คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ขายที่ดิน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 115 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3590/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขายที่ดินโดยถูกเวนคืน ไม่เป็นทางค้าหรือหากำไร ไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
ป.รัษฎากรฯ มาตรา 91/1 (4) ให้คำนิยามคำว่า ขาย ว่า หมายความรวมถึงสัญญาจะขาย ขายฝาก แลกเปลี่ยน ให้เช่าซื้อ หรือจำหน่าย จ่าย โอน ไม่ว่าจะมีประโยชน์ตอบแทนหรือไม่ ฉะนั้น แม้โจทก์จะโอนที่ดินให้แก่กรมทางหลวงตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ ก็ถือว่าเป็นการขายตาม ป.รัษฎากรฯ มาตรา 91/1 (4)
แม้ตาม ป.รัษฎากรฯ มาตรา 91/2 ประกอบ พ.ร.ฎ.ออกตามความใน ป.รัษฎากรว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 342) ฯ มาตรา 4 (5) การขายอสังหาริมทรัพย์ที่นิติบุคคลผู้ขายมีไว้ในการประกอบกิจการอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ แต่เมื่ออสังหาริมทรัพย์ที่ขาย โจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลจำเป็นต้องมีไว้ใช้ในการประกอบกิจการ เพราะต้องใช้เป็นโรงงานผลิตสินค้าจำหน่าย ไม่ใช่มีไว้เพื่อขาย และการที่โจทก์ต้องโอนทรัพย์ก็เนื่องจากมี พ.ร.ฎ.ออกมากำหนดให้ที่ดินของโจทก์ในส่วนที่โอนอยู่ในบริเวณที่ที่จะต้องถูกเวนคืนตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ หากโจทก์ไม่ตกลงกับเจ้าหน้าที่ก็ต้องถูกเวนคืน การที่โจทก์ยอมตกลงโอนทรัพย์ให้แก่กรมทางหลวงจึงเกิดจากสภาพบังคับไม่ใช่การโอนโดยเจตนาหรือเพื่อประโยชน์ในกิจการของโจทก์ ดังนั้น จึงไม่เป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2 (6) แห่ง ป.รัษฎากรฯ
คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่าในส่วนเงินค่าทดแทนสำหรับสิ่งปลูกสร้างและเงินค่าทดแทนสำหรับต้นไม้นั้น เป็นเงินชดเชยความเสียหายและการขาดประโยชน์จากการที่โจทก์ไม่ได้ใช้ทรัพย์สินอีกต่อไป ไม่ใช่ค่าโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ การที่เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยประเมินให้โจทก์เสียภาษีจากรายรับเงินค่าทดแทนดังกล่าวนี้เป็นการไม่ชอบ และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก็ไม่ชอบด้วย ส่วนจำเลยให้การว่าการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวชอบแล้วศาลภาษีอากรกลางได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทว่าการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จึงมีประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับเงินค่าทดแทนสำหรับสิ่งปลูกสร้างและต้นไม้ตามคำฟ้องและคำให้การดังกล่าวด้วย การที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่า การประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับเงินค่าทดแทนสำหรับสิ่งปลูกสร้างและต้นไม้เป็นการประเมินที่ไม่ชอบ และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ในส่วนนี้ก็ไม่ชอบ จึงเป็นการวินิจฉัยไปตามประเด็นที่กำหนดไว้ หาได้นอกฟ้องนอกประเด็นตามที่จำเลยอุทธรณ์ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2208/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเสียภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายที่ดินตามหลักเกณฑ์พระราชกฤษฎีกา แม้มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายภายหลัง สิทธิขอคืนภาษีไม่เกิดขึ้น
โจทก์ขายที่ดินตามฟ้องในขณะที่ พ.ร.ฎ.ออกตามความใน ป.รัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534 ใช้บังคับ และเป็นการขายตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกา โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2 (6) แห่ง ป. รัษฎากร ซึ่งโจทก์จะต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีภายในวันที่สิบห้าของเดือนถัดไปตามมาตรา 91/10 (เดิม) แห่ง ป. รัษฎากร ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น การที่โจทก์มิได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีและไม่ชำระภาษีภายในกำหนดเวลา โจทก์จึงต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่มด้วย แม้ต่อมาจะมี พ.ร.ฎ.ออกตามความใน ป.รัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 342) พ.ศ.2541 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2542 และให้ยกเลิก พ.ร.ฎ.ออกตามความใน ป.รัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534 ก็มีผลต่อการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2542 เป็นต้นไป ไม่มีผลต่อการขายที่ดินของโจทก์และความรับผิดในการเสียภาษีของโจทก์ที่มีอยู่แล้วแต่อย่างใด โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอคืนภาษีและจำเลยไม่ต้องคืนภาษีที่โจทก์ชำระแล้วแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1765/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หุ้นส่วนสามัญ-การขายที่ดินเพื่อหากำไร-ภาระภาษี-ผลผูกพันสัญญา
ตามพฤติการณ์ที่โจทก์กับ อ. ตกลงร่วมกันซื้อที่ดินพิพาทจาก ส. เมื่อถึงวันโอนโจทก์ไม่ว่างจึงให้ อ. เป็นผู้ซื้อตามสัญญาซื้อขายที่ดินเพียงผู้เดียว การจ่ายเงินค่าที่ดินโจทก์ร่วมจ่ายกับ อ. ตั้งแต่แรกคนละครึ่ง นอกจากนี้ในส่วนที่เกี่ยวกับการขายที่ดินให้บริษัท ก. ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2533 โจทก์เป็นผู้เสนอขายที่ดินบริเวณแขวงตลาดบางเขน (ดอนเมือง) รวม 10 โฉนด ซึ่งรวมทั้งที่ดินแปลงดังกล่าว โดยมีข้อมูลประกอบการพิจารณาเกี่ยวกับความสูงของอาคารที่จะสามารถก่อสร้างได้ ซึ่ง อ. สอบถามจากการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย และการขอเปิดทางเข้า - ออก ผ่านที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งโจทก์ดำเนินการร่วมกับ อ. แสดงให้เห็นว่าโจทก์และ อ. ร่วมกันซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวเพื่อขายและร่วมกันขายให้แก่บริษัท ก. จึงเข้าลักษณะเป็นหุ้นส่วนหรือบุคคลในห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคล
การที่โจทก์และ อ. ร่วมกันจองซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวตั้งแต่ปี 2528 ซึ่งเป็นที่นาอยู่ต่ำกว่าทางรถไฟ 2.3 เมตร ไม่มีบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้าง ในราคาตารางวาละ 47,000 บาท อ. ได้รับโอนกรรมสิทธิ์เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2533 และโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2533 แล้วร่วมกันขายต่อให้บริษัท ก. เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2533 ในราคาตารางวาละ 66,000 บาท ซึ่งเป็นการขายต่อในระยะเวลาสั้นและได้กำไรจำนวนมากโดยไม่ได้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าโจทก์กับ อ. มีเจตนาซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวโดยมุ่งในทางการค้าหรือหากำไร การที่โจทก์กับ อ. ขายที่ดินให้แก่บริษัท ก. จึงเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมุ่งในทางการค้าหรือหากำไรและเป็นการขายเป็นทางค้าหรือหากำไร ต้องนำรายได้จากการขายมาคำนวณเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีการค้าในนามของห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคล ตาม ป. รัษฎากร มาตรา 40 (8), 56, 77 (เดิม) และ 78 (เดิม)
สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินที่ระบุว่าบริษัท ก. เป็นผู้ชำระค่าภาษีจากการขายที่ดินทั้งหมดเป็นเพียงข้อตกลงกันระหว่างคู่สัญญาคือโจทก์กับพวกและบริษัท ก. มีผลผูกพันเฉพาะคู่สัญญาเท่านั้น มิได้มีผลทำให้ความรับผิดของโจทก์ผู้มีหน้าที่เสียภาษีตามกฎหมายเปลี่ยนแปลงไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3635/2548 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขายที่ดินใช้เกษตรกรรมภายใน 5 ปี: การพิจารณาการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะตามกฎหมาย
โจทก์ขายที่นาที่ใช้ในเกษตรกรรมให้แก่ พ. ภายใน 5 ปีนับแต่วันที่ได้รับโอนมาจากบิดาตาม พ.ร.ฎ.ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางการค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244)ฯ มาตรา 3 กำหนดให้การขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไรตามมาตรา 91/2 (6) แห่ง ป.รัษฎากรฯ มีดังต่อไปนี้...(5) การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ขายมีไว้ในการประกอบกิจการ แต่ไม่รวมถึงที่ดินที่ผู้นั้นใช้ในเกษตรกรรม (6) การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่เข้าลักษณะตาม (1) (2) (3) (4) หรือ (5) ที่ได้กระทำภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้น เนื้อความในกฎหมายแสดงให้เห็นโดยแจ้งชัดว่าการขายอสังหาริมทรัพย์รายใดหากไม่เข้าลักษณะตามที่กำหนดไว้ใน (1) ถึง (5) ว่าเป็นการขายที่เป็นทางค้าหรือหากำไรแล้ว จึงให้พิจารณาตามหลักเกณฑ์ใน (6) ต่อไปว่า การขายนั้นได้กระทำภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ได้อสังหาริมทรัพย์มาหรือไม่ หากได้ความว่าเป็นการขายภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ก็ให้ถือว่าเป็นการขายที่เป็นทางค้าหรือหากำไรอันพึงต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะด้วย ถือเป็นการขายที่ดินที่โจทก์ใช้ประกอบกิจการ แต่ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตาม (5) ที่กฎหมายกำหนดให้ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะแล้วจึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ใน (6) อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3635/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขายที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้รับการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ แม้ขายภายใน 5 ปีหลังได้มา
การขายอสังหาริมทรัพย์รายใดหากไม่เข้าลักษณะตามที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาออกตามความใน ป.รัษฎากรว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534 มาตรา 3 (1) ถึง (5) ว่าเป็นการขายที่เป็นทางค้าหรือหากำไรแล้ว จึงจะพิจารณาตามหลักเกณฑ์ใน (6) ต่อไปว่าการขายนั้นได้กระทำภายใน 5 ปีนับแต่วันที่ได้อสังหาริมทรัพย์มาหรือไม่ หากเป็นการขายภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ก็ให้ถือว่าเป็นการขายที่เป็นทางค้าหรือหากำไรอันพึงต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะด้วย ดังนั้น เมื่อที่ดินแปลงที่โจทก์ขายเป็นที่นาที่ใช้ในเกษตรกรรมซึ่งเป็นที่ดินที่โจทก์ใช้ประกอบกิจการแต่ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามความใน (5) ที่กฎหมายกำหนดให้ได้รับการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะแล้ว จึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ใน (6) อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2074-2075/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขายที่ดินเพื่อประกอบกิจการ เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ แม้มีกฎหมายใหม่ไม่มีผลย้อนหลัง
โจทก์ทั้งสองเป็นสามีภริยากัน ที่ดินของโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 รวมกันจำนวน 17 แปลง มีเนื้อที่ต่อเนื่องเป็นแปลงเดียวกัน มีการเทพื้นคอนกรีตเสริมเหล็กเต็มพื้นที่ แม้ว่าโจทก์ทั้งสองจะใช้พื้นที่ส่วนหนึ่งในการปลูกบ้านเป็นที่อยู่อาศัย แต่ก็ได้ใช้ประกอบการค้าของบริษัททั้งของโจทก์เอง และบริษัทที่โจทก์ทั้งสองเป็นกรรมการบริษัทอยู่ด้วย โดยไม่ได้แบ่งแยกว่าส่วนใดใช้ประกอบกิจการหรือไม่ อีกทั้งยังให้บริษัท ก. เช่าที่ดินเกือบทั้งหมด ยกเว้นเพียงในส่วนที่เป็นที่ตั้งของบ้านและสำนักงานบริษัทของโจทก์ แม้จะมีที่ดินบางส่วนว่างอยู่ แต่ก็ถือว่าโจทก์ทั้งสองใช้ที่ดินทั้ง 17 แปลงในการประกอบกิจการทั้งหมดทุกแปลง เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2541 โจทก์ทั้งสองขายที่ดินทั้ง 17 แปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่กรุงเทพมหานครจึงเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไรตามมาตรา 91/2 (6) ซึ่งตกอยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 3 (5) แห่ง พ.ร.ฎ. (ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534 ที่บังคับใช้อยู่ในขณะนั้น แม้ภายหลังจะมี พ.ร.ฎ. (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541 ออกมาบังคับใช้แทนตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2542 กำหนดให้การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ขายมีไว้ในการประกอบกิจการที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตาม มาตรา 91/2 (6) แห่ง ป.รัษฎากร มีแต่เฉพาะการขายของนิติบุคคลนั้น ก็เป็นเพียงกรณีที่รัฐประสงค์จะแก้ไขการจัดเก็บภาษีตามนโยบาย ไม่มีผลลบล้างบทบังคับใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับเดิมที่มีผลสมบูรณ์ในช่วงเวลาที่ผ่านมาแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2074-2075/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายที่ดินเพื่อประกอบกิจการ: การบังคับใช้พ.ร.ก.และการปฏิบัติตามหน้าที่ของผู้เสียภาษี
ระหว่างที่โจทก์ขายที่ดินพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534 มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายแล้ว โดยในมาตรา 3 (5) กำหนดให้การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ขายมีไว้ในการประกอบกิจการเป็นการขายอสังริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไรตามมาตรา 91/2 (6) แห่งประมวลรัษฎากร ส่วนบุคคลที่เป็นผู้ขายและมีหน้าที่เสียภาษีนั้น หมายถึงบุคคลตามที่บัญญัติไว้ในหมวด 4 ว่าด้วยภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 91/1 วรรคสอง ประกอบมาตรา 77/1 คือบุคคลธรรมดา คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลหรือนิติบุคคล การขายที่ดินที่โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดามีไว้ในการประกอบกิจการจึงเป็นการขายที่เป็นทางค้าหรือหากำไรซึ่งตกอยู่ในบังคับแห่งพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าว แม้ภายหลังจะมีพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 342) พ.ศ.2541 ออกมาบังคับใช้แทนตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2542 ก็ไม่มีผลลบล้างการบังคับใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับเดิมที่มีผลสมบูรณ์ในช่วงเวลาที่ผ่านมา
ภาษีธุรกิจเฉพาะอันเกิดจากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่โจทก์มีไว้ในการประกอบกิจการ เป็นภาษีที่เรียกเก็บจากเงินได้พึงประเมินของผู้ประกอบธุรกิจเฉพาะนั้นๆ โดยผู้ประกอบกิจการจะต้องไปยื่นชำระภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไปตาม ป.รัษฎากร มาตรา 91/10 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น จึงเป็นหน้าที่โดยตรงของโจทก์ที่จะต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเป็นรายเดือนภาษีพร้อมกับชำระภาษีธุรกิจเฉพาะ เมื่อโจทก์เพิกเฉยไม่ทำหน้าที่ตามบทกฎหมายกำหนดไว้จนกระทั่งกรมสรรพากรจำเลยได้รับรายงานการซื้อขายที่ดินดังกล่าวจากกรมที่ดินและทำการตรวจสอบประเมินภาษีในภายหลัง โจทก์จะกล่าวโทษว่าเป็นความผิดของจำเลยไม่ได้ จึงไม่มีเหตุที่จะงดหรือลดเบี้ยปรับแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 492-498/2547 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีจากรายได้จากการขายที่ดินจัดสรร: การประเมินโดยชอบและภาระภาษีต่อเนื่อง
การประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามฟ้องเป็นการประเมินภาษีเงินได้ซึ่งโจทก์มิได้ยื่นแบบแสดงรายการไว้ จึงเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานประเมินออกหมายเรียกไต่สวนโจทก์ตามมาตรา 23 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งไม่มีกำหนดเวลาในการออกหมายเรียก การออกหมายเรียกไต่สวนโจทก์ของเจ้าพนักงานประเมินจึงกระทำโดยชอบ
โจทก์มิใช่ตัวแทนของผู้ที่ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับโจทก์ แต่โจทก์เป็นผู้ซื้อที่ดินมาจัดสรรแบ่งเป็นแปลงย่อยแปลงละ 5 ไร่ รวม 230 แปลง ขายให้แก่บุคคลทั่วไปโดยจัดให้มีสาธารณูปโภคต่าง ๆ เป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่มุ่งในทางการค้าหรือหากำไร เงินที่โจทก์ได้รับจากการขายที่ดินดังกล่าวจึงเป็นเงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี และเป็นรายรับจากการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรที่ต้องเสียภาษีการค้าและภาษีธุรกิจเฉพาะ
โจทก์มีภาระต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี ภาษีการค้า และภาษีธุรกิจเฉพาะเมื่อมีเงินได้และรายรับตามมาตรา 56 , 78 (เดิม) และ 91/8 แห่งประมวลรัษฎากร เงินได้ในปีภาษีใดก็ต้องเสียภาษีในปีภาษีนั้น และรายรับในเดือนภาษีใดก็ต้องเสียในเดือนภาษีนั้น แม้จะยังมิได้มีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์กันในปีภาษีนั้นก็ตาม ดังนั้น การที่โจทก์เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย และเสียภาษีธุรกิจเฉพาะเมื่อมีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินจึงไม่ทำให้ภาระการเสียภาษีดังกล่าวที่โจทก์มีอยู่ก่อนแล้วหมดสิ้นไปแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8773/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องเรียกเงินลงทุนและผลกำไรจากการขายที่ดิน: 10 ปีนับแต่วันอาจบังคับสิทธิ
โจทก์ฟ้องเรียกเอาเงินลงทุนและผลกำไรจากการขายที่ดินที่โจทก์ร่วมลงทุน ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 คืออายุความ 10 ปี นับแต่วันที่อาจบังคับสิทธิ เรียกร้องได้ จำเลยขายที่ดินที่โจทก์ร่วมลงทุนเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2531 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2534 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6287/2544 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การชำระภาษีส่วนท้องถิ่นจากการขายที่ดินในคดีล้มละลาย ศาลฎีกาพิพากษาให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้
พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 มาตรา 112 (1) และเทศบัญญัติของเทศบาลนครกรุงเทพ เรื่อง การจัดเก็บภาษีอากรและค่าธรรมเนียมบางประเภท (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2497 ข้อ 3 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า การค้าซึ่งสถานการค้าอยู่ในเขตเทศบาล ให้ผู้ประกอบการค้ามีหน้าที่เสียภาษีเพิ่มเพื่อเทศบาลอีกในอัตราร้อยละ 10 ของอัตราภาษีการค้าตาม ป.รัษฎากร ความมุ่งหมายของบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวเพื่อให้สถานการค้าในเขตเทศบาลกรุงเทพหรือกรุงเทพมหานครมีหน้าที่ต้องชำระภาษีเพิ่มเพื่อเทศบาล
ลูกหนี้ขายที่ดินไป 1 แปลง โดยไม่ปรากฏว่าลูกหนี้มีสถานการค้า จึงต้องถือว่าบ้านซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของลูกหนี้เป็นสถานการค้าตาม ป.รัษฎากร มาตรา 77 (เดิม) เมื่อสถานการค้าดังกล่าวอยู่ในเขตเทศบาลนครกรุงเทพหรือกรุงเทพมหานคร ลูกหนี้จึงมีหน้าที่ต้องชำระภาษีส่วนท้องถิ่น
ภาษีส่วนท้องถิ่นที่คำนวณมาจากเงินเพิ่มภาษีอากรการค้าจำนวน 80,052.50 บาท ในอัตราร้อยละ 10 เมื่อเงินเพิ่มจำนวน 35,145 บาท ถึงกำหนดชำระภายใน 6 เดือน ก่อนมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ภาษีส่วนท้องถิ่นจำนวน 3,514.50 บาท จึงอยู่ในลำดับที่จะได้รับชำระหนี้ตามมาตรา 130 (6) แห่ง พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 ส่วนเงินเพิ่มที่เหลือจำนวน 44,907.50 บาท ถึงกำหนดชำระเกินกว่า 6 เดือน ก่อนมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ภาษีส่วนท้องถิ่นจำนวน 4,490.75 บาท จึงอยู่ในลำดับที่จะต้องได้รับชำระหนี้ตามมาตรา 130 (8) แห่ง พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483
of 12