คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
การออกแบบ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 4 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6379/2537 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลิขสิทธิ์งานศิลปะประยุกต์: การออกแบบปากกา การละเมิดลิขสิทธิ์ และการคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์
ก่อนที่โจทก์ที่ 1 จะผลิตปากกา ค.และปากกาล.ออกจำหน่ายได้ต้องมีการดำเนินงานเป็นขั้นตอนหลายขั้นตอน ตั้งแต่การออกสำรวจและทำการวิจัยทางการตลาด เพื่อทราบความนิยมและความต้องการของผู้ใช้ปากกาลูกลื่น แล้วนำข้อมูลที่ได้จากการวิจัยมาให้กรรมการและลูกจ้างของโจทก์ทั้งสี่ทำการคิดค้นรูปทรงและลวดลายของปากกา โดยยกร่างในกระดาษและปรึกษาหารือกันจนได้รูปทรงและลวดลายเป็นที่พอใจ จึงได้มีการเขียนแบบทำหุ่นจำลองออกแบบชิ้นส่วนแม่พิมพ์กับหุ่นจำลองของปากกาดังกล่าว ซึ่งเป็นงานสร้างสรรค์รูปทรงที่เกี่ยวกับทำแม่พิมพ์และผลิตปากกาทั้งสองแบบดังกล่าวออกจำหน่ายถือได้ว่ากรรมการและลูกจ้างของโจทก์ทั้งสี่ดังกล่าวเป็นผู้ทำและก่อให้เกิดงานในแบบปากกาทั้งสองแบบดังกล่าวขึ้น โดยความคิดริเริ่มของตนเอง แบบปากกา ค. และแบบปากกา ล. เป็นงานสร้างสรรค์อันเกิดจากการนำเอาการสร้างแบบพิมพ์รูปลักษณะของปากกาและแบบแม่พิมพ์ซึ่งเขียนด้วยลายเส้นประกอบเป็นรูปทรงอันเข้าลักษณะศิลปกรรมประเภทงานจิตรกรรมและงานสร้างแม่พิมพ์กับหุ่นจำลองของปากกาดังกล่าวซึ่งเป็นงานสร้างสรรค์รูปทรงที่เกี่ยวกับปริมาตรที่สัมผัสและจับต้องได้ อันเข้าลักษณะศิลปกรรมประเภทงานประติมากรรมมาประกอบเข้าด้วยกันและสร้างขึ้นเป็นปากกาเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการขีดเขียนและเพื่อประโยชน์ทางการค้าอันเป็นประโยชน์อย่างอื่นนอกเหนือจากการชื่นชมในคุณค่าของตัวงานจิตรกรรมและประติมากรรมดังกล่าวจึงเป็นงานศิลปประยุกต์อันอาจได้รับความคุ้มครองตาม พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 11 ถึงที่ 13 ได้ร่วมกันทำซ้ำและดัดแปลงแบบปากกา ค. และจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 3และจำเลยที่ 11 ร่วมกันทำซ้ำและดัดแปลงแบบปากกา ล. ของโจทก์ทั้งสี่โดยการทำแม่พิมพ์เลียนแบบและปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมแบบปากกาทั้งสองแบบดังกล่าวจากแบบพิมพ์หุ่นจำลอง แม่พิมพ์ และเอกสารเกี่ยวกับการจัดทำปากกาดังกล่าวที่จำเลยที่ 11 ลักเอาไป แล้วจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 3 ผลิตปากกา จ. และปากกา ต. ออกจำหน่ายโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นการทำซ้ำและดัดแปลงแบบปากกาที่โจทก์ทั้งสี่เป็นผู้มีลิขสิทธิ์เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ทำให้โจทก์ทั้งสี่เสียผลประโยชน์ในทางการค้าและได้รับความเสียหาย จึงเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสี่ โจทก์ที่ 2 ต้องจัดทำกล่องพิเศษบรรจุปากกา ค. ทำให้ต้องเพิ่มต้นทุนการผลิตอีกด้ามละ 21 สตางค์ เพื่อป้องกันมิให้เสียลูกค้าไป เป็นเรื่องที่โจทก์ที่ 2 ลงทุนเพิ่มเติมเพื่อเป็นการจูงใจผู้บริโภคและให้สินค้าของโจทก์ที่ 2 จำหน่ายได้ดีขึ้นเป็นเรื่องปกติธรรมดาของการค้าขาย ไม่แน่ชัดว่าเป็นความเสียหายที่เป็นผลโดยตรงจากการกระทำละเมิดลิขสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 11ถึงที่ 13 โจทก์ที่ 2 จึงไม่อาจเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7547/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทสัญญาจ้างออกแบบก่อสร้าง: ความรับผิดของผู้รับจ้าง, ความผิดพลาดในการออกแบบ, และการปฏิเสธความรับผิด
โจทก์มีอาชีพออกแบบโครงการก่อสร้างย่อมต้องทราบระเบียบและข้อบังคับต่างๆ ของทางราชการที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบเป็นอย่างดีจึงไม่น่าเป็นไปได้ที่โจทก์จะไม่ส่งมอบแบบพิมพ์เขียวในอัตราส่วน 1 ต่อ 100 เพื่อใช้ก่อสร้างให้แก่จำเลย ดังนั้นเมื่อโจทก์ส่งมอบแบบพิมพ์เขียวดังกล่าวแล้ว จำเลยต้องชำระค่าบริการวิชาชีพงวดที่ 4 ส่วนที่เหลือให้แก่โจทก์ ส่วนการที่จำเลยไม่ได้ทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมก็ดีหรือยังไม่ได้ขออนุญาตก่อสร้าง อันทำให้จำเลยไม่สามารถทำการก่อสร้างได้ก็ดีก็เป็นเรื่องส่วนตัวของจำเลยเอง หาอาจยกขึ้นอ้างเพื่อปฏิเสธความรับผิดได้ไม่
ศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยรับผิดชดใช้ค่าแห่งการงานอันเนื่องมาจากสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยเลิกกันโดยปริยายตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคสาม ซึ่งไม่ได้กำหนดให้จำเลยรับผิดชำระค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการผิดสัญญา ดังนั้น การที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ทำงานในงวดที่ 2 ยังไม่แล้วเสร็จจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าบริการวิชาชีพในงวดที่ 2 โดยไม่ได้โต้แย้งคำพิพากษาที่วินิจฉัยว่า สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยเลิกกันโดยปริยาย จำเลยจึงต้องรับผิดชำระค่าการงาน 2,140,000 บาท ว่าไม่ถูกต้องอย่างไรจึงเป็นฎีกาไม่ชัดแจ้ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
โจทก์ออกแบบและส่งมอบแบบโครงการพัทยา สาย 2 ให้แก่จำเลย ส่วนจำเลยก็ได้ชำระค่าบริการวิชาชีพแก่โจทก์ครบตามสัญญา การที่จำเลยยอมรับมอบงานที่โจทก์ทำและชำระค่าบริการให้แก่โจทก์โดยไม่ปรากฏว่ามีข้อโต้แย้งใดบ่งชี้ว่างานออกแบบที่โจทก์ทำขึ้นไม่ถูกต้อง โจทก์จึงย่อมไม่มีความรับผิดใดๆ ตามสัญญาจ้างเดิม การที่โจทก์และจำเลยมาทำสัญญาจ้างออกแบบกันใหม่แม้จะมีเนื้อหาเป็นการให้โจทก์แก้ไขปรับปรุงแบบเดิมที่โจทก์ทำไว้ก็ตาม ต้องถือเป็นการแสดงเจตนาทำสัญญาเพื่อผูกพันตามข้อตกลงใหม่ที่ระบุไว้ในสัญญาจึงไม่ใช่เป็นการก่อหนี้ที่จำเลยเข้าทำสัญญากับโจทก์โดยสำคัญผิดในแบบของสัญญาซึ่งเป็นสาระสำคัญของสัญญาอันจะทำให้สัญญาจ้างออกแบบฉบับใหม่ตกเป็นโมฆะตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ดังนั้น จำเลยจึงต้องผูกพันรับผิดชำระค่าบริการวิชาชีพตามสัญญาฉบับใหม่แก่โจทก์ อย่างไรก็ดี แม้สัญญาฉบับใหม่จะไม่ตกเป็นโมฆะแต่การที่โจทก์ในฐานะผู้มีอาชีพออกแบบในงานสถาปัตยกรรมย่อมต้องมีหน้าที่ออกแบบให้เป็นไปตามข้อตกลงในกรอบของกฎหมาย ดังนั้น การที่โจทก์ออกแบบอาคารเออยู่ในตำแหน่งที่กฎหมายห้ามไม่ให้ก่อสร้างอาคารที่มีจำนวนเกิน 80 ห้อง นั้น แสดงว่าโจทก์ออกแบบโดยไม่คำนึงถึงข้อห้ามตามกฎหมายซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันภยันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นกับสาธารณชน แม้จำเลยรู้เห็นหรือยินยอมก็ต้องถือว่าโจทก์มีส่วนผิด จึงสมควรไม่กำหนดให้จำเลยรับผิดชำระค่าบริการวิชาชีพงวดที่ 2 ถึงที่ 4 ในส่วนของการออกแบบอาคารเอ โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าบริการวิชาชีพเฉพาะในส่วนของการออกแบบอาคารบีเท่านั้น ซึ่งเห็นสมควรกำหนดให้เป็นเงิน 428,000 บาท พร้อมด้วยอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2551
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์มีหน้าที่ออกแบบสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมโครงการพหลโยธิน 37 ให้ถูกต้องตามบทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้จำเลยสามารถนำแบบแปลนไปใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของจำเลยแต่โจทก์กลับไม่ดำเนินการตามสัญญาเป็นเหตุให้จำเลยก่อสร้างอาคารสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด พอถือได้ว่าจำเลยให้การต่อสู้ว่าโจทก์ออกแบบสำหรับการก่อสร้างไม่ถูกต้องแล้ว ข้อนำสืบของจำเลยว่าโจทก์ผิดสัญญาจึงไม่ใช่การนำสืบนอกประเด็นดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย เมื่อไม่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น กรณีจึงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาตามสัญญาจ้างออกแบบโครงการพหลโยธิน 37 หรือไม่... ข้อเท็จจริงน่าเชื่อว่าการออกแบบของโจทก์เป็นไปตามความประสงค์ของจำเลยที่ต้องการให้เพดานห้องสูงมีความปลอดโปร่งอันส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อของลูกค้าซึ่งหากนำไปใช้เป็นแบบในการก่อสร้างจะทำให้อาคารที่ก่อสร้างมีความสูง 25 เมตร เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และการที่โจทก์ซึ่งมีอาชีพด้านการออกแบบยอมกระทำในสิ่งที่ขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันภยันตรายที่จะเกิดขึ้นแก่สาธารณชนถือว่าโจทก์มีส่วนผิดที่ทำงานโดยไม่คำนึงถึงผลเสียที่อาจจะเกิดขึ้นจากการออกแบบที่ผิดกฎหมายของตน โจทก์จึงไม่สมควรได้รับค่าบริการวิชาชีพงวดที่ 2 ส่วนที่เหลือจำนวน 189,582.60 บาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7292/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ละเมิดสิทธิบัตร: ผลิตภัณฑ์ต้องมีองค์ประกอบตามสิทธิบัตร และการออกแบบต้องแตกต่างชัดเจน
การพิจารณาว่าการกระทำของจำเลยทั้งสี่จะเป็นความผิดตามฟ้องหรือไม่ ในส่วนของสิทธิบัตรการประดิษฐ์จะต้องพิจารณาจากรายละเอียดขอบเขตการประดิษฐ์ในข้อถือสิทธิและรูปเขียนทั้งหมดที่ทำให้ได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์ตามความมุ่งหมายของการประดิษฐ์นั้น เมื่อผลิตภัณฑ์ของฝ่ายจำเลย มิใช่ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นโดยใช้ข้อถือสิทธิตามสิทธิบัตรการประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์อุปกรณ์และวิธีการปล่อยสารกระตุ้นต้นไม้ให้ผลิตน้ำยาง เลขที่ 22925 ของโจทก์ การกระทำของจำเลยทั้งสี่จึงไม่เป็นความผิดฐานละเมิดสิทธิบัตรการประดิษฐ์ของโจทก์ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 85 ประกอบมาตรา 36 (1)
เมื่อพิจารณารูปร่างของผลิตภัณฑ์ในข้อถือสิทธิตามสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ของโจทก์ กับผลิตภัณฑ์ของฝ่ายจำเลยแล้ว เห็นได้ว่าแบบผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ของโจทก์แตกต่างจากแบบผลิตภัณฑ์ของฝ่ายจำเลยอย่างชัดเจน จึงฟังไม่ได้ว่าผลิตภัณฑ์ของฝ่ายจำเลยเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นโดยใช้แบบผลิตภัณฑ์ในข้อถือสิทธิตามสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ของโจทก์ การกระทำของจำเลยทั้งสี่จึงไม่เป็นความผิดฐานละเมิดสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 85 ประกอบมาตรา 63 ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่าแม้แบบผลิตภัณฑ์ของฝ่ายจำเลยจะแตกต่างจากแบบผลิตภัณฑ์ของโจทก์ แต่ความแตกต่างดังกล่าวไม่ใช่สาระสำคัญและยังมีคุณสมบัติในการใช้สอยทำให้เกิดผลในทำนองเดียวกันนั้น เป็นหลักการตีความโดยทฤษฎีความเท่าเทียมกัน (Doctrine of Equivalents) ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 36 ทวิ วรรคสอง ประกอบมาตรา 36 ซึ่งเป็นเรื่องการละเมิดสิทธิบัตรการประดิษฐ์ ซึ่งมาตรา 65 มิได้บัญญัติให้นำมาตรา 36 ทวิ วรรคสอง มาใช้กับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์โดยอนุโลม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11133/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเครื่องหมายการค้าและสิทธิบัตร: การจดทะเบียนโดยไม่ผูกขาด, Generic words, และการออกแบบที่ไม่ใหม่
เมื่อโจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า โดยไม่ขอถือเป็นสิทธิของตนแต่ผู้เดียวในคำว่า "COOL IN AMERICAN STYLE" และ "SPORTY" โจทก์จึงไม่มีสิทธิหวงกันที่จะใช้คำดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียว ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 17 จำเลยที่ 4 จึงสามารถใช้คำว่า "AMERICAN STYLE" กับสินค้าของตนได้เช่นกัน ส่วนคำว่า "BIKE" แม้จะมีคำแปลว่า "รถจักรยาน" เช่นเดียวกับคำว่า "BICYCLE" แต่ไม่ใช่เป็นคำในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ประกอบกับคำดังกล่าวเป็นคำสามัญ (Generic word) ส่วนคำว่า "SINCE 1991" เป็นคำสามัญเช่นกัน บุคคลทั่วไปมีสิทธิใช้คำดังกล่าวสำหรับสินค้ารถจักรยานได้ โจทก์ไม่มีสิทธิห้ามบุคคลอื่นใช้คำว่า "BIKE" และ "SINCE 1991" เช่นเดียวกัน
ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 3 กำหนดว่า แบบผลิตภัณฑ์ หมายความว่า "รูปร่างของผลิตภัณฑ์หรือองค์ประกอบของลวดลาย หรือสีของผลิตภัณฑ์ อันมีลักษณะพิเศษสำหรับผลิตภัณฑ์ซึ่งสามารถใช้เป็นแบบสำหรับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรวมทั้งหัตถกรรมได้" เมื่อสิทธิบัตรของโจทก์ระบุข้อถือสิทธิไว้ว่า ขอถือสิทธิในแบบผลิตภัณฑ์ ซึ่งได้แก่รูปร่างลักษณะของสปอยเลอร์รถจักรยาน แสดงว่าแบบผลิตภัณฑ์ของโจทก์ที่อ้างว่าได้คิดค้นขึ้นเป็นเหล็กแผ่นขึ้นรูปเป็นตัวยู เป็นรูปร่างที่ถูกจัดทำขึ้นตามลักษณะของการใช้สอย มากกว่าความสวยงาม เมื่อรูปร่างแบบผลิตภัณฑ์อยู่ในลักษณะเดียวกันกับแบบผลิตภัณฑ์ที่มีการเปิดเผยภาพ สาระสำคัญหรือรายละเอียดในเอกสารสิ่งพิมพ์ที่ได้เผยแพร่มาก่อนแล้ว ในโฆษณาแบบผลิตภัณฑ์รถจักรยานจึงต้องถือว่าแบบผลิตภัณฑ์ของโจทก์ไม่ถือว่าเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 57 (2)