คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ขัดขวางการครอบครอง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1533/2522

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองปรปักษ์และการขัดขวางการครอบครอง: โจทก์เสียสิทธิเรียกร้องคืนที่ดินจากการไม่ฟ้องภายใน 1 ปี และการครอบครองของจำเลยไม่สิ้นสุด
เดิมที่พิพาทเป็นของโจทก์ แต่จำเลยได้เข้าแย่งการครอบครองโดยเข้าทำนาใน พ.ศ.2516 และ 2517 เป็นเวลาถึง 2 ปี โจทก์หาได้ฟ้องเรียกเอาคืนซึ่งการครอบครองภายในกำหนด 1 ปี นับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครองไม่ โจทก์จึงเสียสิทธิที่จะเอาคืนซึ่งการครอบครองที่หลุดมือไปแล้วตั้งแต่นั้นทันที และพร้อมกันนั้นจำเลยก็ได้สิทธิเพิ่มขึ้นใหม่อีกที่จะไม่ต้องคืนการครอบครองให้แก่โจทก์ที่จำเลยแย่งการครอบครองมา การที่โจทก์เอากล้าของจำเลยดำทำนาและเก็บเกี่ยวข้าวเอาไประหว่างที่จำเลยถูกฟ้องคดีอาญาข้อหาว่าบุกรุกที่พิพาทใน พ.ศ.2518 และต่อมาศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องคดีอาญาโดยฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยเข้าทำนาพิพาทโดยถือว่าเป็นของจำเลยเองแล้ว จำเลยจึงกลับเข้าทำนาพิพาทใน พ.ศ.2519 ต่อไปตามเดิมนั้น ถือได้ว่าเป็นเหตุอันมีสภาพเป็นเหตุชั่วคราวมาขัดขวางมิให้จำเลยยึดถือที่พิพาทในระหว่างถูกฟ้องคดีอาญา การครอบครองของจำเลยจึงไม่สิ้นสุดลง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1483-1484/2497 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบุกรุกที่ดินเช่า แม้มีเจตนาสร้างศาลา แต่กระทำโดยไม่มีอำนาจตามกฎหมาย ถือเป็นการขัดขวางการครอบครอง
จำเลยรับว่าผู้มีชื่อเช่าที่พิพาทจากวัดและจำเลยได้เข้าไปขุดหลุมตอกหลักในที่พิพาทโดยไม่ได้ของอนุญาตจากผู้เช่า ๆ ทักท้วงจำเลยกับพวกก็ไม่ฟัง ดังนี้แม้จำเลยจะเข้าไปทำด้วยความศรัทธาเพื่อปลูกสร้างศาลาธรรมสังเวช เมื่อจำเลยบังอาจยึดถือเอาที่พิพาทปลูกศาลาโดยไม่มีอำนาจตามกฎหมายแต่ประการใด เช่นนี้เรียกว่าเจตนากระทำให้วัดและผู้เช่าครอบครองที่พิพาทโดยไม่ปกติสุข ตามมาตรา 327 และไม่ใช่เป็นการแย่งกรรมสิทธิทางแพ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8370/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองที่ดินพิพาทโดยชอบ การละเมิด และค่าเสียหายจากการขัดขวางการครอบครอง
ป.พ.พ. มาตรา 303 บัญญัติว่า "สิทธิเรียกร้องนั้นท่านว่าพึ่งโอนกันได้ เว้นแต่สภาพแห่งสิทธินั้นเอง จะไม่เปิดช่องให้โอนกันได้" และในวรรคสอง บัญญัติว่า "ความที่กล่าวมานี้ย่อมไม่ใช้บังคับ หากคู่กรณีได้แสดงเจตนาเป็นอย่างอื่น การแสดงเจตนาเช่นว่านี้ท่านห้ามมิให้ยกขึ้นต่อสู้บุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริต" เมื่อตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการยื่นซองเสนอราคาทรัพย์สินพร้อมขายของบริษัท บ. ข้อ 5.3 ได้ระบุไว้ว่า บริษัท บ. จะโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินที่จะซื้อขายให้กับผู้ชนะการเสนอราคาในนามของผู้ชนะการเสนอราคา (ผู้จะซื้อ) เท่านั้น และในข้อ 6.3 ยังระบุไว้ด้วยว่า ผู้เสนอราคาจะต้องเป็นบุคคลเดียวกันกับผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ภายหลัง และจำเลยที่ 1 ได้ลงนามรับทราบหลักเกณฑ์ ดังกล่าวแล้ว จึงเป็นเรื่องที่คู่กรณีได้แสดงเจตนาเป็นอย่างอื่น กล่าวคือ บริษัท บ. ได้มีการแสดงเจตนาไว้ในเอกสารดังกล่าว จึงจะโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้มีชื่อในการชนะประมูลซื้อทรัพย์เท่านั้น จำเลยที่ 1 ก็ไม่ได้ปฏิเสธ คงอ้างแต่เพียงว่าสัญญาจะซื้อจะขายไม่ได้ระบุไว้เท่านั้น ดังนั้น จำเลยที่ 1 จะยกข้อต่อสู้เรื่องการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวต่อโจทก์ผู้เป็นบุคคลภายนอกไม่ได้ ถ้าโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกกระทำการโดยสุจริต
การที่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ยังค้างชำระเงินบริษัท บ. อีกเป็นจำนวนมาก โดยวิญญูชนทั่วไปถ้ายังไม่ได้รับชำระเงินครบถ้วนและยังค้างชำระเงินค่าทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก จะไม่มีผู้ใดส่งมอบการครอบครองทรัพย์สินให้ อีกทั้งจำเลยที่ 1 แจ้งให้บริษัท บ. โอนกรรมสิทธิ์ให้จำเลยที่ 2 บริษัท บ. ไม่ตกลงด้วยเพราะขัดกับข้อตกลง จึงฟังได้ว่าบริษัท บ. ไม่ได้ส่งมอบการครอบครองที่พิพาทให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ดังนั้น การที่โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินทั้ง 10 โฉนดกับบริษัท บ. จึงกระทำไปโดยสุจริต จำเลยที่ 1 จะอ้างว่าโอนสิทธิเรียกร้องให้กับจำเลยที่ 2 และแจ้งการโอนไปยังบริษัท บ. แล้ว การกระทำดังกล่าวจึงไม่ผูกพันโจทก์แต่อย่างใด
เมื่อบริษัท บ. ฟ้องจำเลยทั้งหกในข้อหาบุกรุกต่อศาลชั้นต้น แม้ศาลชั้นต้นจะวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งหก ไม่มีความผิดฐานบุกรุก แต่ในคำพิพากษาได้วินิจฉัยว่า การที่จำเลยที่ 1 มีคำสั่งให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ยังคงทำหน้าที่เฝ้าดูแลอาคารต่อไประหว่างยังมีข้อพิพาท และศาลยังไม่มีคำพิพากษา จึงเป็นการเข้าครอบครองที่พิพาทโดยสุจริต เมื่อภายหลังศาลมีคำพิพากษาให้ขับไล่จำเลยที่ 1 กับพวกออกจากอาคารโรงงานซึ่งตั้งอยู่บนที่พิพาทแล้ว จำเลยที่ 1 ได้สั่งให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ออกจากอาคารทันที การกระทำของจำเลย 1 และ ที่ 2 ในคดีดังกล่าวจึงขาดเจตนาบุกรุก ซึ่งตามคำพิพากษาดังกล่าวไม่ได้ระบุเลยว่า จำเลยทั้งหกมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทแต่อย่างใด การที่ศาลชั้นต้นหยิบยกเอาคำพิพากษาในคดีอื่นที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟ้องร้องบริษัท บ. และโจทก์ซึ่งยังไม่ถึงที่สุดมาวินิจฉัยในคดีนี้ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้อง ก็ไม่เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นเพราะประเด็นข้อพิพาทในคดีอื่นที่เป็นประเด็นเดียวกับคดีนี้ คือโจทก์เป็นผู้ซื้อที่ดินพิพาทโดยสุจริตหรือไม่ และจำเลยทั้งหกมีสิทธิโดยชอบที่จะอยู่ในที่ดินพิพาทหรือไม่ ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นยกข้อเท็จจริงในเรื่องที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาจะซื้อจะขายและจำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจเพิกถอนนิติกรรมในคดีอื่น มาประกอบการวินิจฉัยคดีนี้ในเรื่องอำนาจฟ้องโจทก์ จึงไม่เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็น