คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ขั้นตอนกฎหมาย

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 58 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2215/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแจ้งวันนัดฟังคำพิพากษาต้องเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย หากไม่เป็นไปตามขั้นตอน ทำให้กระบวนการพิจารณาที่ตามมาไม่ชอบ
การส่งหมายให้แก่คู่ความโดยวิธีอื่นแทนการส่งหมายโดยวิธีธรรมดาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 79 วรรคหนึ่ง นั้น ต้องเป็นกรณีที่ไม่สามารถส่งหมายนัดโดยวิธีธรรมดาดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 74 ถึงมาตรา 78 แล้ว การที่ศาลชั้นต้นแจ้งวันนัดฟังคำพิพากษาให้จำเลยทั้งสามทราบโดยปิดประกาศไว้ที่หน้าศาลโดยมิได้ส่งหมายนัดให้จำเลยทั้งสามทราบโดยวิธีธรรมดาก่อนจึงเป็นการกระทำที่ผิดขั้นตอนของกฎหมาย ขัดต่อ ป.วิ.พ. มาตรา 79 ทำให้การแจ้งวันนัดดังกล่าวไม่ชอบ อันมีผลทำให้กระบวนพิจารณาต่าง ๆ ที่กระทำภายหลังจากนั้นไม่ชอบไปด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8332/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องคดีอาญาที่ศาลแขวง: การไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนการส่งตัวผู้ต้องหาและระยะเวลาการฟ้องทำให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2543 พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาแก่จำเลยว่าทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ จำเลยให้การปฏิเสธ ความผิดฐานดังกล่าวมีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตาม ป.อ. มาตรา 296 ซึ่งเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลแขวงที่จะพิจารณาพิพากษา เมื่อท้องที่ศาลจังหวัดหลังสวนยังมิได้มีศาลแขวงเปิดทำการ ซึ่งตาม พ.ร.บ. ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 มาตรา 2 และมาตรา 3 บัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัดในท้องที่ซึ่งยังมิได้มีศาลแขวงเปิดทำการ สำหรับคดีอาญาที่อัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนการที่จะให้ใช้บังคับสำหรับคดีที่เกิดขึ้นในท้องที่ใดเมื่อใดให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา ซึ่งมีการตราพระราชกฤษฎีกาแล้วและมีผลตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2532 คดีนี้จึงอยู่ในบังคับแห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 7 เมื่อพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาฐานทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ให้จำเลยทราบวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2543 กรณีย่อมถือว่าจำเลยถูกจับในข้อหาคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลแขวงตั้งแต่วันดังกล่าว พนักงานสอบสวนต้องส่งตัวจำเลยพร้อมสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการ เพื่อให้ฟ้องภายในกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมง ถ้าไม่สามารถฟ้องได้ทันภายในกำหนด พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการต้องขอผัดฟ้อง คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2543 โดยไม่ได้ขอผัดฟ้องและพ้นกำหนดเวลาตามบทบัญญัติดังกล่าว โดยไม่ปรากฏว่าได้รับอนุญาตให้ฟ้องจากอัยการสูงสุดตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 9 จึงไม่ชอบ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6006/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอ้างพยานหลักฐานเพิ่มเติมในชั้นอุทธรณ์ต้องเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย มิเช่นนั้นศาลไม่มีอำนาจรับพิจารณา
การที่ผู้ร้องอ้างเอกสารเพิ่มเติมโดยอ้างว่าเพิ่งค้นพบภายหลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วจะต้องทำเป็นคำร้องขออนุญาตอ้างพยานหลักฐานเช่นว่านั้นต่อศาลพร้อมกับบัญชีระบุพยานและสำเนาบัญชีระบุพยานดังกล่าว ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 88 วรรคสาม ศาลจึงจะวินิจฉัยได้ว่าสมควรอนุญาตตามคำร้องหรือไม่ แต่คดีนี้ผู้ร้องเพียงอ้างระบุในอุทธรณ์ว่ามีสำเนาสูติบัตร ขอให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาเอกสารดังกล่าวและมีคำพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น โดยมิได้ยื่นคำร้องขออนุญาตอ้างพยานหลักฐานดังกล่าวและมิได้ยื่นบัญชีระบุพยานพร้อมสำเนา ศาลอุทธรณ์จึงไม่มีอำนาจอนุญาตให้ผู้ร้องอ้างพยานเพิ่มเติมในชั้นอุทธรณ์ได้ ทำให้คดีไม่มีพยานหลักฐานใหม่ ไม่มีเหตุที่จะย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 240 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6398/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องซื้อที่ดินเวนคืน: ต้องเป็นไปตามขั้นตอนกฎหมายก่อนฟ้อง
จำเลยที่ 1 ได้อนุมัติให้จัดซื้อที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนตามคำร้องขอของโจทก์แล้ว อันเป็นการจัดซื้อที่ดินตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 20 วรรคหนึ่ง ซึ่งวรรคสองให้นำบทบัญญัติมาตรา 10 มาตรา 11 และมาตรา 33 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ที่โจทก์นำคดีมาฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองจัดซื้อที่ดินของโจทก์ทั้งที่เจ้าหน้าที่เวนคืนไม่ได้ปฏิเสธคำร้องขอของโจทก์ และยังไม่มีการอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีตามมาตรา 25 วรรคหนึ่ง การฟ้องคดีของโจทก์ไม่เป็นไปตามขั้นตอนที่กฎหมายบัญญัติ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองจัดซื้อที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนในราคาตามฟ้องของโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5923/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายและเหตุสุดวิสัยในการยื่นอุทธรณ์: ศาลพิพากษายืนตามคำสั่งเดิม
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 37 และ 133 วางหลักไว้ว่าศาลจะต้องทำการนั่งพิจารณาต่อเนื่องกันไปจนกว่าจะเสร็จการพิจารณาและพิพากษาคดี โดยให้ศาลมีคำพิพากษาในวันที่เสร็จสิ้นการพิจารณานั่นเอง ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าคดีเสร็จการพิจารณาและรอฟังคำพิพากษาวันนี้ และในวันนั้นศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาชี้ขาดคดี ย่อมเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ถูกต้องตามบทบัญญัติของกฎหมายแล้ว
เหตุสุดวิสัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 หมายความว่ามีเหตุการณ์ใด ๆ เกิดขึ้นซึ่งจำเลยไม่สามารถป้องกันได้ ทำให้จำเลยไม่สามารถยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ได้ จำเลยอ้างเหตุในคำร้องว่า จำเลยเพิ่งทราบคำพิพากษาของศาลชั้นต้นซึ่งล่วงเลยเวลาที่จำเลยจะยื่นอุทธรณ์แล้ว ข้ออ้างของจำเลยถือเป็นความบกพร่องของจำเลยเอง ไม่อาจถือว่าเป็นกรณีมีเหตุสุดวิสัยได้ ส่วนข้ออ้างที่ว่า เมื่อทราบคำพิพากษาแล้วได้ไปติดต่อขอคัดสำนวน กว่าจะคัดได้ก็เป็นเวลา 2 เดือน อันเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังเมื่อพ้นกำหนดเวลาอุทธรณ์แล้วจึงไม่ใช่เหตุสุดวิสัยเช่นกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3710/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเวนคืนที่ดิน: ข้อจำกัดการแก้ไขทุนทรัพย์, อำนาจฟ้อง, และขั้นตอนตามกฎหมาย
ศาลชั้นต้นพิพากษาเพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินจากตารางวาละ 8,000 บาท เป็นตารางวาละ 16,000 บาท โจทก์พอใจไม่อุทธรณ์ จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาเพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินจากตารางวาละ 8,000 บาท เป็นตารางวาละ 12,000 บาท โจทก์ก็ชอบที่จะฎีกาขอให้ศาลฎีกาเพิ่มเงินทดแทนจากตารางวาละ 12,000 บาท เป็นตารางวาละ 16,000 บาทเท่านั้น จะขอแก้ทุนทรัพย์ชั้นฎีกาให้เพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินเป็นตารางวาละ 24,000 บาทไม่ได้ ศาลฎีกาไม่อนุญาตให้แก้ ให้ยกคำร้องขอ ดังนี้โจทก์จึงฎีกาขอให้ศาลฎีกาเพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินจากตารางวาละ 8,000 บาท เป็นตารางวาละ 24,000 บาท ไม่ได้ด้วย
โจทก์มิได้ร้องขอให้เจ้าหน้าที่เวนคืนเวนคืนหรือจัดซื้อที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืน ตามมาตรา 20 แห่ง พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ แต่โจทก์ยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมขอให้เพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนและขอให้ซื้อที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนนั้น เป็นการอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีฯ ตามมาตรา 25 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นคนละขั้นตอนกับการขอให้เจ้าหน้าที่เวนคืน เวนคืนหรือจัดซื้อที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนตามมาตรา 20 เมื่อโจทก์ยังไม่ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายจึงยังไม่มีสิทธิฟ้องบังคับจำเลยทั้งสองจ่ายเงินค่าที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืน
อนึ่งการยกฟ้องโจทก์ในส่วนนี้เป็นการยกฟ้องเกี่ยวกับอำนาจฟ้องเพราะโจทก์ยังมิได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย จึงเห็นสมควรไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายแล้วนำคดีในส่วนนี้มาฟ้องใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3710/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์: สิทธิเรียกร้องค่าทดแทนเพิ่มเติมและการซื้อที่ดินส่วนที่เหลือต้องดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย
ศาลชั้นต้นพิพากษาเพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินจากตารางวาละ 8,000 บาท เป็นตารางวาละ 16,000 บาท โจทก์พอใจไม่อุทธรณ์จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาเพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินเป็นตารางวาละ 12,000 บาท โจทก์ก็ชอบที่จะฎีกาขอให้ศาลฎีกาเพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินเป็นตารางวาละ 16,000 บาท เท่านั้น จะขอแก้ทุนทรัพย์ชั้นฎีกาให้เพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินเป็นตารางวาละ 24,000 บาท ซึ่งเกินกว่าที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้แก่โจทก์และโจทก์พอใจแล้วไม่ได้ ศาลฎีกาไม่อนุญาตให้แก้ โจทก์จึงฎีกาขอให้ศาลฎีกาเพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินเป็นตารางวาละ 24,000 บาท ไม่ได้ด้วย
ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้วินิจฉัยให้โจทก์ได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินเป็นตารางวาละ 24,000 บาท โจทก์จึงมีสิทธิที่จะไปรับเงินค่าทดแทนที่ดินที่เพิ่มขึ้นในส่วนนี้จากฝ่ายจำเลยซึ่งมากกว่าที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้แก่โจทก์และโจทก์มิได้อุทธรณ์โต้แย้ง ถือได้ว่าโจทก์พอใจคำวินิจฉัยส่วนนี้ของรัฐมนตรีแล้ว ข้อโต้แย้งเกี่ยวกับเงินค่าทดแทนที่ดินตามฟ้องของโจทก์จึงหมดสิ้นไปแล้ว ศาลฎีกาจึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาส่วนนี้ของจำเลย
โจทก์ไม่ได้ร้องขอให้เจ้าหน้าที่เวนคืนที่ดินหรือจัดซื้อที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนตามมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ส่วนที่โจทก์ยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีขอให้เพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนและขอให้ซื้อที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนนั้น เป็นการอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีตามมาตรา 25 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นคนละขั้นตอนกับการขอให้เจ้าหน้าที่เวนคืนหรือจัดซื้อที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนตามมาตรา 20 เมื่อโจทก์ยังไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายดังกล่าว จึงยังไม่มีสิทธิฟ้องให้บังคับจำเลยจ่ายเงินค่าที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืน แต่การยกฟ้องโจทก์ในส่วนนี้เป็นการยกฟ้องเกี่ยวกับอำนาจฟ้องเพราะโจทก์ยังมิได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย ศาลฎีกาเห็นสมควรไม่ตัดสิทธิของโจทก์ที่จะดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายแล้วนำคดีในส่วนนี้มาฟ้องใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7567/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแปลคำให้การจำเลยต่างด้าวโดยล่ามที่ไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
การที่ศาลชั้นต้นจะต้องปฏิบัติตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 13 วรรคสองหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยจำเลยหยิบยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ ตามมาตรา 195 วรรคสองประกอบด้วยมาตรา 225
การที่ ร. ซึ่งเป็นทนายจำเลยทำหน้าที่เป็นล่ามให้จำเลยซึ่งไม่สามารถพูดหรือเข้าใจภาษาไทยได้ ไม่ได้สาบานตน หรือปฏิญาณตนว่าจะแปลถ้อยคำของจำเลยให้ถูกต้องและทำหน้าที่โดยสุจริตใจไม่เพิ่มเติมหรือตัดทอนสิ่งที่แปล และ ร. มิได้ลงลายมือชื่อในคำแปลนั้นเลย การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นจึงเป็นการฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 13 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5876/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การถอนคำให้การรับสารภาพในคดีอาญาต้องเป็นไปตามขั้นตอนกฎหมาย หากไม่ปฏิบัติตาม ศาลมีสิทธิไม่รับฟัง
แม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาจะบัญญัติรับรองสิทธิพื้นฐานของบุคคลผู้ตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาไว้หลายประการกล่าวคือให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลดังกล่าวเป็นผู้บริสุทธิ์ รวมทั้งให้สิทธิแก่จำเลยที่จะให้การต่อศาลหรือไม่ให้การก็ได้ แต่ในกรณีที่จำเลยให้การต่อศาลแล้วหากประสงค์จะขอแก้หรือเพิ่มเติมคำให้การนั้น จำเลยจะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 163 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ทั้งนี้ ศาลย่อมมีอำนาจที่จะอนุญาตหรือไม่อนุญาตก็ได้ โดยพิจารณาถึงเหตุผลที่จำเลยอ้างว่าเป็นเหตุผลอันสมควรหรือไม่
จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นได้บันทึกคำให้การของจำเลยไว้ และได้เลื่อนการอ่านคำพิพากษาหลายครั้ง เพื่อให้โอกาสจำเลยบรรเทาผลร้ายโดยชดใช้เงินตามเช็คให้แก่โจทก์ แต่จำเลยกลับผัดผ่อนตลอดมา จนในที่สุดจำเลยได้ยื่นคำให้การขอให้การใหม่เป็นปฏิเสธฟ้อง โดยมิได้ยื่นคำร้องขอแก้คำให้การ อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 163 วรรคสองดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้จำเลยแก้คำให้การ จึงต้องถือว่าจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องของโจทก์ เมื่อข้อหาตามฟ้อง ไม่ใช่คดีที่มีข้อหาในความผิดที่กฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป ซึ่งต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำผิดจริงจึงจะพิพากษาลงโทษจำเลยได้ตามมาตรา 176 วรรคหนึ่ง ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปจึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3681/2543 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีป้ายต้องเป็นไปตามขั้นตอนกฎหมาย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องหากไม่มีการประเมินที่ถูกต้อง
ในกรณีที่เจ้าของป้ายเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในป้าย มาตรา 14 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.ภาษีป้าย พ.ศ. 2510 บังคับให้เจ้าของป้ายต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้ายต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายใน 15 วัน นับแต่วันเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความ เมื่อจำเลยแก้ไขข้อความในป้ายแล้วมิได้ยื่นแบบดังกล่าว พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องประเมินภาษีป้ายเช่นเดียวกับกรณีปกติและแจ้งการประเมินเป็นหนังสือให้จำเลยทราบตาม พ.ร.บ.ป้าย พ.ศ. 2510 มาตรา 17 ประกอบด้วยมาตรา 29 แต่การประเมินในกรณีที่เจ้าของป้ายเดิมเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในป้ายเป็นเหตุให้ต้องเสียภาษีป้ายเพิ่มขึ้นอีกในปีเดียวกันนั้น พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวัง มีความชัดเจนในการดำเนินงาน นับแต่ตรวจสอบ คิดคำนวณภาษีและทำการประเมิน แม้จะกระทำเป็นการภายในก็ต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษรเสนอตามลำดับขั้นตอนจนถึงขั้นแจ้งการประเมินให้จำเลยทราบ เพราะหากเจ้าของป้ายเห็นว่าการประเมินไม่ถูกต้อง ก็ชอบที่จะขอตรวจดูเอกสารหลักฐานดังกล่าวได้
โจทก์เป็นหน่วยงานของรัฐมีอำนาจหน้าที่จัดเก็บภาษีป้ายตามกฎหมาย แต่ขั้นตอนการจัดเก็บภาษีป้ายของโจทก์ที่กระทำต่อจำเลยในกรณีที่ตรวจพบว่าจำเลยเปลี่ยนแปลงแก้ไขป้ายเดิมซึ่งจำเลยได้ยื่นแบบแสดงรายการไว้แล้ว อันจะเป็นเหตุให้จำเลยต้องเสียภาษีป้ายอีกในป้ายเดียวกัน กลับไม่มีรายละเอียดแสดงขั้นตอนนับแต่ บ. ตรวจสอบพบว่าจำเลยได้เปลี่ยนแปลงแก้ไขป้ายเดิมว่าเหตุใดจึงตรวจพบไม่มีรายงานต่อผู้บังคับบัญชาหรือขออนุมัติไปตรวจสอบและเมื่อตรวจสอบแล้วก็หามีรายงานเสนอต่อผู้บังคับบัญชาเกี่ยวกับผลการตรวจสอบดังกล่าวไม่ เป็นการผิดปกติวิสัยของการปฏิบัติหน้าที่ราชการ เมื่อพยานหลักฐานโจทก์ที่นำมาสืบไม่มีน้ำหนักให้เชื่อว่าพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ได้ประเมินภาษีป้ายของจำเลยสำหรับกรณีที่จำเลยได้เปลี่ยนแปลงแก้ไขป้ายเดิม พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์จึงไม่มีอำนาจที่จะออกหนังสือแจ้งการประเมินอันเป็นการข้ามขั้นตอนของบทบัญญัติแห่งกฎหมายได้ การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ส่งหนังสือแจ้งการประเมิน (ภ.ป. 3) ไปยังจำเลยจึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์มิได้มีการประเมินให้จำเลยเสียภาษีป้าย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดเสียภาษีป้าย แม้ว่าจำเลยจะขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา จะถือว่าจำเลยยอมรับข้อเท็จจริงตามที่โจทก์กล่าวอ้างไว้ในคำฟ้องหาได้ไม่ เพราะขัดต่อ ป.วิ.พ. มาตรา 205 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 17 การที่ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาจากพยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมานั้นแล้ววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ได้ทำการประเมินภาษีป้ายและแจ้งการประเมินภาษีป้ายสำหรับกรณีที่จำเลยเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในป้ายเดิมนั้นจึงชอบแล้ว และเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์มิได้ทำการประเมินภาษีป้ายสำหรับกรณีดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยรับผิดชำระภาษีป้ายส่วนที่จำเลยได้เปลี่ยนแปลง
แก้ไขข้อความในป้ายเดิมนั้นได้
of 6