พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4273/2536 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การใช้เครื่องหมายการค้าที่คล้ายกัน พิจารณาความแตกต่างของสินค้า กลุ่มผู้บริโภค และเจตนาของผู้ประกอบการเพื่อตัดสินว่าเป็นการลวงสาธารณชนหรือไม่
เครื่องหมายการค้าของรูปแบบแรกและรูปแบบที่ 2 ประกอบด้วยรูปครึ่งม้าครึ่งคน ที่เป็นรูปตัวม้าท่อนล่างกำลังยืนยกขาหน้าทั้งสองข้างขึ้นโดยขาขวางอขาซ้ายเหยียดตรง และรูปตัวคนท่อนบนอยู่ในท่าพุ่งหอก ใช้มือขวาถือหอกเงื้อไปข้างหลัง ส่วนมือซ้ายเหยียดตรงไปข้างหน้าในระดับเดียวกับแขนขวาหันหน้าไปทางขวา รูปครึ่งม้าครึ่งคนรูปแบบแรกเป็นลายเส้นโปร่ง ส่วนรูปแบบที่ 2 เป็นรูปทึบ นอกจากนี้รูปแบบแรกยังมีข้อความภาษาอังกฤษประดิษฐ์ว่า"E.Remy Martin & Co" บรรทัดหนึ่ง กับอีกบรรทัดหนึ่งมีข้อความภาษาอังกฤษประดิษฐ์อยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมผืนผ้าว่า "REMY MARTIN" ส่วนของจำเลยรูปแบบแรกและรูปแบบที่ 2 เป็นรูปครึ่งม้าครึ่งคนเช่นเดียวกัน ส่วนบนเป็นรูปตัวคนอยู่ในท่ากำลังพุ่งหอกซึ่งมีหัวหอกเป็นรูปสามเหลี่ยมในลักษณะท่าทางเหมือนกับรูปเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ส่วนล่างเป็นตัวม้าอยู่ในท่าอย่างเดียวกับของโจทก์คือ ม้ายกขาหน้าทั้งสองข้าง แต่แตกต่างกันตรงที่ว่ารูปม้าของจำเลยเหยียดขาขวาตรง งอขาซ้าย หันหน้าไปทางซ้าย และหัวหอกของจำเลยเป็นรูปสามเหลี่ยม ส่วนรูปม้าของโจทก์งอขาขวาเหยียดขาซ้าย หันหน้าไปทางขวา และหัวหอกของโจทก์เป็นปลายเส้นตรง นอกจากนี้รูปครึ่งม้าครึ่งคนของจำเลยมีส่วนบนเป็นลายเส้นเกือบทึบ ส่วนของโจทก์เป็นลายเส้นสำหรับรูปแบบแรก และเป็นรูปทึบสำหรับรูปแบบที่ 2 ยิ่งกว่านั้นรูปครึ่งม้าครึ่งคนของจำเลยยังอยู่ภายในวงกลม 4 วง มีลวดลายคล้ายดอกไม้ล้อมรอบสำหรับรูปแบบแรก และอยู่ภายในวงกลม 1 วง ซึ่งมีช่อดอกไม้รองรับและยังมีคำว่า"ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยน้ำไทย" อยู่ด้านบน และมีคำว่า "ตราม้าเทวดา" อยู่ด้านล่างของรูปครึ่งม้าครึ่งคนสำหรับรูปแบบที่ 2 เครื่องหมายการค้าของโจทก์รูปแบบแรกใต้รูปครึ่งคนครึ่งม้ายังมีข้อความภาษาอังกฤษประดิษฐ์ว่า "E.Remy Martin & Co"บรรทัดหนึ่งและมีคำว่า "REMY MARTIN" อีกบรรทัดหนึ่ง อยู่ในกรอบสี่เหลี่ยม-ผืนผ้าซึ่งเป็นชื่อบริษัทโจทก์ และตัวอักษรนี้ก็เป็นชื่อเรียกสินค้าของโจทก์ว่า"เรมี่ มาร์แตง" จนเป็นที่เข้าใจกันทั่วไป ประกอบกับเมื่อเทียบขนาดและสัดส่วนของตัวอักษรคำว่า "REMY MARTIN" กับรูปภาพครึ่งม้าครึ่งคนแล้ว ปรากฎว่าตัวอักษรมีขนาดใหญ่กว่ารูปภาพ ตัวอักษรคำว่า "REMY MARTIN" จึงมีลักษณะเด่นและมีความสำคัญยิ่งกว่ารูปภาพดังกล่าว โจทก์เพิ่งมาจดทะเบียนเฉพาะรูปครึ่งม้าครึ่งคนในท่าพุ่งหอกสำหรับรูปแบบที่ 2 ภายหลังจากที่จำเลยได้รับการจดทะเบียนรูปม้าครึ่งคนของจำเลยรูปแบบแรก และสินค้าสุราของโจทก์ที่ส่งเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยตามใบส่งสินค้า ก็ระบุว่าเป็นบรั่นดี เรมี่ มาร์แตงไม่ปรากฎว่าคนไทยเรียกสินค้าของโจทก์ว่าสุราตราครึ่งม้าครึ่งคนพุ่งหอกแต่อย่างใดส่วนเครื่องหมายการค้ารูปแบบที่ 2 ของจำเลยยังมีคำว่า "ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยน้ำไทยตราม้าเทวดา" แตกต่างกับคำว่า "REMY MARTIN" ซึ่งเป็นชื่อเรียกขานสินค้าของโจทก์ เมื่อประชาชนไม่เห็นคำว่า "REMY MARTIN" อยู่ด้วยย่อมเข้าใจได้ทันทีว่าสินค้าที่พบเห็นนั้นมิใช่สินค้าของโจทก์ ทั้งสินค้าของจำเลยก็เป็นจำพวกปุ๋ยซึ่งมิใช่สินค้าที่เกี่ยวข้องกับสินค้าจำพวกสุราดังเช่นของโจทก์ที่แพร่หลายอยู่แล้วผู้บริโภคสินค้าของโจทก์และของจำเลยเป็นหลักก็เป็นผู้บริโภคคนละกลุ่มกัน จึงไม่ทำให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาจะใช้เครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายเครื่องหมายการค้าของโจทก์ เพื่อลวงผู้ซื้อและประชาชนให้หลงผิดว่าสินค้าของจำเลยเป็นสินค้าของโจทก์หรือโจทก์มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยหรือทำให้ผู้ซื้อและประชาชนหลงผิดในแหล่งกำเนิดของสินค้าแต่อย่างใด เครื่องหมายการค้าของโจทก์กับเครื่องหมายการค้าของจำเลยไม่เหมือนหรือคล้ายกันจนถึงนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนให้สับสน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5285/2531
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า: การพิจารณาความเหมือน/คล้ายกันจนอาจทำให้สับสน และการใช้คำทั่วไป
โจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า LIGHTMAN(ไลท์แมน)ของโจทก์ไว้ 4 แบบ แต่ละแบบ ขนาดและลักษณะของตัวอักษรต่างกันตัวอักษรคำว่า LIGHT และ MAN นั้นแยกกัน เว้นแต่แบบที่ 3เท่านั้นที่ตัวอักษรอยู่ติดกันและมีรูปศีรษะคนสวมหมวกอยู่ด้านหลัง ส่วนแบบที่ 2 มีรูปศีรษะคนขนาดเล็กสวมหมวกอยู่ระหว่างตัวอักษร LIGHT และ MAN แบบที่ 4 ซึ่งใช้กับกางเกงยีนสลากกระเป๋าหลังกางเกง มีคำว่า LIGHTMAN อยู่ด้านบนคำว่าFORWORKANDPLAY และมีรูปศีรษะคนสวมหมวกอยู่ด้านล่างด้วยส่วนเครื่องหมายการค้าคำว่า LIONMAN(อ่านว่า ไลออนแมน)ที่จำเลยยื่นคำขอจดทะเบียนนั้น ตัวอักษรอยู่ใต้ภาพศีรษะคนและหัวสิงโตซึ่งอยู่ติดกันโดยศีรษะคนอยู่ด้านขวาส่วนหัวสิงโตอยู่ด้านซ้าย ภาพศีรษะคนและหัวสิงโตนั้นมีขนิดใหญ่กว่าตัวอักษรประมาณ 4-6 เท่า ส่วนภาพศีรษะคนสวมหมวกในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามแบบที่ 2 นั้นมีขนาดเล็กเท่าตัวอักษร และตามแบบที่ 3กับแบบที่ 4 มีขนาดเล็กกว่าตัวอักษรมาก เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกันแล้ว เครื่องหมายการค้าของโจทก์เน้นที่ตัวอักษรคำว่าไลท์แมน ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยนั้นให้ความสำคัญที่ตัวอักษรไลออนแมน เท่าเทียมกับภาพประกอบรูปศีรษะคนที่ติดกับหัวสิงโต โดยมีเจตนาให้ภาพดังกล่าวเป็นคำอธิบายความหมายของตัวอักษร คือหมายความว่ามนุษย์ สิงโต ส่วนภาพในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ซึ่งมีภาพศีรษะของคนขนาดเล็กสวมหมวกนั้น มิได้อธิบายความหมายของคำว่า ไลท์แมน แต่ประการใด สำหรับตัวอักษรคำว่า แมน ที่เหมือนกันนั้น ก็เป็นคำสามัญ ไม่ใช่คำเฉพาะ และมีผู้นำไปใช้กับสินค้าหลายประเภท ส่วนคำว่า ไลท์ กับคำว่าไลออนนั้นมีความหมายแตกต่างกันมากทั้งคำว่าไลท์ ก็อ่านออกเสียงพยางค์เดียว ส่วนคำว่า ไลออน อ่านออกเสียงสองพยางค์เมื่อเปรียบเทียบเครื่องหมายการค้าที่ปรากฎที่เสื้ออันเป็นสินค้าของโจทก์ กับที่เสื้ออันเป็นสินค้าของจำเลยแล้วเห็นได้ชัดว่าลักษณะตัวอักษร สี แบบ และขนาดแตกต่างกันมากเครื่องหมายการค้าของจำเลยไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนกล่าวได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนให้สับสนหลงผิดว่าสินค้าของจำเลยคือสินค้าของโจทก์