พบผลลัพธ์ทั้งหมด 7 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 712/2548
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การใช้เครื่องหมายการค้าที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ไม่ถือเป็นการเลียนเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนแล้ว
การที่จำเลยจำหน่ายยาเส้นภายใต้เครื่องหมายการค้ารูปวัวแดง 2 ตัวชนกันเป็นการจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าซึ่งปู่จำเลยเป็นผู้คิดขึ้นและใช้มาก่อนที่โจทก์ร่วมจะได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของตนถึงประมาณ 46 ปี และเป็นการที่จำเลยใช้เครื่องหมายการค้าที่บิดาจำเลยซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมคนหนึ่งของปู่จำเลยได้รับมรดกสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้น ไม่ปรากฏว่าบิดาจำเลยและป้าจำเลยซึ่งเป็นทายาทอีกคนหนึ่งได้ห้ามจำเลยมิให้ใช้เครื่องหมายการค้านั้นแต่อย่างใด การที่จำเลยจำหน่ายยาเส้นภายใต้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวจึงมิใช่เป็นการจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าที่เลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 109 ตามที่โจทก์ฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7769/2547
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิบัตรออกแบบผลิตภัณฑ์: การออกแบบร่วม การเลียนแบบ และสิทธิของผู้ทรงสิทธิบัตร
การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่จะขอรับสิทธิบัตรได้นั้นนอกจากจะต้องเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่แล้วยังต้องเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่ออุตสาหกรรมรวมทั้งหัตถกรรม ตาม พ.ร.บ. สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 56 ด้วย ช. พี่โจทก์เป็นผู้เริ่มคิดออกแบบ ส่วนรูปแบบโครงสร้างรูปแปดเหลี่ยมนั้นโจทก์กับ ช. ช่วยกันกำหนดโครงสร้างภาพจำลองเสาอากาศโจทก์กับ ช. ร่วมกันเขียนขึ้น เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีความสวยงามและมีองค์ประกอบอันเป็นส่วนหนึ่งของการทดลองแบบผลิตภัณฑ์นั้นว่าสามารถใช้รับสัญญาณโทรทัศน์และวิทยุได้หรือไม่และเป็นการยืนยันว่าโจทก์กับ ช. ร่วมกันออกแบบผลิตภัณฑ์ในส่วนดังกล่าว ซึ่งการออกแบบผลิตภัณฑ์นั้นสามารถร่วมกันกระทำในส่วนหนึ่งส่วนใดซึ่งเป็นส่วนอันเป็นสาระสำคัญในการออกแบบนั้นก็ได้ จึงฟังได้ว่า โจทก์กับ ช. ร่วมกันออกแบบผลิตภัณฑ์แผงสายอากาศเครื่องรับโทรทัศน์และวิทยุตามคำขอรับสิทธิบัตร จึงมีสิทธิขอรับสิทธิบัตรร่วมกัน แต่ ช. ไม่ยอมร่วมไปขอรับสิทธิบัตรกับโจทก์ด้วยเพราะไม่ทราบขั้นตอนรายละเอียดในการดำเนินการและติดต่อเจ้าหน้าที่ โจทก์ผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์ร่วมจึงมีสิทธิขอรับสิทธิบัตรสำหรับการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ได้ทำร่วมกันนั้นในนามของตนเองได้ตามมาตรา 65 ประกอบด้วยมาตรา 15 วรรคสอง โจทก์ย่อมเป็นผู้ทรงสิทธิบัตรตามคำขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ดังกล่าว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6959/2537
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิเครื่องหมายการค้า: การพิพาทระหว่างเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนในต่างประเทศกับการใช้เครื่องหมายการค้าที่คล้ายคลึงกันในไทย
หนังสือมอบอำนาจของโจทก์ให้ อ. ฟ้องคดีเป็นใบมอบอำนาจที่ได้ทำในเมืองต่างประเทศ โดยผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ 2 คนลงชื่อต่อหน้าโนตารีปัปลิก และมีรองกงสุลไทย ณ เมืองนั้นลงชื่อเป็นพยาน ใบมอบอำนาจของโจทก์จึงเชื่อได้ว่าเป็นใบมอบอำนาจอันแท้จริง ไม่มีเหตุอันควรสงสัยใบมอบอำนาจดังกล่าวแต่อย่างใดดังนั้น แม้ อ. จะไม่เคยเดินทางไปบริษัทโจทก์ที่ประเทศมาเลเซียและโจทก์ไม่ได้นำกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ 2 คนมาเบิกความเป็นพยาน แต่จำเลยมิได้นำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่น หนังสือมอบอำนาจนั้นก็รับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ และแม้หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวจะได้ทำขึ้นก่อนโจทก์ทราบว่าจำเลยได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคดีนี้แต่ข้อความในใบมอบอำนาจมีว่าโจทก์มอบอำนาจให้ อ. มีอำนาจฟ้องคดีเกี่ยวกับการป้องกันเครื่องหมายการค้าของโจทก์ และดำเนินการจนถึงที่สุดในศาลไทยได้ อ. จึงมีอำนาจฟ้องคดีผู้โต้แย้งสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ได้ ข้อที่จำเลยฎีกาว่าใบมอบอำนาจไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ รับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีไม่ได้นั้น แม้จำเลยจะมิได้ให้การไว้ แต่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยจึงยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคสอง หนังสือมอบอำนาจทำขึ้นในเมืองต่างประเทศ มีโนตารีปัปลิก และกงสุลไทย ณ เมืองนั้น รับรองอีกขึ้นหนึ่งว่าลายมือชื่อและตราที่ประทับเป็นลายมือชื่อและตราที่ประทับของเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจจริง เป็นหนังสือมอบอำนาจถูกต้องตามกฎหมายของประเทศดังกล่าวแล้วไม่อยู่ในบังคับที่จะต้อง ปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากร หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวจึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีได้ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 ห้ามศาลมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาอันเกี่ยวกับคดีเรื่องเดิมนั้นในศาลเดียวกันต่อไปอีกทั้งคดีหรือเฉพาะประเด็นบางเรื่องซึ่งศาลได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้ว การที่โจทก์ฟ้องคดีต่อศาลแพ่งครั้งหนึ่งและศาลนั้นมีคำพิพากษาแล้ว โจทก์มาฟ้องคดีนี้ต่อศาลชั้นต้นอีก จึงไม่ใช่การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีเดิมในศาลเดียวกัน ดังนั้น ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่ใช่การดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีของศาลแพ่ง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 คดีเดิมโจทก์ฟ้องจำเลยคดีนี้เป็นจำเลยที่ 2 ขอให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 143673 ที่โจทก์ยื่นเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2527 ดีกว่าจำเลยที่ 2 ห้ามการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 2 ตามคำขอเลขที่ 139116ซึ่งยื่นเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2527 แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า เมื่อเดือนมีนาคม 2530 โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทตามคำขอเลขที่ 134038 จึงทราบว่าจำเลยนำเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไปขอจดทะเบียนอีก 2 คำขอ คือคำขอเลขที่ 142555 ซึ่งได้รับการจดทะเบียนแล้วสำหรับสินค้าจำพวก 42 ทั้งจำพวก และคำขอเลขที่ 163600 ซึ่งยังไม่ได้รับการจดทะเบียน ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 142555 และให้จำเลยถอนคำขอจดทะเบียนเลขที่ 16360 ดังนี้ ประเด็นข้อพิพาทในคดีเดิมจึงมีว่า โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 143373 ดีกว่าจำเลยตามคำขอเลขที่ 139116 หรือไม่ส่วนคดีนี้ประเด็นข้อพิพาทว่า โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการพิพาทตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 164038 ดีกว่าจำเลยตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 142555 และ 163600 หรือไม่ และโจทก์มีสิทธิขอให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 142555 และให้จำเลยถอนคำขอเลขที่ 163600 หรือไม่ ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยในคดีเดิมกับคดีนี้จึงอาศัยข้อโต้แย้งสิทธิของโจทก์ที่แตกต่างกันฟ้องของโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีเดิม เพราะมิใช่เป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าตราม้าทองคำพิพาทซึ่งได้จดทะเบียนที่ประเทศมาเลเซีย สำหรับสินค้าลูกมะกอก(ลูกหนำเลี้ยบ) ในน้ำเกลือ ตั้งแต่ พ.ศ. 2515 โดยได้รับโอนจากฉ.และท.เมื่อพ.ศ.2522ได้สั่งสินค้าลูกมะกอก(ลูกหนำเลียบ)ในน้ำเกลือของโจทก์ซึ่งใช้เครื่องหมายการค้าพิพาทเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2519 ก่อนจำเลยและบริษัท ล. ของบิดาจำเลยจะผลิตสินค้าอย่างเดียวกันโดยใช้เครื่องหมายการค้าพิพาทออกจำหน่ายใน พ.ศ. 2520 โจทก์จึงมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทดีกว่าจำเลย และมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอของจำเลยเป็นคดีนี้ได้ แม้คำขอที่โจทก์ยื่นขอจดทะเบียนไว้ก่อนฟ้องคดีนี้จะระบุชื่อสินค้าเฉพาะอย่างในจำพวก 42 คือ ลูกมะกอก(ลูกหนำเลี๊ยบ) ในน้ำเกลือ ส่วนคำขอของจำเลยระบุว่าจำพวก 42 ทั้งจำพวกก็ตาม เพราะเป็นการพิพาทกันระหว่างโจทก์กับจำเลยว่าใครจะมีสิทธิได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทเป็นของตนดีกว่ากันตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ. 2474 มาตรา 41(1) ศาลชอบที่จะพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทตามคำขอของจำเลยได้ เครื่องหมายการค้ารูปม้า 2 ตัว ของจำเลยคงมีม้าตัวใหญ่กับชื่อภาษาอังกฤษว่า GOLDENHORSEBRAND อยู่ข้างบน กับชื่ออักษรจีนอีก 3 ตัว อยู่ข้างล่างเหมือนเครื่องหมายการค้าพิพาทรูปม้าของโจทก์ทุกประการคงมีต่างกันเฉพาะรูปม้าตัวเล็ก ๆ เพิ่มเติมที่มุมล่างด้านซ้ายในเครื่องหมายการค้าของจำเลยเท่านั้นเครื่องหมายการค้าของจำเลยจึงคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนถึงนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนให้สับสนหลงผิด เพราะผู้ซื้อรูปม้าตัวใหญ่แล้วก็อาจเข้าใจว่าเป็นสินค้าของโจทก์ คงไม่ได้สังเกตรูปม้าตัวเล็กอีก จำเลยอาจเพิ่มเติมรูปม้าในเครื่องหมายการค้าพิพาทเป็นม้า 2 ตัว ตามข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความให้แตกต่างกับเครื่องหมายการค้าพิพาทรูปม้าของโจทก์ได้อีกหลายแบบเพื่อแสดงให้เห็นว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยแตกต่างกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ แต่จำเลยหาได้ทำไม่ การแก้ไขเพิ่มเติมรูปเครื่องหมายการค้าของจำเลยดังกล่าวส่อให้เห็นความไม่สุจริตของจำเลยที่เจตนาจะเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์ จำเลยจึงไม่อาจอ้างได้ว่าเป็นการปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอมในคดีของศาลแพ่ง เมื่อโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทดีกว่าจำเลยศาลก็ชอบที่จะพิพากษาให้จำเลยถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอของจำเลยเสียด้วยได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1930/2536 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การสละเครื่องหมายการค้าและขอบเขตการคุ้มครอง: การเลียนแบบเครื่องหมายการค้าต้องถึงขนาดลวงสาธารณชน
เมื่อโจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างสละรูปภาชนะบรรจุสินค้าและข้อความที่บรรยายทางการค้า ซึ่งเป็นสิ่งที่ใช้กันสามัญในการค้าขาย ตามที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้มีคำสั่งให้โจทก์และจำเลยที่ 1 สละแล้วนั้นย่อมหมายความรวมถึงการวางรูปของเครื่องหมายการค้าและข้อความที่บรรยายในทางการค้าและข้อความที่บรรยายในทางการค้าหรือสิ่งอื่นใด ในเครื่องหมายการค้าที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ยินยอมสละ แล้วด้วย เครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า "CARGLO" ของโจทก์ที่ได้รับการจดทะเบียน ได้รับจดทะเบียนเฉพาะคำเท่านั้น ไม่รวมถึงการวางรูปของเครื่องหมายการค้า ดังนั้น รูปลักษณะ ภาชนะบรรจุสินค้า รวมทั้งการวางรูปของเครื่องหมายการค้า และคำบรรยายที่ภาชนะดังกล่าว โจทก์และจำเลยที่ 1 จึงไม่อาจ ถือสิทธิแต่เพียงผู้เดียว การที่จำเลยที่ 1 ผลิตสินค้า มีรูปลักษณะของภาชนะและคำบรรยายเกี่ยวกับสินค้าอย่างเดียวกับ สินค้าของโจทก์ โจทก์จึงอ้างไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ใช้สิทธิไม่สุจริต โจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า อักษรโรมันคำว่า "CARGLO" หรือ "คาร์โกล้" และ "DINCO" หรือ "ดิงโก้" ตามลำดับ ซึ่งแตกต่างกันทั้งตัวอักษรที่เขียนและสำเนียงเรียกขาน แม้เครื่องหมายการค้าของโจทก์และ จำเลยที่ 1 ใช้กับสินค้าจำพวกยาขัดล้าง รถยนต์ แต่บุคคลบางประเภทเท่านั้นที่ใช้สินค้าดังกล่าว ไม่ใช่สินค้าที่ประชาชนทั่วไปใช้สอยจึงเป็นไปได้ยากที่ผู้ใช้จะหลงผิดเข้าใจว่ายาขัดล้างรถยนต์ภายใต้เครื่องหมายการค้า "DINCO"หรือ "ดิงโก้" ของจำเลยที่ 1 เป็นยาขัดล้าง รถยนต์ ภายใต้เครื่องหมายการค้า "CARGLO" หรือ "คาร์โกล้" ของโจทก์ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้เอาชื่อรูปรอยประดิษฐ์ในทางการค้าของโจทก์มาใช้ และเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3101/2524 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิในการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า: การใช้ก่อนย่อมมีสิทธิมากกว่า แม้ผู้ขอจดทะเบียนรายหลังจะยื่นคำขอจดทะเบียนก่อน
จำเลยใช้เครื่องหมายการค้าที่จำเลยขอจดทะเบียนในการโฆษณาสินค้าซึ่งจำเลยเป็นตัวแทนจำหน่ายรวมทั้งสินค้าสีมาก่อนโจทก์ จำเลยจึงมีสิทธิในการขอจดทะเบียนดีกว่าโจทก์แม้เครื่องหมายการค้านั้นเกือบเหมือนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ และโจทก์จะยื่นคำขอจดทะเบียนก่อนก็ตาม
โจทก์ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวทำให้จำเลยเสียหายเพราะทำให้ผู้ซื้อสินค้าเข้าใจผิดว่าสินค้าของโจทก์เป็นสินค้าสีของจำเลย จึงเป็นการทำละเมิดต่อจำเลยและต้องชดใช้ค่าเสียหาย
โจทก์ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวทำให้จำเลยเสียหายเพราะทำให้ผู้ซื้อสินค้าเข้าใจผิดว่าสินค้าของโจทก์เป็นสินค้าสีของจำเลย จึงเป็นการทำละเมิดต่อจำเลยและต้องชดใช้ค่าเสียหาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 97/2512 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การพิจารณาความเหมือนของเครื่องหมายการค้า ต้องพิจารณาจากวิญญูชนทั่วไป ไม่ใช่จากบุคคลใดบุคคลหนึ่ง
การวินิจฉัยว่าประชาชนหลงเชื่อว่าเครื่องหมายการค้าอันหนึ่งเป็นเครื่องหมายการค้าอีกอันหนึ่งหรือไม่นั้นต้องพิจารณาถึงความรู้สึกของวิญญูชนทั่วๆไปมิใช่จากความรู้สึกของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง
เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นรูปควายสีทองยืนอยู่ตัวเดียวมีรูปต้นไม้ภูเขาก้อนเมฆเป็นภาพประกอบของจำเลยเป็นรูปควายสีค่อนข้างดำ และมีรูปสิงห์โตคู่เหยียบอีแปะและรูปพระอาทิตย์มีรัศมีเป็นสารสำคัญของเครื่องหมายอีกด้วยทั้งพื้นภาพก็เป็นสีต่างกันตลอดจนตัวอักษรเจ้าของเครื่องหมายการค้าก็วางในที่ต่างกันและของโจทก์ยังเป็นอักษรภาษาอังกฤษเห็นได้ชัดว่ามิใช่เครื่องหมายการค้าอันเดียวกันและยังปรากฏว่ามีบุคคลอื่นๆ อีกที่เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าซึ่งมีรูปควายเป็นสารสำคัญหรือส่วนของเครื่องหมายการค้าจึงเป็นการยากที่ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดหลงเชื่อว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไม่ถือว่าจำเลยมีเจตนาเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์
เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นรูปควายสีทองยืนอยู่ตัวเดียวมีรูปต้นไม้ภูเขาก้อนเมฆเป็นภาพประกอบของจำเลยเป็นรูปควายสีค่อนข้างดำ และมีรูปสิงห์โตคู่เหยียบอีแปะและรูปพระอาทิตย์มีรัศมีเป็นสารสำคัญของเครื่องหมายอีกด้วยทั้งพื้นภาพก็เป็นสีต่างกันตลอดจนตัวอักษรเจ้าของเครื่องหมายการค้าก็วางในที่ต่างกันและของโจทก์ยังเป็นอักษรภาษาอังกฤษเห็นได้ชัดว่ามิใช่เครื่องหมายการค้าอันเดียวกันและยังปรากฏว่ามีบุคคลอื่นๆ อีกที่เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าซึ่งมีรูปควายเป็นสารสำคัญหรือส่วนของเครื่องหมายการค้าจึงเป็นการยากที่ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดหลงเชื่อว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไม่ถือว่าจำเลยมีเจตนาเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1274/2501
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การแย่งสิทธิในเครื่องหมายการค้า 'ฟอร์วิล' และการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
ฟ้องอ้างว่า โจทก์เป็นบริษัทนิติบุคคลจดทะเบียนในประเทศฝรั่งเศส จำเลยให้การไม่ได้โต้แย้งในข้อนี้ เป็นแต่ให้การว่าโจทก์มิได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลในประเทศไทย ถือว่าจำเลยรับตามข้ออ้างของโจทก์แล้ว
ตัวการมอบอำนาจให้ตัวแทนรวมทั้งอำนาจฟ้องคดี และให้ตั้งตัวแทนช่วงได้ ตัวแทนจึงตั้งตัวแทนช่วง ตัวแทนช่วงฟ้องคดีได้ เพราะมีการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีโดยตรงแล้ว
โจทก์ใช้เครื่องหมายการค้า ฟอร์วิล มา 30 ปี และส่งมาจำหน่ายในประเทศไทยกว่า 20 ปี จึงมีผู้เอาเครื่องหมายนี้ไปจดทะเบียน โดยเจตนาแย่งขายสินค้าแทนของโจทก์ เป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต โจทก์ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนได้ตาม พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า 2474 มาตรา 41 ผู้รับโอนจากผู้จดทะเบียนก็ไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน
ตัวการมอบอำนาจให้ตัวแทนรวมทั้งอำนาจฟ้องคดี และให้ตั้งตัวแทนช่วงได้ ตัวแทนจึงตั้งตัวแทนช่วง ตัวแทนช่วงฟ้องคดีได้ เพราะมีการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีโดยตรงแล้ว
โจทก์ใช้เครื่องหมายการค้า ฟอร์วิล มา 30 ปี และส่งมาจำหน่ายในประเทศไทยกว่า 20 ปี จึงมีผู้เอาเครื่องหมายนี้ไปจดทะเบียน โดยเจตนาแย่งขายสินค้าแทนของโจทก์ เป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต โจทก์ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนได้ตาม พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า 2474 มาตรา 41 ผู้รับโอนจากผู้จดทะเบียนก็ไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน