรดกคดีนี้และไม่คัดค้านในการที่ผู้คัดค้านร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายอีกต่อไป ดังนี้ เมื่อผู้ร้องได้แสดงเจตนาชัดแจ้งขอสละมรดกของผู้ตายโดยทำเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ การสละมรดกของผู้ร้องย่อมมีผลใช้บังคับได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1612 และตามมาตรา 1615 กำหนดให้การสละมรดกนั้นมีผลย้อนหลังไปถึงเวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ดังนั้น ผู้ร้องย่อมไม่มีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตายในขณะที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ผู้ร้องจึงไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียที่จะขอถอดถอนผู้คัดค้านจากการเป็นผู้จัดการมรดกได้ ประกอบกับทายาทอื่นเห็นว่าผู้คัดค้านเหมาะสมที่จะเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายต่อไป กรณีจึงยังไม่มีเหตุสมควรที่จะถอนผู้คัดค้านจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4289/2534

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประนีประนอมยอมความต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ การถอนผู้จัดการมรดกและการตั้งผู้จัดการมรดกใหม่
สัญญาประนีประนอมยอมความจะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ จึงจะฟ้องร้องบังคับคดีได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 851ซึ่งรวมถึงการต่อสู้คดีด้วย เมื่อจำเลยสู้ว่ามีสัญญาประนีประนอมยอมความ แต่ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือจึงรับฟังไม่ได้ ไม่ว่าจะมีการปฏิบัติตามสัญญาแล้วหรือไม่ก็ตาม การที่จำเลยโอนทรัพย์มรดกเป็นของตน เป็นการละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ และมีพฤติการณ์แสดงว่าจะจัดการทรัพย์มรดกของผู้ตายไปในทางที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทายาทของผู้ตายเป็นเหตุสมควรจะถอนจำเลยออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1727 และเมื่อโจทก์เป็นบุคคลไม่ต้องห้ามเป็นผู้จัดการมรดกตามกฎหมาย ก็สมควรตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแทนจำเลย.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2621/2534

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การถอนและแต่งตั้งผู้จัดการมรดก, สิทธิหน้าที่ของผู้จัดการมรดก, และการส่งมอบเอกสารบัญชีทรัพย์มรดก
สิทธิในการดำเนินคดีทางศาลเป็นสิทธิโดยชอบของบุคคลตามกฎหมายในเมื่อสิทธิของตนถูกโต้แย้งหรือมีกรณีจะต้องใช้สิทธิทางศาลการที่พินัยกรรมมีข้อกำหนดห้ามทายาทผู้ได้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมฟ้องคดีต่อศาลเกี่ยวกับทรัพย์ตามพินัยกรรม มิฉะนั้นให้ถือว่าผู้นั้นถูกตัดออกจากกองทรัพย์สินนั้น เช่นนี้ ข้อกำหนดในพินัยกรรมดังกล่าวจึงไม่มีผลบังคับ การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องจึงไม่เป็นการกระทำที่ต้องถูกตัดมิให้รับมรดก การฟ้องขอถอนผู้จัดการมรดกและขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกใหม่นั้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1727 มิได้กำหนดไว้โดยเฉพาะว่าจะต้องร้องเข้ามาในคดีเดิม ดังนั้น โจทก์จึงอาจฟ้องเป็นคดีใหม่หรือร้องเข้ามาในคดีเดิมก็ได้ จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล จึงมีหน้าที่จะต้องดำเนินการแบ่งปันทรัพย์มรดกแก่ทายาท แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกมาเป็นเวลาเกือบ 3 ปี ยังไม่มีการแบ่งปันมรดกให้ทายาทเลย อีกทั้งยังได้จำหน่ายทรัพย์มรดกบางส่วนไปโดยมิได้ประชุมปรึกษาทายาท รวมทั้งไม่มีบัญชีแสดงให้ทายาททราบถึงการที่ได้จัดการไป และหลังจากที่ได้เป็นผู้จัดการมรดกแล้วถึง 4 ปีเศษจึงได้ยื่นบัญชีทรัพย์มรดก แสดงว่าจำเลยไม่นำพาต่อหน้าที่ของผู้จัดการมรดกตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1729 และ 1732 จึงมีเหตุสมควรที่จะเพิกถอนจำเลยจากการเป็นผู้จัดการมรดก จำเลยมิใช่ทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกตามพินัยกรรม จึงมิใช่ผู้มีส่วนได้เสียข้อคัดค้านของจำเลยที่จะไม่ให้ผู้ใดเป็นผู้จัดการมรดกจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง เจ้ามรดกทำพินัยกรรมระบุให้โจทก์ทั้งสองและผู้ร้องสอดทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกัน เมื่อโจทก์ที่ 1 ถอนฟ้อง ส่วนผู้ร้องสอดที่ 1 ถูกโต้แย้งว่า ได้นำทรัพย์มรดกส่วนหนึ่งไปจำหน่าย ถือได้ว่าผู้ร้องสอดที่ 1 มีข้อที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดก กรณีเห็นได้ว่าผู้ร้องสอดที่ 1 ไม่อาจเข้าร่วมจัดการเพื่อประโยชน์ของกองมรดกโดยไม่มีข้อขัดแย้งได้ ตามพฤติการณ์จึงไม่อาจตั้งผู้ร้องสอดที่ 1ร่วมเป็นผู้จัดการมรดกกับโจทก์ที่ 2 และผู้ร้องสอดที่ 2 ได้ จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล ต่อมาศาลมีคำสั่งถอนจำเลยออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกและตั้งโจทก์ที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกแทน ดังนี้ ศาลย่อมมีอำนาจบังคับให้จำเลยส่งมอบบัญชีทรัพย์มรดกที่จำเลยทำขึ้นในฐานะเป็นผู้จัดการมรดกให้ผู้จัดการมรดกคนใหม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2615/2533 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพาดหัวข่าวเท็จและการถอนใบอนุญาตสื่อ
การพาดหัวหนังสือพิมพ์ว่า "จับทูตซาอุ ฯ บงการฆ่า3 เพื่อนร่วมชาติ" ซึ่งเป็นเท็จนั้น เป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามข้อ 2(6) และข้อ 4 แห่งคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ 42 ผู้คัดค้านมีอำนาจที่จะดำเนินการแก่ผู้ร้องตามข้อ 7และปรากฏว่าหนังสือพิมพ์ของผู้ร้องได้เคยถูกเตือนมาแล้ว 2 ครั้งแต่ยังฝ่าฝืนข้อ 4 ซ้ำอีก ดังนั้น ที่ผู้คัดค้านใช้ดุลพินิจสั่งถอนใบอนุญาตบรรณาธิการและเจ้าของหนังสือพิมพ์ของผู้ร้องตามข้อ 7 วรรคสอง จึงชอบแล้ว.