คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ข้อถือสิทธิ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2586/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิบัตร: การละเมิดต้องพิจารณาจากข้อถือสิทธิ การมีส่วนประกอบคล้ายคลึงกันไม่ถือเป็นการละเมิด
ลักษณะการประดิษฐ์ของจำเลยแตกต่างจากลักษณะพิเศษตามข้อถือสิทธิในอนุสิทธิบัตรของโจทก์ 3 รายการ คือ ในลำดับที่ 1 แผ่นปิดกั้นด้านซ้ายตามข้อถือสิทธิในอนุสิทธิบัตรของโจทก์ บริเวณขอบด้านนอกของแผ่นปิดกั้นด้านซ้ายเป็นแนวขอบกั้นด้านซ้ายที่มีแนวร่องยึดด้านซ้ายอย่างน้อยหนึ่งแนวติดตั้งอยู่ สำหรับรองรับการสอดผ่านของนอตยึดด้านซ้ายจากภายนอก ส่วนการประดิษฐ์ของจำเลย บริเวณขอบด้านนอกของแผ่นปิดกั้นด้านซ้ายเป็นแนวขอบกั้นด้านซ้าย ไม่มีแนวร่องยึดด้านซ้ายติดตั้งอยู่ แต่จะมีส่วนต่อยื่นด้านล่างจากขอบด้านนอกของแนวขอบกั้นที่มีรูสำหรับรองรับการสอดผ่านของนอตยึดจากภายนอก ลำดับที่ 3 แผ่นรองด้านล่างในข้อถือสิทธิตามอนุสิทธิบัตรของโจทก์ บริเวณพื้นผิวของแผ่นรองด้านล่างเป็นแนวร่องเปิดด้านบนอย่างน้อยหนึ่งแนว หรือแนวร่องปิดด้านบนอย่างน้อยหนึ่งแนว สำหรับรองรับการยึดของนอตยึดด้านซ้ายที่สอดทะลุผ่านมาจากแนวร่องยึดด้านซ้าย ขณะที่แนวขอบด้านหนึ่งของแผ่นรองด้านล่างสอดเข้าด้านในระหว่างมุมบรรจบด้านหน้าซ้ายกับมุมบรรจบด้านหลังซ้ายของส่วนปิดกั้นด้านซ้าย ส่วนการประดิษฐ์ของจำเลย บริเวณพื้นผิวของแผ่นรองด้านล่างของส่วนรองรับด้านล่างไม่มีแนวร่องเปิดด้านบนหรือแนวร่องปิดด้านบน แต่จะมีรูเจาะสำหรับรองรับการยึดของนอตยึดด้านล่างที่สอดทะลุมาจากส่วนต่อยื่นด้านล่างจากขอบด้านนอกของแนวขอบกั้นของแผ่นปิดกั้นด้านซ้าย ลำดับที่ 7 แผ่นปิดกั้นด้านขวาตามข้อถือสิทธิในอนุสิทธิบัตรของโจทก์ บริเวณขอบด้านนอกของแผ่นปิดกั้นด้านขวาเป็นแนวขอบกั้นด้านขวาที่มีแนวร่องยึดด้านขวาอย่างน้อยหนึ่งแนวติดตั้งอยู่ สำหรับรองรับการสอดผ่านของนอตยึดด้านขวาที่สอดทะลุผ่านมาจากแนวร่องยึดด้านขวา ส่วนการประดิษฐ์ของจำเลย บริเวณขอบด้านนอกของแผ่นปิดกั้นด้านขวาเป็นแนวขอบกั้นด้านขวา ไม่มีแนวร่องยึดด้านขวาติดตั้งอยู่ แต่จะมีส่วนต่อยื่นด้านล่างจากขอบด้านนอกของแนวขอบกั้นของแผ่นปิดกั้นด้านขวาสำหรับรองรับการสอดผ่านของนอตยึดจากภายนอกลักษณะที่แตกต่างกันในลำดับที่ 1 ที่ 3 และที่ 7 ดังกล่าว ถือเป็นข้อสาระสำคัญเนื่องจากความมุ่งหมายในการประดิษฐ์ของโจทก์ต้องการแก้ไขปัญหาแผ่นป้ายแสดงสถานะด้านบนหลังคายานพาหนะแบบเก่าซึ่งใช้เวลามากในการประกอบติดตั้งยึดแต่ละส่วนเข้าด้วยกัน โดยการเปิดเผยการประดิษฐ์โดยสมบูรณ์ตามอนุสิทธิบัตรของโจทก์ระบุว่า การประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรนี้ ส่วนประกอบต่าง ๆ จะสามารถติดตั้งเข้าด้วยกันหรือถอดออกจากกันได้โดยง่ายด้วยการขันยึดของนอต ดังนั้น วิธีการยึดของนอตจึงหาใช่รายละเอียดปลีกย่อยไม่ ตามข้อถือสิทธิในอนุสิทธิบัตรของโจทก์การประกอบแผ่นปิดกั้นด้านซ้ายเข้ากับแผ่นรองด้านล่างใช้วิธีสอดนอตยึดจากภายนอกผ่านแนวร่องยึดด้านซ้ายโดยมีแนวร่องเปิดด้านบนของแผ่นรองด้านล่างรองรับการยึดของนอตยึดด้านซ้าย การประกอบแผ่นปิดกั้นด้านขวาเข้ากับแผ่นรองด้านล่างมีลักษณะเช่นเดียวกันคือใช้วิธีสอดนอตยึดจากภายนอกผ่านแนวร่องยึดด้านขวาโดยมีแนวร่องเปิดด้านบนของแผ่นรองด้านล่างรองรับการยึดของนอตด้านขวา การใช้นอตยึดในการประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรของโจทก์จึงต้องอาศัยแนวร่องซึ่งถือว่าเป็นลักษณะพิเศษเฉพาะที่โจทก์กล่าวอ้างว่าเป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ และขอรับความคุ้มครองตามข้อถือสิทธิในอนุสิทธิบัตรของโจทก์ แต่เมื่อพิจารณาการประดิษฐ์ของจำเลยปรากฏว่าแผ่นปิดกั้นด้านซ้ายและด้านขวาไม่มีแนวร่องยึดด้านซ้ายและแนวร่องยึดด้านขวา กับแผ่นรองด้านล่างไม่มีแนวร่อง โดยแผ่นปิดกั้นด้านซ้ายและด้านขวาของจำเลยมีส่วนต่อยื่นด้านล่างจากขอบด้านนอกของแนวขอบกั้นด้านซ้ายและด้านขวา และมีรูเพื่อรองรับการสอดผ่านของนอตยึด แผ่นรองด้านล่างมีรูเจาะสำหรับรองรับนอตยึดที่ทะลุมาจากส่วนต่อยื่นด้านล่างจากขอบด้านนอกของแนวขอบกั้นด้านซ้ายและด้านขวา การประดิษฐ์ของจำเลยจึงมีลักษณะแตกต่างจากการประดิษฐ์ตามข้อถือสิทธิในอนุสิทธิบัตรของโจทก์อย่างชัดเจน
ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 65 ทศ ประกอบมาตรา 36 ทวิ สิทธิของผู้ทรงอนุสิทธิบัตรมีขอบเขตดังระบุในข้อถือสิทธิ ซึ่งการวินิจฉัยขอบเขตการประดิษฐ์ตามข้อถือสิทธิต้องพิจารณาจากลักษณะของการประดิษฐ์ที่ระบุในรายละเอียดการประดิษฐ์และรูปเขียนประกอบด้วย ในกรณีที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยกระทำละเมิดอนุสิทธิบัตรของโจทก์ต้องนำลักษณะการประดิษฐ์ที่โจทก์ระบุไว้ในรายละเอียดการประดิษฐ์ตามข้อถือสิทธิมาเปรียบเทียบกับการประดิษฐ์ของจำเลย ส่วนที่แตกต่างกันเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงว่าการประดิษฐ์ของจำเลยไม่อยู่ในขอบเขตข้อถือสิทธิของโจทก์ในการพิจารณาเปรียบเทียบจึงไม่อาจละเลยส่วนดังกล่าวได้
การประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรของโจทก์มีส่วนประกอบแยกได้ดังนี้ คือ ส่วนปิดกั้นด้านซ้ายและด้านขวาที่มีลักษณะเป็นแผ่นสามเหลี่ยม แผ่นรองด้านหลัง ท่อแบนกลวงปิดกั้นด้านบนและแผ่นป้ายปิดด้านหน้าและด้านหลัง ส่วนประกอบต่าง ๆ ดังกล่าวเป็นสิ่งสามัญซึ่งใช้ในการประดิษฐ์ทั่ว ๆ ไปจำเลยจึงสามารถนำมาใช้ในการประดิษฐ์ได้ สำหรับรูปทรงภายนอกเมื่อประกอบเสร็จแม้จะมีความคล้ายคลึงกันก็ไม่เป็นเหตุให้การกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดอนุสิทธิบัตรของโจทก์ เนื่องจากอนุสิทธิบัตรของโจทก์เป็นเรื่องการประดิษฐ์หาใช่เรื่องการออกแบบผลิตภัณฑ์ไม่ จำเลยมิได้นำข้อถือสิทธิของโจทก์ในเรื่องแนวร่องซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่และได้รับความคุ้มครองตามข้อถือสิทธิในอนุสิทธิบัตรของโจทก์มาใช้ในการประดิษฐ์ป้ายไฟบนรถแท็กซี่ของจำเลย การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการละเมิดอนุสิทธิบัตรของโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6572/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การละเมิดสิทธิบัตร: การประเมินขอบเขตการคุ้มครองตามข้อถือสิทธิและการพิจารณาคุณสมบัติประโยชน์ใช้สอย
จากบทบัญญัติ พ.ร.บ.สิทธิบัตร ฯ มาตรา 36 ทวิ ผลิตภัณฑ์ที่ให้อาหารสัตว์ปีกของจำเลยที่ 1 จะถือว่าละเมิดสิทธิบัตรการประดิษฐ์ที่ให้อาหารสัตว์ปีกของโจทก์ ต่อเมื่อการประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์ที่ให้อาหารสัตว์ปีกของจำเลยที่ 1 มีขอบเขตของการประดิษฐ์ตามที่ระบุในข้อถือสิทธิของสิทธิบัตรการประดิษฐ์ที่ให้อาหารสัตว์ปีกของโจทก์ ขอบเขตของการประดิษฐ์ตามข้อถือสิทธิในสิทธิบัตรของโจทก์มีเพียงใดจะต้องพิจารณาลักษณะของการประดิษฐ์ตามที่ระบุในรายละเอียดการประดิษฐ์และรูปเขียนประกอบด้วย ขอบเขตของการประดิษฐ์ดังกล่าวย่อมคลุมถึงลักษณะของการประดิษฐ์ที่แม้จะมิได้ระบุในข้อถือสิทธิโดยเฉพาะเจาะจง แต่เป็นสิ่งที่มีคุณสมบัติประโยชน์ใช้สอย และทำให้เกิดผลทำนองเดียวกับลักษณะของการประดิษฐ์ที่ระบุในข้อถือสิทธิตามความเห็นของบุคคลที่มีความชำนาญในระดับสามัญในศิลปะหรือวิทยาการที่เกี่ยวข้องกับการประดิษฐ์นั้นด้วย สิทธิบัตรการประดิษฐ์ที่ให้อาหารสัตว์ปีกของโจทก์มีข้อถือสิทธิรวม 11 ข้อ ส่วนผลิตภัณฑ์ให้อาหารสัตว์ปีกของจำเลยที่ 1 ที่ได้รับสิทธิบัตรในประเทศสหรัฐอเมริกานั้นเมื่อเปรียบเทียบกับขอบเขตของการประดิษฐ์ตามที่ระบุในข้อถือสิทธิของสิทธิบัตรที่ให้อาหารสัตว์ปีกของโจทก์แล้ว จะเห็นได้ว่าการปรับความตื้นและลึกของกระทะที่ให้อาหารสัตว์ปีกของจำเลยที่ 1 และตามข้อถือสิทธิข้อ 2 และรูปที่ 9 ของสิทธิบัตรของจำเลยที่ 1 มีวิถีทางในการปรับโดยมีชิ้นส่วนที่มีการเชื่อมกันโดยไม่มีการเคลื่อนไหวตามกันระหว่างวงแหวนและกระทะอาหารเช่นเดียวกับข้อถือสิทธิในสิทธิบัตรของโจทก์ข้อ 1, 2 และ 4 ทั้งกรรมวิธีการใช้ที่ให้อาหารสัตว์ปีกของจำเลยที่ 1 ก็ไม่ต่างกับกรรมวิธีตามข้อถือสิทธิในสิทธิบัตรของโจทก์ข้อ 10 และ 11 โดยโครงสร้างหลักและกรรมวิธีการใช้ ตลอดจนประโยชน์ใช้สอยของผลิตภัณฑ์ที่ให้อาหารสัตว์ปีกของจำเลยที่ 1 เป็นเช่นเดียวกับของโจทก์ แม้จะมีข้อแตกต่างกันในข้อปลีกย่อยก็ถือได้ว่าผลิตภัณฑ์ที่ให้อาหารสัตว์ปีกของจำเลยที่ 1 มีขอบเขตของการประดิษฐ์เช่นเดียวกับที่ระบุในข้อถือสิทธิของสิทธิบัตรการประดิษฐ์ที่ให้อาหารสัตว์ปีกของโจทก์ การที่จำเลยที่ 1 ประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวและให้จำเลยที่ 3 นำเข้ามาในราชอาณาจักรจึงเป็นการร่วมกันละเมิดสิทธิบัตรของโจทก์ แม้จำเลยที่ 1 จะได้รับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวในประเทศสหรัฐอเมริกาและดินแดนไต้หวัน แต่จำเลยที่ 1 ก็มิได้อ้างว่าได้รับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ดังกล่าวมาก่อนโจทก์ จึงไม่มีผลทำให้การกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นการละเมิดสิทธิบัตรของโจทก์ เมื่อโจทก์ได้รับสิทธิบัตรดังกล่าวจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ของประเทศไทยแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร ฯ มาตรา 36 ที่บุคคลอื่นจะละเมิดมิได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 หยุดการกระทำการละเมิดสิทธิบัตรการประดิษฐ์ที่ให้อาหารสำหรับสัตว์ปีก และวิธีการนำเอาลูกไก่เข้าไปในกรงเลี้ยง ตามสิทธิบัตรของโจทก์ โดยห้ามผลิตและนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ละเมิดสิทธิบัตรจึงชอบแล้ว