คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
การพิจารณาใหม่

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 5 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6627/2544 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การส่งหมายเรียกไปยังภูมิลำเนาเดิมที่ไม่ใช่ปัจจุบัน แม้ชอบด้วยกฎหมาย แต่ไม่ถือว่าจำเลยจงใจขาดนัด
จำเลยเคยพักอาศัยอยู่ที่บ้านเลขที่ 213 จังหวัดชลบุรี ตามฟ้องและจำเลยมีที่อยู่ทางทะเบียน ณ บ้านดังกล่าวตลอดมา การส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยรวมทั้งหมายนัดสืบพยานโจทก์ ส่งได้โดยวิธีปิดหมายไว้ ณ บ้านดังกล่าว แต่จำเลยไม่ได้อยู่อาศัยที่บ้านหลังนี้มากกว่า 10 ปีแล้ว โดยไปพักอาศัยอยู่ที่บ้านเลขที่ 518/136 กับ บ้านเลขที่ 81/6 และไป ๆ มา ๆ ระหว่างบ้าน 2 หลังนี้โดยไม่ได้กลับไปที่บ้านเลขที่ 213 อีกเลย แต่ยังมิได้ย้ายทะเบียนออกจากบ้านหลังนี้ กรณีจึงเป็นเรื่องที่จำเลยมีภูมิลำเนาหลายแห่ง ดังนี้ แม้การส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องและหมายนัดสืบพยานโจทก์ให้แก่จำเลยโดยการปิดหมายไว้ ณ บ้านเลขที่ 213 ดังกล่าว จะเป็นการส่งโดยชอบก็ตาม แต่ปัญหาว่าการส่งหมายเป็นไปโดยชอบหรือไม่กับปัญหาว่าจำเลยจงใจขาดนัดหรือไม่ เป็นคนละเรื่องกัน เมื่อจำเลยไม่ได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องและหมายนัดสืบพยานโจทก์ และจำเลยไม่ทราบเรื่องที่ถูกฟ้องนี้ จึงไม่อาจถือว่าจำเลยจงใจขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา กรณีมีเหตุสมควรอนุญาตให้พิจารณาใหม่ตามคำขอของจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6830/2543 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด, การพิจารณาใหม่, ขยายระยะเวลาอุทธรณ์, และอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายในคดีล้มละลาย
ศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยให้ครบถ้วนตามประเด็นแห่งคดีของโจทก์เป็นกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ.ว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่ง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ.มาตรา 141 (5), 246 ประกอบ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483มาตรา 153 แต่โจทก์ได้ยกปัญหาดังกล่าวเป็นข้อฎีกาขึ้นมาแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยตามปัญหาข้อนี้โดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่
ศาลจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดก็ต่อเมื่อข้อเท็จจริงในทางพิจารณาได้ความว่าลักษณะของจำเลยต้องด้วยกฎเกณฑ์ตามกฎหมายที่ศาลจะพิพากษาให้เป็นคนล้มละลายได้แล้ว แต่กฎหมายกำหนดให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดเสียก่อน เพื่อให้จำเลยได้มีโอกาสขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย หากไม่มีการประนอมหนี้หรือการประนอมหนี้ไม่ได้รับการยอมรับจากที่ประชุมเจ้าหนี้และศาลมีคำสั่งเห็นชอบแล้ว ศาลต้องพิพากษาให้จำเลยล้มละลายตามมาตรา 61 ทันทีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจึงเป็นคำสั่งชี้ขาดคดีมีผลเป็นคำพิพากษา ดังนั้น คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้พิจารณาใหม่ภายหลังเมื่อมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด จึงมิใช่คำสั่งในระหว่างพิจารณาและไม่ต้องห้ามอุทธรณ์
เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้พิจารณาใหม่แล้ว โจทก์ได้ยื่นคำแถลงขอคัดและถ่ายเอกสารคำเบิกความพยานโจทก์ รายงานกระบวนพิจารณารายงานเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์พร้อมเอกสารประกอบรายงาน คำสั่งให้พิจารณาใหม่เพื่อใช้ประกอบการเขียนอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตแล้ว แต่จนกระทั่งก่อนครบกำหนดอุทธรณ์ 1 วัน และเป็นวันที่โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์เจ้าหน้าที่ศาลชั้นต้นก็ยังไม่สามารถจัดการให้โจทก์ได้รับสำเนาเอกสารดังกล่าวซึ่งเป็นเรื่องนอกเหนือการบังคับของโจทก์ ถือเป็นกรณีที่มีพฤติการณ์พิเศษ ชอบที่ศาลชั้นต้นจะขยายระยะเวลาอุทธรณ์ให้โจทก์ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 23 ประกอบพ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 153
เมื่อศาลฎีกาเห็นสมควรขยายระยะเวลาอุทธรณ์ให้ถึงวันตามที่โจทก์ขอ อุทธรณ์ของโจทก์ซึ่งได้ยื่นต่อศาลชั้นต้นในวันดังกล่าวจึงเป็นอุทธรณ์ที่ได้ยื่นต่อศาลชั้นต้นภายในกำหนดที่ศาลฎีกาขยายระยะเวลาให้ ชอบที่จะรับฎีกาโจทก์ไว้ดำเนินการต่อไป
อุทธรณ์ในส่วนที่เป็นการโต้แย้งคัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้เลื่อนการอ่านคำพิพากษาให้จำเลยล้มละลาย ซึ่งเป็นคำสั่งที่แยกได้ต่างหากจากคำสั่งระหว่างพิจารณาในการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลย โจทก์มิได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวภายในกำหนดระยะเวลาตามกฎหมายและไม่ได้ขอขยายระยะเวลาไว้ เป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงไม่อาจรับไว้ดำเนินการได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1347/2529 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยื่นคำร้องใหม่หลังศาลสั่งไม่รับฟ้อง ถือเป็นการนำคดีเข้าสู่การพิจารณาใหม่ ไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา
โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลย ศาลแรงงานกลางตรวจคำฟ้องแล้วมีคำสั่งว่า กรณีไม่ต้องด้วยมาตรา 8 (5) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 ไม่รับฟ้อง กรณีเช่นนี้การพิจารณาของศาลแรงงานกลางเป็นอันสิ้นสุดไปแล้ว โจทก์ยื่นคำร้องขอให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางวินิจฉัยตามมาตรา 9 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวอีก ย่อมมีผลเท่ากับว่าได้นำคดีมาสู่การพิจารณาของศาลแรงงานกลางใหม่อีกครั้งหนึ่ง จึงหาชอบด้วยกระบวนพิจารณาไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1021/2525 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์คำสั่งศาลที่ไม่รับยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ และประเด็นการยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนดเวลา
แม้ฟ้องอุทธรณ์จะระบุว่าอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่พิพากษายกฟ้องโจทก์.เพราะเหตุที่โจทก์ไม่มาศาลตามนัดไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 166 ก็ตาม แต่เมื่อข้อความในฟ้องอุทธรณ์เป็นการคัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งยกคำร้องของโจทก์ ที่ขอให้ยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ กรณีจึงถือได้ว่าเป็นการอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ด้วยเมื่อโจทก์ยื่นอุทธรณ์ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องที่โจทก์ขอให้ยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ จึงเป็นการยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 198

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17227/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลในการพิจารณาลงโทษจำคุกเกินหกเดือน และผลของการยกคำพิพากษาโดยศาลอุทธรณ์
เดิมศาลชั้นต้นโดยผู้พิพากษาคนเดียวพิจารณาและพิพากษาลงโทษจำคุก มีกำหนด 1 ปี ซึ่งเกินอำนาจผู้พิพากษาคนเดียวที่จะพิพากษาลงโทษ ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 (5) ต่อมาศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นดังกล่าว และย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาใหม่ หากผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนยังเห็นควรลงโทษจำคุกจำเลยเกินกว่าหกเดือน ย่อมถือว่าเป็นเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 31 (2) ต้องให้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลในขณะทำคำพิพากษาฉบับใหม่นี้ตรวจสำนวนและลงลายมือชื่อร่วมเป็นองค์คณะด้วยตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 29 (3) โดยไม่อาจย้อนกลับไปให้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลในขณะที่มีคำพิพากษาฉบับเดิมลงลายมือชื่อร่วมเป็นองค์คณะทำคำพิพากษาได้ เนื่องจากคำพิพากษาฉบับเดิมได้ถูกยกไปโดยคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้ว