คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
คณะกรรมการเครื่องหมายการค้า

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1743/2514

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลจำกัดหลังยอมรับอำนาจคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า: สิทธิฟ้องสิ้นสุดเมื่อไม่นำคดีสู่ศาล
การอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าตามมาตรา 19 ทวิกฎหมายให้อุทธรณ์ได้ใน 2 กรณีคือ เมื่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งตามมาตรา 16, 18 หรือ 19 ผู้ขอจดทะเบียนมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งนั้น ๆ ภายใน 90 วัน หรือเมื่อนายทะเบียนประกาศคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ตามมาตรา 21 แล้ว และมีผู้คัดค้าน ผู้ขอจดทะเบียนต้องยื่นคำโต้แย้งแล้วให้นายทะเบียนมีคำวินิจฉัย เมื่อนายทะเบียนวินิจฉัยแล้วภายใน 90 วัน ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสิทธิจะอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าก็ได้ หรือจะนำคดีไปสู่ศาลก็ได้ โดยต้องแจ้งเป็นหนังสือต่อนายทะเบียนถึงการนำคดีไปสู่ศาลใน 90 วันด้วย และให้นายทะเบียนรอฟังคำวินิจฉัยของศาล ถ้ามิได้อุทธรณ์ หรือมิได้นำคดีไปสู่ศาล สิทธิอุทธรณ์หรือสิทธินำคดีไปสู่ศาลเป็นอันสิ้นไปตามมาตรา 22
การนำคดีไปสู่ศาลตามมาตรา 22 หมายถึงการฟ้องผู้คัดค้านและนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่มีคำวินิจฉัยเช่นนั้นต่อศาลมิใช่ฟ้องคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า เพราะแม้ฝ่ายหนึ่งจะอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าแล้วอีกฝ่ายหนึ่งไม่ประสงค์จะให้คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์นั้น ก็มีสิทธินำคดีไปฟ้องศาลได้โดยแจ้งแสดงหลักฐานให้นายทะเบียนทราบ และนายทะเบียนจะต้องรอฟังคำพิพากษาของศาล โดยคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าไม่ต้องวินิจฉัยอุทธรณ์นั้น แต่ถ้าฝ่ายหนึ่งอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า และอีกฝ่ายหนึ่งมิได้ใช้สิทธินำคดีมีข้อพิพาทไปฟ้องศาล คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าก็จะต้องวินิจฉัยอุทธรณ์นั้น ซึ่งเป็นอำนาจและหน้าที่ตามมาตรา 19 ตรี
ความในมาตรา 19 เบญจ วรรคท้าย ที่บัญญัติว่าคำวินิจฉัยหรือคำสั่งของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าให้เป็นที่สุดนั้น หมายถึงคำวินิจฉัยอุทธรณ์ตามมาตรา 19 ตรี(1) หรือคำสั่งตามมาตรา 19 ตรี(2)ซึ่งมีผลบังคับแก่คู่กรณีทุกฝ่าย
เมื่อผู้คัดค้านอุทธรณ์คำวินิจฉัยของนายทะเบียนต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าตามมาตรา 22 ผู้ขอจดทะเบียนมิได้ใช้สิทธินำคดีไปสู่ศาล เพื่อมิให้คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าวินิจฉัยอุทธรณ์นั้นย่อมเป็นการยอมรับให้คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีอำนาจวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้คัดค้านตลอดถึงคำขอจดทะเบียน กับคำแถลงโต้แย้งของผู้ขอจดทะเบียนที่ต่อสู้กับผู้คัดค้านในชั้นที่นายทะเบียนมีคำวินิจฉัยแล้วเมื่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าได้วินิจฉัยอุทธรณ์ตามมาตรา 19 ตรี(1)อย่างไร คำวินิจฉัยนั้นย่อมเป็นที่สุดตามมาตรา 19 เบญจ วรรคท้ายคู่กรณีไม่ว่าฝ่ายใด ไม่มีสิทธิจะฟ้องคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเป็นจำเลยต่อศาลในกรณีเดียวกันอีกได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2880/2551 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีเพิกถอนคำสั่งเพิกถอนเครื่องหมายบริการ: ต้องฟ้องคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า
จำเลยให้การต่อสู้คดีเพียงว่า ฟ. ไม่ใช่กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ การมอบอำนาจตามหนังสือมอบอำนาจมิได้กระทำโดยถูกต้องตามข้อกำหนดและเงื่อนไขแห่งหนังสือรับรองการจดทะเบียนของโจทก์ คำให้การของจำเลยไม่ชัดแจ้งว่า หนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีของโจทก์ไม่ถูกต้องอย่างไร เมื่อโจทก์มีหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีที่โนตารีปับลิกลงนามเป็นพยาน และมีเอกสารรายงานการประชุมคณะกรรมการโจทก์พร้อมคำแปลมาแสดงว่า ฟ. ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการรับผิดชอบต่อการบริหารกิจการทั้งหมดของโจทก์และมีอำนาจทำการแทน จึงฟังได้แล้วว่า ฟ. เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์และมอบอำนาจให้ฟ้องคดีนี้จริง
พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 65 บัญญัติว่า เมื่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งเพิกถอนหรือไม่เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามมาตรา 63 ผู้ร้องขอให้เพิกถอนหรือเจ้าของเครื่องหมายการค้ามีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของคณะกรรมการต่อศาลภายในเก้าสิบวัน ซึ่งตามมาตรา 80 ให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้ามาใช้บังคับแก่เครื่องหมายบริการโดยอนุโลม แม้กฎหมายจะไม่ได้กำหนดให้อุทธรณ์โดยฟ้องผู้ใดเป็นจำเลยก็ตาม แต่เห็นได้ว่าผู้ที่ออกคำสั่งเพิกถอนเครื่องหมายบริการของโจทก์คือคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า โจทก์จึงต้องฟ้องคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า และตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์เอง โจทก์มีคำขอบังคับขอให้ศาลพิพากษายกคำสั่งของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าซึ่งเป็นคำขอบังคับฝ่ายบริหารอยู่แล้ว ดังนั้น การที่โจทก์ไม่ฟ้องคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าแต่มาฟ้องจำเลยจึงไม่ถูกต้อง