คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ข้อจำกัดอุทธรณ์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 6 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3691/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การระงับข้อพิพาทภาษีป้าย: การพิจารณาความเป็นเจ้าของป้ายก่อนตัดสินคดี แม้คดีมีข้อจำกัดในการอุทธรณ์
กรุงเทพมหานครโจทก์ฟ้องเรียกค่าภาษีป้ายและเงินเพิ่มจากจำเลยรวมเป็นเงิน 49,680 บาท จึงเป็นคดีที่จำนวนทุนทรัพย์พิพาทไม่เกินห้าหมื่นบาทห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง แม้จำเลยจะระบุจำนวนทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์ว่าเป็น 58,788 บาท แต่ทุนทรัพย์ที่จะพิจารณาว่าคดีต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 25 หมายถึงจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในศาลภาษีอากร มิใช่จำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ ทั้งเงินเพิ่มที่เกิดขึ้นภายหลังจากวันฟ้องก็ไม่อาจนำมารวมคิดเป็นทุนทรัพย์ได้ ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าจำเลยไม่ใช่เจ้าของป้ายและไม่มีสิทธิรื้อถอนป้ายเพราะป้ายตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์แล้วตามสัญญา อีกทั้งโจทก์ได้ให้สิทธิบริษัทอื่นใช้ป้ายโฆษณาไปแล้ว เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามอุทธรณ์ตามบทบัญญัติดังกล่าว
โจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลยชำระค่าภาษีป้าย จำเลยให้การว่าจำเลยได้สิทธิในการดูแลศาลาที่พักผู้โดยสารรวมถึงป้ายโฆษณาจากโจทก์ แต่ต่อมาโจทก์บอกเลิกสัญญา และได้ทำสัญญาให้สิทธิแก่บริษัท จ. บริษัทดังกล่าวได้เข้าหาผลประโยชน์ในป้ายที่ติดอยู่ จำเลยมิได้เกี่ยวข้องในป้ายโฆษณาแล้ว ซึ่งตามพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ.2510 มาตรา 12 กำหนดให้ผู้เป็นเจ้าของป้ายมีหน้าที่เสียภาษีป้าย แต่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยให้จำเลยต้องเสียภาษีป้ายโดยยังมิได้วินิจฉัยว่าจำเลยเป็นเจ้าของป้ายหรือไม่ ดังนั้น เมื่อการวินิจฉัยข้อกฎหมายตามอุทธรณ์ของจำเลยจำต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าจำเลยเป็นเจ้าของป้ายหรือไม่ก่อน และคดีต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ศาลฎีกาเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาพิพากษาใหม่ในปัญหาดังกล่าวก่อน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (1) ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6342/2540 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อจำกัดการอุทธรณ์การขายทอดตลาด: เหตุผลที่ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยเรื่องลายมือชื่อและเหตุฉ้อฉล
จำเลยที่ 2 ได้ระบุในคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดว่าในการส่งประกาศขายทอดตลาด พบจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรจำเลยที่ 2 แต่จำเลยที่ 1 รับประกาศแล้วไม่ได้แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบ จำเลยที่ 2 ไม่ได้รับประกาศด้วยตนเอง ดังนี้ เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ได้ยกปัญหาเรื่องลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 ในใบรับหมายมีลักษณะแตกต่างกับลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 ในสัญญาประนีประนอมยอมความตามฎีกาจำเลยที่ 2 จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ.มาตรา 249 วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 2อ้างเพียงว่า ผู้ซื้อทรัพย์ตกลงราคากับโจทก์ก่อนเข้าซื้อทรัพย์เป็นการฉ้อฉลจำเลยที่ 2 ทำให้ราคาที่ขายต่ำกว่าราคาที่แท้จริง มิได้กล่าวอ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งลักษณะการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งตาม ป.วิ.พ. คำร้องของจำเลยที่ 2 จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ.มาตรา296 วรรคสอง จำเลยที่ 2 จะขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งอนุญาตให้ขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 และให้ศาลมีคำสั่งให้ขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 ใหม่ โดยอ้างว่าว่าโจทก์และผู้ซื้อทรัพย์ร่วมกันฉ้อฉลและราคาที่ขายต่ำกว่าราคาแท้จริงดังกล่าวหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6452/2538 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อจำกัดการอุทธรณ์คดีขับไล่, สิทธิเจ้าของร่วม, ความรับผิดของผู้เช่าช่วง
การพิจารณาว่าคดีฟ้องขับไล่ผู้เช่าออกจากอสังหาริมทรัพย์จะอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้หรือไม่ ต้องถือตาม ป.วิ.พ.มาตรา 224 วรรคสองกล่าวคือ หากมีค่าเช่าในขณะยื่นฟ้องไม่เกินเดือนละสองพันบาท ก็ต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง โดยถือเอาค่าเช่าจริง ๆ ที่ตกลงกันไว้ในสัญญา ส่วนที่จะฟังว่าอาจให้เช่าได้ไม่เกินเดือนละสองพันบาทนั้น เป็นเรื่องการฟ้องผู้อาศัยหรือบุคคลอื่นซึ่งมิได้กำหนดค่าเช่ากันไว้ คดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องขับไล่จำเลยซึ่งเป็นผู้เช่าให้ออกจากตึกแถวพิพาท และตามสัญญาเช่ากำหนดค่าเช่าไว้ในอัตราเดือนละ 100 บาทซึ่งไม่เกินเดือนละสองพันบาท จึงต้องห้ามคู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามบทบัญญัติดังกล่าว ส่วนที่โจทก์ฟ้องว่าหากนำตึกแถวและที่ดินไปปรับปรุงแล้วนำออกให้เช่าจะได้ค่าเช่าไม่ต่ำกว่าวันละ 1,000 บาท และศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจะได้ค่าเช่าประมาณอัตราเดือนละ 4,000 บาท นั้น เป็นการกำหนดค่าเสียหายในอนาคตอันเป็นส่วนหนึ่งของการฟ้องขับไล่จำเลยออกจากตึกแถวพิพาทเท่านั้น จะนำมาเป็นเกณฑ์พิจารณาคดีต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 224 วรรคสอง ไม่ได้
ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1359 เมื่อมีบุคคลภายนอกมายุ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เจ้าของรวมคนใดคนหนึ่งอาจฟ้องร้องว่ากล่าวหรือต่อสู้คดีโดยลำพังได้ ดังนั้น เมื่อโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของรวมในตึกแถวพิพาทที่ให้จำเลยเช่าไม่ประสงค์จะให้จำเลยเช่าต่อไป โจทก์ที่ 1 ก็มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยได้
แม้จำเลยจะไม่ได้ทำสัญญาเช่าตึกแถวพิพาทจากโจทก์ที่ 1ก็ตาม แต่จำเลยซึ่งเป็นผู้เช่าช่วงตึกแถวพิพาทจากโจทก์ที่ 2 ย่อมต้องรับผิดต่อผู้ให้เช่าเดิมคือโจทก์ที่ 1 โดยตรง ตาม ป.พ.พ.มาตรา 545 ดังนั้น เมื่อสัญญาเช่าครบกำหนดและโจทก์ทั้งสองบอกกล่าวให้จำเลยออกไปจากตึกแถวพิพาทแล้วจำเลยก็มีหน้าที่ต้องส่งคืนตึกแถวพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสอง การที่จำเลยยังคงครอบครองตึกแถวพิพาทต่อไปอีกย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสอง ทำให้โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของตึกแถวพิพาทไม่อาจใช้ประโยชน์จากตึกแถวพิพาทได้และโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นคู่สัญญากับจำเลยไม่สามารถส่งคืนตึกแถวพิพาทให้แก่โจทก์ที่ 1 ได้ ฟ้องโจทก์ได้แสดงให้เห็นอยู่ในตัวแล้วว่าโจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายอย่างไร เป็นฟ้องที่ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา คำขอบังคับและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตาม ป.วิ.พ.มาตรา 172 วรรคสองแล้วฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 202/2535

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับรองสภาพหนี้จากการประทับตราสัญญาเช่าซื้อ และข้อจำกัดในการอุทธรณ์ข้อเท็จจริงที่ไม่เคยว่ากล่าว
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยทำสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์ จำเลยมิได้ให้การถึงตราที่ใช้ประทับอยู่ในช่องผู้เช่าซื้อในหนังสือสัญญาเช่าซื้อว่าชอบหรือไม่อย่างไร เมื่อจำเลยไม่ให้การถึงต้องถือว่าจำเลยรับว่าเป็นตราของจำเลยที่ 1 คู่ความไม่ต้องพิสูจน์ในข้อเท็จจริงนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 84(1) ศาลไม่รับวินิจฉัยพยานจำเลยที่นำสืบว่าตราที่ประทับในช่องผู้เช่าซื้อไม่ใช่ตราของจำเลยที่ 1 จำเลยทั้งสองให้การว่า เดิมรถยนต์เป็นของจำเลยที่ 1 ส.กระทำโดยไม่สุจริตโอนรถยนต์ให้โจทก์ แล้วจึงมีการทำสัญญาเช่าซื้อจำเลยทั้งสองมิได้ต่อสู้ว่าขณะทำสัญญาเช่าซื้อโจทก์มิได้เป็นเจ้าของรถยนต์สัญญาเช่าซื้อจึงไม่ผูกพันจำเลยทั้งสอง อุทธรณ์ของจำเลยที่ว่าโจทก์ไม่ได้เป็นเจ้าของรถยนต์ในขณะทำสัญญาเช่าซื้อจึงเป็นข้อที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้น เมื่อปัญหาดังกล่าวมิใช่ปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนจึงต้องห้ามมิให้ยกขึ้นมากล่าวอ้างในชั้นอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่เคยทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 ให้ไว้แก่โจทก์ เอกสารท้ายฟ้องโจทก์เป็นผู้กรอกข้อความเองทั้งสิ้นสัญญาค้ำประกันดังกล่าวเป็นเอกสารปลอมแต่ตามสัญญาค้ำประกันเอกสารท้ายฟ้องจำเลยที่ 2 ได้ลงชื่อเป็นผู้ค้ำประกันไว้การที่จำเลยที่ 2 ให้การเพียงว่าโจทก์เป็นผู้กรอกข้อความในเอกสารทั้งสิ้น จึงเป็นเอกสารปลอม โดยจำเลยที่ 2 มิได้ให้การว่าเหตุใดจึงได้ลงชื่อไว้ในเอกสารดังกล่าวและเหตุใดโจทก์จึงนำเอกสารนั้นไปกรอกข้อความจนกลายเป็นเอกสารปลอมได้ ถือว่าไม่มีเหตุแห่งการปฏิเสธโดยชัดแจ้งเป็นคำให้การที่ไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177วรรคสอง ไม่ก่อให้เกิดประเด็น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4545/2530 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์ดอกเบี้ยค่าจ้างที่ค้างชำระ ต้องยกขึ้นว่ากันในศาลชั้นต้นก่อน หากมิได้ยกขึ้นและไม่ใช่ปัญหาความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
โจทก์ฟ้องเรียกค่าจ้างที่จำเลยไม่ชำระและเงินเพิ่มร้อยละสิบห้าของค่าจ้างที่ค้างชำระทุกเจ็ดวันนับแต่วันถึงกำหนดจ่ายจากจำเลย มิได้ขอให้จำเลยชำระดอกเบี้ยร้อยละสิบห้าต่อปีของค่าจ้างค้างชำระ ดังนี้ อุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่าเมื่อจำเลยไม่ชำระค่าจ้าง จำเลยต้องจ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ของค่าจ้างค้างจ่ายนับแต่วันค้างชำระเป็นต้นไป เว้นแต่จะนำค่าจ้างไปมอบแก่อธิบดีกรมแรงงานหรือผู้ที่อธิบดีมอบหมายเพื่อให้ลูกจ้างรับไป จึงจะไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย นั้น เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลแรงงานกลาง ทั้งมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 446-449/2516

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อจำกัดในการอุทธรณ์, ความรับผิดร่วม, และการประเมินค่าเสียหายในคดีละเมิดจากการจราจร
แม้จำเลยจะได้ให้การต่อสู้ไว้ว่าฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมและโจทก์ไม่เคยทวงถามให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง แต่ในชั้นอุทธรณ์จำเลยมิได้หยิบยกปัญหาข้อนี้เป็นข้ออุทธรณ์ จึงเป็นข้อที่มิได้ว่ากล่าวมาแล้วในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามตามมาตรา 249 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย.
การที่มีผู้คนเอาเงินมาช่วยทำศพผู้ตายมากน้อยเพียงไรจะเอามาช่วยบรรเทาความรับผิดของจำเลย หาได้ไม่
แม้ผู้ตายจะกำลังศึกษาเล่าเรียน แต่ปรากฏว่าผู้ตายเป็นนักเรียนช่างกลปีที่ 3 แล้วซึ่งเป็นปีสุดท้ายก็อาจเรียนจบหลักสูตร และผู้ตายมีความผูกพันตามกฎหมายต้องอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา แม้ในปัจจุบันผู้ตายยังศึกษาเล่าเรียน มิได้อุปการะบิดามารดาก็ดี บิดามารดาย่อมมีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อเหตุขาดไร้อุปการะได้