พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10840/2558
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การดำเนินคดีทรัพย์สินทางปัญญา: การขาดนัดยื่นคำให้การ และการใช้บทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งโดยอนุโลม
การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางต้องใช้ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 และข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2540 เป็นหลัก ส่วนกฎหมายวิธีพิจารณาความฉบับอื่น ๆ ที่ใช้กับคดีแพ่งและคดีอาญาโดยทั่วไปจะนำมาใช้ในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางต่อเมื่อไม่มีบทบัญญัติในพระราชบัญญัติและข้อกำหนดดังกล่าวบัญญัติหรือกำหนดไว้โดยเฉพาะ ทั้งการนำมาใช้ก็เป็นการใช้โดยอนุโลมอีกด้วย เมื่อการดำเนินกระบวนพิจารณาในกรณีที่จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ มีข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2540 ข้อ 11 กำหนดไว้ว่า ในคดีที่จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ โดยมิได้ยื่นคำให้การภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางต้องมีคำสั่งแสดงว่าจำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การด้วย ต่างกับการขาดนัดยื่นคำให้การในคดีแพ่งทั่วไปที่เป็นการขาดนัดยื่นคำให้การโดยผลของกฎหมาย ศาลไม่ต้องมีคำสั่ง และหลังจากศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งว่าจำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การแล้ว ไม่มีข้อกำหนดว่าจะต้องดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างไรต่อไป จึงต้องนำ ป.วิ.พ. มาตรา 198 และมาตราต่อไปมาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่สำหรับคดีนี้ เนื่องจากศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางยังไม่ได้มีคำสั่งว่า จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ จึงจะนำบทบัญญัติมาตรา 198 วรรคสอง มาใช้บังคับยังมิได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7045/2553
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การรวมทุนทรัพย์คดีผู้บริโภค: คดีพิเศษต้องคิดรวมกลุ่ม ไม่แยกรายบุคคล
คดีที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นโจทก์ดำเนินคดีเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิผู้บริโภค ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 10 (7) เป็นการดำเนินคดีที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคเป็นส่วนรวมตามมาตรา 39 จึงเป็นคดีที่มีลักษณะพิเศษต่างจากคดีแพ่งทั่วไป หลักเกณฑ์ในการพิจารณาทุนทรัพย์ที่ฟ้องคดีว่าจะอยู่ในอำนาจของศาลใด ต้องคำนวณทุนทรัพย์ในลักษณะรวมกลุ่มคดีโดยรวมทุนทรัพย์ของผู้บริโภคทุกราย แม้แต่ละรายไม่เกิน 300,000 บาท แต่ในคดีนี้ เมื่อรวมทุนทรัพย์ในคดีแล้วจำนวน 610,709 บาท จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ที่จะต้องรับฟ้องไว้พิจารณา ที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้มีคำสั่งว่า มูลหนี้ของผู้บริโภคแต่ละรายสามารถแบ่งแยกได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 59 และไม่รับฟ้องไว้พิจารณา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 2 อย่างคดีแพ่งทั่วไปเป็นการไม่ชอบ จึงต้องรับฟ้องไว้พิจารณาพิพากษาต่อไป
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 8/2553)
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 8/2553)