คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
การหักภาษี

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4987/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีเงินได้และภาษีการค้าจากรายได้จากการฉายภาพยนตร์ต่างประเทศ และการหักภาษี ณ ที่จ่าย
โจทก์ซึ่งเป็นบริษัทต่างประเทศมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองฮ่องกงและมีสำนักงานสาขาในประเทศไทยทำสัญญากับบริษัท ย. จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทต่างประเทศมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ประเทศอังกฤษและไม่ได้ประกอบกิจการในประเทศไทย และเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ต่างประเทศจำนวนมาก โดยมีข้อตกลงให้โจทก์นำภาพยนตร์ของบริษัท ย. จำกัด มาฉายในประเทศไทย เมื่อโจทก์นำฟิล์มภาพยนตร์เข้ามาในประเทศไทยแล้ว โจทก์ต้องจ้างบุคคลภายนอกทำก๊อปปี้ฟิล์มภาพยนตร์เพื่อนำไปฉายในโรงภาพยนตร์ได้หลายแห่งในเวลาเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน ฟิล์มภาพยนตร์ที่โจทก์ส่งไปฉายยังโรงภาพยนตร์ต่าง ๆ จึงเป็นทรัพย์สินของโจทก์ เมื่อโจทก์ซึ่งไม่ใช่เจ้าของลิขสิทธิ์ในงานภาพยนตร์นำฟิล์มภาพยนตร์นั้นไปให้เจ้าของโรงภาพยนตร์ในกรุงเทพมหานครฉายให้คนดู โดยเจ้าของโรงภาพยนตร์มีรายรับจากการจำหน่ายตั๋วเข้าชมภาพยนตร์และตกลงแบ่งรายรับกันระหว่างโจทก์กับเจ้าของโรงภาพยนตร์ ถือเป็นการให้เจ้าของโรงภาพยนตร์ได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ในฟิล์มภาพยนตร์ในชั่วระยะเวลาอันจำกัด และเจ้าของโรงภาพยนตร์แบ่งรายรับให้โจทก์จึงเป็นการให้เช่าทรัพย์สิน โจทก์จึงเป็นผู้ประกอบการค้า ประเภทการค้า 5 การให้เช่าทรัพย์สิน มีหน้าที่เสียภาษีการค้า (วินิจฉัยตามแนวฎีกาที่ 1817-1818/2516)
การที่บริษัท ย. จำกัด ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์งานภาพยนตร์อนุญาตให้โจทก์นำภาพยนตร์ที่รับมาจากต่างประเทศเข้ามาฉายในประเทศไทย ค่าเช่าหรือค่าตอบแทนที่บริษัท ย. จำกัด ได้รับจากโจทก์ในประเทศไทยจึงเป็นค่าตอบแทนการใช้สิทธิในงานอันมีลิขสิทธิ์ ถือเป็นค่าแห่งลิขสิทธิ์ ตาม ป. รัษฎากร มาตรา 40 (3) ซึ่งตาม ป. รัษฎากร มาตรา 70 (2) ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น มิให้หักค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น ดังนั้น บริษัท ย. จำกัด จึงต้องเสียภาษีโดยให้โจทก์หักภาษี ณ ที่จ่าย จากเงินได้พึงประเมินที่จ่าย ตาม ป. รัษฎากร มาตรา 70 (2) ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6402/2544 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขายอาคารบนที่ดินเช่าและผลกระทบต่อการหักภาษีซื้อมูลค่าเพิ่ม
โจทก์ประกอบกิจการห้างสรรพสินค้าและให้เช่าพื้นที่อาคารของห้างสรรพสินค้า โจทก์ได้ปลูกสร้างอาคารสรรพสินค้าด้วยสัมภาระของโจทก์บนที่ดินที่โจทก์ทำสัญญาเช่าจากกรมการศาสนา โดยโจทก์ตกลงยอมยกกรรมสิทธิ์สิ่งที่นำมาปรับปรุงปลูกสร้างบนที่ดินดังกล่าวให้ตกเป็นของกรมการศาสนาทันทีเพื่อให้เป็นทรัพย์สินส่วนควบตามสัญญาเช่า บรรดาสิ่งที่นำมาปรับปรุงปลูกสร้างในสถานที่ที่เช่าหาได้ตกเป็นส่วนควบของที่ดินที่โจทก์เช่าจากกรมศาสนาไม่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 146 ดังนั้น กรมการศาสนาย่อมไม่มีกรรมสิทธิ์ในบรรดาสิ่งที่นำมาปรับปรุงปลูกสร้างในสถานที่ที่เช่า ตาม ป.พ.พ. มาตรา 144 วรรคสอง แต่การที่กรมการศาสนาได้กรรมสิทธิ์ในบรรดาสิ่งที่นำมาปรับปรุงปลูกสร้างก็เนื่องมาจากข้อตกลงในสัญญาเช่า โดยโจทก์ผู้เช่าแสดงเจตนาไว้ชัดแจ้งถึงการยกกรรมสิทธิ์ให้ทันที เพื่อให้สิ่งที่นำมาปรับปรุงปลูกสร้างเป็นทรัพย์สินส่วนควบติดกับที่เช่าตลอดไป อันเป็นการแสดงให้เห็นอยู่ในตัวว่าโจทก์มีกรรมสิทธิ์ในอาคารสิ่งปลูกสร้างรวมทั้งสิ่งที่นำมาปรับปรุงปลูกสร้างในสถานที่เช่า ซึ่งหากโจทก์ไม่มีกรรมสิทธิ์แล้ว โจทก์ย่อมไม่อาจจะตกลงให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่เจ้าของที่ดินในทันทีได้ ฉะนั้น อาคารสรรพสินค้าและบรรดาสิ่งที่นำมาปรับปรุงปลูกสร้างในสถานที่เช่า จึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของกรมการศาสนาโดยนิติกรรม หาใช่โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมไม่ กรณีจึงถือได้ว่าโจทก์ได้จำหน่าย จ่าย โอนอาคารสรรพสินค้าและบรรดาสิ่งที่นำมาปรับปรุงปลูกสร้างในสถานที่เช่า อันเป็นการ "ขาย" ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 91/1 (4) ที่ได้ให้คำนิยามว่า "ขาย" หมายความว่า จำหน่าย จ่าย โอน ไม่ว่าจะมีประโยชน์ตอบแทนหรือไม่
กรณีของโจทก์เป็นการขายอาคารสรรพสินค้าและบรรดาสิ่งที่นำมาปรับปรุงปลูกสร้างในสถานที่เช่าจากกรมการศาสนาและเป็นการขายภายในกำหนด 3 ปี นับแต่เดือนที่ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ ดังนั้น ภาษีซื้อที่เกิดจากค่าก่อสร้างอาคารหรืออสังหาริมทรัพย์อื่นบนที่ดินที่เช่าจากกรมการศาสนาเพื่อใช้หรือจะใช้ในกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจึงเป็นภาษีซื้อที่ไม่ให้นำมาหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตาม ป.รัษฎากร มาตรา 82/3 ทั้งนี้ตามมาตรา 82/5 (6) ประกอบด้วยประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42) เรื่อง การกำหนดภาษีซื้อที่ไม่ให้นำไปหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/5 (6) แห่ง ป.รัษฎากร ข้อ 2 (4) โจทก์จึงไม่สามารถนำภาษีซื้อที่เกิดจากการก่อสร้างอาคารสรรพสินค้าบนที่ดินที่เช่าจากกรมการศาสนามาหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10316/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การหักภาษีซื้อสำหรับผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายหลังการเกิดภาษีซื้อ
ป.รัษฎากร มาตรา 82/3 วรรคหนึ่ง ใช้คำว่า "ผู้ประกอบการ" มิได้ใช้คำว่า "ผู้ประกอบการจดทะเบียน" แต่เมื่อภาษีขายหมายถึงภาษีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนเรียกเก็บจากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 77/1 (17) และมาตรา 82/4 วรรคสาม และภาษีซื้อหมายถึงภาษีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนถูกผู้ประกอบการจดทะเบียนอื่นเรียกเก็บตาม มาตรา 77/1 (18) และมาตรา 82/4 วรรคสี่ คำว่า "ผู้ประกอบการ" ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 82/3 วรรคหนึ่ง จึงหมายถึงผู้ประกอบการจดทะเบียน ผู้ประกอบการที่มิได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มจึงไม่อาจเสียภาษีมูลค่าเพิ่มโดยคำนวณจากภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อในแต่ละเดือน
โจทก์จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มวันที่ 10 ตุลาคม 2545 โจทก์จะนำภาษีซื้อที่เกิดขึ้นระหว่างเดือนภาษีมีนาคมถึงเดือนภาษีกันยายน 2545 ก่อนที่โจทก์เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มมาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ได้