คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
การแจ้ง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 25 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2734/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแจ้งประกาศขายทอดตลาดที่ภูมิลำเนาตามทะเบียนราษฎร์ชอบด้วยกฎหมาย แม้ผู้ร้องอ้างว่าไม่ใช่ที่อยู่จริง
ผู้ร้องเบิกความเป็นพยานในสำนวนร้องขัดทรัพย์สำนวนแรกว่า มีภูมิลำเนาอยู่บ้านเลขที่ 18 หมู่ที่ 5 ตำบลไสหร้า สำนวนที่สองว่า มีภูมิลำเนาอยู่บ้านเลขที่ 100 หมู่ที่ 5 ตำบลไสหร้า และจากแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎร์ว่าผู้ร้องมีภูมิลำเนาอยู่บ้านเลขที่ 100 หมู่ที่ 5 ตำบลไสหร้า จึงฟังได้ว่าผู้ร้องมีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านเลขที่ดังกล่าวทั้งสองแห่ง เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีปิดประกาศขายทอดตลาดให้ผู้ร้องทราบ ณ บ้านเลขที่ 100 หมู่ที่ 5 ตำบลไสหร้า ถือว่าได้แจ้งประกาศขายทอดตลาดให้ผู้ร้องทราบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3585/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขายทอดตลาดต้องแจ้งให้ลูกหนี้ทราบ ณ ภูมิลำเนาที่ถูกต้อง การปิดประกาศที่ภูมิลำเนาเดิมหลังย้ายที่อยู่แล้วไม่ชอบ
ในการขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 แต่ละครั้งนั้นจำเลยที่ 3 เป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดี เป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้ดำเนินการขายทอดตลาดต้องแจ้งประกาศการขายให้จำเลยที่ 3 ทราบ เพื่อจำเลยที่ 3 จะได้มีโอกาสมาดูแลการขายรักษาผลประโยชน์ของตน ปรากฏว่ามีการประกาศขายทรัพย์ของจำเลยที่ 3 รวม 9 ครั้ง ทุกครั้งส่งประกาศให้จำเลยที่ 3 ที่บ้านเลขที่ 17/2 ตำบลปากเพรียว อำเภอเมืองสระบุรี จังหวัดสระบุรี ซึ่งเป็นที่อยู่ตามสำเนาทะเบียนบ้านของจำเลยที่ 3 หลังจากที่บ้านเลขที่ 17/2 ดังกล่าวถูกขายทอดตลาดไปแล้วจำเลยที่ 3 ย้ายที่อยู่ แม้จำเลยที่ 3 มีหน้าที่ต้องแจ้งการย้ายที่อยู่และที่อยู่ใหม่ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทราบตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 67 (3) หากฝ่าฝืนมีโทษทางอาญาก็ตาม ก็ไม่ได้หมายความว่าการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าวจะทำให้จำเลยที่ 3 ยังคงมีภูมิลำเนาตามเดิมตลอดไป ภูมิลำเนาของจำเลยที่ 3 ต้องเป็นไปตามหลักใน ป.พ.พ. ว่าด้วยภูมิลำเนา เมื่อการส่งประกาศการขายทอดตลาดทรัพย์กระทำเมื่อจำเลยที่ 3 ย้ายถิ่นที่อยู่ไปแล้ว และจำเลยที่ 3 ไม่ได้เป็นคนรับประกาศ และไม่ปรากฏว่าหลักจากการย้ายทะเบียนบ้านแล้วจำเลยที่ 3 ยึดถือบ้านเลขที่ 17/2 ดังกล่าวเป็นภูมิลำเนาเฉพาะการในเรื่องใด ดังนั้นขณะที่ปิดประกาศขายทอดตลาดทรัพย์เพื่อให้จำเลยที่ 3 ทราบ ณ บ้านเลขที่ 17/2 นั้น จำเลยที่ 3 ไม่มีภูมิลำเนา ณ บ้านดังกล่าวแล้ว จึงเป็นการปิดประกาศขายทอดตลาดทรัพย์ ณ สถานที่ซึ่งมิใช่ภูมิลำเนาของจำเลยที่ 3 ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 79 ประกอบกับ พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 153 (เดิม)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 915-976/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบอกกล่าวเลิกจ้างต้องแจ้งให้ลูกจ้างทราบโดยตรงหรือผู้รับมอบอำนาจ การปิดประกาศอย่างเดียวไม่ถือว่าเป็นการบอกกล่าวโดยชอบ
การที่จำเลยส่งประกาศเลิกจ้างพนักงานไปยัง ธ. ผู้จัดการโรงงานทางโทรสารเพื่อปิดประกาศให้พนักงานโรงงานทราบนั้น ไม่ใช่เป็นการที่จำเลยส่งโทรสารไปถึงโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 62 โดยตรง แต่เป็นเรื่องที่จำเลยมอบหมายให้ ธ. บอกกล่าวเลิกจ้างโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 62 ซึ่งการบอกกล่าวเลิกจ้างในลักษณะนี้เป็นการแสดงเจตนาที่กระทำต่อบุคคลซึ่งอยู่เฉพาะหน้าจะมีผลก็ต่อเมื่อโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 62 ได้ทราบการแสดงเจตนาบอกกล่าวเลิกจ้างนั้นแล้ว แม้ว่า ธ. ได้สั่งให้พนักงานนำสำเนาประกาศเลิกจ้างไปปิดประกาศไว้แล้วแต่ก็เป็นการปิดใกล้เวลาเลิกงาน พนักงานต่างไม่ทราบประกาศดังกล่าวในวันนั้น มารับทราบในวันรุ่งขึ้นบ้าง วันถัดไปบ้าง จึงต้องถือว่าการบอกกล่าวเลิกสัญญาจ้างของจำเลยแก่โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 62 ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1273/2543 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแจ้งการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการและกระบวนพิจารณาตามข้อตกลงอนุญาโตตุลาการและกฎหมาย
การแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการ การดำเนินกระบวนพิจารณาของอนุญาโตตุลาการตลอดจนการแจ้งความใด ๆ ให้คู่กรณีทราบ ย่อมต้องเป็นไปตามข้อบังคับตามข้อตกลงที่ให้มีการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องนั้น
ข้อบังคับของสมาคมการค้ายางระหว่างประเทศในเรื่องอนุญาโตตุลาการ กำหนดว่า อนุญาโตตุลาการต้องไม่ทำหน้าที่ในกรณีที่ตนมีส่วนได้เสียกับข้อพิพาทนั้นโดยไม่ได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากคู่กรณี และลูกจ้างของสมาชิกสมาคมใดจะทำหน้าที่เป็นอนุญาโตตุลาการในสหราชอาณาจักรสำหรับข้อพิพาทที่เกี่ยวกับการขายหรือซื้อยางพาราไม่ได้ แสดงว่า ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นอนุญาโตตุลาการอาจถูกคัดค้านมิให้ทำหน้าที่ได้ จึงเป็นสิทธิในเบื้องต้นของคู่กรณีในอันที่จะได้ทราบชื่อบุคคลผู้ทำหน้าที่อนุญาโตตุลาการ ข้อบังคับดังกล่าวยังกำหนดด้วยว่าหนังสือแจ้ง เอกสาร หรือหมายต่าง ๆ ตามกฎหมายที่เกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการที่ต้องส่งให้ฝ่ายที่อาศัยอยู่นอกประเทศอังกฤษ กรณีที่ไม่มีผู้แทนอยู่ในกรุงลอนดอน ให้จ่าหน้าตามที่อยู่เดิมถึงบุคคลนั้นแล้วส่งไปที่สำนักงานของสมาคมและไม่ว่าในกรณีใด ๆ ให้ส่งคู่ฉบับทางไปรษณีย์ลงทะเบียนจ่าหน้าถึงบุคคลนั้นโดยส่งไปยังที่อยู่อาศัยหรือที่ทำการธุรกิจล่าสุดที่ทราบ ย่อมเห็นได้ว่าจะต้องมีการแจ้งชื่อของอนุญาโตตุลาการ วิธีการดำเนินกระบวนพิจารณาของอนุญาโตตุลาการตลอดจนกำหนดวันเวลาและสถานที่พิจารณาให้คู่กรณีทราบ สำหรับผู้คัดค้านซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่นอกประเทศอังกฤษและไม่ปรากฏว่ามีผู้แทนในกรุงลอนดอนย่อมต้องมีการส่งคู่ฉบับของหนังสือแจ้งเอกสารหรือหมายต่าง ๆ เกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนไปยังภูมิลำเนาหรือสำนักงานของผู้คัดค้านด้วย แต่ตามเรื่องราวที่ผู้คัดค้านได้รับแจ้งคงมีเพียงหนังสือและโทรสารลงวันที่เดียวกันจากสมาคมการค้ายางระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นการแจ้งเพียงว่าได้มีการเสนอข้อพิพาทรายนี้ต่ออนุญาโตตุลาการแล้วเท่านั้น หาได้มีการแจ้งรายละเอียดดังกล่าวข้างต้นไม่ ส่วนหนังสือจากสมาคมค้ายางระหว่างประเทศ แม้จะมีการแจ้งรายละเอียดดังกล่าวครบถ้วนแล้ว แต่ผู้คัดค้านก็ปฏิเสธอยู่ว่าไม่เคยได้รับ เมื่อการส่งหนังสือฉบับนี้โดยทางโทรสารถึงผู้คัดค้านไม่อาจกระทำได้ และไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีการส่งหนังสือฉบับนี้ทางไปรษณีย์ลงทะเบียนถึงผู้คัดค้านด้วย แม้กรรมการบริหารสมาคมการค้ายางระหว่างประเทศจะบันทึกรับรองไว้ในหนังสือฉบับนี้ด้วยว่า ได้ส่งทางไปรษณีย์ให้แก่ผู้คัดค้านแล้วแต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่าเป็นการส่งโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตามข้อบังคับดังกล่าวแล้วหรือไม่ เมื่อรับฟังไม่ได้ว่ามีการแจ้งให้ผู้คัดค้านซึ่งจะถูกบังคับทราบล่วงหน้าโดยชอบถึงการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการ หรือการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการศาลจึงมีอำนาจที่จะปฏิเสธการขอบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศได้ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 มาตรา 34 (3)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 94/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแจ้งนัดพิจารณาคดีที่ถูกต้องตามกฎหมาย และผลกระทบต่อกระบวนการพิจารณาคดี
จำเลยที่ 3 ได้แต่งตั้งทนายความเข้ามาต่อสู้ คดีตั้งแต่แรกในชั้นพิจารณาสืบพยานโจทก์ ทนายความ ของจำเลยที่ 3 ก็มาศาลโดยสม่ำเสมอโดยมิได้ทอดทิ้งคดี ครั้นถึงวันนัดพิจารณาสืบพยานจำเลย ทนายความ ของจำเลยที่ 3 ไม่มาศาล แต่ศาลชั้นต้นก็คงให้สืบพยาน เฉพาะของจำเลยที่ 1 เท่านั้น แล้วมีคำสั่งให้เลื่อนไป นัดสืบพยานจำเลยที่ 3 แต่ปรากฏว่าทนายความจำเลยที่ 3 ถึงแก่กรรมเสียก่อนถึงวันนัด จำเลยที่ 3 และทนายความ ของจำเลยที่ 3 ต่างมีภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานที่แน่นอน ดังนั้นการแจ้งวันนัดพิจารณาสืบพยานจำเลยที่ 3 ให้ฝ่าย จำเลยที่ 3 ทราบ ศาลชั้นต้นชอบที่จะส่งหมายนัดไปยังภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานของจำเลยที่ 3 หรือของทนายความของจำเลยที่ 3 ซึ่งถือว่าเป็นการส่ง โดยวิธีธรรมดาก่อน ตามที่ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 74 บัญญัติไว้ ฉะนั้นการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ประกาศ แจ้งวันนัดพิจารณาสืบพยานจำเลยที่ 3 ไว้ที่หน้าศาล เพื่อให้จำเลยที่ 3 ทราบแทนนั้น จึงเป็นการกระทำ ที่ผิดขั้นตอนของกฎหมาย ขัดต่อ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 79 การประกาศแจ้งวันนัดให้จำเลยที่ 3 ทราบไม่ชอบอันมีผลทำให้กระบวนพิจารณาต่าง ๆ ที่กระทำภายหลังจากนั้นไม่ชอบไปด้วย อีกทั้งกรณีถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 ทราบนัดพิจารณาสืบพยานจำเลยที่ 3 แล้ว ประกอบกับเพื่อ ที่จะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรม การที่ศาลอุทธรณ์ พิพากษาให้ยกคำสั่งและคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ ศาลชั้นต้นดำเนินการสืบพยานจำเลยที่ 3 แล้วพิพากษา คดีใหม่ต่อไป จึงเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์เห็นสมควรตามที่ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27บัญญัติให้อำนาจไว้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4086/2541 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนสิทธิสัญญาเช่าซื้อและประกันภัย: สิทธิโอนได้หากไม่ขัด ป.พ.พ. และไม่มีข้อโต้แย้ง
โจทก์รับโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์และสัญญาประกันภัยจากว.โดยได้แจ้งให้ผู้ให้เช่าซื้อทราบ และผู้ให้เช่าซื้อได้แจ้งให้จำเลยผู้รับประกันภัยทราบแล้ว ถือได้ว่าโจทก์แจ้งให้จำเลยทราบถึงการโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาประกันภัยแล้ว เมื่อการโอนในกรณีนี้ ป.พ.พ.มาตรา 875 มิได้บังคับให้ทำเป็นหนังสือและจำเลยมิได้โต้แย้งคัดค้านการโอนสิทธิแต่อย่างใด ฉะนั้นสิทธิตามสัญญาประกันภัยจึงโอนไปยังโจทก์
ว.เพียงแต่โอนสิทธิการเช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ให้แก่โจทก์เท่านั้น กรรมสิทธิ์ในรถยนต์คันดังกล่าวเป็นของบริษัท ส.ผู้ให้เช่าซึ่งมิได้เปลี่ยนไปยังโจทก์ จึงมิใช่กรณีผู้เอาประกันภัยโดนรถยนต์ให้บุคคลอื่นตามกรมธรรม์ประกันภัยข้อ 1.13 กรมธรรม์ประกันภัยจึงไม่สิ้นผล

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2295/2541 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแจ้งคำบอกกล่าวตามสัญญาซื้อขาย การกำหนดภูมิลำเนาเฉพาะการ และผลของการไม่แจ้งให้ถูกต้อง
โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดจากจำเลย 2 ห้อง ในราคาห้องละ 350,000 บาท โจทก์ชำระเงินมัดจำให้จำเลยแล้วห้องละ 105,000 บาทส่วนที่เหลือจะชำระในวันทำการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ และโจทก์ได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่จำเลยทราบว่าโจทก์ต้องเดินทางไปต่างประเทศ หากจะติดต่อกับโจทก์ให้ติดต่อผ่าน จ.พี่สาวโจทก์ การที่จำเลยได้ส่งโทรสารแผนที่ตั้งโครงการไปให้ จ.พี่สาวโจทก์ เพื่อให้ จ.นำไปขอติดตั้งโทรศัพท์ในห้องอาคารชุดแทนโจทก์ แสดงว่าจำเลยยอมรับว่าโจทก์ได้แจ้งให้จำเลยติดต่อเรื่องการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดผ่าน จ.ตั้งแต่ก่อนที่จะเดินทางไปต่างประเทศ จึงต้องถือว่าที่อยู่ของ จ.เป็นภูมิลำเนาที่โจทก์ได้เลือกไว้เป็นการเฉพาะการนี้ ดังนั้น แม้จำเลยจะมีหนังสือแจ้งกำหนดการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดทั้งสองฉบับไปยังภูมิลำเนาเดิมของโจทก์ตามที่อยู่ที่ระบุไว้ในสัญญาก็ตาม แต่จำเลยไม่ได้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังภูมิลำเนาเฉพาะการของโจทก์ จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ทราบคำบอกกล่าว จำเลยยังคงต้องผูกพันปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายอยู่ เมื่อโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวแจ้งให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดแก่โจทก์แล้วจำเลยละเลยไม่ชำระหนี้ จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ชอบที่จะบอกเลิกสัญญาและบังคับให้จำเลยคืนเงินมัดจำได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 887/2540 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแจ้งการประชุมผู้ถือหุ้นโดยชอบ แม้มีการส่งหนังสือคืน และการรับฟังเอกสารพยานที่ทนายยอมรับ
เมื่อปรากฏว่าได้มีการส่งหนังสือนัดประชุมใหญ่ให้ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทตามภูมิลำเนาของผู้ร้องในวันที่ 21 มกราคม 2537ก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่า 7 วันแล้ว ย่อมถือได้ว่าได้มีการปฏิบัติตาม ป.พ.พ.มาตรา 1175 แล้ว แม้ต่อมาเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2537 ทางไปรษณีย์จะส่งหนังสือคืนมา และบริษัทได้ส่งซ้ำกลับคืนให้ผู้ร้องในวันนั้น ซึ่งผู้ร้องได้รับในวันที่27 มกราคม 2537 ก่อนวันนัดประชุมสองวัน ก็ไม่มีผลทำให้การส่งครั้งแรกที่ถูกต้องกลายเป็นไม่ชอบ อีกทั้งยังปรากฏว่าในวันที่ 14 มกราคม 2537 ซึ่งเป็นวันที่มีการประชุมกรรมการของบริษัทและมีมติให้เรียกประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นในวันที่ 29 มกราคม 2537 นั้น ผู้ร้องได้ร่วมประชุมอยู่ด้วยและทราบวันนัดประชุมแล้ว จึงถือได้ว่าได้มีการแจ้งวันนัดประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัทให้ผู้ร้องทราบโดยชอบแล้ว
แม้เอกสารพิพาทจะเป็นพยานเอกสารที่ผู้คัดค้านที่ 2หมายเรียกมาจากบุคคลภายนอก และในวันนัดสืบพยาน ทนายผู้คัดค้านที่ 2แถลงไม่ติดใจสืบพยาน และผู้คัดค้านที่ 1 มิได้อ้างเอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานก็ตาม แต่เมื่อปรากฏว่าทนายผู้ร้องซึ่งเบิกความเป็นพยานผู้ร้องเบิกความตอบคำถามค้านของทนายผู้คัดค้านที่ 1 ว่า ไม่คัดค้านเอกสารดังกล่าวเท่ากับเป็นการยอมรับข้อเท็จจริงในเอกสารดังกล่าว จึงชอบที่ศาลจะรับฟังเอกสารพิพาทดังกล่าวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 894/2538 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การส่งหมายเรียกและการติดตามคดีของผู้ประกอบวิชาชีพทนายความ
ขณะทำสัญญาเช่าซื้อ จำเลยที่ 1 ได้ระบุภูมิลำเนาตามฟ้องไว้ในสัญญาอันเป็นภูมิลำเนาตรงตามบัตรประชาชน และตรงตามสำเนาทะเบียนบ้านของจำเลยที่ 1 การส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องก็ได้มีการส่งตามบ้านเลขที่ดังกล่าว ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้ให้การต่อสู้คดีแล้ว ที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าการส่งหมายครั้งอื่นของพนักงานเดินหมายก่อนส่งคำบังคับได้นำไปส่งยังบ้านเลขที่อื่นที่เป็นสำนักงานของจำเลยที่ 1 แสดงว่าพนักงานเดินหมายทราบดีว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้อยู่บ้านเลขที่ตามฟ้องนั้น ป.วิ.พ. มาตรา 77 ได้บัญญัติถึงการส่งคำคู่ความหรือเอกสาร โดยเจ้าพนักงานศาลไปยังที่อื่นหรือสำนักทำการงาน การที่พนักงาน-เดินหมายไปส่งยังสำนักทำการงานของจำเลยที่ 1 ตามที่ปรากฏในท้ายสำนวนนั้นย่อมไม่ใช่แสดงว่า เจ้าพนักงานทราบดีว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้อยู่ที่บ้านเลขที่ตามฟ้องแต่อย่างใด อาจเป็นเพียงแต่เจ้าพนักงานเห็นว่าสะดวกกว่าการส่งไปยังภูมิลำเนาตามฟ้องก็เป็นได้ โดยเฉพาะจำเลยที่ 1 ประกอบอาชีพทนายความ ย่อมทราบขั้นตอนการพิจารณาของศาลเป็นอย่างดี แต่อ้างว่าเพิ่งติดตามคดี ทั้ง ๆ ยื่นคำให้การต่อสู้คดีไว้ตั้งแต่วันที่ 6 กรกฎาคม 2535 เพิ่งติดตามตรวจสำนวนเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2536 ซึ่งห่างจากวันยื่นคำให้การถึง 7 เดือนเศษ เป็นการผิดวิสัยของผู้ประกอบอาชีพทนายความอย่างยิ่ง จึงมิใช่พฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4299/2536 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแจ้งวันนัดฟังคำพิพากษา: ความถูกต้องของการรับแทนและหน้าที่ในการไต่สวน
จำเลยยื่นคำร้องว่าจำเลยไม่ทราบวันนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เพราะบุคคลที่ลงนามรับหมายแทนทนายจำเลยมิได้อยู่หรือทำงานในสำนักงานของทนายจำเลย ขอให้ศาลชั้นต้นนัดฟังคำพิพากษาใหม่ แม้จะปรากฏว่าการส่งหมายนัดได้กระทำโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วก็ตาม แต่ในรายงานการเดินหมายระบุว่า นายกล้า อายุ 40 ปีเต็มใจรับหมายไว้แทนเพราะอยู่ที่ทำงานเดียวกัน ซึ่งถ้าหากได้ความตามคำร้องของจำเลย ย่อมถือไม่ได้ว่า จำเลยทราบวันนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้ว ศาลชั้นต้นชอบที่จะต้องไต่สวนให้ได้ความจริงเสียก่อน
of 3