คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
การรับเงิน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 8 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3227/2542 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ละเมิดอำนาจศาล: การเรียกรับเงินเพื่อวิ่งเต้นคดี ไม่ถึงขั้นประพฤติตนไม่เรียบร้อยในศาลหากไม่เกิดขึ้นในบริเวณศาล
ผู้ถูกกล่าวหาเรียกและรับเงินจากผู้กล่าวหาและจำเลยเพื่อนำไป วิ่งเต้นพนักงานอัยการและเจ้าพนักงานตำรวจกองพิสูจน์หลักฐานกรมตำรวจโดยไม่ปรากฏว่าจะนำเงินไปให้ผู้พิพากษาเพื่อเป็นอามิสสินจ้างในการดำเนินคดีในศาล และไม่ปรากฏว่ามีการมอบเงินให้แก่ผู้ถูกกล่าวหาในบริเวณศาลแม้การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาจะมีจุดมุ่งหมายให้เกิดผลแก่การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาล แต่เมื่อการกระทำของผู้ถูกกล่าวหามิได้เกิดขึ้นในบริเวณศาลแล้ว จะอาศัยแต่ผลจากการกระทำที่อาจก่อให้ เกิดผลเสียหายแก่รูปคดีมาชี้ขาดว่าผู้ถูกกล่าวหาประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลไม่ได้
เมื่อพยานหลักฐานในชั้นไต่สวนของศาลชั้นต้นไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังว่าผู้ถูกกล่าวหาประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกาย่อมพิพากษาให้มีผลไปถึงผู้ถูกกล่าวหาอื่นที่มิได้อุทธรณ์ฎีกาได้ด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 213 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4686/2540

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การนำสืบพยานบุคคลโต้แย้งการรับเงินในสัญญากู้ยืม และประเด็นการยกข้อกฎหมายใหม่ในชั้นฎีกา
แม้ว่าในชั้นอุทธรณ์โจทก์จะมิได้ยกข้อกฎหมายเรื่องห้ามนำสืบพยานบุคคลเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข) ขึ้นว่ากล่าวไว้ในคำฟ้องอุทธรณ์แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน โจทก์จึงยกขึ้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคสอง และเมื่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 650 วรรคสอง ระบุว่าสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ยืม การกู้ยืมเงินเข้าลักษณะยืมใช้สิ้นเปลือง ดังนั้นที่จำเลยนำสืบว่าไม่ได้รับเงินตามสัญญากู้ยืมเงินย่อมเป็นเหตุให้สัญญากู้ยืมเงินไม่บริบูรณ์ทั้งไม่มีมูลหนี้เงินกู้ระหว่างโจทก์จำเลย การที่จำเลยนำพยานบุคคลมาสืบว่าสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวไม่มีมูลหนี้เพราะจำเลยไม่ได้รับเงิน จำเลยไม่ต้องรับผิดตามสัญญากู้ยืมเงินต่อโจทก์ จำเลยย่อมนำสืบได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 วรรคสอง หาต้องห้ามตามกฎหมายไม่
เมื่ออุทธรณ์โจทก์ไม่มีประเด็นว่า ว. เป็นตัวแทนจำเลยและเป็นผู้รับเงินไปจากโจทก์ แม้โจทก์จะอ้างประเด็นดังกล่าวไว้ในคำแถลงการณ์ในชั้นอุทธรณ์ แต่คำแถลงการณ์ไม่ใช่คำฟ้องอุทธรณ์โจทก์จะตั้งประเด็นในชั้นอุทธรณ์ตามคำแถลงการณ์ไม่ได้ ดังนั้น ที่โจทก์ฎีกาว่า ว. เป็นตัวแทนจำเลยและเป็นผู้รับเงินไปจากโจทก์ จำเลยจึงต้องชำระหนี้แก่โจทก์จึงเป็นเรื่องที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 2 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7029/2539

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เอกสารรับเงินพร้อมลายมือชื่อ ถือเป็นหลักฐานการกู้ยืมได้ หากจำเลยไม่โต้แย้งการรับเงินและไม่มีเหตุไม่ต้องรับผิด
ใบรับเงินพิมพ์เป็นตัวอักษรภาษาอังกฤษทั้งหมดมีชื่อบริษัทโจทก์ที่หัวกระดาษถัดลงมาเป็นช่องจ่ายให้แก่ใครซึ่งได้กรอกชื่อจำเลยถัดลงมาเป็นช่องCREDITA/CCODEDATE4-12-92ถัดลงมาเป็นช่องกรอกรายการและจำนวนเงินมีกรอกรายการเป็นอักษรภาษาไทยว่า"ได้รับเงินแล้วจำนวน"และกรอกจำนวนเงินเป็นตัวอักษรและตัวเลขว่า"สามแสนบาทถ้วน"และ"300,000"มุมล่างด้านขวามือมีช่องสำหรับลงชื่อผู้รับเงินมีลายเซ็นผู้รับเงินปรากฎอยู่ในช่องดังกล่าวซึ่งคำฟ้องระบุว่าจำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อรับเงินจำเลยมิได้ให้การปฏิเสธในข้อนี้ข้อความในเอกสารดังกล่าวจึงเป็นหลักฐานว่าจำเลยได้รับเงินไปจากโจทก์จำนวน300,000บาทโจทก์ฟ้องว่าจำเลยกู้เงินจำนวนนี้ไปจากโจทก์จำเลยให้การแต่เพียงว่าจำเลยไม่ได้กู้เงินโจทก์โดยไม่ปรากฎข้อต่อสู้ว่าเหตุใดจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระเงินดังกล่าวคืนโจทก์ถือได้ว่าจำเลยมีหนี้ที่จะต้องชำระเงินจำนวนดังกล่าวคืนให้โจทก์จึงถือได้ว่าเอกสารดังกล่าวเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2104/2535

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปฏิเสธการรับเงินกู้ยืมและการมีอยู่จริงของสัญญากู้ยืม ศาลต้องวินิจฉัยประเด็นนี้
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินที่กู้ยืมไป จำเลยให้การว่าจำเลยไม่ได้รับเงินตามสัญญากู้ยืมเงินจากโจทก์ เป็นคำให้การที่ชัดแจ้งว่า จำเลยปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ว่าสัญญากู้ยืมเงินไม่บริบูรณ์เพราะโจทก์ไม่ส่งมอบเงินที่ยืม คดีจึงมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยในปัญหาดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2622/2530 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจทนายรับเงินตามสัญญาประนีประนอมยอมความ: การมอบหมายโดยปริยายและการผูกพันตามกฎหมาย
ทนายโจทก์มีอำนาจทำสัญญาประนีประนอมยอมความแทนโจทก์ได้และปรากฏในสัญญาประนีประนอมยอมความว่าจำเลยได้ชำระเงินงวดแรกให้แก่โจทก์ต่อหน้าศาลในวันทำสัญญา เมื่อโจทก์ไม่มาศาลในวันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อสัญญายอมเช่นนี้ย่อมชี้ ให้เห็นเจตนาของโจทก์ และทนายโจทก์ชัดแจ้งแล้วว่าตัวโจทก์ได้มอบหมายให้ทนายโจทก์รับเงินงวดแรกที่จำเลยชำระต่อหน้าศาลด้วย ถือได้ว่าโจทก์ได้มอบหมายให้ทนายโจทก์รับเงินงวดแรกแทนโจทก์ด้วย การรับเงินในกรณีเช่นนี้กฎหมายมิได้บังคับว่าจะต้องทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือ ทั้งไม่ใช่การรับเงินจากศาลอันจะต้องทำเป็นหนังสือตาม ป.วิ.พ. มาตรา 63 การที่จำเลยชำระเงินงวดแรกให้แก่ทนายโจทก์ต่อหน้าศาลเช่นนี้จึงผูกพันโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1293/2502 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยักยอกทรัพย์ทางราชการ: ฟ้องไม่เคลือบคลุมแม้รายละเอียดการรับเงินและยักยอกไม่ชัดเจน
คดีมีความผิดฐานใช้อำนาจและตำแหน่งหน้าที่ในทางทุจริตยักยอกทรัพย์ความว่า จำเลยได้รับเงินผลประโยชน์ไว้ตามหน้าที่ราชการในระหว่างวันที่ 31 ธันวาคม 2495 ถึงวันที่ 1 กรกฎาคม 2497 รวมเป็น 219,310 บาท 95 สตางค์ แล้วในระหว่างนั้นเวลากลางวัน จำเลยได้ยักยอกเอาไว้เป็นประโยชน์ตนเองเสีย 2,357 บาท 89 สตางค์ จำเลยจะได้รับเงินกี่คราวและวันไหนบ้างเป็นรายละเอียดปลีกย่อยซึ่งโจทก์อาจไม่อยู่ในวิสัยที่จะจำแนกให้ปรากฏได้ และจำเลยจะยักยอกเอาเงิน 2,357 บาท 89 สตางค์นั้นไปกี่คราว วันไหนบ้าง เป็นรายละเอียดที่โจทก์อาจไม่อยู่ในวิสัยที่จะจำแนกได้เช่นเดียวกัน ดังนี้ ฟ้องของโจทก์หาเคลือบคลุมไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1269/2499 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อจำกัดการต่อสู้คดีและการกู้ยืมเงินของบริษัท การกู้ยืมเงินไม่เกินวัตถุประสงค์
โจทก์ฟ้องเรียกเงินกู้ซึ่งตามสัญญามีข้อความชัดว่าผู้กู้ได้รับเงินไปแล้วจำเลยต่อสู้เพียงว่าไม่ได้รับเงินไป เหตุใดจึงไม่มีการรับเงินอันจะทำให้สัญญาหรือหนี้ที่ระบุไว้ไม่สมบูรณ์ จำเลยหาได้กล่าวอ้างอย่างใดไม่ ดังนี้จำเลยจะขอนำสืบไม่ได้ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ.ม.94
ในวัตถุประสงค์ของบริษัทข้อ 11 ระบุไว้ว่า "ฯลฯทำการนำทรัพย์สินของบริษัทที่มีอยู่ทั้งหมดหรือบางส่วน ฯลฯ จำนำ จำนอง เอาค้ำประกันจำหน่ายไปหมุนส่งเป็นตัวเงินหรือจัดการอย่างใดก็ได้สุดแต่บรีษัทจะเห็นสมควร " ดังนี้เมื่อการกู้ยืมโดยเอาทรัพย์สินของบริษัทมอบไว้หรือตราไว้เป็นประกันเงินกู้ซึ่งเรียกว่าจำนำหรือจำนองไว้แล้ว และการกู้ยืมธรรมดาซึ่งทรัพย์สินของบริษัทจะต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้โดยสิ้นเชิงย่อมเป็นที่เห็นได้ชัดว่าอยู่ในอำนาจของบริษัทที่จะทำได้การกู้เช่นนี้จึงไม่เป็นการนอกวัตถุประสงค์ของบริษัทจำเลย
ฎีกาที่ 246/2485,799/2493,1111/2496

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4539/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความสัญญากู้ยืมเงินกรุงไทยธนวัฏ และการพิสูจน์การรับเงิน
ข้อตกลงตามสัญญากู้กรุงไทยธนวัฏเป็นเรื่องที่โจทก์ให้จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินจากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ที่เปิดไว้กับโจทก์และจำเลยที่ 1 ยอมเสียดอกเบี้ยให้โจทก์ จำเลยที่ 1 จะถอนเงินกู้จากบัญชีเงินฝากดังกล่าววันใดก็ได้ จำนวนเท่าใดก็ได้ แต่ต้องไม่เกินวงเงินที่โจทก์และจำเลยตกลงกัน โดยจำเลยที่ 1 จะใช้สมุดบัญชีเงินฝากในการถอนเงินหรือใช้บัตรกรุงไทยเอทีเอ็มที่โจทก์ออกให้จำเลยที่ 1 ถอนเงินจากเครื่องถอนเงินอัตโนมัติก็ได้ จำเลยที่ 1 มีเงินเดือนเข้าฝากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ดังกล่าวทุกเดือน เมื่อมีเงินเดือนเข้าฝาก โจทก์จะหักกลบกับเงินที่จำเลยที่ 1 ถอนไป หากจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ โจทก์จะคิดดอกเบี้ยภายในวันสิ้นเดือน ข้อสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เช่นนี้ ไม่ใช่กรณีโจทก์ออกเงินทดรองไปก่อนแล้วเรียกเก็บเงินจากจำเลยที่ 1 ภายหลัง แต่เป็นกรณีที่กฎหมายไม่ได้กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30