คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
การล้มละลาย

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 9 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4481/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การดำเนินคดีอาญาของผู้ถูกพิทักษ์ทรัพย์: เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ต้องดำเนินคดีแทน
กฎหมายล้มละลายเพียงบัญญัติมิให้บุคคลที่ถูกพิทักษ์ทรัพย์ ดำเนินคดีในทางแพ่งด้วยตนเอง แต่ไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติว่าบุคคลที่ถูกพิทักษ์ทรัพย์ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เข้ามาดำเนินคดีในทางอาญาแทนบุคคลที่ถูกพิทักษ์ทรัพย์ โดยเฉพาะกฎหมายล้มละลายมิได้คุ้มครองให้ผู้กระทำผิดอาญา นั้นพ้นผิดไปด้วย จำเลยได้ร่วมสั่งจ่ายเช็คพิพาทให้โจทก์เพื่อชำระหนี้ และธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คโดยการกระทำผิดของจำเลยเกิดขึ้นก่อนจะถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ไม่เกี่ยวข้องกับ การถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในภายหลัง ดังนี้ แม้ในการ ต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์จำเลยไม่มีเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เข้ามาดำเนินคดีแทน การดำเนินกระบวนพิจารณาในชั้นอุทธรณ์ ก็ชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 136/2540 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยกเลิกการล้มละลายและการหลุดพ้นหนี้ภาษีอากร: ศาลสั่งยกเลิกการล้มละลายตาม ม.135(3) ทำให้ลูกหนี้หลุดพ้นหนี้ทั้งหมด
ตาม ป.รัษฎากรอันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับแก่โจทก์ขณะเกิดมูลกรณีนี้ ผู้มีเงินได้มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้จากเงินได้พึงประเมินที่ได้รับในระหว่างปีภาษีที่ล่วงมาแล้วภายในเดือนมีนาคมทุก ๆ ปี และต้องยื่นแบบรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินภายในกำหนดดังกล่าวด้วย ส่วนผู้ประกอบการค้าตามบัญชีอัตราภาษีการค้ามีหน้าที่ต้องเสียภาษีการค้าจากรายรับของตนทุกเดือนภาษี และต้องยื่นแบบแสดงรายการการค้าทุกเดือนภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป ดังนี้ แสดงว่ามูลหนี้ค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของแต่ละปีได้เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนมีนาคมของปีถัดไปส่วนมูลหนี้ค่าภาษีการค้าก็ได้เกิดขึ้นแล้วทุกเดือนภาษี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลาให้ยื่นแบบแสดงรายการการค้า มูลหนี้ค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของโจทก์สำหรับปี2521 และปี 2522 จึงเกิดขึ้นตั้งแต่เดือนมีนาคม 2522 และเดือนมีนาคม 2523ตามลำดับ ส่วนมูลหนี้ค่าภาษีการค้าของโจทก์สำหรับเดือนกันยายนและตุลาคม 2521ก็เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 15 ของเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน 2521 ตามลำดับ การที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการไม่ถูกต้อง และเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1ได้เรียกตรวจสอบไต่สวน แล้วทำการประเมินตามแบบแจ้งการประเมินเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.3 และแจ้งไปยังโจทก์ในภายหลัง ซึ่งโจทก์ได้อุทธรณ์การประเมินและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ เป็นเรื่องให้โจทก์ชำระค่าภาษีอากรที่เกิดขึ้นแล้วให้ถูกต้องครบถ้วน หาใช่มูลหนี้ค่าภาษีเงินได้บุคคล-ธรรมดาและภาษีการค้าดังกล่าวเพิ่งเกิดขึ้น เมื่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัย หรือเจ้าพนักงานประเมินได้แจ้งการประเมิน
แม้ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 136 จะมิได้บัญญัติถึงผลของการยกเลิกการล้มละลาย ตามมาตรา 135 (3) และ (4) เอาไว้ แต่เมื่อพิจารณาถ้อยคำในมาตรา 135 (3) และ (4) ก็เห็นได้ว่าเมื่อศาลมีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายด้วยเหตุตามอนุมาตราดังกล่าวแล้ว ลูกหนี้ย่อมหลุดพ้นหนี้สินไปทั้งหมดกรณีจึงไม่อาจนำมาตรา 77 ซึ่งเป็นบทบัญญัติเรื่องผลของการปลดจากการล้มละลายมาใช้บังคับได้ ไม่จำต้องวินิจฉัยว่าโจทก์มีพฤติการณ์ฉ้อฉลภาษีหรือไม่อีกต่อไป
เมื่อศาลมีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายตามมาตรา 135 (3)โจทก์จึงหลุดพ้นจากหนี้สินทั้งหมด ซึ่งรวมทั้งหนี้ภาษีอากรตามฟ้อง จำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจสั่งยึดหรืออายัดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของโจทก์นำเงินมาชำระหนี้ค่าภาษีอากรตาม ป.รัษฎากร มาตรา 12

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 697/2538 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในการเพิกถอนการขายทอดตลาด: ผู้ร้องต้องมีส่วนได้เสียโดยตรงจากการกระทำนั้น จึงจะสามารถร้องขอเพิกถอนได้
การที่ผู้ร้องร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์โดยอ้างว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้คัดค้านได้ขายทอดตลาดทรัพย์ไปในราคาที่ต่ำกว่าที่ควรจะขายได้ โดยไม่พิจารณาว่าราคาที่ผู้เข้าสู้ราคาเสนอซื้อเป็นราคาที่เหมาะสมหรือไม่ ทำให้ผู้ร้องตลอดจนเจ้าหนี้ทั้งหลายเสียหายได้รับชำระหนี้ตามส่วนเฉลี่ยลดน้อยลง และผู้คัดค้านไม่ได้แจ้งให้ผู้ร้องทราบซึ่งวันขายทอดตลาดเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย เท่ากับเป็นการกล่าวอ้างว่าผู้ร้องได้รับความเสียหายโดยการกระทำของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483มาตรา 146
ผู้ร้องมิใช่เจ้าหนี้ยื่นขอรับชำระหนี้ในคดีนี้ หากแต่เป็นเจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายอื่นของศาลชั้นต้น และแม้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของผู้ล้มละลายในคดีอื่นดังกล่าวได้นำหนี้ที่เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ไว้ในคดีอื่นดังกล่าวทั้งหมดนั้นมาขอรับชำระหนี้ในคดีนี้ไว้ ซึ่งศาลมีคำสั่งถึงที่สุดให้ได้รับชำระหนี้แล้วก็ตามก็ถือไม่ได้ว่าผู้ร้องมีส่วนได้เสียในการขายทอดตลาดของผู้คัดค้านในอันที่จะได้รับความเสียหายโดยการกระทำของผู้คัดค้าน ผู้ร้องไม่มีสิทธิร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์ของผู้คัดค้านในคดีนี้ได้ และปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้แม้ไม่มีฝ่ายใดยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3584/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจ้าหนี้ผู้ได้รับชำระหนี้มีสิทธิขอให้ยกเลิกการล้มละลายได้ตามกฎหมาย
ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ที่ศาลสั่งอนุญาตให้ได้รับชำระหนี้แล้วก็มีสิทธิขอให้ศาลสั่งยกเลิกการล้มละลายได้ในฐานะเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 135

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2565/2533 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจตัวแทน, สัญญาค้ำประกัน, การล้มละลาย: การรับผิดของจำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันเมื่อบริษัทมอบอำนาจให้ตัวแทนทำสัญญา
บริษัท ค.ตกลงมอบอำนาจให้จำเลยหรือท. คนใดคนหนึ่งลงนามพร้อมประทับตราสำคัญของบริษัทดำเนินกิจการต่าง ๆ แทนบริษัทได้ ดังนั้น การที่ ท. แต่ผู้เดียวลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัท ค. ในสัญญาโอนขายลดเช็คที่ทำไว้กับโจทก์จึงเป็นการกระทำ ในฐานะตัวแทนของบริษัท เมื่อสัญญาโอนขายลดเช็คไม่มีข้อจำกัด ว่าเช็คที่บริษัท ค. นำมาขายลดให้แก่โจทก์จะต้องเป็นเช็คลูกค้าของบริษัทเท่านั้น และตามสัญญาค้ำประกันที่จำเลยทำไว้กับโจทก์ก็ระบุความรับผิดของจำเลยรวมถึงหนี้ตามเช็คของบุคคลอื่นที่บริษัท ค. ได้นำมาขายลดแก่โจทก์ด้วย จำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกัน ซึ่งบริษัท ค. เป็นหนี้โจทก์อยู่ 2 ล้านบาทเศษ จำเลยมิได้คัดค้านการนำสืบสำเนาภาพถ่ายเช็คและบอกกล่าวไปยังโจทก์ก่อนวันสืบพยาน จำเลยจึงต้องห้ามมิให้คัดค้านการมีอยู่และความแท้จริงหรือความถูกต้องแห่งสำเนาเอกสารนั้นตาม ป.วิ.พ.มาตรา 125 ศาลมีอำนาจรับฟังสำเนาเอกสารดังกล่าวได้ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าถือไม่ได้ว่าบริษัท ค. ได้ทำสัญญาโอนขายลดเช็คกับโจทก์เพราะ ท. แต่เพียงผู้เดียวไม่มีอำนาจ ซึ่งปัญหานี้โจทก์ได้กล่าวโต้แย้งไว้ในคำแก้อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์จึงมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ หาจำต้องฟังข้อเท็จจริงตามศาลชั้นต้นไม่ โจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้แล้ว จำเลยบอกให้รอไปก่อนแต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้แจ้งแก่โจทก์ว่าไม่สามารถชำระหนี้ได้จึงยังไม่เข้าข้อสันนิษฐานว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว อย่างไรก็ตามปรากฏว่าจำเลยมีทรัพย์สินเฉพาะที่ดินพร้อมด้วยอาคารอันเป็นที่ตั้งบริษัท ค. ซึ่งติดจำนองอยู่เป็นเงิน 2,500,000 บาทที่ดินและอาคารดังกล่าวราคาประมาณ 5,000,000 บาท และเป็นสินสมรส เมื่อบังคับใช้หนี้จำนองแล้ว ส่วนที่เหลือจำเลยในฐานะสามีย่อมมีส่วนเป็นเจ้าของเพียงครึ่งหนึ่งคือไม่เกิน 1,250,000 บาทซึ่งน้อยกว่าจำนวนหนี้ตามสัญญาค้ำประกันที่จำเลยต้องชำระแก่โจทก์จึงถือได้ว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวแล้ว ศาลชอบที่จะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดได้.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1196/2524

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยกเลิกการล้มละลายหลังชำระหนี้: ศาลไม่ต้องพิจารณาประนอมหนี้ก่อนล้มละลายอีก
เมื่อศาลได้มีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายโดยหนี้สินของบุคคลล้มละลายได้ชำระเต็มจำนวนแล้ว ย่อมมีผลให้บุคคลผู้นั้นหลุดพ้นจากการล้มละลาย จึงไม่มีประโยชน์ที่ศาลจะพิพากษาเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ก่อนล้มละลายอีกต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 295/2518 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การให้กู้ยืมเงินแก่ลูกหนี้ที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิเรียกร้องหนี้
คดีได้ความว่า เมื่อลูกหนี้กู้ครั้งแรก จำนวนเงิน 21,000 บาทนั้น ลูกหนี้ได้ออกเช็คฉบับหนึ่งให้ไว้อีกด้วย ต่อมาเช็คฉบับนั้นขึ้นเงินไม่ได้เจ้าหน้าที่จึงคืนเช็คนั้นให้แก่ลูกหนี้ไปโดยมิได้รับชำระหนี้เลย ต่อมาอีกประมาณ 1 ปีเศษ ลูกหนี้ที่ 2 ได้ขอกู้เงินเพิ่มอีก 19,000 บาท เจ้าหนี้ก็ให้กู้ไป ต่อมากู้อีก 15,000 บาท เจ้าหนี้ให้กู้ไปอีกซึ่งลูกหนี้ก็ออกเช็คให้ไว้ทั้งสองคราวโดยไม่ลงวันที่ จะออกเช็คเมื่อไรและกู้กันเมื่อไร เจ้าหนี้ก็จำวันไม่ได้ทั้ง ๆ ที่เงินกู้ครั้งแรกยังไม่ได้รับชำระ นอกจากนี้ยังมีเจ้าหนี้อื่นอีกมากมายซึ่งลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้จนถูกฟ้องเป็นบุคคลล้มละลาย พฤติการณ์แสดงว่าเจ้าหนี้ให้ลูกหนี้กู้ยืมเงิน 2 คราวหลังนี้เจ้าหนี้ยอมให้ลูกหนี้กระทำขึ้นเมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ถึงการที่ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวแล้วเจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธิขอรับชำระหนี้จำนวนเงิน 34,000 บาทนี้ได้ ตามมาตรา 94(2) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1534/2508

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินที่ได้มาจากการจัดสรร โดยผู้รับโอนรู้ว่าเป็นทรัพย์สินของบริษัทผู้ล้มละลาย
การที่บริษัทจำเลยผู้ล้มละลายใช้วิธีลงชื่อบุคคลอื่นเป็นเจ้าของในโฉนดที่ดินที่ผู้ล้มละลายซื้อมา เพื่อจัดสรรแบ่งขายต่อไป เมื่อพฤติการณ์ทั้งหลายส่อแสดงว่าผู้คัดค้านรับโอนที่ดินดังกล่าวไว้โดยรู้ดีว่าเป็นทรัพย์สินของบริษัทผู้ล้มละลาย มิใช่ทรัพย์สินส่วนตัวของลูกหนี้ของตนแล้วเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัทผู้ล้มละลายย่อมขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนขายที่ดินนั้นได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1748/2498 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขอให้ยกเลิกการล้มละลายก่อนมีคำพิพากษา ศาลเห็นว่าไม่มีการล้มละลายเกิดขึ้น จึงไม่สามารถยกเลิกได้
ลูกหนี้ซึ่งถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด แล้วแต่ศาลยังมิได้พิพากษาให้ล้มละลายนั้น จะร้องขอให้สั่งยกเลิกการล้มละลายเสียตาม มาตรา 135(2) โดยอ้างเหตุว่าไม่ควรถูกพิพากษาให้ล้มละลายนั้นไม่ได้ เพราะยังไม่มีการล้มละลายอย่างใดที่จะยกเลิก