คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
การออกโฉนด

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 5 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9335/2539

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การออกโฉนดทับที่ดินเดิม สิทธิผู้รับโอนไม่ดีกว่าผู้โอน แม้จดทะเบียนโดยสุจริต ศาลสั่งเพิกถอนได้เฉพาะส่วน
แม้พยานจะเป็นญาติกับโจทก์ แต่ความเป็นญาติก็มิใช่เหตุผลที่จะต้องฟังว่าพยานจะเบิกความเข้าข้างกันเสมอไปคำเบิกความของพยานคนใดจะรับฟังได้หรือไม่เพียงใดอยู่ที่เหตุผลในคำพยานนั้นเอง เมื่อปรากฏว่าคำเบิกความของพยานเป็นไปในทางเสียหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อผลประโยชน์ของตนย่อมรับฟังได้ การนำสืบถึงมูลเหตุอันเป็นที่มาแห่งข้ออ้างตามคำฟ้องมิได้มีกฎหมายบังคับให้ต้องมีเอกสารมาแสดงจึงนำสืบพยานบุคคลได้ พ.และอ. ขอออกโฉนดที่ดินของตนโดยนำชี้รวมเอาที่ดินของ ก. เข้าไปด้วยโดยขณะนั้น พ. ยังคงทำนาในที่ดินพิพาทของ ก. ต่างดอกเบี้ย ถือว่า พ. ยึดถือที่ดินไว้แทน ก.แม้จะนานเพียงใดก็ไม่ได้สิทธิครอบครองและถือว่าโฉนดที่ดินในส่วนที่ออกทับที่ดินพิพาทของ ก. เป็นการออกโฉนดที่ไม่ชอบแม้จะมีการโอนทะเบียนกี่ครั้งผู้รับโอนก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์เพราะผู้ขอออกโฉนดไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ผู้รับโอนโฉนดต่อมาแม้จะเสียค่าตอบแทนโดยสุจริตและจดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตก็ไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน จึงชอบที่ศาลจะสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาทเสียได้เฉพาะในส่วนที่ไม่ถูกต้องเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3803/2538

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิพาทกรรมสิทธิ์ที่ดินสาธารณประโยชน์ การออกโฉนด และอำนาจหน้าที่เจ้าพนักงานที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน
ประมวลกฎหมายที่ดินฯมาตรา60ที่บัญญัติว่าเมื่อเจ้าพนักงานที่ดินสั่งประการใดแล้วให้ฝ่ายที่ไม่พอใจไปดำเนินการฟ้องต่อศาลภายในกำหนดหกสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่งนั้นหมายถึงให้คู่กรณีฟ้องขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาว่าฝ่ายใดมีกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทดีกว่ากันเมื่อจำเลยในฐานะเจ้าพนักงานที่ดินได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของประมวลกฎหมายที่ดินฯโดยรวบรวมพยานหลักฐานทั้งของฝ่ายโจทก์และฝ่ายผู้คัดค้านเปรียบเทียบกันแล้วเห็นว่าพยานหลักฐานของฝ่ายผู้คัดค้านมีเหตุผลดีกว่าจึงมีคำสั่งให้งดออกโฉนดที่ดินให้โจทก์โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว แม้จำเลยเป็นฝ่ายชนะคดีเพราะโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องแต่การที่ศาลอุทธรณ์ภาค2วินิจฉัยว่าที่พิพาทมิได้เป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้เลี้ยงสัตว์ร่วมกันแต่เป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าอาจเป็นที่เสียหายแก่จำเลยจำเลยย่อมมีสิทธิฎีกาโต้แย้งได้ สาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันเกิดขึ้นและเป็นอยู่ตามสภาพของที่ดินและการใช้ร่วมกันของประชาชนโดยไม่ต้องมีเอกสารของทางราชการกำหนดให้เป็นที่สาธารณประโยชน์ที่พิพาทเป็นที่ที่ราษฎรใช้เลี้ยงสัตว์ก่อนที่ ล. และ ค. จะเข้าครอบครองจึงเป็นสาธารณประโยชน์ของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันโจทก์จะอ้างว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์เพราะ ค. ผู้ขายให้โจทก์ครอบครองที่พิพาทมานานแล้วหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 293/2535

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์เฉพาะรายต้องเป็นไปตามกฎหมายและระเบียบ หากไม่มีอนุมัติจากผู้ว่าฯ ก็ไม่ออกได้
การออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์เฉพาะราย นอกจากจะเข้าหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 58 ทวิ(3) แล้ว ยังต้องเป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติกำหนดด้วย ซึ่งระเบียบของคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ ฉบับที่ 2(พ.ศ. 2515) หมวด 4การขอออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์เฉพาะราย โดยมิได้แจ้งการครอบครอง กำหนดไว้ในข้อ 9 ว่า "การออกโฉนดที่ดิน หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่ผู้ครอบครองและการทำประโยชน์ ในที่ดินเฉพาะรายโดยมิได้แจ้งการครอบครองที่ดินตาม มาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 ต้องอยู่ใน หลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขดังนี้...(2) ความจำเป็นในกรณีที่ จะออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้ได้คือ...(ค) ในกรณีที่มี ความจำเป็นอย่างอื่น แต่ต้องได้รับอนุมัติจากผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นการเฉพาะราย"ที่ดินพิพาทโจทก์เข้าจับจองครอบครองหลังจากที่ ประกาศใช้ประมวลกฎหมายที่ดินแล้ว จึงเป็นที่ดินที่ไม่อาจจะแจ้ง การครอบครองได้ตาม มาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497ถึงแม้จะอยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะออก หนังสือรับรองการทำประโยชน์เฉพาะรายได้ ตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 58 ทวิ(3) ก็ตาม เมื่อได้ความว่าผู้ว่าราชการจังหวัดมีหนังสือให้ โจทก์ออกจากที่พิพาท แสดงให้เห็นว่าไม่มีการอนุมัติให้ออกหนังสือ รับรองการทำประโยชน์เฉพาะรายสำหรับที่ดินพิพาท ดังนั้น ที่ดินพิพาท จึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่ระเบียบคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติกำหนด ไว้ในวันที่จะออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้โจทก์ได้.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2252/2527

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท: โฉนดที่ดินออกทับที่ดินวัด แม้มีโฉนดแต่กรรมสิทธิ์ยังเป็นของวัด
ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตวัดจำเลยมาแต่เดิม โดยตอนออกโฉนดได้นำรังวัดเข้าไปในที่ดินของวัด แต่ไม่ว่าจะได้ออกโฉนดแสดงว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ในโฉนดมาเป็นเวลานานเท่าใดก็ตาม ก็ไม่ทำให้ผู้มีชื่อในโฉนดได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ออกโฉนดทับที่วัด ที่พิพาทยังคงเป็นของวัด การออกโฉนดทับที่ดินพิพาทมิใช่การกระทำของโจทก์ และมีการโอนกันมาแล้วหลายคน โจทก์ไม่มีโอกาสทราบเรื่องนี้ ทั้งโจทก์ครอบครองที่พิพาทต่อเนื่องมาจากเจ้าของคนก่อนเป็นการครอบครองที่พิพาทโดยสุจริต ทั้งจำเลยไม่ฟ้องทันทีที่โจทก์คัดค้านการรังวัดที่ดินของจำเลย ดังนี้โจทก์ไม่ควรต้องใช้ค่าเสียหายให้จำเลย เว้นแต่โจทก์ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1635/2509

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การออกโฉนดที่ดินทับที่ดินของผู้อื่นโดยไม่ชอบและผลกระทบต่อกรรมสิทธิ์ของผู้รับโอน
จำเลยที่ 1,2 ออกโฉนดทับที่ซึ่งโจทก์ครอบครองอยู่ก่อน การออกโฉนดทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 1,2 จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ จำเลยที่ 3,4 รับจำนองที่พิพาทโดยไม่สุจริต ต่อมาจำเลยที่ 3,4 ฟ้องบังคับจำนองและซื้อที่พิพาทจากการขายทอดตลาดของศาล ย่อมเป็นการซื้อโดยไม่สุจริต ต่อมาจำเลยที่ 3 โอนทะเบียนยกที่พิพาทให้จำเลยที่ 5,6 โดยเสน่หา โจทก์ย่อมขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมได้
การที่จำเลยขอให้ออกและรับโฉนดที่พิพาทโดยโจทก์ไม่รู้และการที่จำเลยฟ้องขับไล่โจทก์จากที่พิพาท ไม่ใช่การแย่งการครอบครองที่พิพาท