คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
คดีขาดนัด

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 4 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4623/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาคดีขาดนัด และการพิสูจน์หนี้จากเอกสารทางบัญชีบัตรเครดิต ศาลฎีกาตัดสินให้จำเลยชำระหนี้ตามยอดคงเหลือ
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 205(เดิม) ซึ่งเป็นบทบัญญัติในขณะฟ้องคดีนี้บัญญัติให้คู่ความเพียงแต่นำสืบพยานหลักฐานให้ศาลเห็นว่าคดีมีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมายเท่านั้น เมื่อจำเลยเป็นหนี้โจทก์แม้โจทก์จะอ้างส่งเอกสารเพียง 10 ฉบับและไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับการใช้จ่ายบัตรเครดิตของจำเลยครบถ้วนแต่ตามหลักฐานที่โจทก์นำส่งจำเลยได้ชำระหนี้บางส่วนเป็นจำนวนหลายครั้งให้แก่โจทก์ อีกทั้งไม่มีกฎหมายใดบัญญัติว่าจะต้องนำหลักฐานการใช้จ่ายบัตรเครดิตมาอ้างส่งต่อศาล พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาจึงมีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมายที่จะชนะคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 205(เดิม) โดยโจทก์ไม่ต้องนำหลักฐานการใช้จ่ายบัตรเครดิตทั้งหมดอ้างส่งเป็นพยานแต่อย่างใด
สัญญาบัตรเครดิตตามฟ้องเป็นสัญญาที่ไม่มีกำหนดระยะเวลา คู่สัญญาฝ่ายใดจะบอกเลิกสัญญาเมื่อใดก็ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 386 โจทก์ส่งหนังสือบอกเลิกสัญญาให้แก่จำเลยไม่ได้และได้ประกาศหนังสือพิมพ์ระหว่างวันที่ 17ถึง 21 กรกฎาคม 2541 แจ้งให้จำเลยชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่ลงประกาศ หากพ้นกำหนดให้ถือว่าบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับการใช้บัตรเครดิตเป็นอันยกเลิก เมื่อจำเลยไม่ชำระหนี้ภายในกำหนดถือได้ว่าสัญญาบัตรเครดิตเป็นอันสิ้นสุดลงตั้งแต่วันพ้นกำหนดชำระหนี้คือวันที่ 5 สิงหาคม 2541 โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16.5 ต่อปี หรืออัตราสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์พึงเรียกเก็บได้ตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นตามข้อตกลงที่ระบุไว้ในใบสมัครเป็นสมาชิกบัตรเครดิตจนถึงวันที่ 5 สิงหาคม 2541 หลังจากสัญญาสิ้นสุดแล้วโจทก์จะเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยอีกไม่ได้ คงเรียกได้ตามอัตราที่กำหนดไว้ในสัญญาอันเป็นสิทธิที่พึงได้โดยชอบมาแต่เดิมเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7964/2543 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลจ่ายเงินตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน แม้คดีขาดนัด
เมื่อคดีถึงที่สุดและนายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินจำนวนใดให้แก่ลูกจ้างหรือทายาทโดยธรรมของลูกจ้างซึ่งถึงแก่ความตาย ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานพ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคสี่ บัญญัติให้ศาลมีอำนาจจ่ายเงินที่นายจ้างวางไว้ต่อศาลให้แก่ลูกจ้างหรือทายาทโดยธรรมของลูกจ้างซึ่งถึงแก่ความตายได้ มิได้จำกัดว่าคดีจะต้องถึงที่สุดด้วยคำพิพากษาของศาลเท่านั้น ดังนี้ แม้โจทก์ขาดนัดพิจารณาและศาลแรงงานมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีจากสารบบความ แต่เมื่อคดีถึงที่สุดและโจทก์มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินดังกล่าว ศาลแรงงานจึงมีอำนาจจ่ายเงินที่โจทก์นำมาวางไว้ให้แก่จำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7480/2538 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผลผูกพันคำพิพากษาคดีขาดนัดและการวินิจฉัยอำนาจฟ้องจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏ
มูลคดีเดียวกัน จำเลยเคยฟ้องขับไล่โจทก์ออกจากที่ดินพิพาทและศาลได้พิพากษาขับไล่โจทก์แล้ว แม้คำพิพากษาในคดีดังกล่าวเป็นเรื่องคำพิพากษาในคดีขาดนัดและมีการขอให้พิจารณาใหม่ แต่คำพิพากษาในคดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้วจึงมีผลผูกพันคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง
ในคดีดังกล่าวศาลฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ทำสัญญาขายฝากที่ดินพิพาทกับจำเลย เมื่อครบกำหนดแล้วโจทก์ไม่ไถ่ถอน ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นของจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 492 จึงต้องฟังว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย และโจทก์เช่าที่ดินพิพาทจากจำเลย เมื่อจำเลยไม่ประสงค์จะให้โจทก์เช่าต่อไป โจทก์ก็ต้องออกจากที่ดินพิพาท จำเลยจึงมีสิทธิฟ้องขับไล่โจทก์ ดังนี้แม้ประเด็นแห่งคดีทั้งสองจะเป็นคนละเรื่อง แต่ก็เกิดจากมูลคดีเดียวกัน ดังนั้นการที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าข้อเท็จจริงปรากฏในชั้นพิจารณาเพียงพอที่จะวินิจฉัยคดีโดยไม่จำต้องสืบพยานต่อไปและงดสืบพยานโจทก์จำเลย แล้วศาลล่างทั้งสองนำเอาคำพิพากษาคดีดังกล่าวมาวินิจฉัยโดยเห็นว่าผูกพันคู่ความในคดีนี้ จึงชอบแล้ว
เรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน การที่ศาลจะหยิบยกขึ้นวินิจฉัยหรือไม่ย่อมเป็นดุลพินิจของศาลเมื่อข้อเท็จจริงในคดีนี้เพียงพอที่จะวินิจฉัยโดยไม่จำต้องสืบพยานต่อไป ศาลก็มีอำนาจหยิบยกปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1890/2536 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิทายาทขอพิจารณาใหม่หลังศาลพิพากษาคดีขาดนัด และการเข้าเป็นคู่ความแทนที่จำเลยผู้มรณะ
ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีโดยการขาดนัดหากจำเลยไม่มรณะก็ย่อมมีสิทธิขอให้พิจารณาใหม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 208 ซึ่งคดียังไม่ถึงที่สุดตามมาตรา 147 การขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่ผู้มรณะตามมาตรา 42 และ 43 นั้น หากคู่ความมรณะภายหลังศาลพิพากษาคดีแล้วก็ไม่มีกรณีที่จะต้องเลื่อนการนั่งพิจารณา ในระหว่างนี้หากคดียังไม่ถึงที่สุดทายาทของผู้มรณะก็ยังคงมีสิทธิขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่ผู้มรณะได้มิใช่ว่าเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาคดีแล้วสิทธิขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่ผู้มรณะสิ้นไปด้วย
คดีนี้โจทก์ฟ้องขอมีชื่อเป็นเจ้าของทรัพย์สินร่วมกับจำเลยหากทรัพย์สินที่โจทก์ฟ้องขอมีชื่อเป็นเจ้าของร่วมเป็นของจำเลยแต่ผู้เดียว ทรัพย์สินดังกล่าวทั้งหมดย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทของจำเลย จึงเป็นกรณีสิทธิในทรัพย์สินมิใช่สิทธิเฉพาะตัว ผู้ร้องอ้างว่าเป็นทายาทของจำเลยร้องขอเข้ามาแทนที่จำเลยเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตน ผู้ร้องย่อมมีสิทธิร้องขอให้พิจารณาใหม่ได้
ผู้ร้องคัดค้านในคำร้องขอพิจารณาใหม่ว่า ศาลได้พิพากษาคดีไปฝ่ายเดียวโดยจำเลยไม่ทราบ ต่อมาจำเลยถูกฆ่าตาย ผู้ร้องเพิ่งทราบว่าจำเลยถูกโจทก์ฟ้อง ซึ่งหากศาลได้ให้โอกาสผู้ร้องในการเสนอพยานหลักฐานเพื่อหักล้างคำพยานโจทก์แล้ว คดีย่อมฟังไม่ได้ว่าโจทก์มีกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทครึ่งหนึ่ง เป็นการคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลชั้นต้นว่าไม่ถูกต้องอย่างไร หากพิจารณาใหม่แล้วศาลอาจพิพากษาให้ผิดแผกแตกต่างไปจากที่ได้พิพากษาไปแล้ว คำร้องขอพิจารณาใหม่จึงชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 208 วรรคสอง