คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
กำหนดเวลาชำระหนี้

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 10 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9255/2538 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กำหนดเวลาชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความและการผิดนัด
การที่สัญญาประนีประนอมยอมความกำหนดให้จำเลยที่ 1 ที่ 2ผ่อนชำระเงินเดือนละ 100,000 บาท โดยวิธีนำมาวางศาลเพื่อให้โจทก์รับไปภายในวันสิ้นเดือนของทุกเดือน หากผิดนัดงวดหนึ่งงวดใดให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมดเป็นการกำหนดเวลาที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 จะต้องชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทิน เมื่อมิได้วางเงินตามกำหนดถือว่าผิดนัด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5267/2537 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ และสิทธิในการบังคับคดี
เมื่อสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งศาลพิพากษาตามยอมกำหนดให้จำเลยทั้งสีผ่อนชำระหนี้ให้โจทก์ภายในกำหนดวันที่ 30 ของทุกเดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 30สิงหาคม 2532 เป็นต้นไป หากผิดนัดสองงวดติดต่อกันให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมด ให้โจทก์บังคับคดีได้ทันที สัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวจึงได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทิน การที่จำเลยทั้งสี่ชำระหนี้งวดแรกช้าไป 1 วัน และไม่ได้ชำระงวดที่ 2จำเลยทั้งสี่จึงผิดนัดสองงวดติดต่อกัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 204วรรคสอง โจทก์มีสิทธิบังคับคดีได้
จำเลยทั้งสี่มีหน้าที่ต้องชำระหนี้ให้โจทก์ถึง 44,714,52 .11 บาทและต้องผ่อนชำระทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยให้เสร็จภายใน 5 ปี จำเลยทั้งสี่ผ่อนชำระให้โจทก์เพียง 7 ครั้ง เป็นเงินเพียง 3,500,000 บาท การที่โจทก์ยอมรับชำระหนี้จากจำเลยทั้งสี่อีกต่อมาภายหลังที่จำเลยทั้งสี่ผิดนัดนั้นย่อมเป็นการบรรเทาภาระหนี้สินของจำเลยทั้งสี่ที่มีอยู่ต่อโจทก์ ซึ่งเป็นผลดีแก่จำเลยทั้งสี่ จำเลยทั้งสี่จะถือเอาเป็นการผูกมัดโจทก์ว่าโจทก์มิได้ถือเอากำหนดเวลาชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นสาระ-สำคัญหาได้ไม่ ทั้งโจทก์ได้คัดค้านปฏิเสธข้ออ้างดังกล่าวของจำเลยทั้งสี่ตลอดมา แม้จำเลยทั้งสี่ได้ชำระหนี้ให้โจทก์ครั้งที่ 7 เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2533 ต่อมาวันที่ 10 กันยายน2533 โจทก์ก็ยื่นคำร้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดี แสดงว่าโจทก์ยังถือเอากำหนดเวลาชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นสาระสำคัญต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2165/2537

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจะซื้อขายที่ดิน: การตีความกำหนดเวลาชำระหนี้ และขอบเขตการบังคับตามสัญญา
ผู้จะซื้อได้กรอกข้อความในสัญญาจะซื้อขายที่ดินว่ากำหนดจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ภายในเดือนเมษายน 2531 และให้ผู้จะขายกรอกวันที่ลงไป แต่ผู้จะขายก็หาได้กรอกวันที่ไม่ ทั้งภายหลังผู้จะซื้อและผู้จะขายก็มิได้กำหนดวันที่โอนกันอีก จึงจะถือว่าสัญญาดังกล่าวได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 204 มิได้ ทั้งยังถือว่าโดยสภาพหรือโดยเจตนาที่คู่สัญญาได้แสดงว่าจะเป็นผลสำเร็จได้ก็แต่ด้วยการชำระหนี้ ณ เวลามีกำหนดตามมาตรา 388 ก็ไม่ได้ การที่ผู้จะขายบอกเลิกสัญญาโดยมิได้บอกกล่าวให้ผู้จะซื้อชำระเงินก่อนจึงไม่ชอบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 สัญญาจึงยังไม่เลิกกัน ในสัญญาจะซื้อขายที่ดิน ผู้จะซื้อกรอกเฉพาะโฉนดที่ดินเลขที่ 6470 เนื้อที่ประมาณ 30 ไร่ ซึ่งผู้จะขายมิได้ทักท้วงเรื่องเนื้อที่ที่ดิน ความจริงที่ดินดังกล่าวได้แบ่งเป็นโฉนดเลขที่ 12473อีก 1 โฉนด ทั้งผู้จะขายก็มิได้ให้การโต้แย้งว่าที่ดินตามสัญญามีเนื้อที่ไม่ถึง 30 ไร่ และยังนำสืบรับว่าที่ดินพิพาทมี 2 แปลงดังกล่าว ถือว่าคู่สัญญาตกลงกันที่จะทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินประมาณ 30 ไร่ นั่นเอง ซึ่งเป็นการตีความตามเจตนาอันแท้จริงของคู่สัญญาดังนั้น แม้ว่าผู้จะซื้อฟ้องขอบังคับให้ผู้จะขายโอนที่ดินเฉพาะโฉนดเลขที่ 6470 แต่ศาลก็สามารถพิพากษาให้โอนที่ดินทั้งสองโฉนดได้ โจทก์ฟ้องขอบังคับให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแก่โจทก์โดยโจทก์จะชำระเงินส่วนที่เหลือแก่จำเลยทันทีในวันจดทะเบียน ศาลจะพิพากษาให้โจทก์วางเงินค่าที่ดินต่อศาลเพื่อชำระหนี้แก่จำเลยภายใน 30 วันนับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด มิฉะนั้นจะหมดสิทธิซื้อที่ดินพิพาทหาได้ไม่เพราะเป็นการพิพากษาเกินคำขอ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2331/2522

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาโอนสิทธิการเช่า: การแปลงหนี้ด้วยวาจาไม่สมบูรณ์, การบอกเลิกสัญญา, และผลของการไม่ปฏิบัติตามกำหนดเวลาชำระหนี้
การที่จำเลยที่ 1 ตกลงให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินแก่ผู้เช่าและรับโอนสิทธิการเช่าแทนโดยจำเลยที่ 1 จะชำระเงินและโอนสิทธิการเช่าคืนจากจำเลยที่ 2 นั้น จำเลยที่ 1 เป็นทั้งลูกหนี้และเจ้าหนี้เมื่อจำเลยที่ 2 ตกลงกับโจทก์ให้โจทก์ชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 แก่จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 โอนสิทธิการเช่าแก่โจทก์จึงเป็นการแปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนทั้งตัวเจ้าหนี้และลูกหนี้ และเมื่อสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 เป็นการเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ จึงต้องบังคับตามบทบัญญัติเรื่องโอนสิทธิเรียกร้องดังนั้นเมื่อจำเลยที่ 2 กับโจทก์ตกลงกันด้วยวาจาโดยมิได้ทำเป็นหนังสือจึงไม่สมบูรณ์ไม่มีผลใช้บังคับ
เมื่อสัญญาระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 มิได้กำหนดวันชำระเงินและจำเลยที่ 2 บอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 นำเงินมาชำระภายใน 3 วัน นับแต่วันรับหนังสือหากพ้นกำหนดจะถือเป็นการขอถอนคำมั่นนั้นเป็นการกำหนดเวลาให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้และขอเลิกสัญญาเมื่อจำเลยที่ 1ไม่ชำระหนี้ภายในกำหนดสัญญาจึงเป็นอันเลิกกัน
สัญญาซึ่งลงลายมือชื่อจำเลยที่ 1 กับโจทก์ทั้งสองฝ่ายมีข้อความบ่งชัดว่าสัญญาเกิดขึ้นแล้วไม่ใช่เพียงคำมั่น แต่การที่จำเลยที่ 1 บอกกล่าวกำหนดเวลาให้โจทก์ชำระเงินโจทก์ไม่ชำระตามเวลากำหนดโจทก์จึงไม่มีสิทธิบังคับให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้โดยรับชำระเงินจากโจทก์แล้วโอนสิทธิการเช่าให้โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1124/2511 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญากู้ไม่มีกำหนดเวลาชำระหนี้ ผู้ให้กู้มีสิทธิเรียกได้เสมอ การนำสืบเพิ่มเติมข้อความในสัญญาเป็นไปตามกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
สัญญากู้ไม่มีกำหนดเวลาชำระหนี้ ผู้ให้กู้ย่อมมีสิทธิเรียกให้ผู้กู้ชำระหนี้เมื่อใดก็ได้ และการที่ผู้กู้นำพยานบุคคลมาสืบว่า การกู้รายนี้มีข้อตกลงกำหนดเวลาชำระหนี้คืน 3 เดือน ตามเช็คล่วงหน้าที่ผู้กู้ได้ออกให้ผู้ให้กู้ยึดถือไว้นั้น เป็นการนำสืบเพิ่มเติมข้อความในเอกสารสัญญากู้ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94
เอกสารหมาย ล.6 ที่โจทก์ผู้ให้กู้มีถึงจำเลยแจ้งกำหนดเวลาชำระหนี้ให้จำเลยทราบถือได้แต่เพียงเป็นหลักฐานที่โจทก์เรียกให้จำเลยชำระหนี้ภายในเวลาที่โจทก์กำหนดไว้เท่านั้นจะถือเป็นหลักฐานว่าโจทก์จำเลยตกลงกำหนดเวลาชำระหนี้แน่นอนแล้วหาได้ไม่
เมื่อหนี้ไม่มีกำหนดเวลาชำระหนี้ การค้ำประกันก็มิใช่การค้ำประกันหนี้อันจะต้องชำระ ณ เวลามีกำหนดแน่นอน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 700 แม้ผู้ให้กู้จะผ่อนเวลาให้ลูกหนี้ ผู้ค้ำประกันก็หาหลุดพ้นความรับผิดไม่
โจทก์มิได้ฟ้องเรียกร้องเอาดอกเบี้ย แต่เมื่อฟังได้ว่าการกู้มีดอกเบี้ย ผู้กู้จึงต้องชำระดอกเบี้ยอยู่ และก่อนฟ้องโจทก์ได้รับชำระหนี้จากจำเลยด้วยสิ่งของเป็นเงิน 8,725 บาท โจทก์จึงฟ้องเรียกให้จำเลยชำระเฉพาะต้นเงินกู้ ดังนี้ การที่ศาลจัดใช้เงิน 8,725 บาท ที่โจทก์ได้รับชำระหนี้ก่อนฟ้องเป็นใช้ดอกเบี้ยเสียก่อน ส่วนเหลือใช้เป็นการชำระต้นเงินกู้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 329 แล้วพิพากษาให้จำเลยรับผิดชำระต้นเงินกู้ที่ยังค้างให้โจทก์น้อยกว่าที่โจทก์ขอนั้น ดังนี้หาเป็นการพิพากษาเกินคำขอไม่
สัญญากู้มีข้อความว่า จำเลยยอมให้ดอกเบี้ยแก่โจทก์ แต่อัตราดอกเบี้ยมิได้กำหนดลงไว้จึงต้องใช้อัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 315/2505

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาไม่มีกำหนดเวลาชำระหนี้ เช็คลงวันที่ล่วงหน้าไม่ผูกพันเจ้าหนี้ ผู้ค้ำประกันยังต้องรับผิด
สัญญากู้เงินมิได้ตกลงกำหนดเวลาชำระหนี้กันไว้แต่ลูกหนี้ได้ออกเช็คล่วงหน้าให้ผู้ให้กู้ยึดถือไว้ นั้นหาเป็นการตกลงให้การกำหนดเวลาการชำระหนี้ให้แน่นอนขึ้นอย่างไรไม่ ผู้ค้ำประกันจึงยังคงต้องผูกพันรับผิดต่อเจ้าหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ตลอดไปตามสัญญาค้ำประกันแม้ลูกหนี้จะได้ออกเช็คใหม่ ลงวันล่วงหน้าต่อไปอีกให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้แทนเช็คใบเก่าก็ไม่เป็นการที่เจ้าหนี้ยอมผ่อนเวลาให้แก่ลูกหนี้ผู้ค้ำประกันจึงไม่หลุดพ้นจากการรับผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 142/2492 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาไถ่ถอนที่ดิน: การตีความเจตนาสละสิทธิ vs. กำหนดระยะเวลาชำระหนี้
ทำสัญญากู้เงินมอบที่นาให้ทำกินต่างดอกเบี้ย กำหนดไถ่ถอนภายใน 1 ปี เมื่อพ้นกำหนดแล้วไม่ไถ่ ดังนี้ ในข้อวินิจฉัยที่ว่า จะเป็นการแสดงเจตนาสละสิทธิครอบครองหรือเป็นเรื่องระยะเวลาชำระหนี้นั้น เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวแก่การวินิจฉัยหรือตีความตามข้อตกลงแห่งสัญญา ซึ่งศาลฎีกาเห็นว่าข้อตกลงเพียงเท่านี้ยังแปลไม่ได้ว่าเป็นการแสดงเจตนาสละสิทธิครอบครอง แปลได้เพียงว่า เป็นกำหนดระยะเวลาชำระหนี้หรือกำหนดเวลาการไถ่ถอน.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3792/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประนีประนอมยอมความ: กำหนดเวลาชำระหนี้เป็นสาระสำคัญ การบังคับคดีชอบด้วยกฎหมาย
สัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสอง ได้กำหนดเวลาชำระหนี้แต่ละงวดไว้แน่นอนตามวันแห่งปฏิทิน ซึ่งหากจำเลยทั้งสองผิดนัดการชำระหนี้งวดใดงวดหนึ่งถือว่าจำเลยทั้งสองผิดนัดการชำระหนี้ทุกงวด ยอมให้โจทก์บังคับคดีได้ทันที แสดงให้เห็นเจตนาของคู่สัญญาที่ประสงค์ให้ถือเอาเวลาชำระหนี้ที่กำหนดไว้เป็นสาระสำคัญ และศาลชั้นต้นได้พิพากษาไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว จึงผูกพันโจทก์และจำเลยทั้งสองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคแรก แม้โจทก์จะรับชำระหนี้งวดที่ 1 ถึงงวดที่ 4 ซึ่งชำระไม่ตรงตามกำหนด โดยโจทก์ไม่คิดดอกเบี้ยผิดนัดจากจำเลยทั้งสองก็เป็นเรื่องที่โจทก์ยังไม่ประสงค์จะบังคับคดีในขณะนั้นเท่านั้น ไม่ทำให้จำเลยทั้งสองพ้นจากความผูกพันที่จะต้องชำระหนี้งวดต่อไปให้ตรงตามกำหนด เมื่อจำเลยทั้งสองยังคงชำระหนี้งวดที่ 5 ไม่ตรงตามกำหนดอีก จึงเป็นผู้ผิดนัด
จำเลยทั้งสองผิดนัดชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์จึงมีสิทธิขอให้บังคับคดีด้วยการยึดที่ดินของจำเลยที่ 2 มาชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 แม้โจทก์จะทราบมาก่อนว่าที่ดินดังกล่าวจำเลยที่ 2 ได้เสนอขายต่อสหกรณ์ออมทรัพย์ครูสุพรรณบุรี จำกัด และคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์ครูสุพรรณบุรี จำกัด มีมติให้ซื้อจากจำเลยที่ 2 แล้ว ก็ไม่เป็นการใช้สิทธิบังคับคดีโดยไม่สุจริต

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6228/2550 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนี้กู้เงินมีกำหนดเวลาชำระหนี้ไม่แน่นอน เจ้าหนี้ฟ้องได้ & คิดดอกเบี้ยผิดนัดได้
สัญญากู้เงินที่จำเลยทำไว้กับโจทก์ ข้อ 1 มีข้อความว่า "ผู้กู้ตกลงกู้และผู้ให้กู้ตกลงให้กู้เงินจำนวนทั้งสิ้น 160,000 บาท และในวันนี้ผู้กู้ได้รับเงินสดจำนวนดังกล่าวไว้เรียบร้อยแล้ว" ข้อ 2 มีข้อความว่า "ผู้กู้ตกลงส่งมอบเงินกู้ตามสัญญาในข้อ 1 โดยไม่มีดอกเบี้ยให้ผู้ให้กู้ภายในระยะเวลาที่ผู้กู้ได้ขายที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดกเฉพาะส่วนของผู้กู้เรียบร้อยแล้ว" ดังนี้เห็นได้ว่า หนี้ตามสัญญาได้เกิดขึ้นแล้วตามสัญญาข้อ 1 ส่วนสัญญาข้อ 2 เป็นข้อตกลงเกี่ยวกับกำหนดเวลาชำระหนี้อันเป็นเงื่อนไขให้จำเลยต้องขายที่ดินเฉพาะส่วนที่แบ่งแยกเป็นของจำเลยได้ก่อนตามที่ระบุไว้ในสัญญาข้อ 2 ดังกล่าว ไม่เป็นการแน่ชัดว่าเมื่อมีการแบ่งแยกที่ดินเสร็จแล้วจำเลยจะสามารถขายที่ดินได้หรือไม่ หรือจะขายที่ดินนั้นได้เมื่อใดเพราะเป็นเหตุการณ์ในอนาคตที่มิใช่ว่าจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่แท้ กำหนดเวลาชำระหนี้โดยการกำหนดเงื่อนไขไว้เช่นนี้จึงไม่แน่นอน ผลเท่ากับเป็นหนี้ที่มิได้กำหนดเวลาชำระหนี้ ซึ่งเจ้าหนี้ย่อมจะเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้โดยพลันตาม ป.พ.พ. มาตรา 203 วรรคหนึ่ง
ก่อนฟ้องโจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ แต่จำเลยไม่ชำระ จำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดนัด โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นการคิดดอกเบี้ยโดยผลของกฎหมาย ไม่จำต้องมีข้อตกลงต่อกันไว้แต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6228/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญากู้เงิน: กำหนดเวลาชำระหนี้ไม่แน่นอน ทำให้เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกหนี้ได้ทันที
จำเลยทำสัญญากู้เงินจากโจทก์โดยมีข้อตกลงในสัญญาระบุว่า "ข้อ 1 ผู้กู้ตกลงกู้และผู้ให้กู้ตกลงให้กู้เงินจำนวนทั้งสิ้น 160,000 บาท (หนึ่งแสนหกหมื่นบาทถ้วน) และในวันนี้ผู้กู้ได้รับเงินสดจำนวนดังกล่าวไว้เรียบร้อยแล้ว ข้อ 2 ผู้กู้ตกลงส่งมอบเงินกู้ตามสัญญาในข้อ 1 โดยไม่มีดอกเบี้ยให้ผู้ให้กู้ภายในระยะเวลาที่ผู้กู้ได้ขายที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดกเฉพาะส่วนของผู้กู้ในที่ดินโฉนดเลขที่ 5027 ระวางที่ เลขที่ดิน 329 หน้าสำรวจที่ 943 ตำบลบางแค (บางเชือกหนังฝั่งใต้) อำเภอภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร ตามจำนวนที่ดินที่แบ่งแยกโดยประมาณ 4 ไร่ เรียบร้อยแล้ว" แสดงว่าหนี้ตามสัญญากู้เงินได้เกิดขึ้นแล้วตามสัญญาข้อ 1 ส่วนสัญญาข้อ 2 เป็นข้อตกลงเกี่ยวกับกำหนดเวลาชำระหนี้อันเป็นเงื่อนเวลาเริ่มต้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 191 วรรคหนึ่ง แต่การกำหนดเวลาชำระหนี้ตามที่ระบุไว้ในสัญญาข้อ 2 ดังกล่าว ไม่เป็นการแน่ชัดว่าเมื่อมีการแบ่งแยกที่ดินเสร็จสิ้นแล้วจำเลยจะสามารถขายที่ดินได้หรือไม่ หรือจะขายที่ดินนั้นได้เมื่อใด เพราะเป็นเหตุการณ์ในอนาคตที่มิใช่ว่าจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่แท้ กำหนดเวลาชำระหนี้โดยการกำหนดเงื่อนไขไว้เช่นนี้จึงไม่แน่นอน ผลเท่ากับเป็นหนี้ที่มิได้กำหนดเวลาชำระหนี้ ซึ่งเจ้าหนี้ย่อมเรียกให้ชำระหนี้ได้โดยพลันตาม ป.พ.พ. มาตรา 203 วรรคหนึ่ง