คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
การประเมินอากร

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1787/2532 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การตีความพิกัดอัตราศุลกากร: สินค้าเป็นชุดอุปกรณ์ครบชุดหรือไม่ และการประเมินอากรที่ถูกต้อง
สินค้าที่จำเลยนำเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องอุปกรณ์ควบคุมการจราจรด้วยไฟฟ้าสำหรับใช้กับรถไฟ จึงเป็นชุดของเครื่องอุปกรณ์ควบคุมการจราจรด้วยไฟฟ้าสำหรับใช้กับรถไฟ ซึ่งตามพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2503 ภาค 1 หลักเกณฑ์การตีความพิกัดอัตราศุลกากร ข้อ 6 บัญญัติว่า ของครบชุดสมบูรณ์หรือของซึ่งมีลักษณะอันเป็นสาระสำคัญที่ทำให้เห็นได้ว่าเป็นของครบชุด ที่นำเข้ามาโดยแยกออกจากกันหรือมิได้ประกอบเข้าด้วยกัน แม้จะแยกนำเข้าต่างวาระกันก็ตาม ให้จัดเข้าในประเภทที่ว่าด้วยของครบชุดสมบูรณ์ได้ เมื่อเครื่องอุปกรณ์ควบคุมการจราจรด้วยไฟฟ้าสำหรับใช้กับรถไฟเป็นสินค้าประเภทพิกัดที่ 85.16 จึงต้องจัดสินค้าที่จำเลยนำเข้าเข้าในประเภทพิกัดที่ 85.16 ด้วย ที่เจ้าพนักงานกรมศุลกากรโจทก์จัดสินค้าดังกล่าวเข้าในประเภทพิกัดที่ 85.19 ในฐานะเป็นเครื่องไฟฟ้าสำหรับต่อและตัดวงจรไฟฟ้าจึงไม่ชอบด้วยหลักเกณฑ์การตีความพิกัดอัตราศุลกากร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5097/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินและเรียกเก็บเงินเพิ่มอากรขาเข้าภายใต้ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 และ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560
จำเลยมีหน้าที่ต้องรับผิดในส่วนเงินเพิ่มตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในเวลานั้น เมื่อคดีนี้จำเลยนำเข้าสินค้าตามใบขนสินค้าขาเข้าเมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2553 ความรับผิดชำระอากรขาเข้าตามใบขนสินค้าขาเข้าฉบับดังกล่าว จึงเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 มีผลใช้บังคับอยู่ โดย พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว มาตรา 112 จัตวา มิได้บัญญัติว่าเงินเพิ่มอากรขาเข้าจะต้องไม่เกินอากรขาเข้าที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่ม ดังนี้ เมื่อจำเลยชำระอากรขาเข้าไม่ครบถ้วน โจทก์ที่ 1 จึงมีสิทธิเรียกเก็บเงินเพิ่มอากรขาเข้าได้โดยไม่มีข้อจำกัดว่าจะต้องไม่เกินอากรขาเข้าที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่มตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในเวลานั้น แม้ต่อมาวันที่ 13 พ.ย. 2560 จะได้มี พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 ใช้บังคับและให้ยกเลิก พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 โดย พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 22 บัญญัติว่า "...โดยเงินเพิ่มที่เรียกเก็บนี้ต้องไม่เกินอากรที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่ม..." เป็นผลให้โจทก์ที่ 1 ไม่มีสิทธิตามกฎหมายที่จะเรียกเก็บเงินเพิ่มอากรขาเข้าเฉพาะส่วนที่เกินอากรขาเข้านับแต่วันที่ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มีผลใช้บังคับแล้วได้อีกต่อไปก็ตาม แต่ก็มิได้เป็นการลบล้างความรับผิดชำระเงินเพิ่มที่เกิดขึ้นแล้วตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 ดังนั้น โจทก์ที่ 1 ย่อมมีสิทธิคำนวณเรียกเก็บเงินเพิ่มแม้จะเกินอากรขาเข้าได้จนถึงวันที่ 12 พ.ย. 2560 ส่วนนับแต่วันที่ 13 พ.ย. 2560 หากเงินเพิ่มยังไม่เท่าอากรขาเข้าตามการประเมิน โจทก์ที่ 1 ยังคงมีสิทธิคำนวณเรียกเงินเพิ่มอากรขาเข้าดังกล่าวต่อไปได้จนกว่าจำนวนเงินเพิ่มจะเท่าจำนวนอากรขาเข้าตามการประเมินดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 22 ดังกล่าว เมื่อพิจารณาแบบแจ้งการประเมิน/เรียกเก็บอากรขาเข้า/ขาออก ภาษีสรรพสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีอื่น ๆ (กรณีอื่น ๆ) เงินเพิ่มอากรขาเข้าคำนวณถึงวันที่ 12 พ.ย. 2560 ซึ่งเป็นวันก่อนวันที่ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มีผลใช้บังคับ ยังไม่เกินกว่าจำนวนอากรที่ต้องเสียเพิ่ม โจทก์ที่ 1 จึงมีสิทธิเรียกเงินเพิ่มอากรขาเข้าดังกล่าวต่อไปได้จนกว่าจำนวนเงินเพิ่มจะเท่ากับอากรขาเข้าตามการประเมินเท่านั้น ซึ่งปัญหาว่าจำเลยจะต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มอากรขาเข้าเกินกว่าอากรขาเข้าหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลมีอำนาจยกปัญหานี้ขึ้นพิจารณาได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 17

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1392/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินอากรขาเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการลดอัตราอากรตามประกาศกระทรวงการคลัง
หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการพิจารณาเพื่อลดอัตราอากรหรือยกเว้นอากรจะต้องกำหนดไว้อย่างชัดเจน โดยระบุไว้ในประกาศกระทรวงการคลังที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีตาม พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 มาตรา 12 และได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว หากไม่ได้กำหนดไว้อย่างชัดเจน กรมศุลกากรจะออกประกาศกรมศุลกากรเพื่อขยายหรือเพิ่มเติมหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขเพื่อพิจารณาให้สิทธิลดอัตราอากรหรือยกเว้นอากรให้แตกต่างไปจากประกาศกระทรวงการคลังไม่ได้
เมื่อการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มต้องอาศัยมูลค่าของฐานภาษี คือ ราคาสินค้าบวกด้วยอากรขาเข้าที่โต้แย้งกันในคดีนี้ว่าเป็นอากรเท่าใดเพื่อใช้เป็นฐานภาษีและจำเลยที่ 1 ใช้อำนาจตาม ป.รัษฎากรเป็นผลกระทบต่อสถานภาพ สิทธิ และหน้าที่ของโจทก์ ดังนั้น เมื่อโจทก์ได้รับสิทธิการลดอัตราอากรอันมีผลให้อากรขาเข้าลดลง ภาษีมูลค่าเพิ่มที่โจทก์มีความรับผิดย่อมลดลงไปโดยผลของกฎหมายด้วย