คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
การฟ้องร้อง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 171 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5818/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลจำกัดในการพิจารณาคดีหลังการกระทำเสร็จสิ้น การฟ้องขอปรับปรุงสิ่งแวดล้อมหลังถ่ายทำภาพยนตร์เสร็จแล้วจึงไม่มีประโยชน์
บทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 290 และ พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 มาตรา 23 แสดงให้เห็นว่า ทั้งองค์การบริหารส่วนตำบลโจทก์ที่ 1 และที่ 2 มีหน้าที่ในการคุ้มครองดูแลและบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดังนั้น เมื่อโจทก์ที่ 1 และที่ 2 อ้างว่าจำเลยที่ 4 และที่ 5 พยายามทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภายในเขตหาดมาหยาที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 มีหน้าที่รับผิดชอบ โจทก์ที่ 1 และที่ 2 จึงมีอำนาจฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามมิให้จำเลยที่ 4 และที่ 5 กระทำหรือขอให้บังคับจำเลยที่ 4 ที่ 5 ปรับปรุงแก้ไขหาดมาหยาให้กลับคืนสภาพเดิมตามธรรมชาติได้ ซึ่งรวมทั้งฟ้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ที่มีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ 4 และที่ 5 เข้าไปถ่ายทำภาพยนตร์ได้ด้วย
คำว่า "ชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม" ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 46 ยังไม่มีคำนิยามความหมายหรือขอบเขตที่แน่นอน ทั้งบทบัญญัติมาตรานี้มีเงื่อนไขที่ต้องมีกฎหมายบัญญัติออกมาตามมาตรานี้ เมื่อในขณะที่โจทก์ที่ 3 ถึงที่ 19 ซึ่งเป็นบุคคลในชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมของจังหวัดกระบี่และอาศัยอยู่บริเวณรอบอ่าวมาหยายื่นฟ้องยังไม่มีกฎหมายบัญญัติออกมาใช้บังคับ จึงไม่อาจถือได้ว่ามีการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ที่ 3 ถึงที่ 19 แล้ว โจทก์ที่ 3 ถึงที่ 19 จึงยังไม่มีอำนาจฟ้อง
ตามฟ้องของโจทก์ทั้งสิบเก้าได้บรรยายถึงสภาพแห่งข้อหา คือจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้อนุญาตให้จำเลยที่ 4 และที่ 5 เข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องเดอะบีชในอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา หมู่เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ ทำให้เปลี่ยนแปลงสภาพของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกระทบต่อสิทธิประโยชน์และคุณภาพชีวิตของโจทก์ทั้งสิบเก้า คำขอบังคับให้จำเลยทั้งห้าปรับปรุงแก้ไขหาดมาหยาให้กลับคืนสภาพเดิมตามธรรมชาติ โดยค่าใช้จ่ายของจำเลยที่ 4 และที่ 5 และให้เพิกถอนใบอนุญาตให้จำเลยที่ 4 และที่ 5 เข้าถ่ายทำภาพยนตร์ดังกล่าว และข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาคือ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้โจทก์ทั้งสิบเก้าจะมิได้บรรยายถึงการทำละเมิด ค่าเสียหายหรือความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อมเป็นมูลค่าเท่าใดก็มิใช่ข้อสำคัญเพราะโจทก์ทั้งสิบเก้ามิได้ฟ้องว่าจำเลยทั้งห้าทำละเมิดทำให้โจทก์ทั้งสิบเก้าเสียหายโดยเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน แต่โจทก์ทั้งสิบเก้าฟ้องขอให้ปรับปรุงหาดมาหยาให้กลับคืนสภาพเดิมแม้โจทก์ทั้งสิบเก้าจะมิได้บรรยายว่าสภาพเดิมตามธรรมชาติของหาดมาหยาเป็นอย่างไร ถูกปรับเปลี่ยนอย่างไร อันเป็นเหตุให้น้ำ อาหาร อากาศ ชายหาด ต้นไม้ ภูเขา ระบบนิเวศน์ หรือสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงเสียหาย หรือเกิดมลพิษอย่างไรก็ไม่ใช่ข้อสำคัญเพราะโจทก์ทั้งสิบเก้าอาจนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ฟ้องโจทก์ทั้งสิบเก้าชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง แล้ว
คำขอท้ายฟ้องของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ที่ห้ามมิให้ฝ่ายจำเลยกระทำการใดเพื่อกระทำการปรับปรุง ตกแต่งบริเวณอ่าวมาหยา หากไม่วางเงินประกันความเสียหายไม่น้อยกว่า 100,000,000 บาท นั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยที่ 5 ได้กระทำการปรับปรุงตกแต่งบริเวณอ่าวมาหยาไปแล้ว และได้ถ่ายภาพยนตร์เสร็จเรียบร้อยทั้งได้ออกไปจากบริเวณอ่าวมาหยาแล้วตั้งแต่ก่อนวันที่ศาลชั้นต้นพิพากษาจึงไม่มีเหตุที่ศาลอุทธรณ์จะสั่งให้จำเลยทั้งห้าปฏิบัติตามคำขอข้อนี้
โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ฟ้องคดีอ้างว่าคำสั่งทางปกครองของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่อนุญาตให้จำเลยที่ 4 เข้าไปถ่ายภาพยนตร์บริเวณอ่าวมาหยาไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นโมฆะ ขอให้เพิกถอน มีวัตถุประสงค์เพื่อมิให้จำเลยที่ 4 และที่ 5 เข้าไปถ่ายทำภาพยนตร์ในบริเวณหาดมาหยา แต่เมื่อจำเลยที่ 5 เข้าไปถ่ายทำภาพยนตร์ตามใบอนุญาตเสร็จเรียบร้อยจนนำออกฉายทั่วโลกแล้ว การเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงไม่บังเกิดผลในทางปฏิบัติจึงไม่มีประโยชน์ที่จะพิจารณาคำขอดังกล่าวต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5186/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบต้องยื่นภายใน 8 วัน นับแต่วันที่ทราบเหตุ
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 วรรคสอง ที่กำหนดให้คู่ความฝ่ายที่เสียหายต้องยื่นคำร้องไม่ช้ากว่า 8 วัน นับแต่วันที่ได้ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเกิดจากมูลแห่งข้ออ้างนั้นใช้บังคับแก่การยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบทุกกรณีไม่ว่าจะอยู่ในระหว่างพิจารณาหรือหลังจากศาลพิพากษา ดังนั้นคำร้องของโจทก์ที่ขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดีที่สั่งโดยผิดระเบียบ โดยอ้างว่าการที่ทนายโจทก์มอบฉันทะให้เสมียนทนายนำคำร้องขอเลื่อนคดีมายื่นต่อศาลโดยให้เหตุผลว่าป่วย ถือว่าโจทก์มาศาลและแจ้งเหตุขัดข้องให้ศาลทราบแล้ว ไม่ชอบที่ศาลชั้นต้นจะสั่งจำหน่ายคดีเพราเหตุโจทก์ไม่มาศาล จึงอยู่ในบังคับแห่งระยะเวลา 8 วัน ที่จะต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6446/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การดำเนินคดีซ้ำสอง: คดีก่อนเป็นการฟ้องร้องที่ไม่สุจริต สิทธิฟ้องคดีหลังยังคงมี
หลักการของ ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) ที่บัญญัติให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปเมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง อันเป็นหลักการห้ามดำเนินคดีซ้ำสองแก่จำเลยนั้น จะต้องปรากฏว่าคดีก่อนเป็นกรณีที่จำเลยถูกฟ้องร้องดำเนินคดีอย่างแท้จริงหากปรากฏว่าคดีก่อนเป็นการฟ้องร้องดำเนินคดีอย่างเสมอยอมกัน แม้ว่าจะเป็นการกระทำกรรมเดียวกันก็ถือไม่ได้ว่าการกระทำกรรมนั้นจำเลยเคยถูกฟ้องและศาลได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดอันจะมีผลทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดกรรมนั้นระงับไปไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2205/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การละเมิดลิขสิทธิ์และการใช้เครื่องหมายการค้าโดยมิชอบ การฟ้องร้องต้องระบุรายละเอียดการกระทำที่เข้าข่ายความผิดชัดเจน
การกระทำของจำเลยที่โจทก์บรรยายฟ้องอ้างว่าเป็นความผิดคือ การนำเอาเทปบันทึกภาพและเสียงภาพยนตร์ เรื่อง อุลตร้าแมนทิก้า ที่จำเลยจัดทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ไปเผยแพร่ต่อสาธารณชนผ่านทางสถานีโทรทัศน์ เป็นการให้บริการที่ใช้เครื่องหมายบริการที่เลียนเครื่องหมายบริการของโจทก์ซึ่งได้จดทะเบียนไว้แล้วนอกราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ แต่การกระทำที่จะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 110 (2) ต้องเป็นการให้บริการที่ใช้เครื่องหมายบริการที่เลียนเครื่องหมายบริการของผู้อื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรเท่านั้น การให้บริการที่ใช้เครื่องหมายบริการที่เลียนเครื่องหมายบริการของโจทก์ซึ่งได้จดทะเบียนไว้นอกราชอาณาจักรไม่อาจเป็นความผิดตามบทกฎหมายมาตรานี้ได้ ทั้งไม่ปรากฏจากฟ้องของโจทก์ดังกล่าวเป็นการให้บริการใดและเครื่องหมายบริการของโจทก์เป็นอย่างไร ฟ้องที่โจทก์บรรยายดังกล่าวจึงไม่มีมูลที่จะเป็นความผิดตามมาตรา 110 (2)
การกระทำที่จะเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 272 (1) ต้องเป็นการเอาชื่อ รูป รอยประดิษฐ์ หรือข้อความใด ๆ ในการประกอบการค้าของผู้อื่นมาใช้หรือทำให้ปรากฏที่หีบ ห่อ วัตถุที่ใช้หุ้มห่อ แจ้งความ รายการแสดงราคา จดหมายเกี่ยวกับการค้า หรือสิ่งอื่นทำนองเดียวกันเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าหรือการค้าของผู้อื่นนั้น แต่จากที่โจทก์บรรยายฟ้องไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยนำเอาชื่อ รูป รอยประดิษฐ์ หรือข้อความใดในการประกอบการค้าของโจทก์ในภาพยนตร์ชุดอุลตร้าแมนมาทำให้ปรากฏที่สินค้าใดโดยมีเจตนาพิเศษเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าหรือการค้าของโจทก์ ทั้งการที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยนำเอาชื่อ รูป รอยประดิษฐ์ และข้อความที่ใช้ในการประกอบการค้าของโจทก์ในภาพยนตร์ชุดอุลตร้าแมนมาทำให้ปรากฏอยู่ในเทปบันทึกภาพและเสียงภาพยนตร์เรื่อง อุลตร้าแมนทิก้า ที่จำเลยจัดทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์และนำไปเผยแพร่ต่อสาธารณชนผ่านทางสถานีโทรทัศน์นั้น ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการบรรยายฟ้องว่าจำเลยได้เอาชื่อ รูป รอยประดิษฐ์ หรือข้อความมาใช้หรือทำให้ปรากฏที่สินค้า หีบ ห่อ วัตถุที่ใช้ห่อหุ้ม แจ้งความ รายการแสดงราคา จดหมายเกี่ยวกับการค้า หรือสิ่งอื่นทำนองเดียวกันแต่อย่างใด แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่าจำเลยนำเทปบันทึกภาพและเสียงภาพยนตร์เรื่องอุลตร้าแมนทิก้าออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนผ่านทางสถานีโทรทัศน์ซึ่งเป็นการให้บริการโดยใช้เครื่องหมายบริการที่เลียนเครื่องหมายบริการของโจทก์ซึ่งได้จดทะเบียนไว้แล้ว นอกราชอาณาจักร โดยเป็นการนำเอาแคแรกเตอร์ตัวอุลตร้าแมนในลักษณะต่าง ๆ และสัตว์ประหลาดต่าง ๆ รวมทั้งชื่อ คำ และข้อความว่า อุลตร้าแมน และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์ชุดอุลตร้าแมน ซึ่งโจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์นำไปใช้ประโยชน์ในทางการค้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ด้วยก็ตาม แต่ก็เป็นการบรรยายอ้างว่าจำเลยนำเอาแคแรกเตอร์ตัวอุลตร้าแมน สัตว์ประหลาด ชื่อ คำ และข้อความว่า อุลตร้าแมนมาใช้ ถือว่าเป็นการให้บริการโดยใช้เครื่องหมายบริการที่เลียนเครื่องหมายบริการของโจทก์ซึ่งได้จดทะเบียนไว้แล้วนอกราชอาณาจักรโดยประสงค์จะขอให้ ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 110 (2) มิได้บรรยายให้เห็นว่าจำเลยนำเอาแคแรกเตอร์ตัวอุลตร้าแมน สัตว์ประหลาด ชื่อ คำ และข้อความว่า อุลตร้าแมน โดยอ้างว่าเป็นชื่อ รูป รอยประดิษฐ์ หรือข้อความในการประกอบการค้าของโจทก์มาใช้หรือทำให้ปรากฏที่สินค้าใดเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าหรือการค้าของโจทก์อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 272 (1) แต่อย่างใด ฟ้องที่โจทก์บรรยายดังกล่าวจึงไม่มีมูลที่จะเป็นความผิดตามมาตรา 272 (1) ได้
การกระทำที่จะเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 274 ต้องเป็นการเลียนเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นที่ได้จดทะเบียนภายในหรือนอกราชอาณาจักรเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นนั้น แต่จากที่โจทก์บรรยายฟ้องไม่ปรากฏในข้อความส่วนใดที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยได้กระทำการเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ได้จดทะเบียนแล้วนอกราชอาณาจักร ทั้งไม่ปรากฏเครื่องหมายการค้าที่จำเลยได้กระทำเลียนว่าเป็นเครื่องหมายการค้าใด ฟ้องที่โจทก์บรรยายดังกล่าวจึงไม่มีมูลที่จะเป็นความผิดตามมาตรา 274

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7143/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าซื้อ สิทธิเหนือที่ดิน การครอบครองปรปักษ์ และอายุความคดี
กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตกเป็นของ ส. ผู้ซื้อฝากนับแต่โจทก์กับ ส. ได้ทำสัญญาขายฝาก การที่ ส. จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยร่วม จำเลยร่วมจึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์โดยชอบ แต่การที่จำเลยร่วมฟ้องขับไล่โจทก์และได้มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม คำพิพากษาดังกล่าวย่อมผูกพันคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ดังนี้ เมื่อโจทก์ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความโดยชำระเงินค่าเช่าซื้อให้แก่จำเลยร่วมครบถ้วนแล้ว ที่ดินพิพาทย่อมตกเป็นของโจทก์และเป็นการได้มาโดยทางนิติกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคหนึ่งแม้จะยังมิได้มีการจดทะเบียน ก็ไม่มีผลให้นิติกรรมตกเป็นโมฆะหรือไม่สมบูรณ์ เพียงแต่ทำให้ไม่บริบูรณ์ถึงขั้นเป็นทรัพยสิทธิ แต่ระหว่างคู่กรณีย่อมมีผลผูกพันต่อกันในฐานะเป็นบุคคลสิทธิ ทำให้โจทก์มีสิทธิเข้ายึดถือครอบครองใช้ยันจำเลยร่วมได้ และมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยร่วมจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ได้ด้วย เมื่อโจทก์ได้เข้าทำการปรับปรุงบริเวณที่ดินพิพาทตลอดมา เพื่อจะสร้างอาคารโรงเรียนขึ้นใหม่ในลักษณะแสดงสิทธิความเป็นเจ้าของ การที่จำเลยเข้าไปปลูกเพิงอยู่ในที่ดินพิพาทโดยอ้างว่าอาศัยสิทธิของจำเลยร่วมจึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยร่วม
คดีก่อนมีประเด็นข้อพิพาทเพียงว่าจำเลยร่วมจะต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์หรือไม่ ต่างกับคดีนี้ที่โจทก์ตั้งประเด็นในฐานะเจ้าของที่ดินพิพาทที่โจทก์ได้มาโดยสัญญาเช่าซื้อตามสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยร่วม ขอให้ขับไล่จำเลยซึ่งอ้างว่าอาศัยสิทธิของจำเลยร่วมเข้าไปปลูกสร้างโรงเรือนในที่ดินพิพาท จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ
ที่ดินพิพาทแม้จำเลยร่วมมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ตามโฉนดที่ดินอยู่ แต่สิทธิและหน้าที่ระหว่างโจทก์กับจำเลยร่วมยังคงมีผลผูกพันต่อกันตามสัญญาประนีประนอมยอมความในฐานะเป็นบุคคลสิทธิ การที่โจทก์ได้ใช้สิทธิดังกล่าวเข้าทำการปรับปรุงที่ดินโดยถางหญ้ากับทำความสะอาดภายในบริเวณที่ดินพิพาทอีกครั้งหนึ่งเพื่อเตรียมก่อสร้างอาคารโรงเรียนขึ้นใหม่เป็นการยืนยันว่าโจทก์เป็นฝ่ายครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมาจนกระทั่งถูกจำเลยซึ่งเป็นบริวารของจำเลยร่วมบุกรุกเข้าไปสร้างโรงเรือนลักษณะเป็นเพิงชั้นเดียวฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยร่วมจึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3775/2546 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขีดฆ่าอากรแสตมป์หลังพิจารณาคดี, ผลของการจำนองโดยไม่ได้รับความยินยอมจากภริยา, และการแยกแยะนิติกรรมสัญญา
โจทก์ชอบที่จะยื่นคำร้องขออนุญาตทำการขีดฆ่าอากรแสตมป์ในหนังสือสัญญากู้หรือขอให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ขีดฆ่าอากรแสตมป์ก่อนหรือในขณะที่ได้นำเอกสารนั้นมาอ้างเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งหรือก่อนที่ศาลชั้นต้นจะตัดสินชี้ขาดคดี การที่โจทก์เพิ่งมายื่นคำร้องหลังจากที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาคดีแล้ว โดยศาลอุทธรณ์ปฏิเสธที่จะรับฟังหนังสือสัญญากู้ดังกล่าว ย่อมล่วงเลยเวลาที่จะอนุญาตให้ทำการแก้ไข จึงมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ขีดฆ่าอากรแสตมป์ในหนังสือสัญญากู้
การที่จำเลยทำสัญญาจำนองโดยไม่ได้รับความยินยอมจากภริยา คงมีผลเพียงว่า ภริยาจำเลยอาจฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมจำนองได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1480 แต่ตราบใดสัญญาจำนองยังไม่ถูกศาลเพิกถอน ย่อมยังคงมีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมาย
สัญญากู้เงินและสัญญาจำนอง เป็นนิติกรรมคนละประเภทที่สามารถแยกออกจากกันได้ โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยตามสัญญากู้เงิน เมื่อสัญญากู้เงินไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐาน ย่อมไม่อาจนำเอาอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ในสัญญาจำนองมาบังคับการกู้เงินรายนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2599/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนน.ส.3ก. กรณีครอบครองโดยไม่ชอบและอายุความฟ้องร้อง
จำเลยไม่มีสิทธิครอบครองที่ดิน การที่จำเลยนำที่ดินที่อยู่ในความครอบครองของโจทก์ไปขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) จึงไม่ชอบ ศาลมีอำนาจสั่งให้เพิกถอนได้ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 61 และตราบใดที่หนังสือรับรองการทำประโยชน์ยังไม่ถูกเพิกถอนย่อมถือว่าการละเมิดยังมีอยู่ ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1908/2546 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การละเมิดลิขสิทธิ์หนังสือ การฟ้องร้อง และข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์
โจทก์รับราชการอยู่ที่ฝ่ายวิจัยและประเมินผล สถาบันพัฒนาข้าราชการพลเรือน สำนักงาน ก.พ. มีหน้าที่โดยตรงในการประเมินผลการฝึกอบรม ไม่มีหน้าที่จัดทำเอกสารหรือเขียนตำราทางวิชาการเพื่อใช้ในการฝึกอบรม และสำนักงาน ก.พ. ก็มิได้มีคำสั่งให้โจทก์เขียนหนังสือ "คู่มือการประเมินผลการฝึกอบรมสำหรับผู้รับผิดชอบโครงการฝึกอบรม/สัมมนา" และหนังสือ "คู่มือการประเมินและติดตามผลสำหรับผู้รับผิดชอบโครงการฝึกอบรม/สัมมนา" หรือมีการจ่ายค่าตอบแทนให้ โจทก์เขียนหนังสือทั้งสองเล่มดังกล่าวนอกเวลาราชการ การที่โจทก์เขียนหนังสือดังกล่าวขึ้น จึงไม่ถือว่าเป็นงานที่โจทก์ต้องปฏิบัติตามหน้าที่ในกรอบงานของโจทก์ โจทก์จึงเป็นผู้ทำหรือก่อให้เกิดงานสร้างสรรค์ประเภทวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ขึ้นเอง และในการเขียนหนังสือคู่มือทั้งสองเล่มของโจทก์ โจทก์ได้กำหนดเค้าโครงการเขียนและได้คิดกำหนดสารบัญรวมทั้งได้เขียนอธิบายเนื้อหาสาระและรายละเอียดต่าง ๆ แต่ละประเด็นโดยใช้ถ้อยคำและคำอธิบายของโจทก์ใหม่ทั้งหมดตามความรู้ความเข้าใจและประสบการณ์ของโจทก์โดยตรง จึงเป็นงานนิพนธ์ที่โจทก์ทำขึ้นโดยไม่ได้ลอกเลียนงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่น โจทก์จึงเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมหนังสือทั้งสองเล่ม หาใช่สำนักงาน ก.พ. ไม่
แนวความคิด ทฤษฎี และตัวข้อมูลความรู้ไม่ใช่สิ่งที่กฎหมายลิขสิทธิ์คุ้มครองตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 6 วรรคสอง หากจำเลยที่ 1 นำแนวความคิด ทฤษฎี และตัวข้อมูลความรู้เกี่ยวกับการประเมินและติดตามผลการฝึกอบรมของบุคคลอื่นรวมทั้งของโจทก์ไปสร้างสรรค์งานวรรณกรรมของตน จำเลยที่ 1 จะต้องสร้างสรรค์งานนั้นขึ้นมาโดยมีเนื้อหารายละเอียดและลักษณะการแสดงออกซึ่งความคิดของจำเลยที่ 1 เอง ไม่ใช่เพียงแต่คัดลอกหรือเลียนแบบงานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของบุคคลอื่นในส่วนอันเป็นสาระสำคัญซึ่งถือว่าเป็นการทำซ้ำหรือดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ซึ่งเป็นสิทธิแต่ผู้เดียวของเจ้าของลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 15 (1) หากจำเลยที่ 1 กระทำไปโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ การกระทำของจำเลยที่ 1 ย่อมเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ตามมาตรา 27 (1) แห่ง พ.ร.บ. ฉบับเดียวกัน
หนังสือ "กลยุทธ์ในการฝึกอบรม" ของจำเลยที่ 1 ในหัวข้อความหมายของการประเมินผล ขั้นตอนในการประเมินผลการฝึกอบรม รูปแบบของรายงาน แนวทางเบื้องต้นในการวิเคราะห์โครงการฝึกอบรม การกำหนดขอบเขตและวัตถุประสงค์ของการประเมินผล และการวางแผนประเมินผล มีข้อความที่เหมือนและคล้ายกับข้อความที่ปรากฏอยู่ในหนังสือ "คู่มือการประเมินผลการฝึกอบรมสำหรับผู้รับผิดชอบโครงการฝึกอบรม/สัมมนา" และ "คู่มือการประเมินและติดตามผลการฝึกอบรมสำหรับผู้รับผิดชอบโครงการฝึกอบรม/สัมมนา" ของโจทก์ในส่วนอันเป็นสาระสำคัญของงานประมาณ 30 หน้า จากจำนวนประมาณ 150 หน้า ข้อความบางตอนมีลักษณะเกือบเหมือนกันคำต่อคำ บางตอนมีลักษณะดัดแปลงให้ต่างกันเล็กน้อย และบางตอนก็เพียงแต่ปรับเปลี่ยนหัวข้อเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งยากที่จะเกิดขึ้นได้โดยบังเอิญ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการทำซ้ำและดัดแปลงงานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 กระทำไปโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์
แม้ในการเผยแพร่ตำราและสิ่งตีพิมพ์ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยจำเลยที่ 2 ไม่ได้มุ่งแสวงหาผลกำไรแบบธุรกิจเอกชน เพราะตั้งราคาจำหน่ายหนังสือใกล้เคียงกับต้นทุน แต่จำเลยที่ 1 ก็ได้รับค่าตอบแทนจากงานเขียน แสดงให้เห็นว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการกระทำเพื่อหากำไรแล้ว แม้จะไม่ได้กำไรเท่าธุรกิจเอกชนก็ตาม เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำซ้ำและดัดแปลงงานวรรณกรรมอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ การจำหน่ายหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งหนังสือ "กลยุทธ์ในการฝึกอบรม" ของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำเพื่อหากำไรโดยรู้อยู่แล้วว่างานนั้นได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมของโจทก์ จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้จำหน่ายหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งหนังสือดังกล่าวอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมของโจทก์
มหาวิทยาลัยจำเลยที่ 2 เป็นหน่วยงานราชการ จัดพิมพ์ตำราต่าง ๆ ตามระเบียบว่าด้วยสำนักพิมพ์ของมหาวิทยาลัยจำเลยที่ 2 โดยมีคณะกรรมการบริหารของสำนักพิมพ์พิจารณาในขั้นต้น และมีบรรณาธิการตรวจคุณภาพ ในการจัดพิมพ์หนังสือ "กลยุทธ์ในการฝึกอบรม" ของจำเลยที่ 1 ก็ได้ดำเนินการตามขั้นตอนดังกล่าว จึงย่อมจะเป็นเหตุให้จำเลยที่ 2 ไม่อาจทราบในเบื้องต้นได้ว่าหนังสือดังกล่าวเป็นหนังสือที่เขียนขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ ส่วนการจำหน่ายและเผยแพร่ต่อสาธารณชนในระยะต่อมานั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 รู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่าหนังสือดังกล่าวจำเลยที่ 1 เขียนขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมของโจทก์ แล้วจำหน่ายหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งหนังสือดังกล่าวเพื่อการค้า การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมของโจทก์ ตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 31 (1) และ (2)
ข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 นั้น ประกอบด้วยหลักเกณฑ์ 3 ประการ คือ (1) เป็นการกระทำต่าง ๆ ตามที่มาตรา 32 วรรคสอง ถึงมาตรา 33 บัญญัติไว้ (2) การกระทำนั้นต้องไม่ขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามปกติของเจ้าของลิขสิทธิ์ และ (3) การกระทำนั้นต้องไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควร แม้จำเลยที่ 1 จะเขียนหนังสือ "กลยุทธ์ในการฝึกอบรม" เพื่อใช้เป็นเอกสารประกอบการสอนและเป็นผลงานทางวิชาการที่จำเลยที่ 1 ใช้ประกอบการพิจารณาขอรับการแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ อันอาจถือได้ว่าเป็นการวิจัยงานหรือทำซ้ำและดัดแปลงโดยผู้สอนเพื่อแจกจ่ายแก่ผู้เรียนในชั้นเรียนหรือในสถาบันการศึกษาโดยไม่ได้หากำไร ซึ่งเข้าข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ตามมาตรา 32 วรรคสอง (1) และ (7) แห่ง พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ก็ตาม แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำถึงขั้นจัดพิมพ์เพื่อจำหน่ายแก่บุคคลทั่วไปเพื่อหากำไร การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เข้าข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ดังกล่าว
การคัด ลอก เลียน หรืออ้างอิงงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นอันอาจเข้าข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ตามมาตรา 33 แห่ง พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 จะต้องปรากฏว่าเป็นการกระทำแก่งานอันมีลิขสิทธิ์บางตอนตามสมควร และมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น แม้จะปรากฏว่าจำเลยที่ 1 จะคัด ลอก หรือเลียนงานวรรณกรรมของโจทก์จำนวนประมาณ 30 หน้า จากจำนวนทั้งหมดประมาณ 150 หน้า อันอาจถือได้ว่าเป็นงานบางตอนก็ตาม แต่ปรากฏว่าการนำงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์มาบางตอนดังกล่าวล้วนเป็นส่วนของเนื้อหาสาระที่สำคัญ และมีปริมาณงานเป็นจำนวนมาก จึงถือได้ว่าเป็นการคัด ลอก หรือเลียนงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเกินสมควร
หนังสือ "กลยุทธ์ในการฝึกอบรม" ของจำเลยที่ 1 เป็นหนังสือคำอธิบายเกี่ยวกับการฝึกอบรม จัดอยู่ในหนังสือประเภทขนาด 8 หน้ายก ซึ่งจำเลยที่ 1 สามารถที่จะแสดงการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ของโจทก์ได้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการทำเชิงอรรถหรือกล่าวถึงเจ้าของลิขสิทธิ์ เมื่อจำเลยที่ 1 นำข้อความของงานนั้นมาเขียนไว้ในหนังสือของจำเลยที่ 1 ดังที่จำเลยที่ 1 ได้กระทำแล้วในส่วนอื่น ๆ ของหนังสือดังกล่าว การที่จำเลยที่ 1 เพียงแต่อ้างอิงถึงชื่อโจทก์และบุคคลอื่นพร้อมงานเขียนรวม 26 รายการ ไว้ในหัวข้อเอกสารอ้างอิงที่ท้ายเล่มในกรณีเช่นนี้ ผู้อ่านย่อมไม่สามารถที่จะทราบได้ว่าข้อความส่วนใดของงานดังกล่าวเป็นงานเขียนของโจทก์ซึ่งจำเลยที่ 1 คัดลอกมา จึงยังไม่เป็นการเพียงพอที่จะถือได้ว่าเป็นการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ของโจทก์ อันจะถือได้ว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เข้าหลักเกณฑ์ประการแรกของข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ตามมาตรา 33 แห่ง พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537
เมื่อจำเลยที่ 1 จัดทำหนังสือซึ่งมีลักษณะทำนองเดียวกับงานที่โจทก์สร้างสรรค์ขึ้นออกจำหน่าย จึงเป็นการแบ่งตลาดของผู้บริโภคซึ่งจะซื้อหนังสือประเภทดังกล่าวออกไปส่วนหนึ่ง อันเป็นการขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามปกติของโจทก์และกระทบกระเทือนถึงสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของโจทก์เกินสมควร การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์สองประการหลังของข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ ตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 32 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5607/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแย่งการครอบครองและอายุความฟ้องคดี การบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะการยึดถือ
บ. บิดาโจทก์ได้แบ่งที่ดินให้ ว. มารดาจำเลยเข้าอยู่อาศัยและการที่ ว. ได้ยื่นคำคัดค้านต่อเจ้าพนักงานที่ดินภายหลังจาก บ. ได้ขอรังวัดที่ดินเพื่อออกโฉนดว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ที่ดินของ บ. ผู้ขอออกโฉนด แต่เป็นที่ดินของ ว. ได้ครอบครองมาเป็นเวลากว่า 30 ปีแล้ว การคัดค้านของ ว. เป็นการโต้แย้งสิทธิซึ่งถือว่า บ. ได้ทราบแล้วพฤติการณ์ของ ว. เป็นการเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือว่าไม่มีเจตนาจะยึดถือที่พิพาทแทน บ. ต่อไปอีก และ ว. ได้ถือสิทธิครอบครองที่พิพาท เพื่อตนเองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1381 ต่อมา บ. ได้ถึงแก่กรรม โจทก์ได้ขอเป็นผู้จัดการมรดกและได้เข้าสวมสิทธิการดำเนินการขอออกโฉนดที่ดิน ว. กับพวกได้คัดค้านการออกโฉนดที่ดิน แสดงให้เห็นว่า ว. ซึ่งในขณะนั้นเป็นผู้ครอบครองที่พิพาทตลอดมายืนยันว่าตนเองมีกรรมสิทธิ์ในที่พิพาท และในการที่ ว. ถอนคำคัดค้านก็เนื่องจากเจ้าพนักงานที่ดินแจ้งให้ทราบว่าได้มีประกาศสำนักงานที่ดิน หากไม่ถอนคำคัดค้านจะถูกฟ้องร้อง เมื่อ ว. ยังครอบครองที่พิพาทอยู่และได้คัดค้านการรังวัดที่ดินเพื่อออกโฉนดของโจทก์ต่อไปอีก จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิและเป็นการที่ ว. เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือเป็นของตนตั้งแต่ได้ยื่นคำร้องคัดค้านแล้ว หลังจากนั้น ว. ยกที่พิพาทให้จำเลยและจำเลยได้ร้องคัดค้านการออกโฉนดที่ดินของโจทก์ การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องเรียกคืนการครอบครองที่พิพาทเกินกว่า 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์ถูกแย่งการครอบครอง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3785/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้ำ: คดีเดิมพิพากษาถึงที่สุดแล้ว การฟ้องใหม่โดยอ้างข้อตกลงใหม่จึงเป็นเรื่องที่เคยวินิจฉัยแล้ว
คดีก่อนจำเลยฟ้องโจทก์ว่า โจทก์ทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทจากจำเลย ต่อมาจำเลยบอกเลิกสัญญาเช่าแล้วแต่โจทก์ไม่ยอมส่งมอบที่ดินพิพาทคืนแก่จำเลย ศาลพิพากษาให้โจทก์และบริวารออกไปจากที่ดินพิพาทและส่งมอบที่ดินพิพาทคืนแก่จำเลยในสภาพเรียบร้อย คดีถึงที่สุด และอยู่ในระหว่างการบังคับคดี การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ขอให้ห้ามจำเลยเข้ามารบกวนการครอบครองที่ดินพิพาท โดยอ้างว่าจำเลยยังมีสิทธิอยู่ในที่ดินพิพาทต่อไปเนื่องจากโจทก์และจำเลยได้มีข้อตกลงการเช่าที่ดินพิพาทกันขึ้นมาใหม่โดยไม่มีกำหนดระยะเวลาการเช่าและไม่มีสัญญาเช่าระหว่างกันนั้น โจทก์มิได้ขอให้บังคับจำเลยตามข้อตกลงการเช่าที่ดินพิพาทที่โจทก์อ้างแต่อย่างใด เพียงแต่ขอให้ห้ามจำเลยเข้ามารบกวนการครอบครองที่ดินพิพาทเท่านั้น จึงเห็นได้ว่าเป็นการที่โจทก์ยกข้ออ้างขึ้นมาเพื่อไม่ให้โจทก์ต้องถูกบังคับคดีในคดีก่อนนั่นเอง ข้อตกลงการเช่าใหม่ตามข้ออ้างของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องมาจากสัญญาเช่าในคดีก่อนซึ่งศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วว่าการบอกเลิกสัญญาเช่าที่ดินพิพาทของจำเลยเป็นการชอบแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะอยู่ในที่ดินพิพาทต่อไป ให้ขับไล่โจทก์พร้อมบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท การที่โจทก์กลับมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ถือได้ว่าเป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน จึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อน.
of 18