คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ข้อยกเว้นภาษี

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 7 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 676/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปรับปรุงโครงสร้างหนี้และข้อยกเว้นภาษี การโอนทรัพย์สินให้สถาบันการเงินเพื่อลดหนี้
การยกเว้นภาษีตามประมวลรัษฎากรให้แก่ลูกหนี้และสถาบันการเงินสำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนดตามมาตรา 6 ของพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 360) พ.ศ. 2542 นั้น หมายถึงการโอนทรัพย์สินของลูกหนี้ให้แก่สถาบันการเงินซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้โดยทรัพย์สินดังกล่าวมีมูลค่าต่ำกว่ายอดหนี้เท่านั้น แต่การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ระหว่างโจทก์กับธนาคาร ท. ตามสัญญามิได้มีการตกลงให้โจทก์โอนห้องชุดที่จำนองหรือทรัพย์สินอื่นใดให้แก่ธนาคาร ดังนั้น เมื่อธนาคารปลดหนี้ให้แก่โจทก์ตามสัญญา โจทก์จึงได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับจำนวนเงินที่ค้างชำระและธนาคารปลดหนี้ให้ตามมาตรา 5 แห่งพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าว แต่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา อากรแสตมป์และ ภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการโอนขายห้องชุดที่จำนองให้แก่ ก. ตามมาตรา 6 แห่งพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าว แต่อย่างใด เนื่องจากมิใช่เป็นการโอนให้แก่สถาบันการเงินทั้งไม่เข้าเงื่อนไขที่จะได้รับการยกเว้น ตามมาตรา 8 แห่งพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวด้วย ส่วนพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 373) พ.ศ. 2543 มีผลบังคับใช้สำหรับการโอนอสังหาริมทรัพย์ของลูกหนี้ตั้งแต่ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2543 เป็นต้นไป จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2544 เท่านั้น ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากที่โจทก์โอนไปแล้ว โจทก์จึงไม่ได้สิทธิ ยกเว้นภาษีอากรตามพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวด้วยเช่นกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4906/2533 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจำแนกประเภทพิกัดศุลกากรสำหรับคอนเดนเซอร์เครื่องปรับอากาศ และข้อยกเว้นการประเมินภาษีตามมาตรา 30
สินค้าคอนเดนเซอร์ ที่จำเลยนำเข้ามาเป็นส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศในรถยนต์ อันเป็นเครื่องปรับอากาศชนิดให้ความสะดวกสบายมิใช่เครื่องปรับอากาศที่ใช้ระบาย ความร้อนของเครื่องจักรและเครื่องคอนเดนเซอร์ ที่จำเลยนำเข้ามานั้นในตัวเอง ไม่อาจใช้ผลิตหรือเป็นส่วนประกอบในการผลิตสินค้าตัวอื่นอันจะถือเป็นเครื่องจักรได้ จึงเป็นสินค้าที่อยู่ในประเภทพิกัดที่ 84.15 ข .จำเลยจึงต้องเสียอากรในพิกัดอัตราร้อยละ 80 เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2529 จำเลยที่ 1 ยื่นคำขอเสียภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลของปี พ.ศ. 2522 อันเป็นเงินได้หรือรายรับที่มีอยู่ก่อนในปีภาษี พ.ศ. 2527 จึงได้รับประโยชน์จากบทบัญญัติ มาตรา 30 แห่งพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร(ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2529 โจทก์ที่ 2 จะเรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลเพิ่ม กับเงินเพิ่มหาได้ไม่.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3654/2531

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิสูจน์สิทธิการเช่าเป็นทรัพย์มรดกเพื่อข้อยกเว้นภาษี หากไม่สามารถนำสืบได้ ถือเป็นเงินได้ต้องเสียภาษี
บิดาของโจทก์เช่าตึกแถวจากผู้ให้เช่า ต่อมาโจทก์ได้รับโอนสิทธิการเช่าต่อจากบิดาซึ่งถึงแก่กรรม แล้วโจทก์โอนสิทธิการเช่านี้ให้แก่ธนาคารโดยได้เงินตอบแทน 2,000,000 บาท ในประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่า สิทธิการเช่าตึกแถวพิพาทนี้เป็นทรัพย์มรดกหรือไม่ ภาระการพิสูจน์ตกแก่โจทก์เมื่อโจทก์มิได้ระบุพยานภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด และไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้ระบุพยานได้ โจทก์จึงไม่มีสิทธินำพยานเข้าสืบ ซึ่งหมายความว่าโจทก์ไม่สามารถนำสืบให้เห็นได้ตามข้ออ้างที่ว่าสิทธิการเช่าตึกแถวพิพาทเป็นทรัพย์มรดก เช่นนี้ การโอนสิทธิการเช่าตึกแถวพิพาทของโจทก์จึงฟังมิได้ว่าเป็นการโอนทรัพย์สินที่ได้มาโดยทางมรดกและมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไร ดังนั้น โจทก์จึงไม่ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินค่าตอบแทนจำนวน 2,000,000 บาท มาคำนวณภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 42(9) ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4719/2529 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขยายเวลาชำระภาษี การยื่นแบบเกินกำหนด และข้อยกเว้นภาษีจากทรัพย์สินที่ไม่ใช่การค้า
แถลงการณ์กระทรวงการคลัง เรื่องเปิดโอกาสให้เสียภาษีอากรเพิ่มเติม ลงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2525 มีความประสงค์ที่จะขยายเวลาชำระภาษีอากร โดยเปิดโอกาสให้ผู้ที่มิได้ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษี หรือยื่น แบบแสดงรายการไว้ไม่ถูกต้องครบถ้วน หรือมิได้หักภาษีไว้ ณ ที่จ่าย หรือหักไว้ไม่ครบถ้วน ได้มายื่นชำระภาษีอากรหรือเสียภาษีอากรเพิ่มเติม หรือนำส่งภาษีให้ถูกต้องครบถ้วน โดยไม่ต้องเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่มใด ๆ ทั้งสิ้น จากข้อความที่ว่า ไม่ต้องเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่มนั้นแสดงอยู่ในตัว ว่าในขณะที่กระทรวงการคลังออกแถลงการณ์ ได้ล่วงเลยกำหนดเวลาชำระ ภาษีอากรหรือนำส่งภาษีอากรมาแล้ว แต่ผู้ต้องเสียภาษีอากรยังมิได้ ยื่นแบบแสดงรายการ หรือยื่นแบบแสดงรายการไว้ไม่ถูกต้องครบถ้วน หรือ มิได้หักภาษีไว้ ณ ที่จ่าย โดยระบุว่าการขยายเวลานั้นไม่รวมถึงภาษีอากร ที่ต้องเสียหรือนำส่งที่ถึงกำหนดเวลาเสียหรือนำส่งตามปกติในหรือ หลังวันที่ที่ลงในแถลงการณ์ แสดงว่าแถลงการณ์กระทรวงการคลัง ที่ ขยายเวลาออกไปถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2525 นั้นไม่รวมถึงการเสีย ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้พึงประเมินประจำปี 2524 ที่ต้อง ยื่นรายการภายในวันที่ 31 มีนาคม 2525 ดังนี้การที่โจทก์ขายที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไรเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2524 แต่โจทก์มิได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2525 ตามมาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากร โจทก์เพิ่งมายื่นแบบแสดงรายการ ภาษีเงินได้เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2525 ซึ่งล่วงเลยเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ โจทก์จึงไม่อยู่ในข่ายที่จะได้รับประโยชน์จากแถลงการณ์กระทรวงการคลัง ฉบับดังกล่าวและไม่ได้รับยกเว้น ภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 42(9)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 564/2519

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องภาษีบำรุงเทศบาล, ผู้ค้าโภคภัณฑ์, รถยนต์บรรทุก: การตีความข้อยกเว้นภาษีการซื้อโภคภัณฑ์
ภาษีบำรุงเทศบาลที่เทศบาลมีอำนาจออกเทศบัญญัติเก็บเพิ่มขึ้นไม่เกินร้อยละสิบจากภาษีการซื้อโภคภัณฑ์ตามประมวลรัษฎากร ตามมาตรา 12(2)แห่งพระราชบัญญัติรายได้เทศบาล พ.ศ. 2497 นั้น มาตรา 14 วรรคแรกแห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกันนี้ ให้ถือว่าเป็นภาษีตามประมวลรัษฎากร เมื่อปรากฏว่าโจทก์ยื่นอุทธรณ์คัดค้านต่อกรมสรรพากร จำเลยเฉพาะเรื่องการเรียกเก็บภาษีการซื้อโภคภัณฑ์มิได้คัดค้านเรื่องการเรียกเก็บภาษีบำรุงเทศบาลด้วยโจทก์เพิ่งมาคัดค้านในชั้นศาล จึงไม่มีอำนาจฟ้องตามประมวลรัษฎากร มาตรา 30
แม้โจทก์จะทำหน้าที่เป็นแต่เพียงตัวแทนช่วยจัดการสั่งซื้อรถยนต์จากต่างประเทศให้ผู้อื่น โจทก์ก็ยังเป็นผู้ค้าโภคภัณฑ์ตามบทนิยามคำว่า "ผู้ค้ำโภคภัณฑ์"ในมาตรา 166 แห่งประมวลรัษฎากร เพราะบทบัญญัตินี้ผู้ค้าโภคภัณฑ์หมายความรวมถึงผู้ทำการแทนด้วย ดังนั้น โจทก์จึงต้องรับผิดในการชำระภาษีการซื้อโภคภัณฑ์สำหรับรถยนต์ที่โอนให้แก่ผู้อื่นตามมาตรา 173
เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ค้าโภคภัณฑ์ได้สั่งซื้อรถยนต์เข้ามาใช้ในกิจการเดินรถโดยสารของโจทก์เอง โจทก์ก็มีหน้าที่ต้องเสียภาษีการซื้อโภคภัณฑ์สำหรับรถยนต์จำนวนนี้ ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 168
บทบัญญัติของประมวลรัษฎากรมีเจตนารมณ์ที่จะเรียกเก็บภาษีโภคภัณฑ์จากรถยนต์ทุกชนิดยกเว้น "รถยนต์บรรทุก" ตามความหมายในบัญชีอัตราภาษีการซื้อโภคภัณฑ์ท้ายลักษณะ 4 ว่าด้วยการซื้อโภคภัณฑ์ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 มาตรา 53 รถยนต์ชนิดใดเป็นรถยนต์บรรทุกย่อมต้องตีความโดยเคร่งครัด คำว่า "บรรทุก" ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถานหมายถึง "ใส่ลง บรรจุลง" ดังนั้น "รถยนต์บรรทุก" ย่อมหมายความถึงรถยนต์ที่บรรทุกสิ่งของมิใช่คนโดยสารดังรถยนต์ โดยสารสำเร็จรูปของโจทก์ ส่วนคำนิยามในพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2473 มาตรา 4(3)คำว่า "รถยนต์สาธารณะ" หมายความถึงรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารหรือของนั้นไม่สามารถนำมาอ้างอิงเพื่อตีความคำว่า "รถยนต์บรรทุก" ในประมวลรัษฎากรได้ เพราะเป็นกฎหมายที่ต่างประเภทกัน และมีวัตถุประสงค์ต่างกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2571/2518

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีภาษี, การอุทธรณ์การประเมิน, และข้อยกเว้นภาษีการค้าสำหรับชิ้นส่วนรถยนต์
ประมวลรัษฎากรที่บัญญัติให้มีการอุทธรณ์การประเมินในบางกรณีต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เสียก่อนแล้วจึงจะอุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาต่อศาลได้นั้น เป็นบทบัญญัติที่จำกัดสิทธิในการฟ้องคดีต่อศาล จึงต้องแปลความโดยเคร่งครัด
ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 20,30(2) มิได้บัญญัติเลยว่าการอุทธรณ์ การประเมินและการอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลจะต้องมีเหตุผลอย่างไร และเหตุผลนั้นจะต้องเป็นอย่างเดียวกัน เมื่อโจทก์อุทธรณ์ว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินเกี่ยวกับชิ้นส่วนของรถยนต์ที่โจทก์สั่งเข้ามาไม่ชอบด้วยกฎหมาย และคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก็มีความเห็นเช่นเดียวกับเจ้าพนักงานประเมินเพียงแต่ละภาษีการค้าลงบ้างเท่านั้น ฉะนั้น เมื่อโจทก์เห็นว่าคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่ถูกต้องอย่างไร ก็มีสิทธิอุทธรณ์คำวินิจฉัยต่อศาลได้ แม้จะอ้างเหตุอื่นเพิ่มเติมจากที่เคยอุทธรณ์ไว้ก็ตามถือว่าในการยื่นฟ้องเกี่ยวกับการประเมินภาษีการค้า (นำเข้า) สำหรับชิ้นส่วนของรถยนต์ที่โจทก์สั่งเข้ามานั้น โจทก์ได้ดำเนินการตามประมวลรัษฎากร มาตรา 30(2) แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
โจทก์เป็นผู้ประกอบการค้ารถยนต์เท่านั้น หาได้เป็นผู้ประกอบการค้าชิ้นส่วนของรถยนต์ไม่ เพราะโจทก์มิใช่ผู้ขายชิ้นส่วนของรถยนต์ หากแต่เป็นเพียงผู้นำชิ้นส่วนของรถยนต์เข้ามาประกอบหรือผลิตเป็นรถยนต์แล้วจำหน่ายรถยนต์ที่ประกอบหรือผลิตนั้นเท่านั้น โจทก์จึงมิใช่ผู้ประกอบการค้าชิ้นส่วนของรถยนต์
ที่จะถือว่าเป็นการขายสินค้าตามประมวลรัษฎากร มาตรา 79 ทวิ(1)ที่ใช้บังคับในขณะเกิดคดีนี้นั้น จะต้องเป็นการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้าประเภทการค้า 1 ชนิด 1 แห่งบัญชีอัตราภาษีการค้า (ที่มิใช่เป็นของใช้ส่วนตัว ซึ่งใช้กันตามปกติและตามสมควร) หรือเป็นการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้าประเภทการค้า 1 ชนิดอื่น โดยมิใช่นำมาขายหรือโดยมิใช่นำมาผลิตเพื่อขาย (อ้างฎีกาที่ 1606/2512)เมื่อโจทก์สั่งชิ้นส่วนของรถยนต์ เข้ามาเพื่อผลิตรถยนต์ขาย จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการขายสินค้าตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 79 ทวิ(1)
ตามมาตรา 79 ทวิ(3) ที่ใช้บังคับในขณะเกิดคดีนั้น จะถือเป็นการขายสินค้า ก็ต่อเมื่ออัตราภาษีการค้าไปใช้หรือโอนกรรมสิทธิ์หรือโอนการครอบครองซึ่งสินค้าดังกล่าวโดยมิใช่เพื่อขาย แต่เมื่อโจทก์มิใช่ผู้ประกอบการค้าชิ้นส่วนของรถยนต์เสียแล้ว กรณีจึงไม่เข้าอยู่ในบังคับของมาตรา 79 ทวิ(3) อันจะถือเป็นการขายสินค้า
พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นและลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ 15) พ.ศ. 2504 มาตรา 3(4)บัญญัติให้ยกเว้นภาษีการค้าเฉพาะ ในกรณีการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งของที่ได้รับยกเว้นภาษีศุลกากรเท่านั้น ซึ่งหมายความว่าหากผู้ใดจะต้องเสียภาษีการค้าในการนำของเจ้ามาในราชอาณาจักร แต่ถ้าของนั้นเป็นของที่ได้รับการยกเว้นภาษีศุลกากร ผู้นั้นก็ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีการค้าสำหรับของนั้น เมื่อของที่โจทก์นำเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นชิ้นส่วนของรถยนต์ มิใช่รถยนต์หากโจทก์จะได้รับการยกเว้นภาษีการค้าโจทก์ก็คงได้รับการยกเว้นภาษีการค้าเฉพาะแต่ชิ้นส่วนของรถยนต์เท่านั้นซึ่งโจทก์ไม่ต้องเสียอยู่แล้ว โจทก์หาได้รับการยกเว้นภาษีการค้าจากรายรับในการขายรถยนต์ของโจทก์ไม่ เพราะรถยนต์มิใช่ของที่โจทก์นำเข้ามาในราชอาณาจักรดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 3(4) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นและลดอัตรารัษฎากร(ฉบับที่ 15) พ.ศ. 2504

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1793/2518 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีเงินได้: หน้าที่การพิสูจน์ของโจทก์, เงินได้พึงประเมิน, และข้อยกเว้นภาษี
โจทก์บรรยายฟ้อง ความว่า หนังสือแจ้งภาษีเงินได้ตามเอกสารหมายเลข 1 ถึง 5 ท้ายฟ้อง ไม่ถูกต้องตรงกับความจริง เพราะมีเงินได้ที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ปะปนอยู่ โจทก์ได้อ้างประมวลรัษฎากร มาตรา 42 ถึงมาตรา 47 และอ้างรายการประเภทต่าง ๆ ตั้งแต่ (ก) ถึง (ฌ) แม้โจทก์จะมิได้กล่าวว่าเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นประเภทใด มีจำนวนเท่าใด ก็เป็นรายละเอียดที่โจทก์จะนำสืบในชั้นพิจารณาได้ ฟ้องของโจทก์เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรค 2 แล้ว การนำสืบของโจทก์ไม่เป็นการสืบนอกฟ้องนอกประเด็น
โจทก์ซึ่งถูกเรียกเก็บภาษีเงินได้เป็นฝ่ายกล่าวอ้างขึ้นว่า โจทก์ได้รับยกเว้นตามกฎหมาย ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ เพราะจำนวนเงินที่เจ้าพนักงานประเมินของกรมสรรพากรจำเลยประเมินมานั้นมิใช่เงินได้พึงประเมิน หรือแม้เป็นเงินได้พึงประเมินก็ได้รับยกเว้นภาษี ดังนี้ เป็นหน้าที่ของโจทก์ผู้กล่าวอ้างจะต้องพิสูจน์ว่า เงินจำนวนนั้น ๆ ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้เพราะเหตุใด กล่าวอีกนัยหนึ่ง โจทก์จะต้องพิสูจน์ให้เห็นชัดว่า เงินจำนวนนั้น ๆ มิใช่เงินได้พึงประเมิน หรือเป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นภาษีนั่นเอง
โจทก์เป็นฝ่ายกล่าวอ้างว่า โจทก์ได้รับยกเว้นตามกฎหมาย ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้สำหรับเงินที่เรียกกันว่าค่าพาหนะ จึงเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องนำสืบว่าเงินนี้เข้าลักษณะเงินค่าพาหนะตามความในประมวลรัษฎากร มาตรา 42 (1) หาใช่หน้าที่จำเลยที่จะต้องนำสืบไม่
เงินที่โจทก์ได้รับในชื่อค่าพาหนะจำนวน 295,500 บาท โดยจำนวน วิธีการจ่ายและพฤติการณ์ที่แท้จริง มีลักษณะเป็นเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงานตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40 หาเข้าลักษณะค่าพาหนะซึ่งโจทก์ได้จ่ายไปโดยสุจริตตามความจำเป็นเฉพาะในการที่ต้องปฏิบัติการตามหน้าที่ของโจทก์และได้จ่ายไปทั้งหมดในการนั้นตามมาตรา 42 (1) ไม่ ฉะนั้น เงินจำนวน 295,500 บาทนี้ จำเลยจึงมีอำนาจตามกฎหมายที่จะรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ของโจทก์
โจทก์ได้หุ้นซึ่งเรียกกันว่าหุ้นฟรีรวมเป็นเงิน 341,250 บาทมา เพราะโจทก์ทำงานให้ ส. ส. จึงให้หุ้นตอบแทน เห็นได้ว่าโจทก์ได้หุ้นมาเป็นประโยชน์ตอบแทนกับการที่โจทก์ได้ทำงานให้แก่ผู้ให้ ประโยชน์นั้นมีมูลค่าเป็นเงิน จึงถือได้ว่าเป็นเงินที่โจทก์ได้รับมาตามความในมาตรา 40 (2) (8) แห่งประมวลรัษฎากร หาใช่ว่าโจทก์ได้รับจากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยาของผู้ให้หุ้นแก่โจทก์ไม่ กรณีหุ้นที่เรียกว่าหุ้นฟรีจึงไม่ได้รับยกเว้นตามประมวลรัษฎากร มาตรา 42 (10)
โจทก์ได้รับเช็คมาโดยตรงจากบริษัท ส. มิใช่บริษัท ส.จ่ายให้บุคคลอื่นแล้วบุคคลนั้นมอบให้โจทก์อีกต่อหนึ่งเพื่อให้โจทก์ทำธุระแทน เงิน 150,000 บาทตามเช็คจึงเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร
การที่พ่อค้าให้เงินจำนวนมากแก่ข้าราชการ แม้ในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ จะถือว่าเป็นการให้ตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณีได้หรือไม่นั้น กรณีอย่างนี้ยากที่จะถือเป็นกฎเกณฑ์ตายตัวได้ การณ์ย่อมแล้วแต่คติร่วมกันของฝ่ายผู้ให้และผู้รับ ฉะนั้น เช็ค 4 ฉบับ จำนวนเงิน 70,000 บาทที่โจทก์ได้รับเป็นของขวัญในวันขึ้นปีใหม่จากบริษัท ส. ก. จึงเข้าลักษณะเงินได้พึงประเมินประเภทที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ เพราะเป็๋นเงินที่ได้จากการให้โดยเสน่หาตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณีตามประมวลรัษฎากร มาตรา 42 (10)
ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 19,20 กฎหมายเพียงแต่บัญญัติให้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจออกหมายเรียกตัวผู้ยื่นรายการและพยานมาให้การไต่สวน ในเมื่อเจ้าพนักงานประเมินมีเหตุอันควรเชื่อว่ารายการตามแบบที่ยื่นไม่ถูกต้องตามความจริง เป็นการให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานประเมินในอันที่จะใช้ดุลพินิจว่าสมควรจะไต่สวนหรือไม่ หาได้บัญญัติบังคับเจ้าพนักงานประเมินให้จำต้องกระทำไม่
เช็คฝากธนาคารซึ่งบริษัท ก.สั่งจ่ายให้โจทก์ ที่จำเลยนำไปคำนวณภาษีเงินได้นั้น เป็นเงินทดรองจากเงินส่วนตัวของโจทก์เองที่โจทก์ได้รับคืนมา หาใช่เงินได้พึงประเมินไม่