คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
การบอกเลิกสัญญา

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 8 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 938/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบอกกล่าวบังคับจำนองโดยชอบตามสัญญา และการคิดดอกเบี้ยหลังบอกเลิกสัญญากู้
ตามสัญญาต่อท้ายหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันระบุว่าบรรดาหนังสือ จดหมาย คำบอกกล่าว และเอกสารใด ๆของผู้รับจำนอง หากได้ส่งไปยังสถานที่ที่ผู้จำนองระบุว่าเป็น ภูมิลำเนาของผู้จำนองตามสัญญาฉบับนี้ หรือสถานที่แห่งอื่นที่ผู้จำนองแจ้งการเปลี่ยนแปลงเป็นลายลักษณ์อักษร ไม่ว่าผู้รับจำนองจะได้นำส่งด้วยตนเองหรือทางไปรษณีย์ ไม่ว่าจะลงทะเบียนหรือไม่ และไม่ว่าจะมีผู้รับหรือไม่ก็ตามผู้จำนองยินยอมให้ถือว่า บรรดาหนังสือหรือเอกสารดังกล่าวได้จัดส่งให้แก่ผู้รับจำนองโดยชอบแล้ว ดังนั้น การที่โจทก์ส่งหนังสือบอกกล่าวไปให้จำเลยตามที่อยู่ซึ่งเป็นภูมิลำเนาที่จำเลยระบุไว้ในสัญญาจำนอง จึงเป็นการปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ตกลงกันไว้ นอกจากนี้โจทก์ยังได้ส่งหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองไปให้แก่จำเลยที่บ้านซึ่งเป็นภูมิลำเนาของจำเลยอีกด้วย การส่งหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองถึงจำเลย ทั้งสองแห่งดังกล่าว เป็นทางการโดยไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับและส่งถึงสถานที่อยู่ทั้งสองแห่งแล้วเช่นนี้ ย่อมถือ ได้ว่าจำเลยได้รับและทราบหนังสือที่โจทก์บอกกล่าวบังคับ จำนอง และการที่โจทก์ได้บอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้ภายใน กำหนดอันเป็นเวลาพอสมควรก่อนที่โจทก์จะฟ้องบังคับจำนองโดยชอบแล้ว โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องบังคับจำนองได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 728 เมื่อครบกำหนดที่จำเลยต้องชำระเงินให้แก่โจทก์ตาม สัญญากู้เงินฉบับพิพาทแล้ว จำเลยผิดนัด โจทก์จึงมีหนังสือทวงถาม ให้จำเลยชำระหนี้และบอกกล่าวบังคับจำนองภายใน วันที่กำหนด อันเป็นระยะเวลาอันสมควร แสดงว่าโจทก์บอกเลิกสัญญากู้เงินโดยเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้เงินและบอกกล่าวบังคับจำนองแล้ว ดังนั้นความผูกพันที่โจทก์มีสิทธิปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยให้เพิ่มสูงขึ้นตามข้อตกลงในสัญญาระหว่างโจทก์และจำเลยย่อมสิ้นสุดไปด้วยภายในวันที่กำหนดและปรากฏว่าในวันที่ดังกล่าวตามประกาศของโจทก์เรื่องอัตราดอกเบี้ยและส่วนลดเงินให้สินเชื่อที่โจทก์มีสิทธิเพิ่มอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้น ตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย โจทก์มีสิทธิเพิ่มอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นถึงร้อยละ 19 ต่อปี เท่านั้น ดังนี้โจทก์หาอาจจะอ้างประกาศของโจทก์เรื่องอัตราดอกเบี้ยและส่วนลดเงินให้ สินเชื่อในขณะฟ้องคดีที่ให้โจทก์ปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยเรียกร้องเอาจากจำเลยเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 25 ต่อปี ได้ไม่เพราะเงื่อนไขให้สิทธิแก่โจทก์เพิ่มอัตราดอกเบี้ยตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญากู้สิ้นผลไปก่อนแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7377/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาบัญชีเดินสะพัด: การสิ้นสุดสัญญา, อายุความ, และดอกเบี้ย
สัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์และจำเลย ไม่ได้ตกลงกันเกี่ยวกับหนี้เบิกเงินเกินบัญชีว่าจะชำระหนี้เสร็จสิ้นเมื่อใด สัญญาบัญชีเดินสะพัดดังกล่าวจะสิ้นสุดลงก็ต่อเมื่อคู่สัญญาตกลงเลิกสัญญาต่อกันหรือเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเรียกร้องให้หักทอนบัญชีและให้ชำระหนี้ต่อกันแล้ว
การที่จำเลยนำเงินเข้าหักทอนบัญชีครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 20มกราคม 2525 และหยุดเดินสะพัดบัญชีกับโจทก์ภายหลังจากวันที่ 16 เมษายน 2525โดยมิได้ขอปิดบัญชีต่อโจทก์ ไม่ถือว่าเป็นการแสดงเจตนาเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัดดังกล่าว ส่วนการที่โจทก์ปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คก็มิใช่เป็นการแสดงเจตนาเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัดกับจำเลยโดยปริยาย แม้เมื่อจำเลยหยุดเดินสะพัดทางบัญชีโดยไม่ติดต่อกับโจทก์และโจทก์เขียนข้อความในบัญชีเดินสะพัดว่า บัญชีเงินกู้เกินกำหนดชำระเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2527 ก็เป็นเรื่องที่โจทก์ทำขึ้นฝ่ายเดียว หาใช่การแสดงเจตนาหักทอนบัญชีและเรียกร้องให้ชำระเงินที่คงเหลือไม่ จึงไม่มีผลเป็นการบอกเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัดโดยปริยาย และภายหลังวันที่ 30 มีนาคม 2527สัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์และจำเลยก็ยังคงมีอยู่ตลอดไปหาได้ยกเลิกหรือสิ้นสุดลงไม่ แม้จำเลยจะมิได้นำเงินเข้าฝากหรือเบิกเงินจากโจทก์อีกโจทก์ก็มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้จนถึงวันที่มีการบอกเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัดหรือหักทอนบัญชีและมีการผิดนัดชำระแล้ว หลังจากนั้นโจทก์ก็ยังมีสิทธิคิดดอกเบี้ยโดยไม่ทบต้นได้อีก
ดังนั้นเมื่อโจทก์เพิ่งบอกเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัดส่งไปถึงจำเลยเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2537 และเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ที่ค้างชำระแก่โจทก์ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือทวงถามดังกล่าว จึงถือได้ว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์และจำเลยเลิกและหักทอนบัญชีกันเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม2537 แต่อายุความแห่งสิทธิเรียกร้องที่โจทก์มีต่อจำเลยจะเริ่มนับตั้งแต่วันที่พ้นกำหนดเวลาชำระหนี้ที่ระบุไว้ในหนังสือดังกล่าว คือเริ่มนับแต่วันที่ 15 กันยายน2537 เป็นต้นไป ซึ่งการฟ้องคดีเกี่ยวกับหนี้ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะเป็นอย่างอื่นจึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ.มาตรา193/30 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2537 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1000/2540

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้อง, สิทธิการเช่า, สัญญาเช่า, การบอกเลิกสัญญา, ค่าเสียหาย - ข้อพิพาทเรื่องการเช่าและการครอบครอง
ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า การเคหะแห่งชาติเคยมีหนังสือบอกเลิกการเช่าห้องพิพาทแก่จำเลยแล้ว จำเลยก็ยอมรับ แต่ปฏิเสธว่าหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าไม่มีผลบังคับ เพราะได้มีบัญชาของนายกรัฐมนตรีขณะนั้นให้ระงับโครงการรื้อถอนและให้ผู้เช่ารวมทั้งจำเลยเช่าอยู่ต่อไป แต่จำเลยไม่มีพยานมาสืบให้เห็นเป็นดังที่จำเลยอ้างเพียงกล่าวอ้างลอย ๆ ถือว่าการบอกเลิกการเช่ามีผลสมบูรณ์ จำเลยอยู่ในห้องพิพาทโดยละเมิดการที่จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์และโจทก์ร่วมไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยเนื่องจากการบอกเลิกการเช่าห้องพิพาทไม่มีผลตามกฎหมายนั้นเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงว่า หนังสือบอกเลิกสัญญาไม่มีผลบังคับเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยอุทธรณ์ว่าจำเลยมีสิทธิการเช่าในห้องพิพาทดีกว่าโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 543(3) อุทธรณ์ของจำเลยจึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ฎีกาของจำเลยในข้อที่ว่า โจทก์จะเรียกสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เข้ามาเป็นโจทก์ร่วม ไม่ต้องด้วยเหตุตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(3)(ก) เมื่อศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยว่า กรณีที่โจทก์เรียกสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เข้ามาเป็นโจทก์ร่วมต้องด้วยเหตุตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(3)(ข) แล้วดังนี้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยจึงไม่เป็นการโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ศาลฎีกาไม่วินิจฉัยให้ ตามสัญญาเช่าระบุว่า ผู้เช่าสัญญาจะเป็นผู้ดำเนินการให้ผู้ครอบครองผู้บุกรุก หรือบุคคลอื่นออกจากสถานที่เช่าและสิ่งปลูกสร้างในสถานที่เช่าจนสามารถครอบครองสถานที่เช่าได้ทั้งหมด โดยผู้ให้เช่าเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ตามที่ผู้เช่าจ่ายจริงภายในวงเงินไม่เกินสิบล้านบาทนั้น สัญญาได้ระบุไว้ชัดเจนว่าผู้เช่าคือโจทก์เป็นผู้ดำเนินการโดยผู้ให้เช่าคือโจทก์ร่วมเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายจึงเป็นเรื่องการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของโจทก์ มิใช่เป็นสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอกที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ร่วมด้วยนั้น เมื่อปรากฏตามคำร้องเข้าเป็นโจทก์ร่วมว่า โจทก์ร่วมเพียงแต่ขอให้บังคับจำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากห้องพิพาทและห้ามเข้าไปเกี่ยวข้องอีกเท่านั้นดังนั้น คำพิพากษาศาลล่างทั้งสองในส่วนนี้จึงเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าคำขอ อันเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 ศาลฎีกาสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้องเป็นจำเลยไม่ต้องใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ร่วม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2445/2537 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิครอบครองที่ดิน: การครอบครองแทน การบอกเลิกสัญญาเช่า และการได้มาซึ่งสิทธิครอบครอง
เดิมจำเลยทำสัญญาเช่าที่พิพาทมี ส.ค.1 จาก ล. ผู้มีสิทธิครอบครองครั้นสัญญาสิ้นสุด จำเลยได้ทำสัญญาเช่ากับส. ซึ่งเป็นบุตรของ ล. จำเลยจึงอยู่ในฐานะครอบครองแทนล. ต่อมา ล. บอกเลิกการเช่ากับจำเลยอ้างว่า ส. ให้เช่าโดยไม่ได้รับความยินยอม และจำเลยก็มิได้บอกกล่าว ล. ว่าไม่เจตนายึดถือที่พิพาทแทน ล. ต่อไป ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยเป็นผู้ครอบครองโดยสุจริตอาศัยอำนาจใหม่จากบุคคลภายนอกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1381 การครอบครอง ของจำเลยจึงหาได้เป็นการแย่งการครอบครองไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3360/2530 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การต่ออายุสัญญาเช่านาหลังพ.ร.บ.ควบคุมการเช่านาถูกยกเลิก โดยใช้มาตรา 66 แห่ง พ.ร.บ.การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
ผู้ร้องบอกเลิกการเช่านาพิพาทซึ่งผู้เช่าได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ.2517 แต่คณะกรรมการควบคุมการเช่านาได้มีมติยับยั้งการบอกเลิกการเช่ามีกำหนดสองปี มีผลให้ผู้เช่ามีสิทธิทำนาต่อไปถึงปี พ.ศ.2525 ระหว่างนั้นพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ.2517 ถูกยกเลิกโดยพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2524 ซึ่งใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2524 และ มาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติฉบับใหม่ให้ถือว่าการเช่านาที่อยู่ในบังคับแห่งพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ.2517 เป็นการเช่าที่อยู่ในบังคับแห่งพระราชบัญญัติฉบับใหม่ต่อไป ดังนั้นสิทธิการเช่านาพิพาทอันเกิดจากการใช้สิทธิยับยั้งการบอกเลิกการเช่าจึงยังไม่สิ้นสุดและอยู่ในบังคับแห่งพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2524 ด้วย คำวินิจฉัยของคณะกรรมการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำตำบลและประจำจังหวัดให้ยับยั้งการบอกเลิกการเช่านาพิพาทอีกเป็นครั้งที่สองตามพระราชบัญญัติฉบับใหม่ จึงชอบด้วยกฎหมาย.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1784/2492 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การต่อเติมที่เช่าโดยไม่ได้รับอนุญาต ไม่ถือเป็นการทำให้ทรัพย์เสื่อมเสียตาม พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่า
การบอกเลิกสัญญาเช่าตาม พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่าในภาวะคับขัน มาตรา 16 ข้อ 4 นั้น หมายถึง ในกรณีที่ผู้เช่าทำทรัพย์ที่เช่าให้เป็นไปในทางที่เสื่อมเสีย.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 53/2491

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเช่าเคหะและการคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่า การพิสูจน์ภาระหน้าที่ของผู้เช่าในการนำสืบ
โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากห้องเช่า มีอัตราค่าเช่าเดือนละ 60 บาทจำเลยให้การและแถลงรับในรายงานพิจารณาว่าเช่ากัน 60 บาทจริง แต่โจทก์เพิ่งมาขึ้นค่าเช่า เดิมเสียค่าเช่าเดือนละ 30 บาท ดังนี้ เมื่อจำเลยไม่นำสืบให้ได้ความว่าโจทก์ขึ้นค่าเช่าเมื่อใดแล้ว ก็ต้องฟังว่าคิดค่าเช่ากันเดือนละ 60 บาท มาตั้งแต่ก่อนวันที่ 8 ธันวาคม 2484 แล้ว จำเลยจึงไม่ได้รับความคุ้มครองตาม พระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่า ฯลฯ 2486
บอกเลิกการเช่าเคหะก่อนใช้ พระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่า ฯลฯ 2489แล้ว ผู้เช่าย่อมไม่ได้รับความคุ้มครองจาก พระราชบัญญัตินั้น ตามที่วินิจฉัยไว้ในฎีกาที่ 740/2490

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1238/2491 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับข้อเท็จจริงในสัญญาเช่าและการคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่า กรณีใช้เป็นสำนักงาน
ในคดีแพ่ง เมื่อจำเลยให้การรับตามฟ้องของโจทก์แล้วโจทก์ก็ไม่ต้องสืบพะยานในข้อที่จำเลยรับ.
สำนักงานพาณิชย์จังหวัดเป็นสถานที่ทำการ หาใช่เป็นเคหะไม่ เพราะมิใช่เป็นที่อยู่อาศัย จึงไม่ได้รับความคุ้มครองจาก พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่า.
(อ้างฎีกา ที่ 1099,1147/2491)