พบผลลัพธ์ทั้งหมด 7 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9331/2542 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การเลิกบริษัทและการชำระบัญชี: ศาลสั่งตั้งผู้ชำระบัญชีหลังถูกขีดชื่อออกจากทะเบียน
บริษัท น.จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ต่อมาบริษัท น.หยุดประกอบกิจการ เนื่องจากประสบภาวะการขาดทุน นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทได้ขีดชื่อออกจากทะเบียนบริษัทและได้ประกาศการขีดชื่อบริษัทในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ทำให้บริษัท น.เป็นอันเลิกกันโดยผลของกฎหมาย และเมื่อเป็นการเลิกกันเพราะเหตุอย่างอื่นนอกจากเหตุล้มละลาย จึงต้องมีการชำระบัญชีของบริษัท น.ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1251 เพื่อให้ผู้ชำระบัญชีเข้ามาจัดการงานของบริษัทเพื่อประโยชน์ในการรวบรวมทรัพย์สิน จำหน่ายทรัพย์สิน ชำระหนี้คืนทุนแบ่งกำไรหรือขาดทุน และทำการอย่างอื่น ๆ ตามแต่จำเป็นเพื่อชำระบัญชีให้เสร็จไปด้วยดี การที่ผู้ร้องในฐานะเป็นกรรมการของบริษัท น.ยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้ชำระบัญชี จึงมิใช่เป็นการข้ามขั้นตอนตาม ป.พ.พ.มาตรา 1246 (6) เพราะไม่ใช่เป็นเรื่องที่ผู้ร้องขอให้สั่งให้กลับจดชื่อบริษัทคืนเข้าสู่ทะเบียนบริษัท ศาลชั้นต้นจึงต้องดำเนินการไต่สวนพยานผู้ร้องแล้วมีคำสั่งตามรูปคดี
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9331/2542 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การเลิกบริษัทโดยผลของกฎหมายและการตั้งผู้ชำระบัญชี กรณีบริษัทถูกขีดชื่อออกจากทะเบียน
บริษัท น. จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ต่อมาบริษัท น. หยุดประกอบกิจการ เนื่องจากประสบภาวะการขาดทุน นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทได้ขีดชื่อออกจากทะเบียนบริษัทและได้ประกาศการขีดชื่อบริษัทในราชกิจจานุเบกษาแล้วทำให้บริษัท น. เป็นอันเลิกกันโดยผลของกฎหมาย และเมื่อเป็นการเลิกกันเพราะเหตุอย่างอื่นนอกจากเหตุล้มละลาย จึงต้องมีการชำระบัญชีของบริษัท น. ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1251 เพื่อให้ผู้ชำระบัญชีเข้ามาจัดการงานของบริษัทเพื่อประโยชน์ในการรวบรวมทรัพย์สิน จำหน่ายทรัพย์สิน ชำระหนี้คืนทุนแบ่งกำไรหรือขาดทุน และทำการอย่างอื่น ๆ ตามแต่จำเป็นเพื่อชำระบัญชีให้เสร็จไปด้วยดี การที่ผู้ร้องในฐานะเป็นกรรมการของบริษัท น. ยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้ชำระบัญชี จึงมิใช่เป็นการข้ามขั้นตอนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1246(6) เพราะไม่ใช่เป็นเรื่องที่ผู้ร้องขอให้สั่งให้กลับจดชื่อบริษัทคืนเข้าสู่ทะเบียนบริษัท ศาลชั้นต้นจึงต้องดำเนินการไต่สวนพยานผู้ร้องแล้วมีคำสั่งตามรูปคดี
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7201/2558
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การดำเนินคดีกับนิติบุคคลที่ถูกขีดชื่อออกจากทะเบียน: ความรับผิดยังคงมีอยู่
โจทก์ฟ้องก่อนที่จำเลยที่ 1 จะถูกนายทะเบียนขีดชื่อออกจากทะเบียน จำเลยที่ 1 จึงมีสภาพเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย จำเลยที่ 1 แต่งตั้งทนายความต่อสู้คดี แม้ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 ถูกนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลางมีคำสั่งขีดชื่อจำเลยที่ 1 อันมีผลให้จำเลยที่ 1 สิ้นสภาพนิติบุคคลนับแต่นั้นก็ตาม แต่ ป.พ.พ. มาตรา 1273/3 บัญญัติไว้ว่า แต่ความรับผิดของหุ้นส่วนผู้จัดการผู้เป็นหุ้นส่วน กรรมการ ผู้จัดการ และผู้ถือหุ้นมีอยู่เท่าไรก็คงมีอยู่อย่างนั้น และพึงเรียกบังคับได้เสมือนห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้น ยังมิได้สิ้นสภาพนิติบุคคล ฉะนั้นจำเลยที่ 1 ยังคงต้องรับผิดชอบในคดีดังกล่าวต่อไป ทนายความของจำเลยที่ 1 ย่อมมีอำนาจดำเนินคดีตามที่ได้รับแต่งตั้งต่อไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุด ฉะนั้น การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 หลังจากถูกนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลางมีคำสั่งขีดชื่อออกจากทะเบียนจึงมิใช่กระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบอันจะต้องเพิกถอนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15641/2558
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สถานะนิติบุคคลหลังขีดชื่อออกจากทะเบียนและการมีอำนาจฟ้องคดีล้มละลาย
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1273/3 และ 1273/4 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 18) พ.ศ.2551 มาตรา 19 และมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2551 บัญญัติให้บริษัทนั้นสิ้นสภาพนิติบุคคลตั้งแต่เมื่อนายทะเบียนขีดชื่อบริษัทออกเสียจากทะเบียน และบริษัทที่ถูกขีดชื่อจะกลับคืนสู่ทะเบียนมีฐานะนิติบุคคลอีกครั้งเมื่อศาลสั่งให้จดชื่อบริษัทกลับคืนเข้าสู่ทะเบียน เมื่อปรากฏว่าในวันที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นคดีล้มละลายนี้ (วันที่ 15 สิงหาคม 2554) ศาลจังหวัดนครสวรรค์ยังมิได้มีคำสั่งให้จดชื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 กลับคืนเข้าสู่ทะเบียน ขณะฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 จำเลยจึงไม่มีฐานะนิติบุคคลที่โจทก์ฟ้องได้ แม้ต่อมาศาลจังหวัดนครสวรรค์มีคำสั่งให้จดชื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 กลับคืนเข้าสู่ทะเบียนเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2554 และตามมาตรา 1273/4 กำหนดให้ถือว่าบริษัทนั้นยังคงอยู่ตลอดมาเสมือนมิได้มีการขีดชื่อออกเลย ก็เป็นเพียงการรับรองสภาพนิติบุคคลภายหลังศาลมีคำสั่งเท่านั้น หาทำให้โจทก์ซึ่งไม่มีอำนาจฟ้องมาตั้งแต่ต้นกลับกลายเป็นมีอำนาจฟ้องไปไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10110/2558
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การสิ้นสภาพนิติบุคคลของบริษัทจำกัดที่ถูกขีดชื่อออกจากทะเบียน และผลกระทบต่ออำนาจฟ้องคดีล้มละลาย
การที่นายทะเบียนขีดชื่อจำเลยที่ 1 ออกจากทะเบียน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1273/3 อันเป็นบทบัญญัติในหมวด 6 การถอนทะเบียนห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัดและบริษัทจำกัดร้าง ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 18) พ.ศ.2551 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2551 เช่นนี้ การขีดชื่อบริษัทดังกล่าวออกจากทะเบียนย่อมเป็นไปตามมาตรา 1273/3 กล่าวคือ บริษัทนั้นสิ้นสภาพนิติบุคคลตั้งแต่เมื่อนายทะเบียนขีดชื่อบริษัทออกจากทะเบียนและบริษัทที่ถูกขีดชื่อจะกลับคืนฐานะนิติบุคคลอีกครั้งเมื่อศาลได้มีคำสั่งให้จดชื่อบริษัทกลับคืนเข้าสู่ทะเบียนตามมาตรา 1273/4 เมื่อปรากฏว่าในวันที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีล้มละลายศาลยังไม่ได้มีคำสั่งให้จดชื่อจำเลยที่ 1 กลับคืนเข้าสู่ทะเบียน จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสภาพนิติบุคคลในขณะโจทก์ยื่นฟ้อง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 กรณีของจำเลยที่ 1 เป็นการถอนทะเบียนบริษัทจำกัดร้าง กรณีจึงต้องบังคับตามบทบัญญัติในหมวด 6 หาใช่เป็นการเลิกบริษัทแล้วต้องมีการชำระบัญชีตามบทบัญญัติในหมวด 4 ส่วนที่ 8 ซึ่งจะต้องดำเนินการชำระบัญชีตามบทบัญญัติในหมวด 5 แต่อย่างใดไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5511/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจฟ้องของโจทก์หลังจำเลยถูกขีดชื่อออกจากทะเบียน และอายุความของคดี
แม้ ป.พ.พ. มาตรา 1273/3 และมาตรา 1273/4 จะบัญญัติหลักเกณฑ์ไว้ว่า ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทย่อมสิ้นสภาพนิติบุคคลตั้งแต่เมื่อนายทะเบียนขีดชื่อห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทออกเสียจากทะเบียนและห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่ถูกขีดชื่อจะกลับคืนสู่ทะเบียนมีฐานะนิติบุคคลอีกครั้งต่อเมื่อศาลสั่งให้จดชื่อห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นกลับคืนเข้าสู่ทะเบียน โดยให้ถือว่าห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นยังคงอยู่ตลอดมาเสมือนมิได้มีการขีดชื่อออกเลย แต่ขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีนี้ ศาลชั้นต้นยังมิได้มีคำสั่งให้จดชื่อจำเลยที่ 1 กลับคืนเข้าสู่ทะเบียน จำเลยที่ 1 จึงไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคลที่โจทก์จะฟ้องคดีได้ การที่ต่อมาในระหว่างพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งให้นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครจดชื่อจำเลยที่ 1 กลับคืนเข้าสู่ทะเบียนอันเป็นผลให้ถือว่าจำเลยที่ 1 คงอยู่ตลอดมาเสมือนมิได้มีการขีดชื่อออกจากทะเบียนเลยก็ตาม แต่ผลของกฎหมายที่กำหนดให้ถือว่าบริษัทนั้นยังคงอยู่ตลอดมาเสมือนมิได้มีการขีดชื่อออกเลย เป็นเพียงการรับรองสภาพนิติบุคคลภายหลังจากศาลมีคำสั่งเท่านั้น หามีผลทำให้โจทก์ซึ่งไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 มาตั้งแต่ต้นกลับกลายเป็นมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ได้โดยชอบแต่อย่างใด และเมื่อจำเลยทั้งห้ายกข้อต่อสู้ว่าคดีขาดอายุความ ย่อมเป็นภาระการพิสูจน์ของโจทก์ที่จะต้องพิสูจน์ให้ได้ความจริงว่า ฟ้องของตนไม่ขาดอายุความ เมื่อข้อเท็จจริงสำคัญเกี่ยวกับการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2550 เป็นเงิน 15,000 บาท ซึ่งเป็นวันหยุดราชการ การที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งห้าเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2560 อันเป็นวันที่เริ่มทำการใหม่ต่อจากวันหยุดทำการ จะไม่ทำให้คดีโจทก์ขาดอายุความ โจทก์คงมีคำพยานของพนักงานติดตามเร่งรัดหนี้สินของโจทก์มาเบิกความ โดยไม่ปรากฏว่าพยานรู้เห็นหรือเกี่ยวข้องโดยตรงในการรับชำระหนี้แต่อย่างใด แม้โจทก์จะอ้างอิงรายการคำนวณภาระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยค้างรับเป็นพยานประกอบคำเบิกความ แต่เอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารที่ฝ่ายเจ้าหนี้เป็นผู้จัดทำขึ้นเองฝ่ายเดียว ทั้งยังไม่มีข้อความตอนใดในเอกสารยืนยันได้ว่า รายการนำเงินเข้าบัญชี 15,000 บาท เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2550 เป็นการกระทำของฝ่ายจำเลยทั้งห้า ประกอบกับโจทก์ไม่มีหลักฐานการนำเงินเข้าฝากมาแสดงและมิได้ติดตามพยานที่เกี่ยวข้องโดยตรงในการจัดทำเอกสารหรือการรับชำระหนี้มาเบิกความเพื่อยืนยันข้อเท็จจริงกับให้โอกาสจำเลยทั้งห้าซึ่งปฏิเสธเรื่องการชำระหนี้ได้ซักค้านหาความจริงตามกระบวนความ ลำพังคำพยานบุคคลและพยานเอกสารของโจทก์ที่นำสืบมาจึงนับว่ายังมีข้อควรตำหนิและไม่พึงเชื่อถือรับฟังเป็นแน่นอนตามข้อกล่าวอ้างของโจทก์ได้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 หรือลูกหนี้คนใดได้ชำระหนี้ เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2550 การที่จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องชำระดอกเบี้ยของงวดถัดจากวันทำสัญญา คือ วันที่ 31 ตุลาคม 2550 สิทธิเรียกร้องที่จะบังคับให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ย่อมเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2550 เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2560 ล่วงพ้นกำหนดเวลาสิบปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 คดีโจทก์จึงขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4538/2566
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
บริษัทร้างถูกขีดชื่อออกจากทะเบียน ไม่ต้องชำระบัญชี ศาลฎีกายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ตั้งผู้ชำระบัญชี
บริษัทผู้ร้องเป็นบริษัทร้างซึ่งนายทะเบียนได้ขีดชื่อออกจากทะเบียน ตามมาตรา 1273/3 แห่ง ป.พ.พ. บริษัทผู้ร้องย่อมสิ้นสภาพนิติบุคคลตั้งแต่เมื่อนายทะเบียนขีดชื่อออกจากทะเบียนโดยผลแห่งกฎหมาย และเป็นกรณีที่ต้องบังคับตาม ป.พ.พ. บรรพ 3 ลักษณะ 22 หมวด 6 ว่าด้วยการถอนทะเบียนบริษัทจำกัดร้างมิใช่การเลิกบริษัทที่จะต้องมีการชำระบัญชีตามบทบัญญัติในหมวด 4 ส่วนที่ 8 ซึ่งจะต้องดำเนินการชำระบัญชีตามบทบัญญัติในหมวด 5 การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้ชำระบัญชีบริษัทผู้ร้องจึงไม่ถูกต้อง หลังจากนั้นผู้คัดค้านยื่นคำร้องเข้ามาในคดีนี้อ้างว่าศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาผิดระเบียบ ทำให้คดีกลับเข้ามาสู่การพิจารณาของศาลอีก อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ดังกล่าว เมื่อความปรากฏต่อศาลฎีกาว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย โดยกรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัย และพิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ที่ตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้ชำระบัญชีบริษัทผู้ร้องนั้นเสียได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว ผู้คัดค้านย่อมมิใช่ผู้มีส่วนได้เสีย หามีสิทธิยื่นคำร้องเข้ามาในคดีนี้ไม่