คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ขอบเขตวินิจฉัย

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 19 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6840/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตการวินิจฉัยเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม กว้างกว่าเหตุเลิกจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน
ข้อเท็จจริงที่จะนำมาประกอบการวินิจฉัยว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49หรือไม่ มีขอบเขตกว้างกว่าการเลิกจ้างที่ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119แม้การกระทำของโจทก์จะไม่เป็นความผิดร้ายแรงถึงขนาดที่จำเลยเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 แต่เมื่อปรากฏว่า โจทก์ไม่สามารถทำงานร่วมกับผู้ใต้บังคับบัญชาได้ ทำงานบกพร่องหลายครั้งผู้บังคับบัญชาเตือนแล้วยังไม่ดีขึ้นและมีลูกค้าส่งสินค้าคืนมาหลายครั้ง ทำให้จำเลยเสียหาย ศาลแรงงานย่อมมีอำนาจนำข้อเท็จจริงดังกล่าวมาประกอบการวินิจฉัยว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 49 ได้ การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างโดยมีเหตุอันสมควร และไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
จำเลยไม่จ่ายค่าชดเชย ค่าจ้างค้างชำระ และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เพราะมีข้อโต้เถียงระหว่างโจทก์กับจำเลยว่าจำเลยจะต้องชำระให้โจทก์หรือไม่ เพียงใด ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยจงใจไม่จ่ายเงินดังกล่าวแก่โจทก์โดยปราศจากเหตุอันสมควร จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มให้แก่โจทก์ร้อยละ 15 ของเงินทีค้างจ่ายทุกระยะ 7 วัน ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541มาตรา 9 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5342/2544 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องหนี้ซื้อขาย: การยกข้อต่อสู้ใหม่ในชั้นฎีกา และขอบเขตการวินิจฉัยของศาล
โจทก์เป็นนิติบุคคลมีวัตถุประสงค์ทำการค้าวัสดุก่อสร้างและเครื่องสุขภัณฑ์ฟ้องเรียกหนี้ค่าสินค้าที่จำเลยทั้งสองซื้อไปจากโจทก์ จำเลยให้การต่อสู้ในเรื่องอายุความว่า โจทก์ส่งมอบสินค้าตามฟ้องให้แก่จำเลยที่ 1 เกิน 2 ปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความฟ้องร้อง ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) พิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ที่โจทก์ฎีกาว่า คดีของโจทก์มีอายุความ 5 ปี เพราะจำเลยทั้งสองซื้อสินค้าจากโจทก์เพื่อนำไปขายให้บุคคลทั่วไป มิใช่ซื้อมาเพื่อใช้บริโภคเองเป็นเรื่องที่โจทก์เพิ่งยกขึ้นมาในชั้นฎีกา ไม่ใช่ข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ปัญหานี้ไม่มีผลกระทบถึงสังคมหรือประชาชนทั่วไป จึงไม่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7670/2543 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเสนอซื้อขายและสนองรับ การผูกพันตามสัญญาซื้อขาย และขอบเขตการวินิจฉัยของศาล
การที่โจทก์ส่งใบโปรฟอร์มาอินวอยซ์ไปถึงจำเลยที่ 1 มีรายละเอียดของสินค้าราคาและวิธีการชำระหนี้ ย่อมเป็นคำเสนอขายสินค้าเสนอต่อจำเลยที่ 1 แล้ว เมื่อจำเลยที่ 2 ซึ่งมีตำแหน่งเป็นผู้จัดการอาวุโสฝ่ายจัดซื้อของจำเลยที่ 1 ลงชื่อในช่องผู้ซื้อในเอกสารดังกล่าวแล้วส่งคืนให้โจทก์ ย่อมเป็นการแสดงเจตนาสนองรับซื้อแทนจำเลยที่ 1 สัญญาซื้อขายเม็ดพลาสติกรายนี้จึงเกิดขึ้นมีผลผูกพันโจทก์และจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 1 ยอมรับรู้ให้จำเลยที่ 2 เชิดตัวเองเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ในการซื้อสินค้าจากโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงต้องผูกพันรับผิดต่อโจทก์
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า การค้าขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1มุ่งเอาการที่จำเลยที่ 1 เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตให้โจทก์ก่อนจึงจะถือว่าการซื้อขายสำเร็จไปแต่ละรายการ แต่จำเลยที่ 1 มิได้ยกความข้อนี้ขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัย
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยเกี่ยวกับค่าเสียหายทุกรายการไม่ชอบ เพราะโจทก์ยังนำสืบถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่ได้ดังที่กล่าวไว้ในคำฟ้อง จำเลยที่ 1 อ้างขึ้นลอย ๆว่า โจทก์นำสืบไม่ได้ โดยมิได้ยกเหตุผลใด ๆ มาประกอบข้ออ้างเลยว่า โจทก์นำสืบอย่างไรจึงถือว่านำสืบไม่ได้ จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชัดแจ้ง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5492/2541 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตการวินิจฉัยของศาลแรงงาน & ความรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน
ข้อความที่จำเลยที่ 1 เบิกความตอบทนายโจทก์ไว้ในสำนวนอย่างชัดแจ้งตามคำให้การพยานจำเลย ศาลแรงงานย่อมมีอำนาจหยิบยกข้อความดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยได้ เพราะเป็นการวินิจฉัยไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสำนวนแล้ว
อุทธรณ์ของจำเลยเมื่อล้วนเป็นกรณีที่ขอให้ศาลฎีการับฟังข้อเท็จจริงใหม่ให้ผิดแผกแตกต่างไปจากข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานรับฟังมา ย่อมเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1ไว้ต่อโจทก์ซึ่งระบุไว้อย่างชัดแจ้งว่า จำเลยที่ 2 ขอค้ำประกันจำเลยที่ 1 ในการเข้าทำงานกับโจทก์ ถ้าจำเลยที่ 1 กระทำด้วยประการใด ๆ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายและจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์แล้วจำเลยที่ 2 ยินยอมรับผิดชดใช้แทนแก่โจทก์จนครบ แม้สัญญาค้ำประกันดังกล่าวจะได้กระทำกันก่อนที่จำเลยที่ 1เข้าทำงานกับโจทก์ก็ตาม แต่ก็เป็นการประกันความรับผิดในหนี้ในลักษณะที่เป็นเหตุการณ์ในอนาคตซึ่งหนี้นั้นอาจเกิดขึ้นจริงหรือไม่เกิดขึ้นก็ได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา681 วรรคสอง เมื่อต่อมาหนี้นั้นได้เกิดขึ้นตามที่ได้ตกลงค้ำประกันไว้ จำเลยที่ 2ก็ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2005/2540 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตการวินิจฉัยศาลอุทธรณ์และการบังคับดอกเบี้ยตามฟ้อง แม้ไม่ได้ขอในอุทธรณ์
การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 รับผ้าปูโต๊ะวัตถุโบราณพิพาทของโจทก์ไปจริงโดยเชื่อพยานหลักฐานของโจทก์ที่โจทก์นำสืบว่าจำเลยที่ 1โดยจำเลยที่ 2 ยืมผ้าปูโต๊ะวัตถุโบราณพิพาทจากโจทก์เพื่อนำไปแสดงยังสำนักงานใหญ่ของจำเลยที่ 1 ในประเทศญี่ปุ่น และจำเลยที่ 1 ได้รับผ้าปูโต๊ะวัตถุโบราณพิพาทไปจากโจทก์แล้ว ซึ่งตรงกับประเด็นที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ว่าจำเลยทั้งสองยืมผ้าปูโต๊ะวัตถุโบราณไปจากโจทก์จริงหรือไม่ ศาลอุทธรณ์จึงมิได้วินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็น
โจทก์ฟ้องเรียกดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน225,000 บาท นับแต่วันที่โจทก์ได้ชำระเงินค่าสินค้าให้แก่เจ้าของสินค้าที่สูญหายไปคือ ตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2535 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 32,250 บาท รวมกับต้นเงินเป็นยอดเงินที่โจทก์เรียกร้องเอาแก่จำเลยทั้งสองถึงวันฟ้องจำนวน 257,250 บาทและโจทก์ขอให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยในต้นเงิน 225,000 บาท อัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์อีกด้วย เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนผ้าปูโต๊ะวัตถุโบราณพิพาทให้แก่โจทก์หากคืนไม่ได้ขอให้จำเลยทั้งสองชดใช้เงิน 50,000 ฟรังก์ฝรั่งเศส หรือเงินไทย257,250 บาท แก่โจทก์ แสดงว่าโจทก์อุทธรณ์รวมเอาเงินดอกเบี้ยจำนวน 32,250บาท อันเป็นดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2535 ถึงวันฟ้องเข้ากับต้นเงินจำนวน225,000 บาท มาในฟ้องอุทธรณ์ด้วยแล้ว ดังนั้น แม้ฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์จะมิได้ขอให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยในต้นเงิน 225,000 บาท อัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จมาด้วย แต่โดยนัยแห่ง ป.วิ.พ.มาตรา 142 (3)ประกอบด้วยมาตรา 246 เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นสมควร ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ผู้แพ้คดีชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 225,000 บาทนับแต่วันฟ้องจนถึงวันที่จำเลยที่ 1 ได้ชำระเสร็จตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1414/2540

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทสัญญาซื้อขายที่ดิน: การผิดสัญญา, ค่าเสียหาย, และขอบเขตการวินิจฉัยของศาล
หนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีของโจทก์ระบุถึง อ.มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกเป็นคดีนี้เท่านั้นการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2แม้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 3 และที่ 4 เข้ามาในคดีเดียวกันและหนังสือมอบอำนาจมิได้ระบุให้ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 และที่ 4 แทนโจทก์ด้วยก็ตาม ก็หามีผลทำให้การมอบอำนาจให้ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ของโจทก์ที่สมบูรณ์อยู่แล้วต้องเสียไปไม่ ปัญหาว่าฟ้องเคลือบคลุมหรือไม่เป็นปัญหาข้อกฎหมายซึ่งศาลจะต้องพิจารณาจากคำฟ้องของโจทก์เป็นหลักว่าคำฟ้องของโจทก์เป็นหลักว่าคำฟ้องของโจทก์ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์ ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นและคำขอบังคับ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 172 วรรคสอง แล้วหรือไม่ หาใช่ต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากพยานหลักฐานของโจทก์ไม่ ส่วนปัญหาว่าโจทก์นำสืบข้อเท็จจริงแตกต่างไปจากที่อ้างในคำฟ้องหรือไม่ เป็นปัญหาที่ศาลจะต้องวินิจฉัยตามประเด็นข้อพิพาทว่าโจทก์นำสืบข้อเท็จจริงได้สมกับที่อ้างในคำฟ้องหรือไม่เพื่อวินิจฉัยข้อแพ้ชนะในประเด็นข้อพิพาทนั้นต่อไป ในประเด็นที่ว่าสัญญาโอนสิทธิตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทเป็นนิติกรรมอำพรางและเป็นการโอนสิทธิโดยไม่ได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 2 และไม่มีค่าตอบแทนจึงตกเป็นโมฆะเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังที่จำเลยที่ 1 ยกขึ้นอุทธรณ์หรือไม่นั้น ปัญหาดังกล่าวศาลชั้นต้นมิได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทและจำเลยที่ 1 ก็มิได้คัดค้านโดยให้ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ไม่ติดใจในประเด็นที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์มาดังกล่าวข้างต้นแล้ว ส่วนข้ออุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับอำนาจฟ้องเมื่อศาลชั้นต้นมิได้กำหนดปัญหาข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้เป็นประเด็นข้อพิพาท ดังนี้ข้อที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยข้ออุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 225 วรรคหนึ่ง แล้ว ศาลชั้นต้นได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทในชั้นชี้สองสถานว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันโอนที่ดินพิพาทโดยฉ้อฉลโจทก์หรือไม่นั้น ย่อมรวมถึงประเด็นที่ว่าจำเลยที่ 1เป็นฝ่ายผิดสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทต่อโจทก์หรือไม่อยู่ในตัว เพราะก่อนที่จะวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ได้นั้น ศาลจะต้องวินิจฉัยปัญหาที่ว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทต่อโจทก์หรือไม่อันเป็นประเด็นที่ปรากฏอยู่ในคำฟ้องและคำให้การจำเลยที่ 1 ดังกล่าวเสียก่อน หากข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ไม่เป็นฝ่ายผิดสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทต่อโจทก์แล้ว โจทก์ก็ไม่อยู่ในฐานะเจ้าหนี้ที่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉล ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 ไม่จำต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยฉ้อฉลโจทก์หรือไม่ เพราะไม่เป็นประโยชน์แก่คดีแล้วนั่นเอง การที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยถึงประเด็นที่ว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทต่อโจทก์หรือไม่ จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น เมื่อคดีมีประเด็นว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทต่อโจทก์หรือไม่รวมอยู่ด้วยแล้ว และข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1เป็นฝ่ายผิดสัญญาดังกล่าว แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่ออันเป็นการละเมิดทำให้โจทก์เสียหาย ก็เป็นเพียงความเข้าใจผิดของโจทก์ที่เห็นว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์เท่านั้น คดีจึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า โจทก์ได้รับความเสียหายเพราะเหตุที่จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาเพียงใด และแม้โจทก์จะไม่สามารถนำสืบ ถึงค่าเสียหายได้ตามจำนวนที่ปรากฏในคำฟ้อง แต่ศาลก็มีอำนาจ กำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์ตามจำนวนที่เห็นสมควรได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6846/2539 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การชำระหนี้สัญญาซื้อขายที่ดิน และขอบเขตการวินิจฉัยของศาลฎีกา
เมื่อจำเลยทำสัญญาจะขายที่ดินแก่โจทก์และ ส.เป็นหนังสือพร้อมลงลายมือชื่อจำเลยแล้ว ย่อมมีผลผูกพันจำเลย ต้องชำระหนี้แก่โจทก์และ ส.เจ้าหนี้ร่วมสิ้นเชิงแต่เพียงครั้งเดียว ซึ่งโจทก์และ ส.มีสิทธิเรียกร้องการชำระหนี้จากจำเลยโดยทำนอง ซึ่งแต่ละคนอาจจะเรียกให้ชำระหนี้สิ้นเชิงได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 298 จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องจดทะเบียนโอนที่ดินและรับราคาที่ค้างจากโจทก์การที่โจทก์แต่ผู้เดียวมาขอรับโอนที่ดินและชำระราคาที่ค้างแก่จำเลยโดย ส.ไม่ได้ร่วมมารับโอนด้วย ไม่เป็นเหตุขัดข้องที่จำเลยจะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแก่โจทก์ไม่ได้
จำเลยมิได้ยกข้อสัญญาข้อ 3 ขึ้นให้การต่อสู้ การที่ศาลชั้นต้นยกข้อสัญญาดังกล่าวมาเป็นเหตุวินิจฉัยว่าจำเลยยังไม่ได้ผิดสัญญาจึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ดังนั้น ที่จำเลยยกข้อวินิจฉัยดังกล่าวมาเป็นข้อฎีกาต่อมาจึงถือได้ว่าเป็นปัญหาข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
โจทก์เป็นฝ่ายฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลยชำระค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาแก่โจทก์ เมื่อศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้จำเลยชำระค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาให้แก่โจทก์ต่ำไป โจทก์ต้องการให้ศาลฎีกาพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้กำหนดให้จำเลยชำระค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาแก่โจทก์จำนวนสูงขึ้น โจทก์จะต้องฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาตามที่ ป.วิ.พ. มาตรา 247บัญญัติไว้ โจทก์จะอาศัยคำแก้ฎีกาในการขอให้ศาลฎีกาพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาจำนวนสูงขึ้นหาได้ไม่ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยคำขอของโจทก์ดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 469/2538 เวอร์ชัน 4 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องและขอบเขตการวินิจฉัยคดี: แร่ดีบุก, การชำระเงิน, และข้อต่อสู้ที่มิได้ยกขึ้นว่ากัน
จำเลยให้การว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะฟ้องโจทก์ไม่ได้อ้างอิงและนำพยานหลักฐานมาแสดงให้เห็นว่า ศ. เป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์หรือไม่อย่างไร จำเลยไม่ทราบไม่รับรอง คำให้การดังกล่าวมิได้ปฏิเสธ-โดยชัดแจ้งว่า ศ. ไม่มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ จึงรับฟังได้ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องคดีไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่า ศ. มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์หรือไม่ แม้ศาลล่างทั้งสองจะยกประเด็นข้อนี้ขึ้นวินิจฉัยก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
จำเลยให้การว่าจำเลยขนแร่ดีบุกปนตะกั่วซึ่งไม่ใช่แร่ดีบุก จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ของกฎหมายให้ต้องชำระเงินแทนแร่เพื่อส่งเข้ามูลภัณฑ์กันชนระหว่างประเทศ ฉะนั้น ที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยไม่ต้องชำระเงินแทนแร่เพื่อส่งเข้ามูลภัณฑ์กันชนระหว่างประเทศเพราะแร่ที่จำเลยได้รับอนุญาตขนนั้นขายให้แก่ผู้ซื้อภายในประเทศและเป็นแร่ดีบุกปนตะกั่วมีดีบุกในเปอร์เซ็นต์ต่ำ จึงนอกเหนือจากคำให้การ เป็นเรื่องนอกประเด็น แม้ศาลล่างทั้งสองจะยกประเด็นข้อนี้ขึ้นวินิจฉัยก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
โจทก์เป็นหน่วนงานของรัฐเรียกเก็บเงินแทนแร่เพื่อส่งเข้ามูลภัณฑ์กันชนระหว่างประเทศจากจำเลยตามอำนาจหน้าที่ที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ควบคุมแร่ดีบุก พ.ศ.2514 มาตรา 24 โจทก์จึงมิใช่บุคคลที่ทางราชการได้ตั้งแต่งหรืออนุญาตให้จัดกิจการเฉพาะบางอย่างตาม ป.พ.พ. มาตรา 165 (15) ซึ่งมีกำหนดอายุความ 2 ปี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6471/2537 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตการวินิจฉัยคดีอาญา: การเปลี่ยนแปลงข้อกล่าวหาจากพยายามฆ่าเป็นทำร้ายร่างกาย
จำเลยที่ 2 ใช้เหล็กขูดชาฟท์แทงทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 จำนวน2 ครั้ง ในลักษณะเลือกแทงและแทงโดยแรง ปรากฏว่าผู้เสียหายที่ 1 มีบาดแผลที่คอด้านหลังข้างขวาเหนือกระดูกไหปลาร้า ยาวประมาณครึ่งนิ้ว ลึกเข้าไปข้างในที่กระดูกสะบักข้างขวามีลมรั่วในช่องปอดข้างขวาต้องเจาะเอาลมออก แพทย์ลงความเห็นว่าถ้าร้กษาไม่ถูกต้องอาจทำให้ถึงตายได้ การกระทำของจำเลยที่ 2ถือได้ว่ามีเจตนาจะฆ่าผู้เสียหายที่ 1 ให้ตาย จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 288ประกอบมาตรา 80
ที่โจทก์ฎีกาว่า การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดฐานพยายามฆ่าหรือเป็นเพียงฐานทำร้ายร่างกายเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งจำเลยที่ 2มิได้โต้แย้งไว้ในอุทธรณ์ ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ไม่ประสงค์ต่อสู้ในปัญหานี้ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงไม่มีอำนาจวินิจฉัยนั้น คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 2 ใช้เหล็กขูดชาฟท์แทงพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ 2 เป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ 2 ได้รับอันตรายสาหัสศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยที่ 2 ตามฟ้อง จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ว่าไม่ได้กระทำผิดตามที่โจทก์ฟ้อง เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 2 มิได้มีเจตนาฆ่าผู้เสียหายที่ 2 มีเพียงเจตนาทำร้ายเท่านั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ย่อมมีอำนาจวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดเพียงฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 2 ได้ แม้ว่าจำเลยที่ 2 จะมิได้โต้แย้งไว้ในชั้นอุทธรณ์ว่า การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดฐานพยายามฆ่าหรือทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 2 ก็ตาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5081/2537 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตการวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการและการยกอุทธรณ์ตามกฎหมายอนุญาโตตุลาการ
เหตุผลที่ผู้คัดค้านยกขึ้นอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นสรุปได้ว่า อนุญาโตตุลาการมิได้วินิจฉัยชี้ขาดไปตามข้อเท็จจริงและสัญญา ไม่หยิบยกพยานหลักฐานที่ผู้คัดค้านเห็นว่าสำคัญขึ้นวินิจฉัย จึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานเกี่ยวกับเนื้อหาแห่งคำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการทั้งสิ้นการที่อนุญาโตตุลาการจะหยิบยกพยานหลักฐานใดขึ้นวินิจฉัยภายในขอบเขตของกฎหมายและสัญญาที่พิพาทกัน ย่อมเป็นสิทธิที่จะกระทำได้ ที่ผู้คัดค้านอ้างว่าอนุญาโตตุลาการกระทำการโดยไม่สุจริต ก็ไม่ปรากฎพยานหลักฐานใด ๆ ว่า อนุญาโตตุลาการกระทำการโดยไม่สุจริตอย่างไร อุทธรณ์ของผู้คัดค้านจึงต้องห้ามตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 มาตรา 26
แม้ศาลอุทธรณ์จะมีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ของผู้คัดค้านไว้พิจารณาแล้วก็ตาม แต่เมื่อศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนความแล้วเห็นว่า คดีของผู้คัดค้านต้องห้ามตามกฎหมาย ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจยกอุทธรณ์นั้นโดยไม่ต้องวินิจฉัยในประเด็นแห่งอุทธรณ์ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 242 (1)
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ของผู้คัดค้าน โดยให้ค่าฤชา-ธรรมเนียมเป็นพับ ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 151 ศาลฎีกาแก้ไขให้ถูกต้อง
of 2