คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
กำหนดฟ้อง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 5 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 482/2546 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กำหนดระยะเวลาฟ้องคดีภาษีโรงเรือนและที่ดิน: มิใช่อายุความ แต่เป็นกำหนดที่กฎหมายบังคับ หากพ้นกำหนด ศาลไม่มีอำนาจพิจารณา
กำหนดระยะเวลาที่ให้ผู้รับการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินฟ้องคดีต่อศาล เพื่อแสดงให้ศาลเห็นว่าการประเมินนั้นไม่ถูกต้อง โดยต้องฟ้องภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันรับแจ้งความให้ทราบคำชี้ขาดตามมาตรา 31 วรรคแรก แห่ง พ.ร.บ. ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 นั้น เป็นกำหนดระยะเวลาที่กฎหมายบัญญัติให้ผู้รับประเมินฟ้องต่อศาลและศาลในกรณีนี้คือศาลภาษีอากรกลาง กำหนดระยะเวลาดังกล่าวมิใช่อายุความฟ้องร้องตาม ป.พ.พ. บรรพ 1 ลักษณะ 6 จึงนำบทบัญญัติเรื่องอายุความสะดุดหยุดลงมาใช้บังคับไม่ได้ เมื่อโจทก์ทั้งสามมิได้ฟ้องคดีภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด แต่ยื่นคำร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์และได้มีการโอนเรื่องที่โจทก์ทั้งสามร้องทุกข์ไปเป็นคดีของศาลปกครองกลาง แล้วต่อมาศาลปกครองกลางวินิจฉัยว่าคดีไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองก็ตาม โจทก์ทั้งสามย่อมไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5849/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยื่นฟ้องคดีภาษีอากรเกินกำหนด และเหตุสุดวิสัยที่ไม่เพียงพอต่อการขยายเวลา
โจทก์ได้รับคำวินิจฉัยอุทธรณ์เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2543 ต่อมาวันที่ 20พฤศจิกายน 2543 โจทก์ฟ้องขอเพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ทั้งได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาในการวางเงินค่าธรรมเนียมศาลโดยอ้างเหตุว่าเกิดอุทกภัยขึ้นในภูมิลำเนาของโจทก์อย่างรุนแรงโจทก์ปิดกิจการที่ทำอยู่ชั่วคราว แต่โจทก์ไม่สามารถนำเงินค่าธรรมเนียมศาลมาชำระได้ภายในเวลาที่ศาลกำหนด ต่อมาวันที่ 10 ตุลาคม 2544 โจทก์นำคดีเดียวกันมาฟ้องใหม่เป็นคดีนี้ พร้อมกับยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาในการยื่นฟ้องโดยอ้างเหตุสุดวิสัยข้างต้น ตามคำร้องดังกล่าวเหตุอุทกภัยได้ผ่านพ้นไปนานแล้ว ถือไม่ได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัยตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528มาตรา 17 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ที่โจทก์จะนำมาอ้างเพื่อขอขยายระยะเวลาในการยื่นฟ้องจำเลยในเรื่องเดียวกันเป็นคดีนี้
หมายเหตุ ในคดีภาษีอากร ศาลมีอำนาจขยายระยะเวลายื่นคำฟ้องให้แก่คู่ความได้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5521/2534(ประชุมใหญ่) ระหว่าง นายสนิท วัฒนากรในฐานะผู้จัดการมรดกของนายจรูญวัฒนากร โจทก์ กรมสรรพากร จำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3406/2537 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่รับวินิจฉัย: คดีมีทุนทรัพย์ไม่เกินสองแสนบาท & เกินกำหนดฟ้องแย่งการครอบครอง
โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ร่วมกันในที่ดินพิพาทซึ่งมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์โดยซื้อมาจากจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 ไม่ได้โอนชื่อทางทะเบียนให้ ต่อมาจำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โดยโอนชื่อทางทะเบียนให้แก่จำเลยที่ 2 โดยจำเลยทั้งสองรู้อยู่แล้วว่าที่ดินแปลงดังกล่าวได้โอนให้แก่โจทก์ทั้งสองแล้ว จากนั้นจำเลยที่ 2 ได้เข้ารบกวนการครอบครองและเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทเป็นการเข้าแย่งการครอบครองที่ดินของโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยที่ 2 ไปจดทะเบียนเพิกถอนชื่อออกจากหนังสือรับรองการทำประโยชน์ และขับไล่จำเลยที่ 2 ออกไป กับให้จำเลยที่ 1 โอนชื่อทางทะเบียนให้แก่โจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้ว่า จำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 และเข้าครอบครองทำประโยชน์เป็นเวลา 4 ปี9 เดือนเศษ โจทก์ทั้งสองมิได้ครอบครองที่ดินพิพาทและขัดขวางจำเลยที่ 2 แต่อย่างใด ดังนี้ ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยมีว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสองหรือเป็นของจำเลยที่ 2 จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ แม้โจทก์ทั้งสองจะมีคำขอให้จำเลยที่ 2 เพิกถอนชื่อออกจากหนังสือรับรองการทำประโยชน์กับให้จำเลยที่ 1 โอนชื่อทางทะเบียนให้แก่โจทก์ทั้งสองก็เป็นผลต่อเนื่องในเรื่องที่ดินพิพาทเป็นของใคร ถือไม่ได้ว่าเป็นคดีมีคำขออันไม่มีทุนทรัพย์แยกกันได้จากคำขอที่เป็นทุนทรัพย์ เมื่อราคาที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท ย่อมต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา248 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4099/2535

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ทางไปรษณีย์ลงทะเบียน และผลต่อการฟ้องคดีภาษีอากรภายในกำหนด
การส่งหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ กระทำโดยส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนกระทำได้ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 8 วรรคแรก ซึ่งไปรษณีย์ภัณฑ์ และพัสดุไปรษณีย์อาจนำจ่ายให้แก่ผู้รับหรือผู้แทนของผู้รับก็ได้ ในการนำจ่าย ณ ที่อยู่ของผู้รับการสื่อสารแห่งประเทศไทยถือว่า เวรรักษาการณ์ของสำนักงานเป็นผู้แทนผู้รับ กรณีที่นำจ่ายให้แก่ผู้แทนของผู้รับ ให้ถือว่าได้นำจ่ายให้แก่ผู้รับแล้วนับแต่วันเวลาที่นำจ่ายตามไปรษณีย์นิเทศพ.ศ. 2524 ข้อ 350 ข้อ 351 และข้อ 353 น. ผู้ที่รับหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์จากบุรุษไปรษณีย์ไว้ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม2528 นั้นเป็นยามที่บริษัท จ. จัดมาทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยให้แก่ทรัพย์สินภายในบริเวณโรงงานและสำนักงานของโจทก์ตามสัญญาที่โจทก์เป็นผู้จ้าง การที่ น. ทำหน้าที่ดังกล่าวอยู่ที่ตู้ยามบริเวณหน้าทางเข้าโรงงานและสำนักงานของโจทก์จึงเป็นการทำหน้าที่เป็นเวรรักษาการณ์ของสำนักงานโจทก์นั่นเองหาใช่เป็นยามหรือเวรรักษาการณ์ของบริษัท จ. ไม่ จึงถือได้ว่าน. เป็นผู้แทนโจทก์ และหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ได้นำจ่ายให้แก่ผู้รับคือโจทก์ ตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2528 แล้ว เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องในวันอังคาร ที่ 7 มกราคม 2529 จึงเป็นการนำคดีมาฟ้องเมื่อพ้นกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่โจทก์ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ขัดต่อ ป.รัษฎากร มาตรา 30(2) โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 905/2531 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องคดีภาษีอากร เกินกำหนดฟ้อง และการแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์โดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียน
โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นนักแสดงภาพยนตร์และโทรทัศน์โดยเป็นนักแสดงอาชีพมิได้รับจ้างแสดงเป็นครั้งคราว เงินได้ที่ได้รับเนื่องจากการแสดงภาพยนตร์และโทรทัศน์จึงเป็นเงินได้จากวิชาชีพอิสระตามมาตรา 40 (6) แห่งประมวลรัษฎากร หากเงินได้ของโจทก์ไม่ใช่เงินได้จากวิชาชีพอิสระตามมาตรา 40 (6) เงินได้จากการประกอบอาชีพนักแสดงก็เป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร คำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวไม่ขัดกัน ไม่เป็นคำฟ้องที่เคลือบคลุม
การแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามประมวลรัษฎากร จะใช้วิธีนำไปส่งหรือส่งโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนก็ได้ จำเลยใช้วิธีการส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน ดังนั้นความในประมวลรัษฎากร มาตรา 8 วรรคสอง ที่ว่าถ้าให้นำส่งเมื่อผู้ส่งไม่พบผู้รับ จะส่งให้แก่บุคคลใดซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วและอยู่ในบ้านหรือสำนักงานของผู้รับก็ได้ จึงไม่ใช้กับกรณีนี้ แต่การส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับต้องบังคับตามไปรษณียนิเทศ พ.ศ. 2529 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 22แห่งพระราชบัญญัติไปรษณีย์ พุทธศักราช 2477 และมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2519 ซึ่งใช้บังคับขณะพิพาทกันในคดีนี้ ไปรษณียนิเทศ ข้อ 333 กำหนดว่าไปรษณียภัณฑ์และพัสดุไปรษณีย์อาจนำจ่ายให้แก่ผู้รับหรือผู้แทนของผู้รับก็ได้ ข้อ 334 กำหนดว่า ในกรณีนำจ่าย ณ ที่อยู่ของผู้รับการสื่อสารแห่งประเทศไทยถือว่าบุคคลต่อไปนี้เป็นผู้แทนของผู้รับคือ บุคคลซึ่งอยู่หรือทำงานในบ้านเรือนหรือที่สำนักทำการงานของผู้รับ และข้อ 336 กำหนดว่าไปรษณียภัณฑ์และพัสดุไปรษณีย์ที่นำจ่ายให้แก่ผู้แทนของผู้รับให้ถือว่าได้นำจ่ายให้แก่ผู้รับแล้วนับแต่วันเวลาที่นำจ่าย ดังนั้น การที่โจทก์แถลงยอมรับว่า นางสาว ส. อายุ 18 ปี คนรับใช้และอยู่ในบ้านโจทก์ได้รับหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2529 จึงถือได้ว่าโจทก์ได้รับหนังสือดังกล่าวแล้ว เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2529 ตามมาตรา 8 แห่งประมวลรัษฎากรการที่โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2529 จึงเป็นการนำคดีมาฟ้องเมื่อพ้นกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่โจทก์ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ขัดต่อมาตรา 30 แห่งประมวลรัษฎากร โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
(วรรคสองวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ครั้งที่ 4/2531)