คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
การใช้สินค้า

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6180/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความหนี้ค่าสินค้าของผู้ประกอบการค้า: พิจารณาการใช้สินค้าในกิจการของผู้ซื้อ
สิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ค่าขายสินค้าจากผู้ซื้อของผู้ประกอบการค้ามีอายุความต่างกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) ประกอบกับมาตรา 193/33 (5) กล่าวคืออายุความสองปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) และห้าปีตามข้อยกเว้นในมาตรา 193/34 (1) ตอนท้าย ที่ว่า "...เว้นแต่เป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง" กรณีที่จะเข้าข้อยกเว้นดังกล่าวจะต้องนำกิจการหรือการงานที่ผู้ซื้อสินค้าประกอบการค้าอยู่นั้นมาพิจารณารวมกับสินค้าที่ซื้อว่า ผู้ซื้อนำสินค้านั้นไปใช้ในกิจการหรือการงานที่ผู้ซื้อประกอบการค้าหรือไม่ หากผู้ซื้อนำสินค้าที่ซื้อไปใช้ในกิจการที่ผู้ซื้อประกอบการค้าแล้ว สิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ค่าขายสินค้าของผู้ประกอบการค้ามีอายุความห้าปี ทั้งนี้ หาได้มีข้อจำกัดว่าสินค้าที่ซื้อขายกันนั้นต้องเป็นสินค้าที่ผู้ประกอบการค้าผลิตขึ้นเพื่อขายให้แก่ผู้ซื้อโดยเฉพาะเจาะจงไม่ แม้เป็นสินค้าที่ซื้อขายกันทั่วไปในท้องตลาดก็อยู่ในบังคับของบทบัญญัติแห่งกฎหมายสองมาตรานี้ดุจกัน สำหรับคำว่า "กิจการ" ก็มีความหมายครอบคลุมถึงการใด ๆ ที่ได้ทำเพื่อเป็นการทำมาหาได้ ลักษณะเป็นการประกอบอาชีพ มิได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะต่อการเลี้ยงสัตว์เพื่อขายหรือซื้อสินค้ามาเพื่อขายต่อหรือเพื่อผลิตเป็นสินค้าใหม่ จำเลยเป็นบริษัทจำกัดประกอบกิจการโรงแรมและห้องอาหารอันเป็นกิจการให้บริการและจำหน่ายอาหารแก่ผู้มาใช้บริการของโรงแรมของจำเลย สินค้าที่จำเลยซื้อจากโจทก์ก็เป็นเครื่องอุปโภคจำพวกถ้วย โถ จาน ชาม ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการรับประทานอาหารและให้บริการจำหน่ายอาหารในห้องอาหาร อันเป็นส่วนหนึ่งของกิจการของจำเลย ทั้งจำเลยก็รับว่าจำเลยซื้อสินค้าดังกล่าวมาใช้เป็นอุปกรณ์ในการให้บริการในกิจการของจำเลย กรณีจึงตกอยู่ในบังคับของ ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) ตอนท้าย สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงมีอายุความห้าปี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2379/2538

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความแตกต่างของเครื่องหมายการค้า: การพิจารณาความลวงสาธารณชน, ลักษณะเครื่องหมาย, และการใช้สินค้า
เครื่องหมายการค้าของจำเลยประกอบด้วยอักษรโรมันคำว่า"Madam Cook" กับอักษรไทยคำว่า "มาดามกุ๊ก" เป็นคำ 3 พยางค์ โดยอักษรโรมันอยู่ด้านบนของอักษรไทย และอักษรไทยมีขนาดเล็กกว่าอักษรโรมันเล็กน้อยส่วนเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นอักษรไทยคำว่า "กุ๊ก" และอักษรโรมันคำว่า"COOK" พยางค์เดียว และอักษรไทยคำว่า "กุ๊ก" เป็นอักษรตัวขนาดใหญ่กว่าอักษรโรมัน อักษรโรมันวางอยู่บนพยัญชนะ "ก" ตัวที่ 2 ในระดับเดียวกันกับวรรณยุกต์ไม้ตรี เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่เป็นอักษรไทยและอักษรโรมันเป็นอักษรประดิษฐ์และอักษรโรมันคำว่า "Madam Cook" ใช้อักษรตัวพิมพ์เล็ก คงใช้ตัวพิมพ์ใหญ่เฉพาะตัวอักษร "M" และ "C" ส่วนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งอักษรไทยและอักษรโรมันเป็นอักษรธรรมดามิใช่อักษรประดิษฐ์ อักษรโรมันคำว่า"COOK"" ใช้อักษรตัวพิมพ์ใหญ่ทั้งหมด ลักษณะเครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยจึงแตกต่างกัน แม้เครื่องหมายการค้าของจำเลยจะมีคำว่า "กุ๊ก" และคำว่า "Cook" เป็นสาระสำคัญส่วนหนึ่งในเครื่องหมายการค้าซึ่งเป็นคำเดียวกับคำในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ก็ตาม แต่คำดังกล่าวก็เป็นคำสามัญทั่ว ๆ ไปมิใช่คำประดิษฐ์ซึ่งโจทก์ไม่มีสิทธิหวงกันไม่ให้ผู้อื่นใช้คำดังกล่าว และเครื่องหมาย-การค้าของทั้งโจทก์และจำเลยก็มีเสียงเรียกขานแตกต่างกัน โดยของโจทก์เรียกว่า "กุ๊ก" ส่วนของจำเลยเรียกว่า "มาดามกุ๊ก" การจัดตัวอักษรในเครื่องหมายการค้าของจำเลยก็เป็นไปตามปกติธรรมดา โดยเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่เป็นอักษรโรมันคำว่า "Madam" มีขนาดเดียวกันกับคำว่า "Cook"อันเป็นการให้ความสำคัญในถ้อยคำแต่ละพยางค์เท่าเทียมกัน มิได้จัดให้อักษรคำว่า"Cook" หรือ "กุ๊ก" มีขนาดใหญ่หรือเน้นให้ดูโดดเด่นเป็นพิเศษเพื่อเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ทั้งสินค้าที่โจทก์ผลิตออกจำหน่ายในท้องตลาดภายใต้เครื่องหมายการค้าของโจทก์มีเพียงชนิดเดียวคือสินค้าน้ำมันพืชและเน้นเครื่องหมายการค้าโดยใช้ตัวอักษรสีแดงสด ส่วนจำเลยแม้จะจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในจำพวกที่ 42 รายการสินค้าทั้งจำพวกซึ่งรวมถึงสินค้าน้ำมันพืชด้วย แต่จำเลยก็ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับอาหารสำเร็จรูปที่จำเลยผลิตขึ้น ได้แก่ แกงเขียวหวานลูกชิ้นปลากราย หูฉลามน้ำแดงเปรี้ยวหวานอาหารทะเล ปลากระพงน้ำแดง โดยใช้เครื่องหมายการค้าเป็นอักษรโรมันว่า "Madam Cook" และส่งออกไปขายยังต่างประเทศ มิได้ผลิตขายในประเทศไทย ทั้งอักษรโรมันคำว่า "Madam Cook" บนซองบรรจุอาหารสำเร็จรูปก็มีลักษณะตรงกับที่จำเลยจดทะเบียนไว้ มิได้จัดตัวอักษรหรือใช้สีสันหรือกระทำการใดอันเป็นการเน้นคำว่า "Cook" แต่อย่างใด แสดงว่าจำเลยมิได้มีเจตนาไม่สุจริตที่จะทำให้สาธารณชนหลงผิดหรือลวงขายสินค้าของตนให้เข้าใจว่าเป็นสินค้าของโจทก์ เครื่องหมายการค้าของจำเลยมีลักษณะแตกต่างกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์อย่างชัดเจน เครื่องหมายการค้าของจำเลยจึงไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนถึงนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชน