พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1466/2537 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
พินัยกรรมร่วม: เจตนา ยกทรัพย์สินให้กัน และการเป็นพยานในพินัยกรรม
พินัยกรรมที่ผู้ร้องกับผู้ตายทำร่วมกันในฉบับเดียวซึ่งสาระสำคัญของข้อกำหนดพินัยกรรมข้อ (ก) เป็นกรณีที่ผู้ร้องกับผู้ตายแสดงเจตนาไว้ว่า หากผู้ร้องหรือผู้ตายคนใดคนหนึ่งถึงแก่ความตายไปก่อน ให้ทรัพย์สินของผู้ที่ถึงแก่ความตายไปก่อนตกเป็นสินส่วนตัวของผู้ทำพินัยกรรมที่ยังมีชีวิตอยู่แต่เพียงผู้เดียวและให้เป็นผู้มีสิทธิและหน้าที่รวบรวมเก็บรักษาจัดจำหน่ายหรือแบ่งปัน และยกทรัพย์สินดังกล่าวให้แก่บุคคลใดก็ได้ตามแต่เจ้าของพินัยกรรมผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ จะเห็นสมควรภายใต้ข้อกำหนดซึ่งระบุไว้ในข้อ (ข) แสดงว่าผู้ร้องและผู้ตายมีเจตนาที่จะยกทรัพย์สินให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งหากว่าฝ่ายใดถึงแก่ความตายไปก่อน เพียงแต่กำหนดเงื่อนไขให้ผู้รับพินัยกรรมจำหน่ายทรัพย์สินที่ได้ตามพินัยกรรมให้แก่บุคคลตามที่ระบุไว้ในข้อ (ข) โดยให้ผู้รับพินัยกรรมกำหนดให้มากน้อยเท่าใดตามแต่ใจ กรณีถือได้ว่าเงื่อนไขนั้นเป็นอันไม่มีเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1707 ข้อกำหนดพินัยกรรมในส่วนที่ผู้ตายยกทรัพย์สินให้แก่ผู้ร้องจึงยังคงสมบูรณ์ใช้บังคับได้ มิใช่กรณีที่กำหนดให้ผู้ทำพินัยกรรมที่มีชีวิตอยู่กำหนดทรัพย์สินให้แก่ทายาทมากน้อยตามแต่ใจตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1706(3) แต่อย่างใด การที่ผู้ร้องกับผู้ตายทำพินัยกรรมในฉบับเดียวกัน ต่างยกทรัพย์สินให้แก่กันและกัน เมื่อพินัยกรรมดังกล่าวได้ทำเป็นหนังสือลงวันเดือนปีในขณะที่ทำขึ้น และผู้ทำพินัยกรรมลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนพร้อมกัน ซึ่งพยานสองคนได้ลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรมไว้ในขณะนั้น จึงเข้าแบบพินัยกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1656 แม้ผู้ร้องกับผู้ตายจะทำพินัยกรรมในเอกสารฉบับเดียวกันก็ไม่ผิดแบบแต่อย่างใดและมิใช่การพนันขันต่อเพราะเป็นการแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์มรดกของตนเองหรือในการต่าง ๆ อันจะให้เกิดเป็นผลบังคับได้ตามกฎหมายในเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตายก่อนตามมาตรา 1646 การที่บุคคลจะเป็นผู้เขียนหรือเป็นพยานในพินัยกรรมนั้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1671 บัญญัติว่า บุคคลนั้นต้องลงลายมือชื่อของตนทั้งระบุว่าเป็นผู้เขียนหรือเป็นพยานไว้ต่อท้ายลายมือชื่อของตนด้วย ดังนั้น เมื่อผู้ร้องลงลายมือชื่อในฐานะผู้ทำพินัยกรรมไม่มีข้อความว่าเป็นพยาน จึงจะถือว่าเป็นพยานในพินัยกรรมด้วยไม่ได้ พินัยกรรมจึงหาเป็นโมฆะด้วยเหตุที่ผู้ร้องจะเป็นพยานในพินัยกรรมไม่