คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ขวด

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4826/2533

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทสัญญาซื้อขายขวดกับน้ำมันพืช: เบี้ยปรับ, การลดจำนวน, และความรับผิด
การที่โจทก์มีหนี้ที่จะต้องผลิตและส่งมอบขวดแก่จำเลย ทุกเดือนนั้นโจทก์ได้ชำระหนี้บางส่วน และผิดสัญญาไม่ชำระหนี้บางส่วน สำหรับส่วนที่โจทก์ชำระให้จำเลยรับไปแล้วนั้น จำเลยต้องชำระหนี้ตอบแทนคิดเป็นเงินตามจำนวนขวดที่รับไว้นั้นแก่โจทก์ จำเลยจะอ้างว่าโจทก์ ส่งมอบขวดไม่ครบ จึงไม่ต้องชำระเงินแก่โจทก์หาได้ไม่ส่วนข้อกำหนดในสัญญาที่ว่าถ้าโจทก์ไม่สามารถส่งมอบขวดได้ตามสัญญาให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยเท่าราคาขวดทั้งหมด ที่ยังค้างส่งอยู่ในงวดนั้น ๆ เป็นเพียงการกำหนดเบี้ยปรับ สำหรับบังคับเอาแก่จำเลยในกรณีที่โจทก์ไม่ชำระหนี้เท่านั้น จำเลยจะอ้างว่าโจทก์ยังไม่ชำระเบี้ยปรับ จำเลยจึงไม่ต้อง ชำระค่าขวดหาได้ไม่เช่นกัน ดังนั้น เมื่อจำเลยยอมรับมอบ ขวดบางส่วนจากโจทก์แล้ว จำเลยไม่ชำระหนี้ค่าขวดดังกล่าว จึงเป็นการผิดสัญญา ชอบที่โจทก์จะฟ้องบังคับจำเลยชำระหนี้นั้นได้ เมื่อโจทก์ผิดสัญญาไม่ส่งมอบขวดบางส่วน โจทก์ก็ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายอันเกิดแต่การไม่ชำระหนี้นั้นแก่จำเลยและในเมื่อสัญญาได้กำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าในลักษณะที่ เป็นเบี้ยปรับแล้ว เช่นนี้ จำเลยย่อมเรียกเอาเบี้ยปรับนั้นได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 380 วรรคสองซึ่งหากเป็นจำนวนสูงเกินส่วน ศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ ตามมาตรา 373 วรรคแรก ค่าน้ำมันพืชรั่วซึม เสียหายนั้น ปรากฏว่าอย่างช้าในวันสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2524 การรั่วซึม ของขวดที่ชำรุดบกพร่องจำนวนประมาณ 30,000 ใบได้ปรากฏแก่จำเลยจนหมดสิ้นแล้ว ดังนั้น การที่จำเลยฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายส่วนนี้เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2526 จึงพ้นกำหนดเวลา 1 ปีนับแต่วันที่ความชำรุดบกพร่องปรากฏขึ้น ฟ้องแย้งของจำเลยข้อนี้จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 601 แล้ว ค่าใช้จ่ายและค่าจ้างคนงานในการตรวจสอบคุณภาพขวดของจำเลยเป็นค่าใช้จ่ายในการตรวจพิสูจน์สินค้าว่าชำรุดบกพร่องหรือไม่ หากชำรุดบกพร่องจำเลยก็จะไม่รับมอบและคืนแก่โจทก์ ย่อมเป็นค่าใช้จ่ายในการผลิตสินค้าตามปกติทั่วไปและเป็นประโยชน์แก่จำเลยฝ่ายเดียว และไม่ว่า โจทก์จะส่งมอบขวดที่ชำรุดบกพร่องหรือไม่ จำเลยก็คงต้องจ้าง คนงานตรวจคุณภาพขวดอยู่นั่นเอง หาใช่เป็นค่าเสียหาย เพราะโจทก์ส่งมอบขวดที่ชำรุดบกพร่องเป็นกรณีพิเศษไม่ โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายส่วนนี้ให้แก่จำเลย จำเลยมิได้เพียงแต่นำน้ำมันพืชบรรจุขวดอย่างใหม่ออกจำหน่ายแก่ลูกค้าตามปกติ แต่ได้ดำเนินกิจการขยายตลาดด้วยการลงทุนโฆษณาเป็นพิเศษควบคู่ไปด้วยโดยมิได้แจ้งให้โจทก์ทราบ การลงทุนโฆษณาสินค้านี้เป็นพฤติการณ์พิเศษอย่างหนึ่งในการดำเนินกิจการค้าของจำเลย เมื่อโจทก์ส่งมอบขวดไม่ครบ ทำให้จำเลยขยายตลาดไม่ได้ และต้องสูญเสียเงินค่าโฆษณาสินค้า ไปโดยไม่มีสินค้าจำหน่าย ความเสียหายของจำเลยในค่าโฆษณาสินค้า จึงไม่ใช่ความเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การที่ โจทก์ไม่ชำระหนี้ แต่เป็นความเสียหายที่เกิดแต่พฤติการณ์พิเศษ ซึ่งโจทก์มิได้คาดเห็นหรือควรได้คาดเห็นล่วงหน้า จำเลย จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาจากโจทก์ได้ ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 222 วรรคสอง การที่จำเลยคาดหวังว่าจะใช้ขวดบรรจุน้ำมันพืชแล้วนำไปขายได้กำไรขวดละ 3.80 บาท นั้น เป็นเรื่องของอนาคตที่ไม่แน่นอนว่าจำเลยจะขายมีกำไรตามที่คาดหมายหรือไม่ทั้งเป็นพฤติการณ์พิเศษซึ่งจำเลยไม่เคยแจ้งให้โจทก์ทราบมาก่อน และโจทก์ไม่อาจคาดเห็นหรือควรคาดเห็นพฤติการณ์เช่นนั้น ได้ล่วงหน้า จำเลยจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดกำไรส่วน นี้จาก โจทก์เช่นกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4500/2531

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การป้องกันตัวเกินกว่าเหตุ การใช้ขวดตีผู้ตายถึงแก่ความตาย ศาลยืนโทษจำคุก
ผู้ตายเตะต่อยและใช้ขวดตีจำเลยก่อน จำเลยจึงใช้ขวดตีผู้ตายถึงแก่ความตาย การที่ผู้ตายเมาสุราและเข้าไปทำร้ายจำเลยก่อนจำเลยก็ชอบที่จะป้องกันได้ตามกฎหมาย แต่เนื่องจากจำเลยทราบอยู่แล้วว่าผู้ตายชอบด่าและทำร้ายคนในบ้าน ทั้งผู้ตายมีอายุมากและยังเมาสุรา จำเลยอาจกระทำการใดเพื่อป้องกันโดยไม่จำต้องรุนแรงจนถึงกับเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายก็ได้ การที่จำเลยใช้ขวดตีผู้ตายตรงบริเวณที่สำคัญของร่างกายเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายนั้น จึงเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 630/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลักษณะบ่งเฉพาะของเครื่องหมายการค้า: ภาพประดิษฐ์บนขวดมีลวดลายโดดเด่นเพียงพอต่อการจดทะเบียนได้
การรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีหลักเกณฑ์ตามมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ (ฉบับที่ 2)ฯ โดยสรุปคือเครื่องหมายการค้านั้นต้องมีลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 7 ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 8 และไม่เป็นเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้วจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าตามมาตรา 13 พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ ไม่ได้ให้คำนิยามคำว่า "ลักษณะบ่งเฉพาะ" ไว้โดยแจ้งชัดแต่ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 7 วรรคแรกว่า "เครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะได้แก่ เครื่องหมายการค้าอันมีลักษณะที่ทำให้ประชาชนผู้ใช้สินค้านั้นทราบและเข้าใจได้ว่า สินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นแตกต่างไปจากสินค้าอื่น" และในมาตรา 7 วรรคสอง ได้บัญญัติว่า "เครื่องหมายการค้าที่มีหรือประกอบด้วยลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งอันเป็นสาระสำคัญต่อไปนี้ ให้ถือว่ามีลักษณะบ่งเฉพาะ...(6) ภาพที่ประดิษฐ์ขึ้น" เมื่อพิเคราะห์เครื่องหมายการค้า "รูปขวด" ของโจทก์ที่ขอจดทะเบียนที่มีลักษณะบ่งเฉพาะพิเศษโดยมีส่วนเว้า ส่วนนูน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งมีลวดลายเป็นจุดที่เว้าลึกรอบขวดในระยะที่ห่างเท่ากันแล้ว เห็นว่า รูปขวดของโจทก์มีลักษณะไม่เหมือนรูปขวดทั่วไป แต่เป็นภาพที่ประดิษฐ์ขึ้นตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 7 วรรคสอง (6) ซึ่งถือได้ว่าเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะในตัวเองที่ทำให้ประชาชนผู้ใช้สินค้าทราบและเข้าใจได้ว่า สินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์นั้นแตกต่างไปจากสินค้าอื่น เครื่องหมายการค้ารูปขวดของโจทก์จึงเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 7