คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
คณะกรรมการ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 151 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6432/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาษีอากร: การประเมินราคาตลาด, การขอคืนภาษี, อำนาจเจ้าพนักงานประเมิน, และการพิจารณาของคณะกรรมการ
โจทก์ให้กรรมการกู้เงินจำนวนมากถึง 1,700,000 บาท โดยไม่มีดอกเบี้ย โดยไม่ปรากฏว่ากรรมการผู้กู้นั้นเป็นพนักงานหรือไม่ และพนักงานทั่วไปมีสิทธิกู้ได้หรือไม่ เพียงใด คิดดอกเบี้ยหรือไม่ จึงถือว่าไม่มีเหตุอันสมควร เจ้าพนักงานประเมินชอบที่จะประเมินดอกเบี้ยเท่ากับดอกเบี้ยเงินฝากประจำของธนาคารพาณิชย์ในขณะที่ให้กู้นั้นได้
เงินได้จากการประกอบการทุกประเภทย่อมมีความไม่แน่นอน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการตามลักษณะของกิจการแต่ละประเภท ป.รัษฎากรฯ มาตรา 67 ตรี จึงบัญญัติให้ประมาณการกำไรสุทธิครึ่งปีคลาดเคลื่อนได้ไม่เกินร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิ การที่โจทก์ประมาณการกำไรสุทธิครึ่งปีขาดไปเกินกว่าร้อยละ 25 โดยไม่ปรากฏพฤติการณ์พิเศษนั้นจึงยังไม่มีเหตุอันสมควร เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจกำหนดให้โจทก์เสียเงินเพิ่มได้ โดยไม่จำต้องเรียกโจทก์ไปสอบถามก่อน เพราะโจทก์มีหน้าที่ต้องประมาณการกำไรสุทธิครึ่งปีที่ถูกต้องแท้จริงพร้อมกับส่งมอบพยานหลักฐานไปให้เจ้าพนักงานตรวจสอบ เมื่อโจทก์ประมาณการกำไรสุทธิครึ่งปีขาดไปเกินร้อยละ 25 จึงต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มอีกร้อยละ 20 ของจำนวนภาษีที่ขาดไป
โจทก์นำไม้แปรรูปเข้ามาจากประเทศมาเลเซียจำนวนมากและชำระเป็นเงินตราต่างประเทศโดยอ้างว่าชำระเงินสดมีหลักฐานเพียงใบกำกับสินค้า ไม่มีการเปิดเล็ตเตอร์ออฟเครดิตตามที่ปฏิบัติกันทั่วไป ทั้งพยานโจทก์เบิกความลอย ๆ จึงไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อว่า โจทก์ซื้อไม้แปรรูปมาในราคาตามที่ระบุในใบกำกับสินค้า ซึ่งต่ำกว่าราคาที่กรมศุลกากรกำหนด การที่โจทก์ขายไม้แปรรูปในราคาต่ำกว่าราคาที่กรมศุลกากรประกาศกำหนดนั้นผิดปกติวิสัยของผู้ทำธุรกิจการค้า จึงเป็นการขายไม้แปรรูปในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควร เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินราคาตลาดได้ตาม ป.รัษฎากรฯ มาตรา 88/2 (3) และมาตรา 79/3 (1) ซึ่งการประเมินโดยใช้ราคาตามประกาศกำหนดราคาในท้องตลาดเป็นรายเฉลี่ยของกรมศุลกากรเป็นราคาที่คำนวณโดยการเก็บรวบรวมสถิติราคาสินค้าชนิดเดียวกันจากผู้นำเข้าทุกรายที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรในช่วงเวลานั้นมาทำการเฉลี่ย ย่อมเป็นการประเมินที่ใกล้เคียงกับราคาตลาดที่แท้จริงที่สุด การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินดังกล่าวจึงชอบแล้ว
เจ้าพนักงานประเมินออกหมายเรียกตรวจสอบภาษีอากรโจทก์ เนื่องจากโจทก์ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 12 เดือน ติดต่อกัน ซึ่งสรรพากรภาค 12 ผู้ได้รับมอบอำนาจจากอธิบดีกรมสรรพากรได้อนุมัติให้ขยายเวลาการออกหมายเรียกตรวจสอบตามมาตรา 19 แห่ง ป.รัษฎากรฯ โดยบทบัญญัติดังกล่าวมิได้กำหนดว่าเจ้าพนักงานประเมินจะต้องขออนุมัติขยายเวลากการออกหมายเรียกภายในระยะเวลา 2 ปี แต่อย่างใด การออกหมายเรียกตรวจสอบของเจ้าพนักงานประเมินจึงชอบแล้ว
ป.รัษฎากรฯ มาตรา 32 บัญญัติให้อำนาจคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ที่จะออกหมายเรียกผู้อุทธรณ์หรือบุคคลอื่นมาไต่สวนหรือให้บุคคลใดส่งพยานหลักฐานใดมาประกอบการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ตามที่เห็นสมควร แต่มิได้บัญญํติบังคับว่า คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จะต้องเรียกผู้อุทธรณ์มาสอบถามหรือให้ส่งพยานหลักฐานใดอีก การที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้พิจารณาเห็นว่าพยานหลักฐานในสำนวนเพียงพอแล้วและมีคำวินิจฉัยไปตามนั้น จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2969/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำสั่งโอนย้ายพนักงานระดับสูงต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ หากไม่เช่นนั้นถือเป็นการถอดถอนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
การที่จะพิจารณาว่าคำสั่งใดเป็นคำสั่งในทางบริหารจัดการในการดำเนินกิจการของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นอำนาจของผู้อำนวยการจำเลยที่ 2 โดยเฉพาะตาม พ.ร.ฎ. จัดตั้งองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ฯ มาตรา 19 หรือเป็นคำสั่งบรรจุ แต่งตั้ง ถอดถอน พนักงานในระดับสูงซึ่งจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการของจำเลยที่ 1 ก่อนตามมาตรา 20 (1) ต้องคำนึงถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายดังกล่าว เหตุผลและความจำเป็นที่จะต้องมีคำสั่ง และผลกระทบที่จะมีต่อผู้รับคำสั่งด้วย เพราะคำสั่งแต่งตั้งหรือถอดถอนพนักงานคนใดอาจเป็นการให้คุณหรือให้โทษแก่พนักงานผู้นั้นอยู่ในตัว การแต่งตั้งหรือถอดถอนพนักงานในระดับสูงย่อมมีความสำคัญ และมีผลต่อขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงาน และเพื่อเป็นหลักประกันการทำงานของพนักงานที่ปฏิบัติงานไปโดยถูกต้องและสุจริตมิให้ถูกกลั่นแกล้งจากผู้หนึ่งผู้ใด จึงจำกัดอำนาจของจำเลยที่ 2 ไว้ โดยให้ได้รับการกลั่นกรองจากคณะกรรมการของจำเลยที่ 1 อีกชั้นหนึ่งด้วยการพิจารณาถึงคำสั่งใดๆ ว่าจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการของจำเลยที่ 1 ก่อนหรือไม่ จึงมิได้พิจารณาเฉพาะถ้อยคำในคำสั่งว่าให้ไปปฏิบัติงานเพียงชั่วคราวหรือไม่เท่านั้น เพราะการมีคำสั่งให้ไปปฏิบัติงานในตำแหน่งอื่นเป็นเวลานานโดยไม่มีเหตุผลที่เพียงพอย่อมมิใช่อำนาจในการบริหารจัดการตามปกติ และมีผลอย่างเดียวกันกับการถอดถอนจากตำแหน่งเดิมนั่นเอง การที่จำเลยทั้งสองมีคำสั่งให้โจทก์ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสำนัก (ระดับ 9) เป็นหัวหน้าหน่วยงานที่ขึ้นตรงต่อจำเลยที่ 2 ไปปฏิบัติงานที่สำนักงานภาคเหนือ ในฐานะที่ปรึกษาสำนักงานอุตสาหกรรมสวนป่าแม่เมาะ แม้ในคำสั่งจะระบุว่าให้ไปช่วยปฏิบัติงานเป็นเวลา 120 วัน แต่ก็ให้โอนอัตราตามตัวไปตั้งเบิกจ่ายด้วย ซึ่งมีผลทำให้โจทก์ต้องขาดจากอัตราและตำแหน่งเดิมจึงมีผลอย่างเดียวกับการถอดถอนโจทก์จากตำแหน่งเดิม ยิ่งไปกว่านั้นในขณะที่คดีนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลแรงงานกลาง จำเลยทั้งสองยังออกคำสั่งให้โจทก์ช่วยปฏิบัติงานต่อไปอีก 30 วัน โดยอ้างว่าเพื่อให้การบริหารจัดการบรรลุตามแผนงานที่กำหนดไว้ ทั้งๆ ที่องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้แม่เมาะยังไม่เคยมีแผนที่จะปรับปรุงงาน และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องขอบุคคลใดไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษา ทำให้เห็นได้ว่าจำเลยทั้งสองมีคำสั่งให้โจทก์ไปปฏิบัติงานในตำแหน่งอื่นเป็นการชั่วคราว เพียงเพื่อไม่ต้องให้ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการของจำเลยที่ 1 ตามที่ พ.ร.ฎ. จัดตั้งองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ฯ มาตรา 20 (1) บัญญัติไว้เท่านั้น หาใช่เป็นอำนาจของจำเลยที่ 2 โดยเฉพาะตามมาตรา 19 ไม่ คำสั่งของจำเลยทั้งสองดังกล่าวจึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2500/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า ไม่ต้องฟ้องเจ้าของเครื่องหมายการค้า
การฟ้องคดีขอให้เพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าโดยอาศัยสิทธิตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 65 วรรคสอง ประกอบมาตรา 61 ไม่จำต้องฟ้องเจ้าของเครื่องหมายการค้าด้วย
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 11/2547)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4545/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเปรียบเทียบงดฟ้องร้องทางศุลกากร: อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการและขอบเขตความรับผิดของเจ้าหน้าที่
จำเลยที่ 10 ซึ่งเป็นรองอธิบดีกรมศุลกากรได้มีความเห็นตามที่เจ้าหน้าที่เสนอมาว่า ม. ซึ่งเป็นผู้นำเข้ารถยนต์ใช้แล้วจากประเทศญี่ปุ่นได้นำเข้ารถยนต์โดยสำแดงรุ่นผิดไปจากรถยนต์โตโยต้า ซอเรอร์ เป็นรถยนต์โตโยต้า มาร์คทู ต่อมา ม. ขอยกรถยนต์คันดังกล่าวให้ตกเป็นของแผ่นดินเพื่อตกลงระงับคดีตามมาตรา 27 หรือ 27 ทวิ ของ พ.ร.บ. ศุลกากร จึงให้นำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะกรรมการเปรียบเทียบงดการฟ้องร้อง แม้จำเลยที่ 10 จะมีความเห็นให้นำเรื่องเข้าที่ประชุมโดยมิได้มีความเห็นชี้ขาดก่อนว่าการกระทำของ ม. จะเป็นความตามมาตรา 27 หรือว่าจะเป็นความผิดตามมาตรา 27 ทวิ ฐานใดฐานหนึ่ง เพื่อพิจารณาก่อนว่าความผิดที่ ม. กระทำจะตรงหรือไม่ตรงด้วยข้อหาความผิดที่จะเปรียบเทียบได้ก็ตาม ก็หาเป็นการละเมิดต่อโจทก์ไม่ เพราะอำนาจการวินิจฉัยชี้ขาดว่า ม. ผู้นำเข้ารถยนต์จะมีความผิดฐานใด เป็นอำนาจของศาล
การเปรียบเทียบปรับโดยอธิบดีกรมศุลกากร ตามมาตรา 102 ก็ดี หรือโดยคณะกรรมการเปรียบเทียบงดการฟ้องร้องตามมาตรา 102 ทวิ ก็ดี จะต้องปรากฏว่าผู้จะถูกฟ้องร้องได้ยินยอมและใช้ค่าปรับตามที่มีผู้มีอำนาจได้เปรียบเทียบด้วยจึงจะชอบ ดังนั้น การที่คณะกรรมการเปรียบเทียบงดการฟ้องร้องได้มีมติให้รับทำความตกลงระงับคดีโดยรับรถยนต์ของกลางไว้เป็นของแผ่นดินตามข้อเสนอของผู้ต้องหา จึงย่อมเป็นการเปรียบเทียบที่ชอบด้วยกฎหมาย
แม้ในการประชุมของคณะกรรมการเปรียบเทียบงดการฟ้องร้องจะมีแต่เลขานุการคณะกรรมการเป็นผู้รายงาน โดยจำเลยที่ 10 และที่ 11 จะทราบข้อเท็จจริงและมิได้ทักท้วงหรือชี้แจงแสดงเหตุผลในที่ประชุมเป็นเรื่องการบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่การประชุม ซึ่งไม่ถึงขนาดที่จะถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออันเป็นการละเมิด เพราะที่ประชุมจะมีมติอย่างไรย่อมต้องเป็นไปตามความเห็นของผู้เข้าร่วมประชุม ซึ่งมิได้มีเพียงจำเลยที่ 10 และที่ 11 เท่านั้น การมีมติจึงเป็นมติของคณะกรรมการเปรียบเทียบงดการฟ้องร้อง มิใช่ความเห็นส่วนตัวของจำเลยที่ 10 และที่ 11 ดังนี้ แม้การมีมติของคณะกรรมการเปรียบเทียบงดการฟ้องร้องจะทำให้โจทก์ไม่สามารถเรียกค่าอากรที่ขาดจากข้าราชการที่กระทำผิดวินัยได้ก็ตาม ก็ไม่อาจเรียกให้จำเลยที่ 10 และที่ 11 รับผิดฐานละเมิดต่อโจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3108/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องเรียกคืนภาษีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากยังไม่ได้รับคำวินิจฉัยอุทธรณ์จากคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
ภาษีที่โจทก์เรียกคืนจากจำเลยที่ 1 เกิดจากการที่โจทก์ตรวจสอบการขอคืนภาษีของจำเลยที่ 1 พบว่าจำเลยที่ 1 แสดงรายได้จากการขายสินค้าต่ำไป โดยแสดงราคาขายและราคาซื้อไม่เป็นไปตามรายการซื้อขายจริงจึงปรับปรุงเพิ่มต้นทุนและนำมูลค่าสินค้าในแต่ละเดือนภาษีมาคำนวณภาษีขายให้ถูกต้องแล้วหักด้วยภาษีซื้อ พบว่าจำเลยที่ 1 ยังมีภาษีมูลค่าเพิ่มต้องชำระเพิ่มอีกในบางเดือน และบางเดือนมีสิทธิขอคืนได้บางส่วนเท่านั้น เงินภาษีที่จำเลยที่ 1 ขอคืนไปจึงไม่ถูกต้อง เจ้าพนักงานประเมินจึงแจ้งให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินให้แก่โจทก์ตามฟ้อง ซึ่งเห็นได้ว่าจำนวนเงินที่โจทก์ฟ้องเรียกคืนจากจำเลยที่ 1 เกิดจากการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่เห็นด้วยย่อมมีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินอาจถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงโดยคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ จึงต้องรอฟังคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก่อน เมื่อข้อเท็จจริงที่รับกันฟังได้ว่าฝ่ายจำเลยยื่นอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ซึ่งในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ยังไม่มีคำวินิจฉัย ดังนั้น โจทก์จึงยังไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้องแม้ต่อมาภายหลังคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จะวินิจฉัยว่าการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มของเจ้าพนักงานประเมินชอบและเป็นธรรมแล้ว ก็ไม่ทำให้ฟ้องที่ไม่ชอบมาตั้งแต่ต้นกลับเป็นฟ้องที่ชอบได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11979/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีภาษีมูลค่าเพิ่ม: ต้องรอการวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการภาษีอากรเสียก่อน
หนังสือทวงถามของโจทก์กรณีเรียกภาษีมูลค่าเพิ่มที่จำเลยที่ 1 ได้รับคืนไป แม้จะมิใช่หนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ข้ออ้างสิทธิของโจทก์และจำนวนเงินที่โจทก์ทวงถามตามหนังสือดังกล่าว ก็เป็นมูลเดียวกันกับที่เจ้าพนักงานประเมินออกหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มแก่จำเลยที่ 1 โดยอ้างว่าจำเลยที่ 1 แสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ถูกต้องนั่นเอง ข้อพิพาทในคดีนี้ที่ว่าจำเลยที่ 1 ต้องคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ได้รับคืนไปให้แก่โจทก์หรือไม่ จึงเป็นคดีอุทธรณ์คำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานหรือคณะกรรมการตามกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากรตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลภาษีอากรฯ มาตรา 7(1) ซึ่งจะฟ้องคดีในศาลภาษีอากรได้ก็ต่อเมื่อได้มีการวินิจฉัยชี้ขาดคำคัดค้านหรือคำอุทธรณ์นั้นเสร็จสิ้นแล้ว เมื่อจำเลยที่ 1 ได้อุทธรณ์คัดค้านการประเมินแต่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยชี้ขาดอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 โจทก์จึงยังไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้อง และไม่มีอำนาจฟ้องตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลภาษีอากรฯ มาตรา 8
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 10/2547)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2400/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเงินกู้ระหว่างบุคคลกับคณะกรรมการกองทุนสวัสดิการ: ความรับผิดในฐานะผู้กู้
แม้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดสวัสดิการภายในส่วนราชการ พ.ศ. 2530 ข้อ 13 กำหนดให้การปฏิบัติงานภายในส่วนราชการตามระเบียบนี้ถือว่าเป็นการปฏิบัติราชการ และข้อ 21 ให้คณะกรรมการหรือผู้ที่ คณะกรรมการมอบหมายเป็นผู้มีอำนาจก่อหนี้ผูกพันและอนุมัติการจ่ายเงินกองทุนสวัสดิการ แต่ระเบียบสำนัก นายกรัฐมนตรีดังกล่าวเป็นเพียงกำหนดอำนาจหน้าที่ในการจัดสวัสดิการภายในส่วนราชการเท่านั้น ไม่มีผลทำให้ คณะกรรมการกองทุนสวัสดิการผู้บริหารสำนักงานการประถมศึกษาอำเภอบันนังสตามีสภาพเป็นนิติบุคคล ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสามกู้ยืมเงินจากโจทก์ในนามและในฐานะคณะกรรมการกองทุนสวัสดิการผู้บริหารสำนักงาน การประถมศึกษาอำเภอบันนังสตา จึงไม่อาจทำสัญญากู้ยืมเงินแทนกองทุนดังกล่าว จำเลยทั้งสามลงลายมือชื่อเป็นผู้กู้ในสัญญากู้เงิน และได้รับต้นเงินกู้ไปจากโจทก์ จำเลยทั้งสามจึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาดังกล่าว และ แม้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดสวัสดิการภายในส่วนราชการ พ.ศ. 2530 ข้อ 13 จะกำหนดให้การปฏิบัติงานสวัสดิการภายในส่วนราชการตามระเบียบนี้ให้ถือเป็นการปฏิบัติราชการก็ตาม แต่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามให้รับผิดตามหนังสือสัญญากู้เงินดังกล่าว จึงไม่อยู่ภายใต้บังคับตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1795/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดในสัญญากู้ยืมเงินกรณีคณะกรรมการไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล และการคิดดอกเบี้ยเมื่อไม่ได้กำหนดเวลาชำระ
หนังสือ สัญญากู้ยืม เงิน ระบุ คณะกรรมการ กองทุน ผู้บริหาร สำนักงาน การ ประถม ศึกษา อำเภอ เป็น ผู้กู้ โดย มี จำเลย เป็น ผู้ลงนาม ใน ฐานะ ประธาน คณะกรรมการ แต่เมื่อ คณะกรรมการ ไม่มี ฐานะ เป็น นิติบุคคล ที่ จะ สามารถ รับผิด ต่อ โจทก์ ใน ฐานะ บุคคลภายนอก สำหรับ กิจการ ที่ จำเลย กระทำ ไป ดัง ที่ บัญญัติ ไว้ ใน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 820 จึง ถือไม่ได้ว่า จำเลย เข้า ทำ สัญญา แทน ตัวการ ที่ มี ตัว อยู่ จริง ดังนั้น จำเลย จึง ต้อง รับผิด ตาม สัญญากู้ยืม เงิน ตาม ลำพัง สัญญากู้ยืม เงิน ไม่ได้ กำหนด อัตรา ดอกเบี้ย ไว้ เพียงแต่ กำหนด ให้ จำเลย ชำระ ดอกเบี้ย ทุกวัน สิ้นเดือน โจทก์ จึง มีสิทธิ คิด ดอกเบี้ย ใน ระหว่าง ผิดนัด อัตรา ร้อยละ 7.5 ต่อ ปี ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 แม้ จำเลย ชำระ ดอกเบี้ย แก่ โจทก์ อัตรา ร้อยละ 2 บาท ต่อ เดือน ก็ เป็น การ ชำระ ดอกเบี้ย ตาม อำเภอ ใจ โดย รู้ อยู่ ว่า ตน ไม่มี ความผูกพัน ที่ จะ ต้อง ชำระ จำเลย หา มีสิทธิ จะ ได้รับ ดอกเบี้ย ที่ ชำระ ไป แล้ว คืน ไม่ อย่างไร ก็ ตาม เนื่องจาก สัญญากู้ยืม เงิน มิได้ กำหนด เวลา ให้ จำเลย ใช้ คืนเงิน ที่ กู้ยืม และ ไม่ปรากฏ ว่า โจทก์ ได้ บอกกล่าว แก่ จำเลย ให้ คืนเงิน ดังกล่าว ภายใน เวลา อันควร ตาม มาตรา 652 จึง ไม่อาจ ถือว่า วันที่ 1 สิงหาคม 2540 ซึ่ง เป็น วัน หลังจาก วันที่ จำเลย ชำระ ดอกเบี้ย สำหรับ เดือน สุดท้าย ให้ แก่ โจทก์ เป็น วันที่ จำเลย ผิดนัด ต้อง ถือว่า จำเลย ผิดนัด และ ต้อง เสีย ดอกเบี้ย ตั้งแต่ วันฟ้อง เป็นต้น ไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1470/2544 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องเพิกถอนคำวินิจฉัยคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน: จำเลยคือคณะกรรมการในฐานะตำแหน่งหน้าที่
การพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนกระทำในรูปคณะบุคคลอันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 แม้คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนจะมิได้มีฐานะเป็นนิติบุคคล คำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนก็มีผลผูกพันกรรมการทุกคนไม่ว่าจะได้เข้าร่วมประชุมพิจารณาวินิจฉัยด้วยหรือไม่ ดังนั้น การฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนจึงไม่ใช่เป็นการฟ้องคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนในฐานะส่วนตัวแต่เป็นการฟ้องในทางตำแหน่งหน้าที่ตามกฎหมาย คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนทั้งคณะจึงถูกฟ้องเป็นจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8106/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนหุ้นต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการตามข้อบังคับบริษัท หากไม่เป็นไปตามนั้น การโอนหุ้นไม่สมบูรณ์และผู้รับโอนไม่มีสิทธิ
หุ้นที่ ม. โอนให้โจทก์เป็นหุ้นชนิดระบุชื่อลงในใบหุ้น โดยมีข้อบังคับของบริษัทจำเลยที่ 1 กำหนดไว้ว่าการโอนหุ้นให้บุคคลภายนอกต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการของบริษัทจำเลยที่ 1 ก่อน และคณะกรรมการมีสิทธิบอกปัดการโอนโดยไม่ต้องแถลงเหตุผล ดังนี้ การโอนหุ้นระหว่าง ม. กับโจทก์จึงต้องเป็นไปตามข้อบังคับดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 1129 วรรคหนึ่ง ขณะที่ ม. ทำสัญญาโอนหุ้นให้โจทก์นั้นได้ความว่า ม. เป็นกรรมการเพียงคนเดียวที่ทราบและอนุมัติการโอนหุ้นรายนี้ ส่วนกรรมการคนอื่นๆ ไม่ปรากฏว่าได้ทราบและอนุมัติด้วย แม้ ม. จะแจ้งบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยที่ 1 ไปยังนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทว่าโจทก์เป็นผู้ถือหุ้นที่รับโอนจาก ม. ก็ดี หรือ ม. จะแจ้งให้เจ้าพนักงานตำรวจลงบันทึกประจำวันว่าได้แจ้งการโอนหุ้นแก่โจทก์ให้คณะกรรมการของบริษัทจำเลยที่ 1 ทราบและได้รับความยินยอมแล้วก็ดี ยังฟังไม่ได้ว่าคณะกรรมการของบริษัทจำเลยที่ 1 ยินยอมหรืออนุมัติการโอนหุ้นรายนี้ การโอนหุ้นระหว่าง ม. กับโจทก์จึงเป็นการฝ่าฝืนต่อข้อบังคับของบริษัทจำเลยที่ 1 และไม่ชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1129 วรรคหนึ่ง
of 16