คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ครอบครองพื้นที่

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 837/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองพื้นที่ป่าหลังสึนามิ ไม่เป็นฟ้องซ้ำ และเข้าข่ายบุกรุกป่า
ข้อเท็จจริงตามฟ้องคดีก่อนอาคารของจำเลยมีขนาดกว้าง 3.50 เมตร ยาว 25 เมตร เป็นเพิงทำด้วยไม้ ส่วนคดีนี้อาคารของจำเลยมีขนาดกว้าง 4.30 เมตร ยาว 21.50 เมตร เป็นอาคารคอนกรีตก่ออิฐถือปูน เห็นได้ชัดว่าเป็นอาคารที่ก่อสร้างขึ้นมาใหม่ภายหลังเกิดเหตุคลื่นยักษ์สึนามิ การที่จำเลยก่อสร้างอาคารขึ้นใหม่แทนอาคารหลังเดิมและเข้ายึดถือครอบครองใหม่โดยเข้าไปก่อสร้างอาคารคอนกรีตในที่เกิดเหตุ จึงเป็นเจตนาที่เกิดขึ้นใหม่หาใช่เจตนาสืบเนื่องต่อกันมาไม่ และไม่ถือว่ามีเหตุชั่วคราวมาขัดขวางมิให้จำเลยยึดถือที่ดินที่เกิดเหตุตาม ป.พ.พ. มาตรา 1377 วรรคสอง การกระทำของจำเลยตามฟ้องคดีนี้จึงเป็นคนละคราวกับคดีก่อน ดังนั้น ถึงแม้ในคดีก่อนศาลมีคำพิพากษายกฟ้องจำเลย ก็มีผลทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปเฉพาะความผิดกรรมดังกล่าวเท่านั้น หาได้มีผลทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องสำหรับความผิดกรรมอื่น ๆ ระงับไปด้วยไม่ จะถือว่าเป็นเรื่องที่มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดฐานบุกรุกเข้ายึดถือครอบครอง ก่อสร้าง แผ้วถางและทำให้เสียหายแก่ที่ดินซึ่งเป็นป่าและเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกันมิได้ ฟ้องโจทก์ในคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำและสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ไม่ระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4655/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ การครอบครองพื้นที่ และความรับผิดทางแพ่ง
ความผิดฐานร่วมกันทำไม้หวงห้ามในเขตป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต และฐานร่วมกันยึดถือครอบครองทำประโยชน์ แผ้วถาง หรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น ตามพฤติการณ์การกระทำความผิดในคดีนี้ สามารถแยกการกระทำและเจตนาในการกระทำออกจากกันได้ จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันทำไม้หวงห้ามในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 นั้น ไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225 แต่เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ซึ่งกระทำความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวเพิ่มขึ้น จึงไม่อาจแก้ไขโทษที่จะลงแก่จำเลยที่ 1 ได้เพราะจะเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยที่ 1 ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบด้วยมาตรา 225